นับเป็นเวลา 5 เดือนกว่าที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เข้าบริหารงานในฐานะ รัฐมนตรีว่าการ ขับเคลื่อนงานการศึกษาของประเทศ พร้อมด้วยรัฐมนตรีช่วย2คน ได้แก่ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ในตำแหน่ง และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ ซึ่งมีการแบ่งงานอย่างชัดเจน โดยรมว.รวบดูแล 3 องค์กรหลักสำคัญ ทั้ง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) ประกาศนโยบายมุ่งนำพาการศึกษาไทยไปสู่ศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะการยกเครื่องหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้มีความยืดหยุ่น เน้นเรื่องการสร้างสมรรถนะ ความรู้ด้านดิจิทัล และยังมีแนวคิดในการปรับวิธีการบริหารจัดการโรงเรียนให้มีความเป็นนิติบุคคลมากขึ้น
แต่ที่น่าสนใจคือ การประกาศให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษว่า ต่อไปโรงเรียนในไทย จะต้องเรียนภาษาไทย ควบคู่กับภาษาอังกฤษ เพราะปัญหาอ่อนด้อยด้านภาษาอังกฤษเกิดขึ้นกับคนไทยมาเป็นเวลานาน และเป็นจุดอ่อนการแข่งขันของประเทศ แม้ที่ผ่านมา จะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาบางคน พยายามผลักดันให้โรงเรียน ให้น้ำหนักการเรียนภาษาอังกฤษไม่น้อยกว่าภาษาไทย แต่ก็โดนกระแสสังคมแนวอนุรักษ์นิยมโจมตี จนต้องล่าถอยไปในที่สุด ส่งผลให้คนไทยยังไม่สามารถฟัง พูด อ่าน เขียนภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่วระดับใช้งานได้ดีเท่าที่ควร และปัญหาอ่อนแอภาษาอังกฤษถูกทิ้งค้าง ไว้ยาวนาน แม้จะมีเสียงบ่น ด่าทอ โทษระบบการศึกษามานับไม่ถ้วน แต่ก็ยังไม่มีการขยับปรับตัว จนล่วงเลยจนมาถึงยุคนี้ที่ก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งภาษาที่สองอย่างภาษาอังกฤษกลายเป็นสิ่งจำเป็นของการดำรงอยู่ในโลกดิจิทัล ก็เป็นสิ่งที่ท้าทาย ที่กระทรวงศึกษาธิการ จะต้องนำพาเด็กไทยให้หลุดพ้นจากวังวนความไม่รู้ภาษาที่สองได้หรือไม่
อีกประเด็นคือ การปรับสัดส่วนนักเรียนสายอาชีวะเพิ่มเป็น 60%และลดสายสามัญเหลือ 40% พร้อมความพยายามสร้างภาพลักษณ์ใหม่ ในการเรียนสายอาชีพ ล้างภาพพจน์"นักเรียน -นักเลง"ของเด็กอาชีวะให้หมดไป ซึ่งเป็นอุปสรรค ทำให้ผู้ปกครองไม่กล้าส่งลูกหลานมาเรียนสายอาชีพ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการแรงงานและเศรษฐกิจของประเทศ
ฟังดูแล้ว การสั่งปรับตัวเลขอาจเป็นเรื่องง่าย แต่ในความเป็นจริง จะให้เด็กไทยหันมาเรียนอาชีวะเพิ่มสูงขึ้นกว่าสายสามัญ คงต้องต่อสู้หนักหน่วงกับทัศนคติ ค่านิยม ในสังคมไทยที่ฝังหัวมานานว่าการเรียนสายสามัญมีปริญญา มีศักดิ์ศรี ดูดี โก้เก๋ กว่าการเรียนสายอาชีพ ที่มักถูกดูแคลนว่าเป็นพวกกึ่งๆใช้แรงงาน ไม่ใช่ชนชั้นนักคิด อีกทั้ง การแก้ปัญหาอาชีวะวิวาท ตีรันฟันแทง ที่สืบทอดมาหลายชั่วคนที่เรียนอาชีวะ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีนโยบายสร้างแรงจูงใจการันตีให้คนเรียนสายอาชีพ เรียนจบแล้วมีงานทำ โดยการตั้งศูนย์การเรียนรู้ หรือ Excellent Center เป็นการนำทรัพยากรมาวางในพื้นที่ที่สามารถลงทุนตามกลุ่มธุรกิจต่างๆ ได้ตามความเหมาะสม
แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นเรื่องการปฎิบัติทั้งสิ้น และที่ผ่านมา การปรับสัดส่วนนักเรียนอาชีวะยังไม่สำเร็จได้ตามเป้าก็เพราะการมีแค่นโยบายออกมาสั่งการ แต่ทั้งหมดทั้งปวง ต้องอาศัยจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมแรงร่วมใจ และในฐานะแม่งานกระทรวงศึกษาฯ จะต้องออกแรงมหาศาลผลักดันให้สำเร็จให้ได้
ซึ่งปัญหาเหล่านี้ เป็นโจทย์ที่ท้าทายนายณัฏฐพล ว่าจะทำสำเร็จหรือไม่
อีกทั้ง การเดินหน้าดำเนินการตาม ตามแผนการปฎิรูปการศึกษา ซึ่งคณะทำงานชุดของนพ.จรัส สุวรรณเวลา ร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ยัง"นิ่ง" อยู่กับที่ ไม่ถูกหยิบยกมา ดำเนินการ เพราะติดขัดตรงที่ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาชาติพ.ศ.....ที่เป็นกฎหมายแม่ของการศึกษาที่หลายๆ คนคาดหวังว่าจะมาสร้างการเปลี่ยนแปลง และแผนปฎิรูปการศึกษาเอง ก็ผูกโยงกับพ.ร.บ.การศึกษาชาติ ยังไม่ได้ฤกษ์คลอดออกมา เป็นเรื่องยืดเยื้อมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลคสช. มาจนถึงปัจจุบัน สาเหตุหลักเพราะติดขัดตรงที่มีคนในวงการศึกษาจำนวนหนึ่งออกมาคัดค้าน ไม่เห็นด้วยกับการที่มีกฎหมายออกมาบังคับ เปลี่ยนคำเรียก”ผู้อำนวยการโรงเรียน”มาเป็น”ครูใหญ่ “ขณะที่ เนื้อหาหลักๆ สาระสำคัญของกฎหมาย ไม่ค่อยมีผู้ไม่เห็นด้วยหรือวิพากษ์วิจารณ์อะไรมากนัก
ยังมีปัญหาที่ไม่ใช่ของเก่าดั้งเดิม แต่เป็นปัญหาใหม่เกิดไม่นานมานี้ หลังจากที่ขับเคลื่อนงานมาระยะหนึ่ง นายณัฏฐพล ก็พบกับปัญหาใหญ่ของ ศธ. คือ เรื่องโครงสร้างการบริหารงานที่มีความซ้ำซ้อนระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) สังกัด สพฐ.และศึกษาธิการจังหวัด (ศภจ.) สังกัด สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จน “ครูตั้น” ถึงกลับต้องมอบหมายให้นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษา รมว.ศธ. เป็นกุนซือ ในการแก้ปัญหาพร้อมยังตั้งธงที่คุณภาพการศึกษาและประสิทธิภาพของผู้เรียนเป็นหลักสูตรด้วย ซึ่งเรื่องนี้ แน่นอนว่าหากตัดสินใจบางอย่างที่ลดความซ้ำซ้อน อาจจะมีแรงเสียดทาน จากผู้ได้รับผลกระทบความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และคาดว่าข้อสรุปของเรื่องโครงสร้างดังกล่าวในช่วงเดือนมกราคม 2563 นี้
เรื่องของ"ครู" โดยเฉพาะหนี้สิน เป็นปัญหาใหญ่คาราคาซังมาอย่างยาวนาน อาจยาวนานเท่ากับช่วงชีวิตของครู 2-3ชั่วคน ในอดีตมักเป็นข้ออ้างที่ว่า ที่เด็กไม่เก่งเพราะครูมีปัญหาสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่ดี มีหนี้สินเยอะ จนไม่มีกำลังใจจัดการเรียนการสอนให้เด็กเก่ง มี คุณภาพ เป็นเรื่องชวนปวดหัวของรมว.ศธ.ไม่ว่ากี่คนต่อกี่คน ที่มานั่งเก้าอี้กระทรวงศึกษาฯ เป็นเรื่องจะต้องได้รับการแก้ไข สังคายนาจริงจัง เพราะถ้ามองให้ลึกๆแล้ว ปัญหาการก่อหนี้ของครูอาจะไม่ใช่เรื่องรายได้น้อย เพราะครูยุคใหม่มีค่าวิทยฐานะที่สูงพอสมควร ครูบางคนมีรายรับรวม เกินหน้าอาจารย์มหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ แต่ปัญหาหนี้สินครู อยู่ที่ค่านิยมและการใช้ชีวิตของครู เรื่องนี้จึงเป็นโจทย์คือกระทรวงศึกษา ต้องขบคิดว่าควรทำอย่างไร ถึงจะปรับเปลี่ยนค่านิยม แนวปฎิบัติใช้ชีวิตของครูได้ ก็เป็นหนึ่งในปัญหาที่ท้าทายนายณัฏฐพล ด้วยเช่นกัน
งานหนักอีกประการ คือ การติดตามจี้ติด การปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และการประเมินผลการดำเนินงาน ว่าเป็นไปนโยบายที่ให้ไว้หรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่รมว.ศธ.จะละเลยไม่ได้เช่นกัน ถ้าอยากเห็นการศึกษามีการปฎิรูปเกิดขึ้นอย่างจริงจัง และการก้าวข้ามวิถีการทำงานแบบระบบราชการ สไตล์กระทรวงศึกษาธิการ จะต้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผลงานออกมาชัดเจน
นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าในปี63 ยังมีอีกหลายเรื่องที่ รมว.ศธ. จะต้องออกนโยบายมากกว่านี้ เพื่อขับเคลื่อน สร้างความเปลี่ยนแปลงในทางบวกให้เกิดขึ้นอีกหลายด้าน
ในภาพรวม ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมา ตลอดช่วงการรับตำแหน่ง “รมว.ศธ.” ที่ผ่านมา5 เดือนของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อาจจะยังไม่เห็นผลงานที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากนัก การขับเคลื่อนงานที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อหลายเรื่องยังเป็นแผนงาน เป็นนโยบาย ที่บอกกล่าวให้ข้าราชการในกระทรวงศึกษาฯ นำไปปฎิบัติ และต้องรอการออกดอก ออกผลอีกสักระยะ
อย่างไรก็ตาม 5เดือนที่แล้ว ถือว่าเป็นช่วงโปรโมชั่น ให้โอกาสรัฐมนตรีมือใหม่หัดขับ ได้เรียนรู้งาน เรียนรู้ปัญหา ก่อนจะลงภาคสนามอย่างจริงจังในปีหน้า
แต่นับจากเดือนมกราคม ปี 2563 เป็นต้นไป ผลงานของนายณัฏฐพล จะเป็นที่จับตา เพราะเป็นความคาดหวังของสังคม ของคนทั้งประเทศ ขณะที่ ในภาคการเมืองจะเป็นหนึ่งในเป้าที่ฝ่ายค้าน มองหาจุดอ่อนเพื่อเตรียมพร้อมขย้ำขยี้ ไม่น้อยไปกว่าการทำงานของกระทรวงอื่นๆ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |