พอเกิดข่าวเรื่องโดนัลด์ ทรัมป์เข้าสู่กระบวนการ impeachment ก็มีคำถามเกี่ยวกับระบบการเมืองของสหรัฐฯ ที่มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการที่น่าสนใจ
ตอนร่างรัฐธรรมนูญเมื่อช่วงปี ค.ศ.1787 หรือ 232 ปีก่อนนั้น (ตรงกับช่วงรัชกาลที่ 1 ของราชวงศ์จักรีของไทย) นั้น มีการถกแถลงกันในหมู่ 13 รัฐผู้ร่วมก่อตั้งสหรัฐอเมริกา ว่าควรจะมีระบบการปกครองอย่างไรจึงจะเป็นธรรมและตรงกับอุดมการณ์ของประชาธิปไตย
เนื่องจากทั้ง 13 รัฐมีทั้งเล็กและใหญ่ การมีสภาผู้แทนราษฎรตามสัดส่วนประชากรย่อมไม่ยุติธรรม
จึงตกลงกันว่าจะมีสภาผู้แทนราษฎรที่มีตัวแทนจากแต่ละรัฐตามจำนวนประชากร
ให้เรียกว่า House of Representatives
ขณะเดียวกันก็ให้มีอีกสภาหนึ่งที่มีผู้แทนทุกรัฐเท่ากันคือ 2 คน
ให้เรียกว่า Senate
เรียกระบบนี้ว่า federalism หรือระบบ "สาธารณรัฐ" อันหมายถึงการที่หลายรัฐมารวมตัวกันเป็นประเทศ โดยที่แต่ละรัฐยังคงกฎหมายและค่านิยมส่วนของตน ให้รัฐบาลกลางดูแลภาพรวมเช่นความมั่นคงและนโยบายต่างประเทศ
ที่ต้องระวังเป็นอย่างยิ่งคือ ต้องไม่มีรัฐที่ใหญ่กว่าสามารถครอบงำภาพรวมของประเทศอย่างถาวร
จึงตกลงที่จะขยายเขตออกไปสร้างรัฐใหม่ๆ เพื่อทำให้ประเทศใหม่ที่เพิ่งปลดแอกจากอังกฤษแห่งนี้มีความหลากหลายและทรัพยากรที่เพิ่มพูนขึ้นตลอดเวลา
หลักการสำคัญที่สุดของการสร้างรัฐธรรมนูญสำหรับประเทศเกิดใหม่อย่างอเมริกา คือสิ่งที่เรียกว่า separation of powers กับ checks and balances
นั่นหมายถึงการแบ่งแยกอำนาจทั้งสาม คือ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ เพื่อไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเหนืออีกฝ่ายหนึ่ง
การถ่วงดุลอำนาจของทั้งสามฝ่าย เป็นหัวใจของการทำให้ระบอบประชาธิปไตยสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างจริงจัง
ด้วยหลักการนี้จึงทำให้มีกติกาว่า
ประธานาธิบดี (เลือกโดยประชาชน) มีสิทธิ์วีโตร่างกฎหมายที่ผ่านโดยรัฐสภา
แต่อำนาจวีโตนั้นสามารถจะพลิกกลับได้ หากรัฐสภายืนยันตามมติให้ผ่านกฎหมายเดิม
ขณะเดียวกัน ศาลสูงสุดก็สามารถวินิจฉัยตัดสินว่าร่างกฎหมายใดผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่
ฝ่ายบริหารสามารถเสนอแต่งตั้งผู้พิพากษาของศาลสูงสุดได้ และมีอำนาจในการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศได้
แต่ต้องให้วุฒิสภาอนุมัติก่อนจึงจะมีผลบังคับใช้
สภาผู้แทนฯ และวุฒิสภาสามารถเสนอร่างกฎหมายได้ แต่ร่างกฎหมายใดจะกลายเป็นกฎหมายได้ต้องมีการตกลงกันระหว่างทั้งสองสภาก่อน
คำถามต่อมาก็คือว่า หากประชาชนเป็นคนเลือกทั้ง ส.ส., ส.ว.และประธานาธิบดีโดยตรง หากประธานาธิบดีกระทำความผิดรัฐธรรมนูญหรือมีพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อบ้านเมือง จะปลดจากตำแหน่งได้อย่างไร
เพราะต่างคนต่างก็ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนทั้งนั้น
(ไม่เหมือนระบบรัฐสภาแบบอังกฤษที่ไทยเราเลียนแบบมาใช้ ในระบบนี้ประชาชนเลือกผู้แทนราษฎร ส.ส.เลือกนายกฯ และมีสิทธิ์อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ หากสภามีมติเกินครึ่งไม่ไว้วางใจ นายกฯ มีทางเลือกสองทางคือลาออกหรือยุบสภา เลือกตั้งให้ประชาชนตัดสินใหม่)
ผู้เขียนรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ จึงกำหนดให้อำนาจแก่สภาผู้แทนฯ มีอำนาจในการตั้งข้อหาต่อประธานาธิบดี
หากเสียงเกินครึ่งในสภาล่างผ่านญัตติการเสนอให้ไต่สวนเพื่อถอดถอนหรือ impeachment ก็ให้ส่งเรื่องไป "ไต่สวนเพื่อถอดถอน" ในสภาสูงหรือวุฒิสภา
และเพื่อไม่ให้มีการกลั่นแกล้งหรือรวมหัวของกลุ่มการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของประธานาธิบดี รัฐธรรมนูญก็เขียนไว้ว่าการที่จะปลดประธานาธิบดีในวุฒิสภาได้นั้นต้องได้เสียงเกิน 2 ใน 3 หรือ 67 คนจาก 100 คน
(ในสภาผู้แทนฯ วันนี้มีสมาชิกรวม 435 จำนวน ครึ่งหนึ่งคือ 217)
นั่นแปลว่าการจะขับผู้นำที่ประชาชนเลือกมาโดยสภาทั้งสองที่ประชาชนก็เลือกมาเหมือนกันนั้น จะต้องเป็นเรื่องคอขาดบาดตายที่มีความเห็นพ้องต้องกันอย่างมากในฝ่ายนิติบัญญัติ
ไม่แต่เท่านั้น ในการไต่สวนเพื่อถอดถอนในวุฒิสภานั้น ประธานศาลสูงสุดจะทำหน้าที่เป็นประธานในที่พิจารณา โดยมีสมาชิกวุฒิสภาทำหน้าที่เป็น "คณะลูกขุน" และตัวแทนของสภาผู้แทนฯ เป็น "อัยการ"
ในกรณีของทรัมป์นั้น ญัตติ impeachment ผ่านด้วยเสียงเกินครึ่งในสภาล่างแล้ว กำลังรอส่งไปที่วุฒิสภาเพื่อเข้าสู่การไต่สวนเพื่อถอดถอนอย่างเป็นทางการ
เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดในปีใหม่ต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |