ในรอบปีที่ผ่านมา ข่าวการยกเลิกแบน 3 สารเคมี "พาราควอต ไกลโคเซต คลอร์ไพริฟอส "ออกไปอีก6เดือนสำหรับ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ส่วนไกลโคเซต ให้ใช้ได้ต่อไป และมีผลบังคับใช้ วันที่ 1มิ.ย.2563 ทั้งที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย เคยมีมติให้ยกเลิกใช้ไปแล้ว และให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา นับเป็นเรื่องฮือฮาสะท้านสะเทือนสถานภาพรัฐบาล ไม่น้อย เพราะรัฐมนตรีของสองพรรคร่วมรัฐบาล คือ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รวม.กระทรวงอุตสาหกรรม พรรคพลังประชารัฐ และนายอนุทิน ชาญวีรกุล รมว.กระทรวงสาธารณสุข พรรคภูมิใจไทย จะขึ้นเวทีมวย คนละมุม ด้วยความเห็นต่าง แบน กับ ไม่แบน 3สารเคมี
แม้ว่ายกแรกๆ นายอนุทิน ดูจะเป็นฝ่ายได้เปรียบเพราะมีกองเชียร์ กระแสสังคมช่วยหนุน ให้ยกเลิก จนกดดันให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งเป็นผู้อุ้ม3สารเคมีนี้มาตลอด ต้องตัดสินใจในการประชุมเมื่อวันที่ 22ต.ค.ประกาศยกเลิกการใช้ 3สารเคมีนี้ในที่สุด. และให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1ธ.ค.62 มติดังกล่าว เรียกเสียงเฮ จากผู้ต่อต้านการใช้3สารพิษ นับเป็นชัยชนะที่รอคอยมา 7ปี นับจากมีการเรียกร้องให้ยกเลิกใช้สารเคมีดังกล่าว
แต่แล้วในช่วงท้ายของแมทช์การปะทะของมวยคู่นี้ นายสุริยะ กลับพลิกสถานการณ์ให้เป็นฝายได้เปรียบ ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอัยนตราย นายสุริยะได้เข้าร่วมประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 27พ.ย.62 และผลการประชุมออกมามีการกลับลำมติ ให้เลื่อนการแบน3สารพิษออกไปอีก 6เดือนเล่นเอานายอนุทิน อึ้ง! กับเกมที่พลิกผันจากหน้ามือไปหลังมืออย่างไม่น่าเชื่อ
เหตุการณ์ดังกล่าว เป็นที่จับตาเรื่องรอยร้าวระหว่างสองพรรคร่วมรัฐบาล ที่มีเสียงปริ่มน้ำ และทำให้หลายคนลุ้นว่ารัฐนาวารัฐบาลประยุทธิ์ ที่ล่าสุดถูกตั้งฉายาว่า "รัฐบาลซาเล้ง" จะรอดหรือไม่ หรือแตกกันเป็นเสี่ยงๆ เพราะสองบิ๊กไม่อยากมองหน้ากันแล้ว
แต่ก่อนคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะกลับลำ ก็มีสัญญาณมาก่อน โดยมีกลุ่มม็อบเกษตรกร กลุ่มอ้างตัวอนุรักษ์ธรรมชาติ ออกมาประท้วง แสดงความไม่เห็นด้วยการยกเลิกใช้ 3สารเคมี ส่วนใหญ่ยกเหตุผลเรื่องต้นทุน ซึ่ง3สารเคมีตอบโจทย์ อย่างมาก เพราะราคาถูก และใช้ได้ผลดีมาก อีกทั้งภาครัฐเองก็ยังไม่มีสารอื่นที่มาทดแทน ได้แต่บอกยกเลิกเฉยๆ กระแสค้านยังมีอีกแง่มุม ออกมาให้ข้อมูลว่า ไปเอาที่ไหนมาพูดว่าสารเคมีพวกนี้เป็นอันตราย ไม่มีข้อมูลวิทยาศาสตร์ยืนยันรับรอง ซึ่งขัดแย้งกับกระแสที่หนุนให้ยกเลิก และข้อมูลจากนักวิชาการต่างๆ ตลอดจนข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ที่ยืนยันว่า 3 สารเคมี เป็นสารอันตราย ผลลัพธ์ที่เป็นผลเสียหนักไปทางเป็นตัวการก่อมะเร็ง และทำลายสิ่งแวดล้อม
ความตึงเครียดของพรรคร่วมรัฐบาล จากปัญหา 3สารเคมี หนีไม่พ้น ต้องมีผู้ใหญ่ในรัฐบาล ต้องลงมือจัดการแก้ไข หยุดความบาดหมางไม่ให้ ลุกลาม บานปลายไปกว่านี้ ทางออกของนายกรัฐมนตรี คือการให้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รมต.จากประชาธิปัตย์ เข้ามาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย แต่นายเฉลิมชัยเอง ก็ออกจะเอนเอียงความเห็นไปในทางเห็นด้วยกับนายสุริยะ
นายเฉลิมชัยให้สัมภาษณ์ว่า การตัดสินใจแบนหรือไม่แบนมีผลกระทบทั้งนั้น ตนในฐานะที่ดูแลเกษตรกรก็ต้องพิจารณาในส่วนของเกษตรกร โดยให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พิจาราณาทุกด้าน คาดว่าจะมีข้อมูลออกมา และคงไม่ต้องคุยกับนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.กระทรวงเกษตรฯ ที่มาจากพรรคภูมิใจไทย และเป็นตัวละครสำคัญ ให้มีการแบน 3สารเคมีอีก เพราะได้มีการมอบอำนาจการตัดสินใจก่อนหน้าไปแล้วและคงพิจารณารอบคอบด้านแล้ว
การดำเนินบทบาท " คนกลาง" ของนายเฉลิมชัย ก็คือ การหารือกับ กลุ่มเกษตรกร 19 องค์กร ที่ออกมาคัดค้านยกเลิกการแบน 3สารเคมี เกษตรกรกลุ่มนี้ เสนอให้แก้ไขปัญหา โดยให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายกลับไปใช้มาตรการจำกัดการใช้กับสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายวันที่ 23 พ.ค.2561 และมติวันที่ 14 ก.พ. 2562 ที่มีการประเมินด้านสุขภาพและผลกระทบแล้ว ซึ่งมีรายงานว่า นายเฉลิมชัยระบุว่า จะนำผลการหารือ ไปรายงานให้นายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการวัตถุอันตรายรับทราบทุกอย่างก็จะจบ
ความคุกรุ่น ระดับเกือบจะลุกเป็นไฟนี้ยังไม่นับ ก็มีมือที่สาม อย่างสหรัฐอเมริกา เข้ามาช่วยผสมโรง ออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลไทยจะยกเลิกการใช้ 3สารเคมี
และหลังจากความขัดแย้งของพรรคร่วมรัฐบาลระอุอยู่ไม่นาน ก็เข้าใจว่ามีการเคลียร์กันภายในหลังบ้านพรรคร่วม ทำให้นายอนุทิน เหมือนจะยอมรับสภาพ และหยุดการเคลื่อนไหวแบน3สารเคมีไประยะหนึ่งแล้ว แม้จะมีกลุ่มนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยกับการให้สารพิษดังกล่าวได้ไปต่อ อย่าง ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ออกมาล่าชื่อคนในวงการหมอ ได้มากว่า5หมื่นชื่อ และนำมายื่นให้นายอนุทิน หวังปลุกกระแสยกเลิก3 สารเคมีให้จุดติดอีกครั้ง แต่นายอนุทินดูเหมือนจะพูดได้เพียงว่า" แม้ตนจะพ่ายในเกมส์ และไม่ยอมพ่ายในาารดูแลสุขภาพคนไทย" ถ้าป่วยด้วยสาเหตุที่มาจากสารเคมีเมื่อไหร่ ก็พร้อมจะดูแลรักษา
มีเสียงกระซิบกระซาบว่า เบื้องลึก เบื้องหลัง การไม่แบน 3สารเคมี เป็นเรื่องผลประโยชน์ล้วนๆ โดยเฉพาะธุรกิจค้าสารเคมี ที่มีวงเงินจากวงจรธุรกิจมหาศาล จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก หากมีการยกเลิกใช้จริง เพราะยังมีสต็อกตกค้างไม่ต่ำกว่า 2.3 หมื่นตัน คิดเป็นมูลค่าจำนวนเงินมหึมา
ปัญหาการเลิกใช้ หรือใช้ต่อ 3สารเคมี จึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ หากวิเคราะห์ให้ดี จะเห็นว่าเกษตรกรจำนวนมาก ที่ไม่ใช่เกษตรอินทรีย์ จะเดือดร้อนอย่างแน่นอน เพราะขณะนี้ ยังไมมีอะไรที่มาทดแทนสารเคมีดังกล่าวได้ และ ไทยยังทำการเกษตรพืช แบบเชิงเดี่ยวเป็นส่วนใหญ่ พวกไร่อ้อย-ยางพารา-ข้าวโพด-มันสำปะหลัง-ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล ต้องหวังผลผลิตจำนวนมาก หากไม่มีการใช้สารเคมีกำจัดหญ้า หรือศัตรูพืช ก็จะทำให้ผลผลิตลดลงอย่างแน่นอน
แต่ในแง่สุขภาพ ความเป็นความตายของคนไทย ก็ขึ้นอยู่กับสารเคมีที่ว่านี้ด้วยเช่นกัน มีรายงานตัวเลขจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากการใช้สารเคมีเกษตร จำนวนมาก และมีเกษครกรป่วยโรคเนื้อเน่าจากการใช้สารเคมี นอกจากนี ถ้าดูจากสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย โรคมะเร็ง ก็ยังเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งอีกด้วย
และถึงจะมีเหตุผลมากมายที่ทำให้คนเป็นมะเร็ง แต่"อาหาร"พืชผัก ที่เราบริโภค เอาใส่ปากใส่ท้องในแต่ละวัน นับว่าเป็นสิ่งใกล้ตัวที่สุด มิหนำซ้ำเรายังต้องบริโภคอาหารกันวันละ 3มื้อ และถ้าอาหารไม่ปลอดภัย ก็มีโอกาสที่จะได้รับสารพิษซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทุกเมื่อเชื่อวัน เหมือนการหยอดยาพิษให้กับร่างกายไปเรื่อยๆ ก็คงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงด้วยเช่นกัน
ในระดับภาพกว้าง ๆพิษภัยของสารเคมีเกษตร นั้นย่อมต้องมีแน่นอน ในช่วงก่อนการมีมติแบน เมื่อวันที่ 22ต.ค. ก็มีข่าวว่านักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำปูนา มาตรวจหาสารเคมีตกค้าง ก็พบว่ามีสารเคมีอันตราย ในตัวปูมากกว่า 200 เท่าของระดับความปลอดภัย พร้อมทั้งยังเตือนการบริโภค"น้ำปู๋" ที่นิยมของชาวเหนือว่า อาจะได้รับอันตรายจากสารเคมีนี้ไปเต็มๆ
ยังมีข่าวเกษตรกร เสียชีวิตเพราะถังฉีดพ่นสารเคมีฉยาฆ่าหญ้า ซึ่งเกษตรกรสะพายหลังเวลาฉีดพ่น เกิดรั่ว และสารเคมีไหลซึมไปตามร่องก้น ของเกษตรกรรายนี้ ทำให้ต่อมาต้องเเสียชีวิตในที่สุด
ทั้งนี้ ไม่นับข้อมูลจากนักวิชาการ ที่ทำวิจัยและเก็บข้อมูลออกมาระบุว่า สารเคมีเกษตร มีผลกระทบต่อสมองของทารกในครรภ์อีกด้วย สารเคมีเกษตรจึงเป็นสารก่อมะเร็งที่น่ากลัวอย่างยิ่ง
สรุปว่า พิษภัยจากสารเคมีนั้นมีอยู่จริงและแพร่กระจายในระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อมแล้ว ทั้งดิน ทั้งน้ำ และผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจก็เป็นเรืองที่เป็นจริง หากมีการยกเลิกใช้3สารเคมี
ปัญหานี้ จึงเหมือนการกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ของรัฐบาลลุงตู่
ถึงกระนั้น ถ้าเทียบผลประโยชน์ทางธุรกิจ กับ ค่ายา ค่ารักษาพยาบาล ที่ต้องรักษาคนเป็นมะเร็ง ซึ่งมีมูลค่าไม่น้อย ก้ำกึ่งกับมูลค่าทางเศรษฐกิจ ก็เป็นเรื่องที่คนมีอำนาจตัดสินใจต้องเลือก ว่าจะพาคนไทยเดินไปทางไหน รวย หรือตาย