โรคพิษสุนัขบ้าในหมา แมว กำลังเป็นประเด็นฮอต แม้แต่ดารา อย่างอั้ม พัชราภา ไชยเชื้อ ซึ่งเลี้ยงน้องหมา น้องแมว แต่ถูกน้องแมวที่เลี้ยงไว้กัด ยังต้องเผ่นไปฉีดวัคซีนกันเลย
ส่วนทางด้านภาครัฐเอง ก็พยายามย้ำเตือน ให้เจ้าของ หมา แมว พาสัตว์เลี้ยงของตัวเองไปฉีดวัคซีน ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งถือว่าไม่ได้เป็นการดูแลเฉพาะสัตว์เลี้ยงของตัวเองเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำให้เจ้าของน้องหมา น้องแมว ปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้าอีกด้วย
พอดีบังเอิญได้เจอกระทู้เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า ในPantip .com หัวข้อ "การฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าในคน "เจ้าของสัตว์เลี้ยงทั้งหลายควรรู้ไว้นะคะ"ซึ่งโพสต์ไว้เมื่อหลายปีก่อนเมื่อวันที่ 25ตุลาคม 2556 แต่ข้อมูลดังกล่าว มีความน่าสนใจมาก แม้เจ้าของกระทู้ ไม่ใช่สัตว์แพทย์ แต่ความรู้ที่นำมาบอกเล่าได้จากประสบการณ์ ประกอบกับการแสวงหาข้อมูลด้วยตัวเอง ตอบคำถามข้อข้องใจรอบด้าน และมีบางเรื่องที่คนทั่วไปอาจมองข้ามอันตรายของโรคพิษสุนัชบ้าจากสัตว์เหล่านี้
เนื้อหามีดังนี้ :-
การฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าในคน เจ้าของสัตว์เลี้ยงทั้งหลายควรรู้ไว้นะคะ
ช่วง 2-3 เดือนมานี้เราเจอกระทู้คนถูกหมากัดแมวข่วนบ่อยๆ และในนั้นจะมีคำถามว่าต้องไปหาหมอไหม ต้องฉีดยาไหม ฉีดอะไรบ้าง เลยคิดว่าน่าจะมีสักที่ที่รวบรวมคำตอบไว้หน่อย ออกตัวก่อนว่าเราไม่ได้เป็นแพทย์หรือสัตวแพทย์ เป็นแค่เจ้าของสัตว์ที่สนใจในเรื่องนี้เลยทั้งหาอ่านทั้งปรึกษาหมอ (ทั้งหมอหมาและหมอคน) จนทะลุแล้วค่ะ 555
ก่อนอื่นต้องบอกว่าโรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำไม่ได้เกิดแต่กับหมาอย่างชื่อนะคะ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดสามารถเป็นโรคนี้ได้ ปัจจุบันจึงมีการพยายามจะเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "โรคเรบีส์ (Rabies)" เพื่อที่คนจะได้ไม่เข้าใจผิด และสัตว์สามารถติดโรคนี้ได้ในทุกฤดูไม่ใช่แค่หน้าร้อนเท่านั้น
ทีนี้กลับมาที่คำถาม เราขอแยกเป็นข้อๆ เพื่อความสะดวกในการอ่านดีกว่า
- ต้องสัมผัสสัตว์ถึงขนาดไหนจึงจะต้องไปฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า
การถูกข่วน ถูกกัด ถูกเลียลงบนผิวหนังที่มีบาดแผลหรือรอยถลอก ถูกน้ำลายหรือเลือดของสัตว์เลี้ยงเข้าตา ปาก หรือบนบาดแผล ทั้งหมดนี้ต้องไปพบแพทย์ค่ะ แต่ถ้าแค่ลูบตัวเล่นตามปกติ ถูกน้ำลายหรือเลือดของสัตว์แต่ตัวเราไม่มีแผล อย่างนี้ไม่เป็นไร ให้ล้างบริเวณที่สัมผัสก็เพียงพอ
- เมื่อถูกข่วนหรือกัดแล้วควรทำอย่างไร
ถ้าถูกข่วนหรือกัด ไม่ว่าจะเข้าหรือไม่เข้า มีเลือดหรือไม่มีเลือดก็ตาม ให้รีบล้างบาดแผลด้วยน้ำเกลือ ถ้าไม่มีให้ใช้น้ำสะอาดกับสบู่ฟอกตรงแผลหลายๆ ครั้ง นาน 10-15 นาที แล้วเช็ดแผลด้วยยาฆ่าเชื้อก่อนไปพบแพทย์
- แผลที่ไม่มีเลือดออก หรือเลือดออกเพียงเล็กน้อย ต้องไปพบแพทย์หรือไม่
แม้ปากแผลจะเล็กแต่ก็เพียงพอให้เชื้อเข้าไปได้แล้วนะคะ รวมทั้งที่เป็นรอยช้ำแต่ความจริงจะมีแผลเปิดเล็กๆ ที่ตามองไม่เห็นให้เชื้อเข้าไปได้ด้วยเช่นกัน
- วัคซีนที่ฉีด ต้องฉีดอะไรบ้าง
ในที่นี้ขอแยกออกเป็นสองกลุ่ม คือบาดทะยักกับพิษสุนัขบ้า สำหรับบาดทะยักนั้นถ้าอยู่ในระยะ 5 ปีหลังจากที่ฉีดกระตุ้นครั้งล่าสุดจะไม่ต้องฉีดอีก แต่ถ้าเกิน 5 ปีแต่ไม่เกิน 10 ปีจะประเมินจากสภาพความสะอาดของบาดแผล ถ้าแผลสะอาดดีก็ไม่ต้องฉีด แต่ถ้าสกปรกให้ฉีด ในกรณีที่กระตุ้นมาแล้วเกิน 10 ปีหรือไม่เคยได้รับวัคซีนเลยให้ฉีดวัคซีนค่ะ และให้ยาปฏิชีวนะและ/หรือยาแก้ปวดตามความเหมาะสม
ส่วนวัคซีนพิษสุนัขบ้าและอิมมูโนโกลบูลิน (ต่อไปนี้ขอเรียกว่าเซรุ่ม) นั้นจะพิจารณาจากสัตว์ที่ทำให้เกิดบาดแผลประกอบด้วย ถ้าสัตว์นั้นได้รับการกระตุ้นวัคซีนเป็นประจำ และเรามีเหตุโน้มนำให้ถูกกัด เช่น การแหย่สัตว์ การพยายามแยกสัตว์ที่ต่อสู้กัน การเข้าใกล้สัตว์ที่มีลูกอ่อนหรือกำลังกินอาหาร อาจรอดูอาการก่อนได้โดยไม่ต้องฉีดวัคซีน
แต่ถ้าถูกกัดอย่างไม่มีสาเหตุ หรือไม่มั่นใจว่าสัตว์เลี้ยงติดเชื้อมาหรือเปล่า ในกรณีนี้ถ้าบาดแผลตื้น ไม่มีเลือดออกหรือแค่เลือดออกซิบๆ ให้ฉีดเฉพาะวัคซีนพิษสุนัขบ้า ส่วนถ้าแผลลึก มีเลือดออกมาก หรือไม่รู้ประวัติของสัตว์นั้น ให้ฉีดทั้งวัคซีนและเซรุ่มค่ะ
- การฉีดวัคซีนทำอย่างไร
สำหรับการฉีดวัคซีนหลังสัมผัสโรคในผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน โดยมากจะเป็นวัคซีนชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อต้นแขน โดยฉีด 5 ครั้งในวันที่ 0 3 7 14 และ 30 (วันที่ 0 หมายถึงวันแรกที่ฉีด) ในกรณีนี้ถ้าหลังจากเกิดเหตุ 10 วันแต่สัตว์ยังปกติดีให้หยุดฉีดวัคซีนได้ เพราะสัตว์ที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าและอยู่ในระยะแพร่เชื้อจะแสดงอาการจนถึงตายภายใน 10 วัน และเท่ากับว่าเราได้รับวัคซีนแล้ว 3 ครั้ง ถือเป็นการฉีดป้องกันล่วงหน้าค่ะ ส่วนเซรุ่มนั้นจะฉีดในวันแรกแค่ครั้งเดียวโดยฉีดรอบบาดแผลและฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (มันสยองขวัญมาก บอกเลย)
- หากต้องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคล่วงหน้าต้องทำอย่างไร
สามารถแจ้งความจำนงขอฉีดที่โรงพยาบาลได้เลยค่ะ โดยจะฉีด 3 ครั้งในวันที่ 0 7 และ 21 หรือ 28 ซึ่งจะคุ้มกันไปตลอดชีวิต ทีนี้เวลาถูกข่วนหรือกัดก็ไม่ต้องฉีดเซรุ่มแล้วเพราะมีภูมิคุ้มกัน ส่วนตัวขอแนะนำแบบนี้ เพราะเซรุ่มหายากและแพงแถมเจ็บด้วย
- หลังได้รับวัคซีนจนครบชุดแล้ว ถ้าถูกข่วนหรือกัดอีกต้องฉีดกระตุ้นอย่างไร
ถ้าเคยฉีดวัคซีนจนครบสามเข็มมาแล้วและถูกกัดซ้ำภายใน 6 เดือนให้กระตุ้นเพียง 1 ครั้งในวันที่ 0 ถ้าเกิน 6 เดือนแล้วให้กระตุ้น 2 ครั้งในวันที่ 0 และ 3 โดยไม่ต้องฉีดเซรุ่ม (เห็นไหมว่าสบายกว่ากันเยอะ 555) และหลังจากนั้นควรระวังไม่ให้ถูกข่วนหรือกัดอีก
- ต้องไปฉีดวัคซีนและเซรุ่มเร็วแค่ไหน ในกรณีที่ไม่สามารถไปทันทีได้
หากมีเหตุก็ไม่ควรช้าเกิน 7 วัน แต่ยิ่งไปได้เร็วเท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้นนะคะ
-สัตว์เลี้ยงมีการทำวัคซีนครบถ้วนและได้รับการกระตุ้นเป็นประจำทุกปี ยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้อีกหรือ
อันนี้สัตวแพทย์บอกว่าไม่มีอะไรที่ครอบคลุม 100% ค่ะ ฉะนั้นถ้าเป็นไปได้เราก็ควรไปฉีดวัคซีนไว้ดีกว่า
- เลี้ยงสัตว์ระบบปิด ให้อยู่แต่ในบ้าน ไม่เคยเจอสัตว์ตัวอื่นๆ เลย จำเป็นต้องฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าให้สัตว์หรือไม่
อันนี้เคยได้ยินคนถามจริงๆ นะ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดมหันต์ อย่างที่บอกว่าโรคพิษสุนัขบ้าเกิดในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้ทุกชนิด แล้วคุณแน่ใจได้ยังไงล่ะว่าในบ้านไม่มีหนูที่ติดเชื้ออยู่ ถ้าแมวหรือหมาของเราไปกัดหนูตัวนั้นเข้าก็จบเห่เลย และเราอาจจบด้วย ดังนั้นการฉีดวัคซีนให้สัตว์เลี้ยงจึงจำเป็นค่ะ วัคซีนไม่ได้แพงเลย (ราคาแล้วแต่สถานประกอบการ)
- เก็บหมาแมวจรมา ไม่แน่ใจว่าเคยฉีดวัคซีนมาหรือยัง จะดูอย่างไร
สามารถพาไปฉีดวัคซีนได้เลยค่ะ เราถามหมอโดยสมมติเหตุการณ์ว่าเขาเคยได้รับวัคซีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แล้วเราเก็บมาวันนี้ หมอบอกฉีดได้เลยไม่เป็นไร ไม่โอเวอร์โดส ถ้าจะมีอาการก็มีแต่ในสัตว์ที่แพ้วัคซีนเท่านั้น (ซึ่งอันนี้ไม่อาจรู้ล่วงหน้าได้ ดังนั้นหลังฉีดควรเฝ้าดูให้ดีจะได้แก้ไขหรือจำไว้บอกหมอในคราวต่อไป)
จบแล้ว ใครมีคำถามอะไรถามไว้ได้เลยนะคะ หรืออยากเล่าประสบการณ์ส่วนตัวก็ได้ จะได้เป็นข้อมูลให้เพื่อนๆ คนอื่นด้วยค่ะ.
ป.ล. เดี๋ยวนี้ไม่ต้องฉีดสิบกว่าเข็มรอบสะดือแล้วนะ ยิ้ม
ป.ป.ล. แท็กสวนลุมด้วยเผื่อมีคุณหมออยากแก้ไขหรือเพิ่มเติมอะไรค่ะ.
---------------------------------
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |