“ห้องน้ำ” ถือเป็นสิ่งแรกที่มองข้ามกันไม่ได้ โดยเฉพาะเวลาที่คนสูงอายุเข้าวัดเข้าวา ซึ่งห้องสุขานับเป็นที่แรกซึ่งถูกถามหาก่อนไปไหว้พระในโบสถ์เสียอีก เรียกได้ว่าเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาให้กับศาสนสถานก็ว่าได้ เพราะหากวัดแห่งไหนห้องน้ำสะอาดก็มักได้รับการบอกต่อและเล่าลือกันไม่ขาดปาก ถึงขนาดบางแห่งสร้างห้องน้ำติดแอร์ให้กับญาติโยมที่ไปทำบุญได้ใช้บริการไม่ต่างจากศาลาปฏิบัติธรรมอื่นๆ
(การจัดห้องน้ำที่ดีไม่เพียงช่วยเรื่องสุขอนามัยของผู้สูงอายุ แต่ยังกระตุ้นให้คนเข้าวัดทำบุญมากขึ้น)
นี่เองจึงนับเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ดึงคนเข้าวัดก็คงไม่ผิดนัก เพื่อเป็นการช่วยปรับปรุงห้องน้ำวัดให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะทั้งในและต่างจังหวัด มีมุมมองจากคนวัยเกษียณมาแนะนำถึงห้องน้ำในดวงใจให้ได้ทราบกัน
(จันทรา ขจรศิลป์)
เริ่มกันที่ คุณป้าจันทรา ขจรศิลป์ วัย 71 ปี บอกให้ฟังว่า “ถ้าจะให้บอกว่าห้องน้ำวัดที่ไหนสะอาดที่สุดคงต้องพูดว่า ร้อยละ 80 ค่อนข้างไม่สะอาดเลย ทั้งที่ห้องน้ำเป็นสิ่งแรกที่คนถามหาเวลาเข้าวัด โดยเฉพาะห้องน้ำในต่างจังหวัดมักไม่ค่อยมีโถนั่งสำหรับผู้สูงอายุ ก็อยากให้ปรับปรุงทั้งความสะอาดและสร้างโถชักโครกด้วยค่ะ เพราะบางครั้งคนแก่ก็ปวดขา ปวดเข่า ทำให้นั่งลำบาก หรือแม้แต่ห้องน้ำในโรงพยาบาลต่างๆ ก็อยากให้ทำความสะอาดบ่อยๆ ค่ะ”
(เจษฏา ไชยคุปดี)
ขณะที่ คุณป้าเจษฏา ไชยคุปดี วัย 65 ปี ข้าราชการบำนาญที่ชอบเข้าวัดทำบุญเป็นประจำ ให้ข้อมูลว่า “วัดที่คิดว่าสะอาดที่สุดคือวัดธาตุทองค่ะ ห้องน้ำสะอาดและก็มีคนคอยทำความสะอาดอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้มีวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร ใกล้กับทำเนียบฯ ที่ชอบเพราะว่ามีระบบระบายอากาศดี ป้องกันเชื้อโรคได้ค่อนข้างดี และก็มีโถชักโครกด้วยค่ะ นั่งสบาย นอกจากนี้วัดที่คิดว่าควรปรับปรุงน่าจะเป็นวัดตามต่างจังหวัด ที่บางครั้งอาจจะมีคนทำความสะอาดน้อย ก็อยากให้ใส่ใจถึงความสะอาดด้วย เพราะวัดก็เป็นหน้าเป็นตาของชุมชนค่ะ”
ไม่ต่างจาก คุณป้านิชา วัย 64 ปี ข้าราชการบำนาญครู ระบุว่า วัดในกรุงเทพฯ มักจะสะอาดกว่าในต่างจังหวัด และการที่ห้องน้ำสะอาดก็พลอยทำให้คนเข้าวัดมีสุขภาพจิตที่ดีตามไปด้วย “สำหรับห้องน้ำวัดที่สะอาดคิดว่าเป็นวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร มันทั้งเป็นระเบียบเรียบร้อยและไม่สกปรกค่ะ ส่วนวัดที่ควรปรับปรุงคือวัดอมรินทร์ คือไม่ถึงขั้นสกปรก ก็ยังพอใช้ได้ แต่ก็ควรจะดูแลให้เรียบร้อยกว่านี้ เพราะถ้าห้องน้ำสะอาดก็ทำให้คนที่เข้าไปใช้บริการเกิดความรู้สึกดีๆ และอยากเข้าวัดบ่อยๆ”
