ปีนี้หลายอย่าง ‘ต่ำกว่าที่คาด’  ปีหน้าหลายเรื่อง ‘คาดไม่ถึง’!


เพิ่มเพื่อน    

                ก่อนอำลาปี 2562 เราคงจะต้องมานั่งทบทวนสถานการณ์เศรษฐกิจของปีนี้และการคาดการณ์สำหรับปีใหม่

                ถ้าปีที่ผ่านมามีข่าวร้ายต่อเนื่อง ปีหน้าก็จะมีข่าวทางลบไม่น้อยกว่ากัน

                เผลอๆ จะมีเรื่อง "เผาหลอกเผาจริง" มาหลอนหลอกคนไทยให้ได้วุ่นวายใจกันอีกไม่น้อย

                จึงจำเป็นที่ทุกๆ ฝ่ายจะต้องตั้งหลักกันให้ดี เพื่อเผชิญกับสถานการณ์โลกและภายในที่ทำท่าว่าจะมี  "ความท้าทาย" หนักหน่วงกว่าเดิมขึ้นอีก

                เอาเฉพาะรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ก็น่าจะทำให้เราต้องตระเตรียมทุกๆ ด้านเพื่อไม่ให้มีอะไรที่เป็น "เซอร์ไพรส์" มากเกินไปเสียแล้ว

                แบงก์ชาติบอกแล้วว่าอัตราโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีปีหน้าจะอยู่ที่ 2.8%

                ส่วนปีนี้ หักกลบลบหนี้กันแล้วจะเหลือเพียง 2.5%

                สาเหตุที่ตัวเลขต่ำเตี้ยอย่างนี้ก็เพราะการส่งออกจะติดลบเพิ่มเป็น -3.3%

                วันก่อนคุณทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% ต่อปี

                เหตุผลก็เพราะประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมและ "ต่ำกว่าระดับศักยภาพ"

                นั่นแปลว่าเรามี "ศักยภาพ" แต่ผลทางปฏิบัติเราทำไม่ได้ตามศักยภาพนั้น จะด้วยเหตุผลอันใดก็ต้องควานหาสาเหตุกัน

                ที่ชัดๆ คือการส่งออกลดลง มีผลต่อการจ้างงานและอุปสงค์ในประเทศ

                กนง.จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิม

                น่าสังเกตว่าในการประชุมครั้งนี้มีเสียงเป็นเอกฉันท์ 7 ต่อ 0

                แต่ กนง.ก็ยอมรับว่าการคงไว้ซึ่งอัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันก็จะมีความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจ

                จึงเห็นพ้องกันว่าในอนาคต หากมีความจำเป็นก็พร้อมที่จะใช้นโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป

                คุณทิตนันทิ์บอกว่า กนง.ทบทวนการขยายตัวเศรษฐกิจไทยใหม่ โดยคาดว่าในปี 2562 จะขยายตัวลดลงเหลือ 2.5% จาก 2.8%

                ส่วนปี 2563 คาดว่าจะขยายตัว 2.8% จาก 3.3% ซึ่งเป็นการขยายตัวได้ต่ำกว่าศักยภาพ จากการส่งออกที่หดตัวกว่าที่ประเมินไว้ และมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด จากการกีดกันทางการค้าและการเปลี่ยนแปลงโครงการการผลิต โดยคาดว่าปี 2562 จะหดตัว -3.3% จากเดิม -1% และปี 2563 ขยายตัว  0.5% จากเดิม 1.7%

                เศรษฐกิจไทยปีหน้าที่ลดลงเหลือ 2.8% มาจากปัจจัยหลักในเรื่องของการส่งออกที่ชะลอตัวต่ำกว่าที่คาด แม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะฟื้นตัว แต่การฟื้นตัวของภาคการส่งออกจะยังค่อยเป็นค่อยไป

                อีกประการหนึ่ง การกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐก็จะช้ากว่าที่คาดไว้ ทั้งในส่วนของการลงทุนรัฐวิสาหกิจและการร่วมลงทุน ที่อาจจะเลื่อนออกไปมีผลในปี 2564

                ธนาคารแห่งประเทศไทยยอมรับว่า การส่งออกสินค้าที่ผ่านมาหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้

                มิหนำซ้ำยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดอีกด้วย เพราะปริมาณการค้าโลกจะชะลอลงเพราะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

                แต่ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องแม้อัตราโตอาจจะลดลง

                ที่เป็นปัจจัยลบอีกด้านหนึ่งคือ การใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้

                และการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากรายได้ของครัวเรือนและการจ้างงานที่ปรับลดลง

                หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงจะเป็นแรงกดดันการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไป

                อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2562 และปี 2563 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจากราคาพลังงานที่ต่ำกว่าคาด

                เงินบาทจะแข็งต่อไปไหม?

                แบงก์ชาติบอกว่าแม้เงินบาททรงตัวจากการประชุมครั้งก่อน แต่ในช่วงที่ผ่านมาเคลื่อนไหวทั้งสองทิศทางและสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาคมากขึ้น

                คณะกรรมการฯ ยอมรับว่ายังกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่ยังแข็งค่าอยู่เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง

                จึงให้ติดตามประสิทธิผลของการผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออก และความจำเป็นในการดำเนินมาตรการเพิ่มเติมระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ

                นอกจากนี้ยังต้องติดตามพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะดอกเบี้ยต่ำ พฤติกรรมการก่อหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs การขยายสินทรัพย์และความเชื่อมโยงภายในของสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมถึงการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร

                คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรใช้มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ร่วมกันอย่างเหมาะสม

                พูดภาษาชาวบ้านก็คือทุกอย่าง "ต่ำกว่าที่คาด"...และปีหน้ายังอาจจะมีอะไรที่ "คาดไม่ถึง" อีกหลายด้าน

                วันสุดท้ายของปีจึงเป็นวันที่ควรแก่การทบทวน ประเมิน และปรับแผนอย่างจริงจังสำหรับวันพรุ่งนี้. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"