สถานการณ์สัตว์ทะเลหายากไทย ปี 2560


เพิ่มเพื่อน    

  

          กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานสถานการณ์สัตว์ทะเลหายาก หมายถึง กลุ่มประชากรสัตว์ทะเลที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ได้แก่ เต่าทะเล พะยูน โลมา และวาฬ ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ โดยจากผลการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น 3 ปีย้อนหลัง พบว่ามีสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเฉลี่ยปีละ 400 ตัว แบ่งเป็นเต่าทะเล 57% โลมาและวาฬ 38% และพะยูน 5%

            สาเหตุเกยตื้นสำหรับเต่าทะเลและพะยูนเกิดจากติดเครื่องมือประมง เป็นอันดับหนึ่งถึง 74% และ 89% ตามลำดับ ส่วนกลุ่มโลมาและวาฬป่วยตามธรรมชาติมากกว่า 60% นอกจากนี้ ยังมีสถานการณ์เต่าทะเลที่ลดจำนวนลง จำเป็นต้องจัดการแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งวางไข่อย่างเร่งด่วน

            นายอุกกฤต สตภูมินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน ทช. เผยสถานภาพสัตว์ทะเลหายากว่า ประเทศไทยมีสัตว์ทะเลหายากที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลจำนวน 28 ชนิด จากการติดตามสถานภาพโดยการสัมภาษณ์คนในชุมชน การสำรวจทางเรือประกอบ ตลอดจนสำรวจโดยอาสาสมัครในชุมชนชายฝั่ง ทำให้ทราบว่า เต่าทะเล 5 ชนิด มีจำนวน 2,500-3,500 ตัว ซึ่งในประเทศไทยมีแหล่งวางไข่เต่าทะเลที่สำคัญเหลืออยู่ไม่มากนัก ได้แก่ หมู่เกาะคราม หมู่เกาะสิมิลัน ส่วนเต่ามะเฟืองพบวางไข่ที่ชายหาดไม้ขาว จ.ภูเก็ต ซึ่งเต่าทะเลวางไข่ 10 ครั้งต่อฤดูกาล แนวทางอนุรักษ์ต้องบริหารจัดการพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น ลดการรบกวนฤดูกาลวางไข่

            ในส่วนของโลมาและวาฬ นายอุกกฤตเผยว่า มี 21 ชนิด จำนวนมากกว่า 2,000 ตัว แหล่งประชากรสำคัญมี 10 แห่งทั้งบริเวณอ่าวไทยและอันดามัน ปัจจุบัน ทช.ได้สำรวจ ถ่ายภาพตำแหน่งบนตัวเพื่อระบุตัวตน ตอนนี้มีวาฬบลูด้าตั้งชื่อแล้ว 20 ชื่อ สำหรับอ่าวไทยเป็นพื้นที่ไข่แดงที่กรมต้องร่วมกับชุมชน ผู้ประกอบการท่องเที่ยว เพื่อใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน ขณะที่พะยูนมี 1 ชนิด จำนวน 250 ตัว แหล่งประชากรใหญ่อยู่ฝั่งอ่าวไทย โดยเฉพาะเกาะลิบง จ.ตรัง จากการบินสำรวจปี 59 พบพะยูน 170 ตัว มีชนิดเดียว ต้องอนุรักษ์ให้สำเร็จ  

      "ข้อมูลการช่วยเหลือช่วง 3 ปี พบสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น 400 ตัวต่อปี เต่าทะเลพบเป็นซากถึง 50% ซากโลมาและวาฬกว่า 90% ซากพะยูน 85% เต่าทะเลเกยตื้น เพราะเครื่องมือประมง ติดเศษอวน ถูกเอ็นรัดเนื้อตายและขาด กลายเป็นเต่าพิการ กินขยะทะเล แล้วยังมีถูกเรือชนตาย โดนใบพัด ส่วนพะยูนเผชิญเครื่องมือประมงหลายชนิดเสี่ยงทำให้อวัยวะขาด พิการ แนวทางแก้ปัญหาต้องบริหารจัดการพื้นที่ทำประมงอย่างเหมาะสมและจัดทำเส้นทางวิ่งเรือช่วยสัตว์ทะเลหายากให้ปลอดภัย ซึ่งกรมจะพูดคุยกับทุกภาคส่วน กรมประมง กรมเจ้าท่า ชุมชนชายฝั่ง" ผอ.สถาบันวิจัยกล่าว และว่า ประเด็นสำคัญต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อกิจกรรมหรือเครื่องมือประมงที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล

      เต่ามะเฟือง 1 ในเต่าทะเล 5 ชนิด ที่สถานภาพน่าเป็นห่วง นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน กล่าวว่า เต่ามะเฟืองพบแหล่งที่อยู่อาศัยเฉพาะทะเลอันดามัน บริเวณชายฝั่งทะเล จ.ภูเก็ต ประชากรน้อย เหตุจากอดีตมีการเก็บไข่เต่า ในไทยพบแหล่งวางไข่ของเต่ามะเฟืองเพียงแห่งเดียวคือ หาดไม้ขาว จากข้อมูล 3 ปีที่ผ่านมา ไม่พบเต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่ แต่พบการว่ายในรัศมีใกล้เคียง ซึ่งในทางวิชาการยังมีโอกาสที่เต่ามะเฟืองจะขึ้นวางไข่ในอนาคต หากมีการบริหารจัดการพื้นที่ อนุรักษ์ระบบนิเวศให้สมบูรณ์ 

            นายก้องเกียรติกล่าวต่อว่า หาดไม้ขาวมีการใช้ประโยชน์พื้นที่ด้านการท่องเที่ยว โรงแรมตั้งบริเวณชายหาด กรมได้ทำบันทึกความร่วมมือกับผู้ประกอบการสร้างมาตรการคุ้มครองและอนุรักษ์เต่าทะเล กำหนดระยะห่าง ไม่ใช้แสงไฟกลางคืนในฤดูกาลเต่าทะเลวางไข่ ช่วง ธ.ค.-ก.พ.ของทุกปี รวมถึงมีการปล่อยเต่าทะเล ตอนนี้เราพัฒนามาตรฐานการอนุบาลเต่าทะเลเพื่อให้อัตรารอดมากขึ้น มีกระบวนการเตรียมอาหาร ลูกเต่าต้องสมบูรณ์ ทั้งน้ำหนักตัว ความยาว ความกว้างของกระดอง 

            "เต่าทะเลน่าห่วง สถิติ 55 ปีก่อน เต่าทะเลวางไข่ประมาณ 2,500 รังต่อปี ปัจจุบันพบวางไข่เพียง 400 รังต่อปี ถ้าสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ ภายใน 50 ปี เต่าทะเลในประเทศไทยจะหมดไป อย่างไรก็ตาม เต่าทะเลเป็นประชากรร่วมกันของหลายประเทศ มีการอพยพย้ายถิ่นระยะไกล ถ้ามีความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการอนุรักษ์เต่าทะเล ขณะที่ในบ้านเราจัดการพื้นที่อาศัยและแหล่งวางไข่ มีการประกาศพื้นที่คุ้มครองสัตว์ทะเลหายาก จะเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยให้ประชากรเต่าเพิ่มขึ้นได้" ผอ.ศูนย์วิจัยพัฒนาทรัพยากรทางทะเลอันดามันย้ำ

      ปี 2560 มีซากเต่าทะเลขนาดใหญ่เกยตื้น โลมาคลื่นซัดเกยตื้นเป็นข่าวเป็นระยะ รศ.สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กว่าสัตว์ทะเลจะเกยตื้นแสดงว่าไปไม่รอดแล้ว เพราะไม่สามารถหายใจในน้ำลึก ต้องมาหายใจในน้ำตื้นเพื่อพยุงตัวเองขึ้น สัตว์ทะเลหายากเหล่านี้มีปอดเหมือนมนุษย์ ไม่ได้หายใจทางเหงือกเหมือนปลา สถิติในโลกนี้สัตว์ทะเลหายากเกยตื้นจะรอดแค่ 1% คณะสัตวแพทย์ ร่วมกับ ทช. ทำโครงการจัดการและช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก เพื่อเพิ่มอัตรารอดของสัตว์ทะเลมีชีวิตให้มากที่สุด นำมาสู่การจัดทำศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก ปัจจุบันมี 5 แห่ง มีบุคลากรและร่วมมือกับมหาวิทยาลัย เครือข่ายชุมชนชายฝั่งอีก 25 แห่ง มีการให้ความรู้ อบรมชาวบ้านเกือบ 800 คน ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่พอ พบการเกยตื้นอยู่มาก

            "เต่าทะเลที่เกยตื้น ส่วนใหญ่ก็ตายแล้ว เห็นซากบวมเน่า 60% ที่ยังมีชีวิต 40% ในจำนวนนี้อัตรารอด 80%  ต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้และความอดทนในการรักษาเต่า เพราะใช้เวลาอย่างน้อย 2 เดือน กว่าเต่าจะกลับมากินอาหารได้ ส่วนพะยูน สัตว์ทะเลหายากสัญลักษณ์สำคัญของประเทศ และจำนวนลดลงเรื่อยๆ พบเกยตื้นตายถึง 89% โดย 10% ที่เหลือ ช่วยให้รอดชีวิตได้ถึง 45% เป็นสถิติที่ดี กลุ่มโลมาและวาฬเกยตื้นตายถึง 89% รอดน้อย จากการผ่าซากพบการติดเชื้อแทรกซ้อน มีหนองในปอดเต็มสองข้าง พยาธิในปอด สัตว์ป่ากลุ่มนี้เมื่อป่วยร่างกายจะทรุดเร็วมาก ช่วยชีวิตยาก" รศ.สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา

            ผอ.ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำสรุปในท้ายว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลอัตรารอด 10% ฟิลิปปินส์ดีที่สุดก็ 10-15% ถือว่าไทยยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ต้องทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รัฐบาลโดย ทช. ตั้งงบเตรียมทำศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากที่ดีที่สุดในเอเชียที่ จ.ภูเก็ต ออกแบบอาคารตามมาตรฐานสากล นอกจากใช้รักษาสัตว์ทะเลเกยตื้นแล้ว ยังเป็นศูนย์ศึกษาวิจัยสัตว์ทะเลหายากทั้งหมด ที่สำคัญจะฝึกบุคลากรช่วยชีวิตสัตว์ทะเล นอกจากนี้ จะมีศูนย์ช่วยชีวิตเคลื่อนที่พร้อมอุปกรณ์การแพทย์จำเป็นในการช่วยชีวิตฉุกเฉินเพื่อเข้าสู่พื้นที่เกยตื้น รวมถึงมีบ่อลมให้สัตว์สามารถมีชีวิตอยู่ในบ่อโดยไม่มีคลื่นลมรบกวนการหายใจ ศูนย์แห่งนี้จะแล้วเสร็จปี 2562

            อย่างไรก็ตาม ตนยืนยันไทยมีความพร้อมในการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และมาตรฐานสากล ซึ่งต้องพัฒนาต่อไป อย่างไรก็ตาม ฝากภาครัฐเพิ่มบุคลากรในการดูแลสัตว์ทะเลเหล่านี้ ทุกวันนี้มีลูกโลมาขาดแม่และสัตว์พิการที่ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในทะเลได้แล้ว ซึ่งจะกลายเป็นเหยื่อหรือถูกแย่งอาหาร จำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันอย่างจริงจัง รวมทั้งเดินหน้าปลูกฝังจิตสำนึกประชาชนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

            ส่วนความคืบหน้าในการยกระดับความสำคัญของสัตว์ทะเล วาฬบรูด้า วาฬโอมุระ ฉลามวาฬ และเต่ามะเฟือง

ให้ขึ้นทะเบียนสัตว์สงวน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการนำเสนอต่อกฤษฎีกา นอกจากนี้ ทช.เตรียมเสนอเพิ่มเติมสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ขึ้นบัญชีสัตว์คุ้มครอง อาทิ ปลากระเบนปีศาจ หางเคียว ปลาฉลาม ปลาฉลามหัวค้อน กลุ่มปลาโรนัน 8 ชนิด กลุ่มม้าน้ำ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการนำเสนอคณะอนุกรรมการสัตว์ป่าสงวนและคุ้มครอง ปี 2561 ต้องติดตามอนาคตของสัตว์ทะเลหายากเหล่านี้ พลังผลักดันจะประสบความสำเร็จหรือไม่.

 

 

 

 

นายอุกกฤต สตภูมินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน 

 

รศ.สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"