การที่วัดสร้างห้องน้ำเยอะก็ถือว่าดีแล้ว แต่คงจะเวิร์กไม่น้อยหากดูแลเอาใจใส่เรื่องความสะอาดด้วย มุมมองจาก ป้าธนันญา วัย 64 ปี ที่บอกว่า “เนื่องจากป้าชอบไปนั่งปฏิบัติธรรม ดังนั้นห้องน้ำวัดที่ดีไม่ใช่แค่มีหลายห้อง แต่มันต้องสะอาดด้วยค่ะ เพราะห้องน้ำที่สะอาดย่อมแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจของพระสงฆ์ ซึ่งสะท้อนความมีเมตตาต่อเรื่องต่างๆ ภายในวัด ไม่เว้นแม้แต่เรื่องห้องสุขา อีกทั้งจะทำให้ผู้ใช้บริการรู้สึกดี เพราะบางครั้งเราต้องนั่ง อยู่ในห้องน้ำเป็นเวลานานๆ ความสะอาดจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก และวัดที่ห้องน้ำน่าเข้าสำหรับตัวป้า คือวัดนาคปรก ส่วนวัดที่ควรปรับปรุงได้แก่วัดเจ้าอาม”
(สาคร สร้อยสน)
ขยับมาที่วัดต่างจังหวัดน่าเข้าไปใช้บริการห้องสุขา อย่าง “วัดแจ้งเจริญดอน” จ.ชลบุรี เป็นวัดที่ คุณป้าสาคร สร้อยสน วัย 60 ปี บอกให้ฟังว่า “วัดที่ป้าคิดว่าห้องสะอาดคือวัดแจ้งเจริญดอนค่ะ เพราะเป็นวัดที่อยู่ใกล้บ้านซึ่งป้าก็ชอบไปทำบุญเป็นประจำ ที่วัดจะมีแม่บ้านคอยทำความสะอาดอยู่ตลอด ก็พลอยทำให้วัดดูดีค่ะ ใครเห็นใครชม ที่สำคัญมีให้เลือกทั้งแบบส้วมนั่งและแบบโถชักโครก ตรงนี้ก็เหมาะสำหรับคนแก่ที่นั่งลำบาก ปวดหลัง ปวดเอว หรือถ้าคนหนุ่มสาวไม่ชอบชักโครก ส้วมนั่งก็มีไว้ให้เลือกใช้ค่ะ ถ้าเป็นไปได้ป้าก็อยากให้ทุกวัดทั้งใน กทม.และต่างจังหวัดสะอาดเหมือนกันค่ะ”
(ชูศักดิ์ โพธิ์เจริญ)
ปิดท้ายกันที่ คุณลุงชูศักดิ์ โพธิ์เจริญ วัย 60 ปี บอกให้ฟังว่า “อันที่จริงแล้ววัดที่ห้องน้ำสะอาดมีค่อนข้างน้อยมาก โดยเฉพาะวัดในต่างจังหวัด ส่วนตัวผมอยู่ จ.อ่างทอง อยากบอกว่าห้องน้ำวัดค่อนข้างสกปรก มันอาจจะแค่พอเข้าได้ แต่ถ้าถามเรื่องความสะอาดก็ถือว่าต้องปรับปรุงครับ บอกเลยว่าห้องสุขาน่าใช้ วัดก็จะถูกพูดถึงไปในทางที่ดีด้วยครับ นอกจากนี้ก็อยากฝากให้คนที่เข้าห้องน้ำ ช่วยกันรักษาความสะอาด ไม่ว่าจะเป็นวัดใน กทม.หรือวัดต่างจังหวัดครับ เพราะห้องปลดทุกข์ก็ถือว่ามีความสำคัญ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ภายในวัด”.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |