FAO ยกย่องสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ในการประชุมสมัชชาองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก สมัยที่ 34 ณ เมืองนาดี สาธารณรัฐฟิจิ เมื่อวันที่ 11-13 เมษายน 2561 ภายใต้หัวข้อ “การขจัดความอดอยาก หิวโหย” นายโฮเซ กราเชียโน ดา ซิลวา ผู้อำนวยการใหญ่ของ FAO ได้กล่าวยกย่องสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะทูตพิเศษ (Special Ambassador) ของสหประชาชาติด้านการขจัดความหิวโหย (Zero Hunger) เนื่องจากพระองค์ทรงงานด้านการพัฒนาโภชนาการและความมั่นคงอาหารมาอย่างต่อเนื่อง ทรงเป็นผู้นำและต้นแบบในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหาร และปรับปรุงโภชนาการของเด็กนักเรียนในถิ่นทุรกันดารมานานกว่า 30 ปี เช่น โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน กองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร เป็นต้น
ทั้งยังมีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการความร่วมมือกับประเทศต่างๆ เช่น ลาว เมียนมา กัมพูชา ภูฏาน และบังกลาเทศ เป็นต้น ต่อมาในปี 2559 ได้ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดการจัดตั้งภาคีพัฒนาโคนมแห่งเอเชีย ส่งเสริมและพัฒนางานด้านโคนม เพื่อให้นำนมมีคุณภาพ และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรโคนมในระดับภูมิภาค ซึ่งเป็นการส่งเสริมโครงการอาหารเสริมนมโรงเรียนของรัฐบาลไทย เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสารในเด็กวัยเรียน และสนับสนุนอุตสาหกรรมโคนมด้วย ทั้งนี้ FAO ได้แจกจ่ายเอกสารเผยแพร่พระราชกรณียกิจของกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในที่ประชุมด้วย
WHO ชื่นชมความสำเร็จไทยในการขจัดโรคเท้าช้าง
ในโอกาสการเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี เพื่อเข้าร่วมการประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล (PMAC) ประจำปี 2561 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Dr.Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กล่าวแสดงความชื่นชมประเทศไทยที่แสดงบทบาทสำคัญในประเด็นสุขภาพโลกจนประสบความสำเร็จในหลายด้าน โดยเฉพาะความสำเร็จในการขจัดโรคเท้าช้างให้หมดไปจากประเทศ อีกทั้งสามารถยุติปัญหาการถ่ายทอดเชื้อ HIV จากแม่สู่ลูก พัฒนาประสิทธิภาพในการจัดการกับปัญหากามโรค และดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ ได้ “มอบโล่เกียรติยศ” ยกย่องผลสำเร็จที่ประเทศไทยสามารถขจัดโรคเท้าช้างให้หมดไปจากประเทศ
โรคเท้าช้างเคยเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทยในอดีต โรคเท้าช้างเกิดจากหนอนพยาธิซึ่งมียุงเป็นพาหะ ส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับเชื้อจะไม่แสดงอาการ แต่หากไม่ได้รับการรักษาจะมีการอักเสบเฉียบพลัน เป็นๆ หายๆ ของต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ขาหนีบ จนกระทั่งมีความพิการแขนขาหลังจากที่ได้รับเชื้อไปประมาณ 3-5 ปี โดยที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินมาตรการที่เข้มงวดในการป้องกันควบคุมโรคเท้าช้าง ทั้งการตรวจโรคในแรงงานข้ามชาติ การจ่ายยาดีอีซี (DEC-Diethycarbamazine citrate) และการเฝ้าระวังด้วยการเจาะเลือด เพื่อไม่ให้คนไทยป่วยด้วยโรคนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคเท้าช้างกลับมาแพร่ระบาดในประเทศไทยอีก โดยหากมีการตรวจพบแรงงานข้ามชาติที่มีเชื้อโรคเท้าช้างก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษาทันที
สั่งห้ามไขมันทรานส์ ลดความเสี่ยงโรค NCDs
กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศห้ามการผลิต นำเข้า และจำหน่ายไขมันทรานส์ (Trans fatty acids) เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยประกาศ สธ. เลขที่ 388 พ.ศ.2561 “เรื่อง กำหนดอาหาร ที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย ซึ่งกำหนดให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบเป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย” ได้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2562 โดยผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 20,000 บาท
การออกประกาศฉบับดังกล่าวทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่สั่งห้ามไขมันทรานส์ งานวิจัยบ่งชี้ว่า “ไขมันทรานส์” จะเพิ่ม “ความเสี่ยง” ของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด อีกทั้งยังส่งผลต่อน้ำหนักและไขมันส่วนเกิน เพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันอุดตันในนเส้นเลือดอีกด้วย อาหารที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์ ได้แก่ เนยเทียมหรือมาการีน เนยขาว ครีมเทียมหรือคอฟฟี่เมต นมข้นหวาน นมข้นจืด วิปปิ้งครีม ขนมที่ผลิตปริมาณมากๆ จากโรงงาน ของทอดต่างๆ รวมถึงเบเกอรี่ที่ใช้เนยเทียมในการอบ และอาหารสำเร็จรูป เช่น ขนมปังกรอบ แครกเกอร์ อาหารจากโรงงาน ขนมถุง และฟาสต์ฟู้ด
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ทั้งสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย เพื่อสร้างความเข้าใจและสามารถปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมจัดทำคู่มือเพื่อให้ผู้บริโภคมีความเข้าใจเกี่ยวกับไขมันทรานส์อย่างถูกต้อง
WHO รับรองยาต้านไวรัสเอดส์ของไทย คุณภาพเทียบเท่ายาต้นแบบ
ผลิตภัณฑ์ยาต้านไวรัสเอดส์ของไทยได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ตามมาตรฐาน WHO Prequalification Program (WHO PQ) ทำให้ไทยเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ได้รับรองมาตรฐานดังกล่าว โดยผลิตภัณฑ์ยาต้านไวรัสเอดส์ Efavirenz Tablets 600 mg ขององค์การเภสัชกรรม ซึ่งผลิตที่โรงงานผลิตยารังสิต คลอง 10 อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทมุธานี เป็นยารายการแรกของประเทศไทยที่ได้รับรองมาตรฐาน WHO PQ ซึ่ง WHO ได้ขึ้นบัญชีรายการยา Efavirenz Tablets 600 mg ขององค์การเภสัชกรรมไว้ใน WHO Prequalified List
ยาต้านไวรัสเอดส์ Efavirenz Tablets 600 mg เป็นยาที่ผู้ป่วยเอดส์มีความจำเป็นต้องใช้ เนื่องจากเป็นยาต้านไวรัสสูตรแรก ตามแนวทางการตรวจรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีของประเทศไทย ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อที่ใช้ยานี้ประมาณ 80,000 ราย ซึ่งช่วยลดปริมาณเชื้อเอชไอวีในร่างกายและทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้น รวมทั้งลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อเอชไอวี เช่น การติดเชื้อของโรคฉวยโอกาส ซึ่งเสี่ยงต่อการป่วยเป็นวัณโรค การติดเชื้อที่นำไปสู่การเป็นมะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีให้ดีขึ้น
ขณะที่ยาต้นแบบมีราคาสูงถึงกระปุกละกว่า 1,000 บาท แต่ยาต้านไวรัสเอดส์ Efavirenz ขององค์การเภสัชกรรม ที่มีคุณภาพเทียบเท่ายาต้นแบบ มีราคาเพียงกระปุกละ 180 บาท จึงทำให้ผู้ป่วยในประเทศต่างๆ มีโอกาสเข้าถึงการรักษาได้มากยิ่งขึ้น ผ่านการจัดซื้อยาของกองทุนโลก (Global Fund) และกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) การได้รับการรับรองมาตรฐานครั้งนี้เป็นการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยาและมาตรฐานการผลิตยาในระดับสากลของไทยที่ทั่วโลกยอมรับ
10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ
1.พาราควอตยืดเยื้อ คณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่ยอมยกเลิกการใช้
ความพยายามในการผลักดันการห้ามใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ยืดเยื้อมาเกือบสองปี ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติ 16 ต่อ 5 เสียง ยังไม่ยกเลิกการใช้สารเคมีดังกล่าว สร้างความผิดหวังให้กับภาคประชาชน นักวิชาการและเครือข่ายด้านสุขภาพทั่วประเทศ
ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่รับวิถีการเกษตรแบบพึ่งพาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมีมาตั้งแต่ยุคปฏิวัติเขียว และมีความเข้มข้นในการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากขึ้นๆ ในขณะที่ไทยไม่ได้เป็นประเทศผู้ผลิตสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเอง โดยเฉพาะสารออกฤทธิ์ (Active Ingredient) จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด 100% โดยในปี 2560 มีการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือวัตถุอันตรายทางการเกษตรมากถึง 197,647 ตัน ในขณะที่ปี 2548 นำเข้าเพียง 75,473 ตัน นั่นหมายความว่าประเทศไทยนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากขึ้น 2.6 เท่าภายในระยะเวลา 12 ปี จากการค้นข้อมูลและการสำรวจของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) พบว่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย
จำนวนมากกว่า 150 ชนิด เป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง (Highly Hazardous Pesticides; HHPs) ตามเกณฑ์ของ JMPM (FAO/WHO Joint Meeting on Pesticide Management) หรือคณะทำงานร่วมระหว่างองค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก ว่าด้วยการจัดการสารเคมีกำจัดศัตรูพืช บทความนี้เป็นการสรุปสถานการณ์การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ที่หลายฝ่ายพยายามขับเคลื่อนให้ยกเลิกการใช้ในประเทศไทย นโยบายการใช้สารเคมีดังกล่าวในต่างประเทศ และการต่อสู้เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐ โดยการผนึกกำลังของกลุ่มเกษตรกร ภาคประชาชน นักวิชาการ และเครือข่ายด้านสุขภาพของไทย
สถานการณ์การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทย
สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ที่หลายฝ่ายพยายามขับเคลื่อนให้ยกเลิกการใช้ในประเทศไทย จัดอยู่ในกลุ่มสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรงด้วยเช่นกัน โดยในปี 2560 ไทยนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 267 ชนิด เป็นสารพาราควอต 44.50 ล้านกิโลกรัม ไกลโฟเซต 59.85 ล้านกิโลกรัม และคลอร์ไพริฟอส 3.32 ล้านกิโลกรัม รวมสาร 3 ชนิดนี้มากถึง 54.48% ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด
ในประเทศไทย พาราควอตเป็นที่รู้จักในชื่อการค้าว่า ‘กรัมม็อกโซน’ (Grammoxone) เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชชนิดเผาไหม้ นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากทำให้ส่วนที่เป็นสีเขียวของพืชที่ต้องการกำจัดเหี่ยวแห้งไว เป็นยาเผาไหม้ออกฤทธิ์เร็ว ทำให้วัชพืชแห้งเหี่ยวและตายได้ภายใน 1-2 ชั่วโมง โดยไม่มีฤทธิ์ทำลายระบบรากของพืชประธาน แต่ในขณะเดียวกันก็มีผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ ที่ปรากฏชัดเจน อาทิ
(1) มีพิษสูงต่อมนุษย์
(2) เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคพาร์กินสัน และส่งผลกระทบต่อระบบประสาท
(3) เป็นปัจจัยเสริมทำให้เกิดโรคเนื้อเน่า
(4) เป็นสารที่มีความเสี่ยงสูงเกินกว่าที่จะนำมาใช้งานได้อย่างปลอดภัยแม้จะมีการป้องกันที่ดีก็ตาม
(5) สามารถผ่านจากมารดาไปสู่ตัวอ่อนในครรภ์
(6) พบพาราควอตปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร
ห้ามใช้พาราควอตในกว่า 50 ประเทศ
ปัจจุบันมี 53 ประเทศทั่วโลกที่ยกเลิกการใช้พาราควอต ซึ่งรวมถึงประเทศในสหภาพยุโรป ที่ยกเลิกเมื่อปี 2007 โดยศาลแห่งสหภาพยุโรปมีคำสั่งยกเลิกการใช้พาราควอต เนื่องจากข้อกังวลด้านสุขภาพและการประเมินความปลอดภัยในสารเคมี ส่วนในเอเชีย ห้ามใช้ใน 10 ประเทศ
ข้อมูลจากงานวิจัยของ ผศ.ดร.นพดล กิตนะ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นว่า มีการตรวจพบพาราควอตซึ่งเป็นสารฆ่าหญ้าในกบ ปู หอย แม้ว่าจะเป็นสารที่เน้นใช้กำจัดวัชพืช แต่ก็มีการสะสมไปที่ตัวสัตว์ด้วย ข้อมูลในจังหวัดน่าน พบว่ามีการปนเปื้อนพาราควอต 24-56 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมในปูนา และ 12.6-1,233.8 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมในกบหนอง (มาตรฐานไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม) แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวถูกคัดค้านโดยภาคการเกษตรว่ายังมีความจำเป็น เพราะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้
จุดเริ่มต้นของการต่อสู้เพื่อแบนพาราควอตในไทย
ยกแรกของการต่อสู้เพื่อผลักดันให้การยกเลิกพาราควอตเริ่มขึ้นเมื่อกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเห็นความสำคัญของการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย และพบปัญหาที่กระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรและประชาชนจากสารพิษที่มีความเสี่ยงสูง จึงได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งเป็นคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงหน่วยงานภาควิชาการและภาคประชาชนขึ้น เมื่อเดือนธันวาคม 2559 หลังจากได้รวบรวมข้อมูลทางวิชาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงมีมติเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ให้ดำเนินการออกประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช “พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส” โดยให้ยุติการนำเข้าภายในเดือนธันวาคม 2561 และยุติการใช้ทั้งหมดภายในเดือนธันวาคม 2562 หลังจากนั้น 2 สัปดาห์ สภาเกษตรกรแห่งชาติซึ่งเป็นตัวแทนเกษตรกรตามกฎหมาย ได้พิจารณาและมีมติเสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยกเลิกการนำเข้าและการใช้สารพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต พร้อมทั้งให้เร่งดำเนินการหาวิธีการทดแทน เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลทางวิชาการเพื่อหาข้อสรุป (อีกครั้ง) ทั้งๆ ที่ก็มีตัวแทนอยู่ในคณะกรรมการชุดดังกล่าว และมีข้อสรุปเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 ว่าเห็นด้วยกับการจำกัดการใช้ไกลโฟเซต แต่สำหรับสารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส กรมวิชาการเกษตรไม่มีความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพอนามัย จึงเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้คำปรึกษาด้านข้อกังวลสุขภาพของมนุษย์ก่อน
ในระหว่างนั้นภาคประชาชนได้รวมตัวกันในนาม “เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง” เพื่อเคลื่อนไหวสนับสนุนมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง เมื่อกระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าทะเบียนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสกำลังจะหมดอายุลง จึงได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด 50 จังหวัด เรียกร้องให้กรมวิชาการเกษตรไม่ต่อทะเบียนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส และให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาแบนสารพิษทั้งสองชนิดนี้โดยเร็ว แต่จู่ๆ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2560 กลับปรากฏข่าวว่า กรมวิชาการเกษตรได้ต่อทะเบียนพาราควอตให้แก่บริษัท ซินเจนทา บริษัท เอเลฟองเต้ และดาว อโกรไซแอนส์ ไปอีก 6 ปี ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2560 โดยไม่รอผลการตัดสินของคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยมีเหตุผลว่า หากล่าช้าจะทำให้ภาคเอกชนเสียหายและรัฐอาจถูกฟ้องร้องได้
การต่อทะเบียนสารเคมีอันตรายดังกล่าวทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการกระทำนี้ จนกระทั่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติแถลงข่าวไม่เห็นด้วย และประณามการต่อทะเบียนสารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสของกรมวิชาการเกษตร ส่วนสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคก็ได้ทำจดหมายถึงกรรมการสิทธิมนุษยชนให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีการต่อทะเบียนพาราควอตโดยไม่รอผลการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย
หลากหลายองค์กรประสานเสียงสนับสนุนการยกเลิกพาราควอต
วันที่ 7 ธันวาคม 2560 คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาควบคุมวัตถุอันตราย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ซึ่งเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และยื่นจดหมายเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายใช้ข้อมูลทางวิชาการที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือเป็นงานวิจัยที่สนับสนุนโดยบริษัทสารเคมี และป้องกันไม่ให้กรรมการที่มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณา และขอให้เปิดเผยรายงานการประชุมต่อสาธารณะ
ในอีกด้านหนึ่ง นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการในเดือนมกราคม 2561 ให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาข้อมูลและผลกระทบของพาราควอต และรายงานเรื่องนี้โดยเร็ว ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 กระทรวงสาธารณสุขประชุมหารือเรื่องพาราควอต และผลกระทบจากการใช้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ประชุมยืนยันตามมติคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง “ให้ยกเลิกการใช้ภายในเดือนธันวาคม 2562” อีกทั้งเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561 คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้แถลงข่าวผลการศึกษาและมีมติให้ดำเนินการตามคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงทุกข้อ และขอให้พิจารณากำหนดมาตรการเร่งด่วน ยกเลิกการนำเข้าตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 เป็นต้นไป เนื่องจากพบว่าในปี 2560 มีการนำเข้าสารทั้ง 3 ชนิดในปริมาณที่สูงกว่าปีก่อนๆ มาก
นอกจากนี้ แผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2561 ในประเด็นย่อยที่ 1.9 ลด/เลิกการใช้สารเคมีเพื่อการเกษตรที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและคุณภาพสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นให้มีการห้ามใช้หรือจำกัดการใช้สารเคมี โดยเฉพาะสารพาราควอต โดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์ที่บ่งบอกถึงอันตรายต่อสุขภาพ รวมทั้งพัฒนาสารทดแทนต่างๆ และทางเลือกในการใช้สารชีวภาพ
ในระหว่างนั้น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ACT) ได้จัดทำโพลสำรวจประเด็นที่ประชาชนสนใจ ปรากฏว่า พาราควอตเป็นหนึ่งในประเด็นที่ประชาชนติดตามมากที่สุด จึงได้จัดเวทีเสวนา “คอร์รัปชันในภาคเกษตร ภาค 1 : พาราควอต?” ขึ้น นอกจากนี้ยังมีเวทีวิชาการให้ข้อมูลแก่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง เช่น ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 จัดเวทีวิชาการเพื่อให้ข้อมูลเรื่อง “ข้อเท็จจริงทางวิชาการในการควบคุมสารเคมีอันตราย : พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส” และเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาเพื่อควบคุมสารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิดนี้ โดยใช้ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ และคณะผู้จัดการประชุมในครั้งนี้จะส่งหลักฐานทางวิชาการให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณายกเลิกพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ตามมติของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป
คณะกรรมการวัตถุอันตรายสวนกระแสไม่ยอมยกเลิกพาราควอต
แม้หน่วยงานต่างๆ ทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และเครือข่ายภาคประชาสังคมจะมีความเห็นตรงกันให้ยกเลิกพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต แต่ในการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตราย กลับไม่ตอบสนองกับข้อเรียกร้องดังกล่าว โดยในวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติ “ไม่ยกเลิก” การใช้สารเคมีพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยให้เหตุผลว่า ข้อมูลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพยังไม่เพียงพอ แต่ภายหลังการประชุม รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในคณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้ออกแถลงการณ์ส่วนบุคคลระบุชัดเจนถึงกระบวนการลงมติว่า ก่อนลงมติ ดิฉันได้กล่าวถึงมาตรา 12 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.วัตถุอันตรายที่ระบุว่า “การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก... กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นการส่วนตัวในเรื่องใดกรรมการผู้นั้นไม่มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้น” ปรากฏว่าไม่มีการแสดงการมีส่วนได้เสีย และไม่มีกรรมการท่านใดสละสิทธิ์ในการลงคะแนน” ซึ่งเป็นการแสดงนัยบางอย่างมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายดังกล่าว นำมาซึ่งความเคลื่อนไหวของเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร โดยได้ชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 5 มิถุนายน 2561 และยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยตั้งข้อสังเกตต่อกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายและการทำงานของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ดังนี้
(1) การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตราย ได้เลือกตัวแทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอดีตข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ถึง 4 คน และอีก 4 คนเลือกจากผู้ที่แสดงจุดยืนสนับสนุนกระทรวงเกษตรฯ จากคณะกรรมการที่มีจำนวน 12 คน ซึ่งล้วนแต่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านผลกระทบต่อสุขภาพ
(2) อนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ดังกล่าวใช้ข้อมูลเก่าล้าสมัยเพื่อโน้มน้าวให้มีการใช้สารพิษร้ายแรงดังกล่าวต่อไป โดยเพิกเฉยต่อข้อมูลเชิงประจักษ์และรายงานใหม่ๆ เป็นจำนวนมาก จนกระทั่งเครือข่ายนักวิชาการจากหลายสถาบัน เช่น สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยนเรศวร ต้องจัดเวทีให้ข้อเท็จจริงทางวิชาการ
(3) กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 มีกรรมการอย่างน้อย 3 คน มีส่วนได้เสียกับสมาคมค้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช แต่กลับไม่มีการแสดงการมีส่วนได้เสียและไม่มีการสละสิทธิ์ลงคะแนน ซึ่งอาจขัด พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มาตรา 12 วรรค 2 พร้อมทั้งเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายทบทวนมติและพิจารณายกเลิกพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ในเดือนธันวาคม 2562 ตามกรอบเวลาที่กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอไว้ และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการศึกษาหาวิธีการทดแทนตามมติของสภาเกษตรกรแห่งชาติ
ผู้ตรวจการแผ่นดินให้ยกเลิกพาราควอตใน 1 ปี แต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายยื้อให้ใช้ต่อไป
จากเหตุการณ์เรียกร้องหน้าทำเนียบฯ ทำให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเข้ามาตรวจสอบประเด็นนี้ และมีคำวินิจฉัยในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561 ให้ยกเลิกการใช้พาราควอตภายใน 1 ปี ก่อนยกเลิกให้มีการจำกัดการใช้ สร้างการรับรู้กับประชาชนและพัฒนาวิธีการทดแทน และเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันหลังจากได้รับหนังสือ และให้พัฒนาสารชีวภัณฑ์หรือหาวิธีการอื่นที่ปลอดภัยกว่าให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ทำให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติทบทวนการควบคุมพาราควอตจากข้อมูลคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติ 16 ต่อ 5 เสียง ยังไม่ยกเลิกการใช้สารเคมีดังกล่าว มติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายครั้งนี้เป็นการยืนยันมติที่ประชุมเดิมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 ไม่ยกเลิกนำเข้าและใช้สารเคมีการเกษตรอันตราย 3 รายการ โดยให้เหตุผลว่า ปัจจุบันยังไม่มีสารหรือมาตรการทดแทน โดยระหว่างนี้ให้กรมวิชาการเกษตรศึกษาวิจัย ลดการใช้และหามาตรการทดแทน คาดว่าในอีก 2 ปีจึงจะยกเลิกได้ถาวร
อย่างไรก็ตาม บางหน่วยงานของรัฐก็ได้มีคำสั่งแบนสารเคมีดังกล่าวของตนเองบ้างแล้ว เช่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้ออกประกาศห้ามนำสารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เข้าพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นการคุ้มครอง ดูแล รักษาอุทยานแห่งชาติ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รักษาแหล่งต้นน้ำลำธารในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ตลอดจนสุขอนามัยของประชาชน ส่วนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาเภสัชกรรม และแพทยสภา ก็ได้เสนอให้พิจารณายกเลิกสารทั้ง 3 ชนิดเช่นกัน
ทั้งนี้ ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ได้มีความเคลื่อนไหวของสังคมทั้งที่สนับสนุนให้แบนพาราควอต และอีกฝ่ายที่ต่อสู้ไม่ให้แบน รวมทั้งการสับขาหลอกของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เรียกประชุมข้าราชการระดับสูง และให้สัมภาษณ์ว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความเห็นพ้องว่า ไม่ต้องการให้มีการใช้สารพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และกระทรวงเกษตรฯ มีมาตรการในการลดการใช้พาราควอต แต่ต้องไปหารือในคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้เห็นชอบก่อน และได้กำชับให้อธิบดีทั้ง 5 คนที่เป็นคณะกรรมการวัตถุอันตรายไปประชุมด้วยตัวเอง แต่พอถึงวันประชุม เอกสารที่ผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ใช้ในการพิจารณานั้นเป็นเพียงข้อเสนอให้จำกัดการใช้ โดยจะมีประกาศกระทรวง 5 ฉบับที่ต้องประกาศใช้ หลังจากนั้นอีก 2 ปีจึงค่อยพิจารณาอีกครั้งว่าจะยกเลิกการใช้หรือไม่
แม้จะมีมติอัปลักษณ์ของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 แต่เครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น Thai-PAN ก็ได้แสดงจุดยืนที่จะเดินหน้าเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการยกเลิกพาราควอตและสารพิษร้ายแรงอื่นๆ ต่อไป โดยสนับสนุนให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการยื่นเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง รณรงค์ไม่สนับสนุนสินค้าและบริการจากผู้ผลิตและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนสารพิษร้ายแรง และร่วมกันรณรงค์ไม่ให้บุคคล กลุ่มบุคคล ที่เลือกข้างกลุ่มทุนสารพิษเข้ามามีอำนาจในการบริหารประเทศ
เลื่อนแบน "พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส" 6 เดือน "ไกลโฟเซต" ใช้ต่อได้
สถานการณ์ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 คณะกรรมการวัตถุอันตรายกลับมีมติเลื่อนแบน "พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส" ออกไปอีก 6 เดือน จากเดิมจะเริ่มยกเลิกการใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2563 และจัดการอบรมให้เหมาะสม ส่วน "ไกลโฟเซต" ให้จำกัดการใช้
โดยคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ปฏิบัติหน้าที่เป็นครั้งแรก มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานพิจารณาทบทวนมติเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2562 หลังปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะกรรมการวัตถุอันตราย เสนอให้คณะกรรมการพิจารณาทบทวนมติเกี่ยวกับรายชื่อวัตถุอันตราย และระยะเวลาในการบังคับใช้
การประชุมดังกล่าว ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการฯ ว่าได้มีการประชุมหารือแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อบริหารจัดการวัตถุอันตรายที่ยังคงเหลืออยู่ รวมถึงผลกระทบด้านอื่นๆ พบว่ามีข้อจำกัดในการปฏิบัติ หากจะให้การยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 รายการ มีผลในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 รวมทั้งผลการประชุมรับฟังความคิดเห็น พบว่ามีผู้ไม่เห็นด้วยและมีข้อเสนอแนะเป็นจำนวนมาก เช่น การจัดการสารที่คงค้าง ซึ่งมีจำนวน 23,000 ตันโดยประมาณ ซึ่งหากต้องทำลายจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และบางส่วนไม่สามารถผลักดันให้ส่งกลับไปได้
ผลกระทบที่จะเกิดต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อาหารสัตว์ ซึ่งอาจจะไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบที่เป็นผลิตผลทางการเกษตรได้ เนื่องจากอาจมีสารตกค้างอยู่ในผลผลิตดังกล่าว และในประเด็นนี้ยังไม่มีมาตรการในการบริหารจัดการ อีกทั้งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ
หลังจากมีการประชุมหารือเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติเพื่อบริหารจัดการวัตถุอันตรายที่จะยกระดับให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 แล้ว พบว่าไม่สามารถบริหารจัดการได้ หากประกาศจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธ.ค.62 และยังไม่มีมาตรการรองรับที่เหมาะสมสำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมถึงผลกระทบด้านการค้าระหว่างประเทศ และภาระที่จะเกิดขึ้นกับภาครัฐ
คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้พิจารณาข้อเสนอของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว หลังการประชุมนานกว่า 3 ชั่วโมง คณะกรรมการวัตถุอันตรายจึงมีมติ ดังนี้ 1.ให้ออกประกาศกำหนดวัตถุอันตรายพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้กำหนดระยะเวลาใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2563 สำหรับวัตถุอันตรายไกลโฟเซตให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2561
2.มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการจัดทำมาตรการรองรับในการหาสารทดแทน หรือวิธีการอื่นที่หมาะสมสำหรับวัตถุอันตรายพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส รวมถึงมาตรการในการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และให้นำเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาภายในระยะเวลา 4 เดือน นับจากวันที่มีมติและขอให้รับรองมติในที่ประชุม
สรุป
สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ทำให้ปัจจุบันมีอย่างน้อย 53 ประเทศทั่วโลกที่ยกเลิกการใช้พาราควอตแล้ว สำหรับในประเทศไทยได้มีการเสนอยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายชนิดนี้เช่นกัน โดยฝ่ายที่เป็นห่วงเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวถูกคัดค้านโดยภาคธุรกิจเคมี ภาคเกษตรบางส่วนและบางหน่วยงานของรัฐ ที่เห็นว่าการใช้สารเคมีดังกล่าวสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ ซึ่งเป็นการมองในมิติทางเศรษฐกิจด้านเดียว ปัญหาอุปสรรคในการแบนสารพิษร้ายแรงที่ผ่านมาสะท้อนให้เป็นความอัปลักษณ์ของกฎหมายวัตถุอันตราย ที่ให้อำนาจการแบนสารพิษไปไว้ในมือของหน่วยงานที่ปราศจากความรู้และความตระหนักในเรื่องความสำคัญของสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลประโยชน์ทับซ้อนของบุคลากรบางกลุ่มในคณะทำงานกับบริษัทสารพิษ ซึ่งสังคมไทยต้องใช้ความรู้และพลังของประชาชนเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้อย่างถึงราก
2.จับตาวัณโรคระบาดหนัก เร่งตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง
วัณโรคกำลังกลายเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เมื่อช่วงปลายปี 2560 พบนักเรียนโรงเรียนใหญ่ที่มีชื่อเสียงในกรุงเทพฯ ป่วยเป็นวัณโรค ซึ่งสร้างความตื่นตัวให้กับสังคมเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่กลางกรุง นอกจากนี้ยังพบวัณโรคระบาดในอีกหลายพื้นที่ เช่น ที่เรือนจำโคราช ซึ่งพบผู้ต้องขังป่วยกว่า 300 ราย จากนั้นได้มีการตรวจพบผู้ป่วยวัณโรคในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ จึงเป็นที่ปรากฏชัดว่าวัณโรคกำลังกลายเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญยิ่งของประเทศไทย
ปัจจุบันมีผู้ป่วยวัณโรคเพิ่มมากขึ้น และเชื้อเริ่มดื้อยาเพิ่มขึ้น ปีหนึ่งๆ ประมาณว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก จนองค์การอนามัยโลก (WHO) ถึงกับประกาศว่า “วัณโรคกำลังเป็นภาวะฉุกเฉินที่คุกคามมนุษยชาติ” ที่สำคัญ
องค์การอนามัยโลกจัดให้ไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศลำดับต้นๆ ของโลกที่กำลังเผชิญปัญหาทั้งจำนวนผู้ป่วยวัณโรค (TB) วัณโรคที่มีการติดเชื้อเอชไอวี (TB/HIV) และวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (MDR-TB) โดยพบผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ราว 120,000 คนต่อปี มีผู้เสียชีวิต 8,600 ราย มีผู้ป่วยวัณโรคที่ติดเชื้อ 15,000 คน และมีผู้ป่วยวัณโรคที่ดื้อยาหลายขนานถึง 4,700 คน ซึ่งเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ขณะนี้วัณโรคกำลังกลายเป็นปัญหาสาธารณสุขและความท้าทายยิ่งของประเทศไทย
วัณโรค คืออะไร
วัณโรค หรือที่เรียกว่า โรคทีบี [TB (Tuberculosis)] เป็นโรคติดต่อเรื้อรัง เกิดจากแบคทีเรีย Mycobacterium Tuberculosis ที่สามารถเกิดได้กับอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย เช่น ปอด ต่อมน้ำเหลือง กระดูกสันหลัง ข้อต่อ ช่องท้องระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ ระบบประสาท เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่จะเกิดที่ปอด เรียกว่าวัณโรคปอด ติดต่อทางการหายใจ ไอ จาม การรักษาโรคต้องใช้เวลานานถึง 6 เดือน และบางกรณีอาจเป็นปี หรือ 2 ปี ผู้ป่วยจึงต้องมีความอดทนโดยปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่หยุดการรักษาโดยแพทย์ไม่ได้สั่ง แต่ก่อนผู้ป่วยมักจะเสียชีวิต แต่เมื่อการแพทย์ก้าวหน้าก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยา เชื้อวัณโรคสามารถอยู่ในร่างกายผู้ป่วยได้เป็นเวลานานโดยไม่แสดงอาการ เรียกว่าวัณโรคระยะแฝง
วัณโรค สาเหตุการตายอันดับ 1 ของโลก
วัณโรคเป็นโรคติดเชื้อที่เป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของโลกในปี 2557 จากรายงานวัณโรคของโลกปี 2560 (Global Tuberculosis Report 2017) โดยองค์การอนามัยโลกได้คาดประมาณอุบัติการณ์ผู้ป่วยวัณโรค (รายใหม่และกลับเป็นซ้ำ) ของโลก สูงถึง 10.4 ล้านคน (140 ต่อแสนประชากร) มีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคที่เสียชีวิตสูงถึง 1.7 ล้านคน มีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคที่ติดเชื้อเอชไอวี 1.03 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10 ของผู้ป่วยวัณโรคทั้งหมดและเสียชีวิตปีละ 4 แสนคน ขณะที่ผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาคาดว่ามี 6 แสนคน เป็นผู้ป่วยรายใหม่ร้อยละ 4.1 และเป็นผู้ป่วยที่เคยรักษามาก่อนร้อยละ 19 ในจำนวนนี้เป็นวัณโรคดื้อยาหลายขนานประมาณ 4.9 แสนคน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กับงานป้องกันและรักษาโรคปอดในประเทศไทย
ประเทศไทยได้ตระหนักถึงปัญหาวัณโรคและพยายามแก้ปัญหานี้มานานแล้ว ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจะเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระองค์ทรงทราบว่าปวงชนชาวไทยเป็นวัณโรคกันมาก จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ “ยามเย็น” ให้วงดนตรีนำไปบรรเลงในงานแสดงดนตรีการกุศล เพื่อหารายได้สมทบทุนช่วยเหลือโครงการรณรงค์ต่อต้านวัณโรคแห่งชาติ และได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ช่วยเหลือกิจกรรมต่อต้านวัณโรคเสมอมา ในปี 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างตึกมหิดลวงศานุสรณ์ พระราชทานให้สภากาชาดไทยเพื่อใช้เป็นห้องปฏิบัติการผลิตวัคซีนบีซีจีป้องกันวัณโรค ซึ่งต่อมาองค์การอนามัยโลกได้ให้การรับรองคุณภาพวัคซีนบีซีจีที่ผลิตในประเทศไทยด้วย
สถานการณ์วัณโรคในประเทศไทย: เอชไอวีเป็นจุดเปลี่ยน
แผนงานควบคุมวัณโรคแห่งชาติที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จในการลดอัตราความชุกของโรคจาก 150:100,000 ในปี 2538 เหลือเพียง 76:100,000 ในปี 2544 แต่อัตราความชุกของวัณโรคกลับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา เนื่องจากการแพร่ระบาดของเอชไอวี/เอดส์ ทำให้การควบคุมวัณโรคยากมากขึ้น จนในปี 2558 องค์การอนามัยโลกได้ประเมินปัญหาวัณโรค ในปี 2016-2020 และจัดให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่ปัญหาวัณโรคสูงที่สุดในโลก ใน 3 กลุ่ม คือกลุ่มประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรคสูง กลุ่มประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรคที่ติดเชื้อเอชไอวีสูง และกลุ่มประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานสูง โดยมีอัตราของวัณโรครายใหม่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก 1.3 เท่า และมีผู้ป่วยเสียชีวิตถึง 12,000 ราย ทั้งนี้ ในปี 2559 ได้มีการคาดประมาณจำนวนผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ที่ราว 120,000 รายต่อปี
ผลการดำเนินงานวัณโรคของประเทศไทย ปี 2559 มีผลสำเร็จการรักษาผู้ป่วยวัณโรครายใหม่และกลับเป็นซ้ำร้อยละ 82.98 ซึ่งยังต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่นานาชาติกำหนด (เป้าหมายที่ร้อยละ 90) ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยจัดให้ปัญหาวัณโรคเป็นระเบียบวาระสำคัญระดับชาติ โดยเมื่อ 12 กันยายน 2560 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบหลักการแผนยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติ พ.ศ.2560-2564 โดยตั้งเป้าหมายว่าวัณโรคจะไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขอีกภายในปี 2578 สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลกที่กำหนดยุทธศาสตร์ยุติวัณโรค โดยมีเป้าหมายลดอุบัติการณ์วัณโรคให้ต่ำกว่า 10 ต่อแสนประชากรโลก ภายในปี 2578
ประเด็นปัญหาที่สำคัญของวัณโรคในไทย
ประเด็นปัญหาที่สำคัญของการติดเชื้อวัณโรคในประเทศไทยในปัจจุบัน ได้แก่ วัณโรคดื้อยาหลายขนาน วัณโรคในผู้ติดเชื้อเอชไอวี วัณโรคในเรือนจำ และวัณโรคในแรงงานข้ามชาติและบริเวณชายแดน สรุปสถานการณ์ของประเด็นปัญหาดังกล่าวได้ดังนี้
1.วัณโรคดื้อยาหลายขนาน
วัณโรคดื้อยาหลายขนานเป็นปัญหาสำคัญ มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง (ประมาณ 200,000 บาทต่อราย) เมื่อเทียบกับวัณโรคที่ไม่ดื้อยา (ประมาณ 2,000-4,000 บาทต่อราย) ในขณะที่อัตราการรักษาหายต่ำ ประเทศไทยได้ดำเนินงานบริหารจัดการวัณโรคดื้อยา (Programmatic Management of Drug-Resistant Tuberculosis : PMDT) ในปี 2555 โดยดำเนินงานอย่างเป็นระบบ แต่ระบบบันทึกและรายงานยังมีข้อจำกัดไม่ครอบคลุมทุกหน่วยงาน ประกอบกับการเข้าถึงการวินิจฉัยเชื้อดื้อยาในห้องปฏิบัติการชันสูตรยังต่ำ
2.วัณโรคในผู้ติดเชื้อเอชไอวี
ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเสี่ยงต่อการป่วยด้วยการติดเชื้อวัณโรคมากกว่าคนปกติ 20-37 เท่า และวัณโรคเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวี ดังนั้นการทราบว่าผู้ป่วยวัณโรคมีการติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยหรือไม่เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อลดอัตราเสียชีวิตระหว่างการรักษาวัณโรค ในปี 2559 จากผู้ป่วยวัณโรคที่ขึ้นทะเบียนรักษาทั้งหมด 70,114 ราย ตรวจพบการติดเชื้อเอชไอวีจำนวน 6,794 ราย คิดเป็นร้อยละ 10 โดยผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวได้รับยาโคไตรมอกซาโซนประมาณร้อยละ 58 และได้รับยาต้านไวรัส (ARV) ประมาณร้อยละ 66
3.วัณโรคในเรือนจำ
ผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นกลุ่มเสี่ยงวัณโรคที่สำคัญ เนื่องจากมีการย้ายเข้า-ออกของผู้ต้องขังตลอดเวลา อีกทั้งสภาพแวดล้อมในเรือนจำยังมีข้อจำกัดทั้งด้านสถานที่และจำนวนผู้ต้องขัง จึงง่ายต่อการแพร่เชื้อวัณโรค โดยเฉลี่ยจะมีอุบัติการณ์ของโรคสูงกว่าประชากรทั่วไป 7-10 เท่า ในปี 2559 พบว่าจากเรือนจำและทัณฑสถานจำนวน 143 แห่ง ซึ่งมีผู้ต้องขังจำนวน 287,174 ราย มีผู้ป่วยวัณโรคขึ้นทะเบียนรักษา 1,656 ราย โดยมีผู้ป่วยวัณโรคที่ติดเชื้อเอชไอวี จำนวน 311 ราย และมีอัตราความสำเร็จของการรักษาผู้ป่วยวัณโรคร้อยละ 71.9 ได้มีโครงการเร่งรัดคัดกรองในปี 2560 พบผู้ป่วยจำนวนสูงขึ้นเป็น 3,694 ราย ส่วนผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาพบผู้ป่วยจำนวน 83 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2560)
4.วัณโรคในแรงงานข้ามชาติและบริเวณชายแดน
ผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มแรงงานข้ามชาติและบริเวณชายแดนเป็นปัญหาหนึ่งในการควบคุมวัณโรคของประเทศไทย เนื่องจากอุบัติการณ์วัณโรคของประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทยสูงกว่าไทย 2-3 เท่า และที่ผ่านมาพบแนวโน้มผู้ป่วยวัณโรคเพิ่มขึ้น ในปี 2560 มีผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มแรงงานข้ามชาติและบริเวณชายแดน จำนวน 3,207 ราย
กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังลำดับที่ 48 ซึ่งหมายถึงวัณโรคที่ไวต่อยา (DS-TB) วัณโรคดื้อยาชนิด RR-TB MDR-TB และ pre XDR-TB และประกาศให้วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก (XDR-TB) เป็นโรคติดต่ออันตรายลำดับที่ 13 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยกำหนดให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย
ทำไมการรักษาวัณโรคจึงไม่สำเร็จ?
ที่ผ่านมาประเทศไทยให้ความสำคัญกับการดูแลควบคุมวัณโรคมาอย่างต่อเนื่อง มีการวิจัยพัฒนาสูตรยาในการรักษา นอกจากนี้ หน่วยงานจากต่างประเทศก็ให้ทุนสนับสนุนเพื่อให้ประเทศไทยปลอดจากวัณโรค อาทิ กองทุนโลกเพื่อเอดส์ มาลาเรีย และวัณโรค (Global Fund for AIDS Malaria and Tuberculosis) อุดหนุนงบประมาณช่วยกระทรวงสาธารณสุขไทยควบคุมปัญหาการแพร่ระบาดของวัณโรคมาอย่างยาวนาน ส่งผลให้การรักษาวัณโรคมีอัตราการหายสูงขึ้น ซึ่งในปัจจุบันก็ยังได้รับทุนสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กองทุนโลกยุติการให้ทุนสนับสนุนงานด้านเอดส์ที่เคยให้ไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม วัณโรคเป็นโรคที่ปรากฏอาการช้า ทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งยังอยู่ในชุมชนและเข้าสู่ระบบบริการสาธารณสุขล่าช้า หรือบางรายเข้าไม่ถึงระบบบริการ และบางกรณีแม้จะเข้าสู่ระบบบริการแล้ว แต่ได้รับการวินิจฉัยล่าช้า ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสแพร่เชื้อวัณโรคไปสู่ผู้อื่น วัณโรคระยะกำเริบสามารถรักษาได้ด้วยการกินยาปฏิชีวนะ แต่ปัจจุบันมีเชื้อวัณโรคดื้อยาเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องกินยาฆ่าเชื้อพร้อมกันหลายตัวอย่างน้อย 6 เดือนต่อเนื่องและตรงเวลา แต่ผู้ป่วยก็มักจะหยุดยาเองก่อนกำหนด เช่น ได้รับผลข้างเคียงจากยา กินยาไม่ตรงเวลา ส่งผลให้เชื้อวัณโรคเพิ่มจำนวนขึ้นใหม่หรือดื้อยาขึ้น ทั้งนี้แม้ว่ากินยารักษาต่อเนื่องจนครบ 6 เดือน แต่ผลการตรวจเสมหะเป็นบวกก็ต้องรักษาต่อเนื่องไปอีก ทำให้ผู้ป่วยท้อกับการรักษา จึงหยุดการรักษา ในขณะเดียวกัน ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง จึงมีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคได้อย่างรวดเร็วและรุนแรงกว่าผู้ที่ไม่ติดเชื้อ วัณโรคจึงไม่ต่างจากโรคติดเชื้อที่ฉวยโอกาสและส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษาโรค
แผนยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติ เร่งปูพรมคัดกรองวัณโรค
ปัจจุบันประเทศไทยมีการดำเนินงานป้องกัน ดูแลรักษา และควบคุมวัณโรคของประเทศภายใต้แผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค พ.ศ.2560-2564 โดยมีเป้าประสงค์เพื่อลดอุบัติการณ์ของวัณโรคลงให้เหลือ 88 ต่อประชากรแสนคน เมื่อสิ้นปี 2564 โดยมุ่งเน้น “ค้นให้พบ จบด้วยหาย พัฒนาระบบและเครือข่าย นโยบายมุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรม” โดยมีเป้าหมายเพื่อยุติปัญหาวัณโรค สอดรับกับเป้าหมายลดอุบัติการณ์วัณโรคให้ต่ำกว่า 10 ต่อแสนประชากรโลก ภายในปี 2578 ขององค์การอนามัยโลก
กรมควบคุมโรคได้จับมือกับ สปสช. บูรณาการงบประมาณปี 2561 ร่วมสนับสนุนแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรคให้บรรลุเป้าหมาย โดยรุกคัดกรองวัณโรค เอกซเรย์ทรวงอกผู้ต้องขังทุกรายในเรือนจำทั่วประเทศ 137 แห่ง พร้อมนำผู้ป่วยวัณโรคเข้าสู่การรักษา ลดการแพร่ระบาด เหตุที่ผู้ต้องขังเป็นหนึ่งในประชากรกลุ่มเป้าหมาย เพราะมีอุบัติการณ์ของโรคสูงกว่าประชากรทั่วไป 7-10 เท่า ในกรณีที่ผลเอกซเรย์ทรวงอกพบความผิดปกติจะมีการเก็บเสมหะส่งตรวจ (AFB) และ/หรือตรวจเชื้อวัณโรคและวัณโรคดื้อยาด้วย Xpert MTB/RIF โดยใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 10,560,640 บาท และงบประมาณสนับสนุนจากกรมควบคุมโรค รวมเป็นเงิน 20,639,360 บาท
สรุป
วัณโรคเป็นโรคติดเชื้อที่เป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของโลก แม้ประเทศไทยจะมีการวางแผนรับมือและใช้เทคโนโลยีในการวินิจฉัยและรักษาวัณโรคเทียบเท่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลกและประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่อุบัติการณ์ของการเกิดวัณโรคในประเทศไทยกลับไม่ลดลงและยังมีแนวโน้มที่จะเป็นปัญหามากขึ้น จึงจำเป็นต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งระบบการป้องกันควบคุมวัณโรคและการเฝ้าระวัง รวมทั้งเตรียมบุคลากรให้ทันกับสถานการณ์ การสอบสวนโรคด้วยวิธีการทางระบาดวิทยาแบบภาคสนาม (Field Epidemiology) ซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยอธิบายการเกิดโรคและการระบาดที่อาจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขยังให้ความสำคัญและประโยชน์ของการสอบสวนวัณโรคไม่มากพอ ทั้งที่จริงแล้วข้อมูลที่ได้สามารถกำหนดมาตรการในการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อที่จำเพาะกับสถานการณ์นั้นๆ ได้อย่างทันท่วงที
อีกสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ การเน้นให้ประชากรกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงการวินิจฉัยและการรักษา พร้อมดูแลการรับประทานยาให้ครบและหายขาด เช่น กรณีการค้นหาวัณโรคเชิงรุกในเรือนจำ ปี 2561 เป็นปีแรกที่ใช้การคัดกรองวัณโรคด้วยการเอกซเรย์ทรวงอก (CXR) ให้กับผู้ต้องขังทุกรายในเรือนจำ โครงการในลักษณะนี้ต้องเกิดขึ้นต่อเนื่องเพื่อลดความเสี่ยงของประชากร เพราะหากโครงการทำไม่ต่อเนื่องก็ต้องไปรับมือกับการรักษา ซึ่งไม่ต่างจากการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ นอกจากนั้น สปสช. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยังควรร่วมมือกันเดินหน้าให้บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่จำเป็นที่ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยง (อาทิ คนไร้บ้าน เป็นต้น) เช่น การตรวจหาเชื้อวัณโรค เพราะไม่เพียงนำไปสู่การรักษา แต่ยังเป็นการป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยาและการแพร่กระจายโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
3.ทุจริตเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง คนบาปในคราบ “นักบุญ”
ปณิดา-ณัฐกานต์ ผู้กล้าหาญออกมาเปิดโปงขบวนการทุจริตเงินสงเคราะห์คนยากไร้ และผู้ป่วยโรคเอดส์ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น จนนำมาซึ่งการตรวจสอบขยายผล จน ป.ป.ท.พบว่าแท้ที่จริงแล้วการทุจริตได้แผ่เป็นวงกว้าง โดยมีมากกว่า 60 จังหวัดของประเทศไทยที่มีการทุจริตในลักษณะดังกล่าว
ปัญหาการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐยังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในสังคมไทย นับวันยิ่งมีวิวัฒนาการของกลโกงในหลายรูปแบบที่คอยแอบแฝงกัดกินงบประมาณของรัฐ จนสร้างความเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี และที่สำคัญเป็นการเบียดเบียนประชาชนที่ต้องพึ่งพิงงบประมาณและโครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐ ปัญหาเหล่านี้นอกจากจะสะท้อนความฉ้อฉลของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบหลักในการบริหารโครงการต่างๆ แล้ว ยังสะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพขององค์กรตรวจสอบของรัฐ อย่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และองค์กรที่มีหน้าที่ปราบปรามการทุจริต ทั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับแสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของภาคประชาชน ที่ปัจเจกชนเพียงสองคนสามารถทำหน้าที่ “เป่านกหวีด” เปิดโปงการทุจริตได้
บทความนี้เป็นการศึกษากรณีตัวอย่างที่นักศึกษาฝึกงานออกมาเปิดโปงความฉ้อฉลของข้าราชการในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จนขยายผลให้เห็นองคาพยพของขบวนการทุจริตที่เกิดขึ้นในระบบราชการที่เชื่อมโยงกันในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
2 ผู้กล้าหาญเปิดโปงทุจริต
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 น.ส.ปณิดา ยศปัญญา หรือน้องแบม 2 นิสิตคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เข้าฝึกงานในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น พบความไม่ชอบมาพากลระหว่างฝึกงาน เนื่องจากผู้บริหารของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งดังกล่าวมีพฤติการณ์ปลอมแปลงเอกสารเพื่อเบิกเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการครองชีพรายละ 2,000 บาท เงินสงเคราะห์ผู้ติดเชื้อเอดส์รายละ 2,000 บาท และทุนประกอบอาชีพของผู้มีรายได้น้อยรายละ 3,000 บาท รวมกว่า 2,000 ราย คิดเป็นวงเงินกว่า 6.9 ล้านบาท จึงได้ร่วมกับนางสาวณัฐกานต์ หมื่นพล หรือน้องเกมส์ ลูกจ้างศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เปิดโปงเรื่องนี้ต่อสื่อมวลชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ป.ป.ท. ป.ป.ช. และ คสช. ส่งผลให้ณัฐกานต์ถูกเลิกจ้าง และปณิดาไม่ได้รับอนุญาตให้ฝึกงานจนจบ แต่กระแสข่าวดังกล่าวได้สร้างความตื่นตัวให้กับสังคมอย่างกว้างขวาง สื่อมวลชนได้ติดตามข่าวดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และกดดันให้ภาครัฐดำเนินการตรวจสอบการทุจริตอย่างจริงจัง
พบเจ้าหน้าที่ทุจริต 284 คนใน 68 จังหวัด
ภายหลังการเปิดโปงเรื่องดังกล่าวจนกลายเป็นข่าวครึกโครมทั่วประเทศ ภาครัฐจึงได้ดำเนินการตรวจสอบโดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เมื่อ ป.ป.ท.ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่ตรวจสอบการทุจริตในจังหวัดขอนแก่น ตามที่น้องแบมและน้องเกมส์ได้ร้องเรียน มีการสั่งย้ายผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น และเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ อีก 3 คน โดย ป.ป.ท.ได้ไต่สวนจนตั้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีอาญากับผู้อำนวยการศูนย์ฯ และพวกรวม 6 คน ใน 4 ข้อหา คือ ฐานความผิดต่อตกแหน่งหน้าที่ราชการ เป็นเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์ มีโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต ฐานความผิดปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ฐานเป็นเจ้าพนักงานกระทำการปลอมแปลงเอกสาร และฐานเป็นเจ้าพนักงานรับรองหลักฐานเอกสารที่เป็นเท็จ ส่วนผู้ต้องหาที่ไม่ใช่ข้าราชการหรือเป็นพนักงานราชการถูกดำเนินคดีข้อหาสนับสนุนในการทุจริตด้วย
จากนั้นกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการได้ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงข้าราชการและพนักงาน ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น และมีมติไล่ออกจากราชการ นางพวงพยอม จิตรคง ผู้อำนวยการศูนย์ฯ และนางวราภรณ์ อบมา หัวหน้าฝ่ายสวัสดิการสังคม ยิ่งไปกว่านั้น นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สั่งย้ายนายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และนายณรงค์ คงคำ รองปลัดกระทรวง ให้มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อสอบสวนการทุจริตในกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ อย่างจริงจัง
การตรวจสอบส่วนที่ 2 ป.ป.ท.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนตรวจสอบการจ่ายเงินงบประมาณอุดหนุนเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่งประจำปี 2560 ทั่วประเทศ พบความผิดปกติในการเบิกจ่ายงบประมาณรวมวงเงิน 129.5 ล้านบาท7 มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้องกว่า 189 คน โดยมีพฤติการณ์ปลอมเอกสารเบิกจ่ายลงลายมือชื่อปลอม แก้ไขจำนวนเงิน ลงลายมือรับเงินล่วงหน้าเวียนนำรายชื่อมาเบิกเงิน ยักยอกเงินสงเคราะห์ ผู้มีรายชื่อรับเงินไม่ได้รับเงิน หรือได้รับไม่ครบถ้วน และผู้มีรายชื่อรับเงินอุดหนุนสงเคราะห์หลายรายขาดคุณสมบัติ ซึ่ง ป.ป.ท.ได้ดำเนินคดีอาญาและส่งเรื่องให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เอาผิดทางวินัย
ในเวลาต่อมา กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้มีมติตั้งข้อกล่าวหานายพุฒิพัฒน์ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และนายณรงค์ รองปลัดกระทรวง พร้อมข้าราชการระดับสูงอีก 9 คน ฐานผิดวินัยร้ายแรง ปลดพ้นจากตำแหน่งและอายัดทรัพย์สินทั้งหมด เนื่องจากมีหลักฐานชัดว่าเกี่ยวข้องและอยู่เบื้องหลังการทุจริตที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ป.ป.ง. ยังดำเนินคดีทางอาญาหลังพบว่านายพุฒิพัฒน์และพวกได้โยกย้ายเงินที่ได้จากการทุจริตและเปลี่ยนแปลงเป็นทรัพย์สินอื่นกว่า 88 ล้านบาท จนกระทั่งวันที่ 29 มิถุนายน 2561 นายพุฒิพัฒน์ และภรรยา ได้กินยาพิษผสมไวน์ฆ่าตัวตายที่บ้านพัก เพราะความเครียดจากปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเจ้าหน้าที่สามารถช่วยชีวิตภรรยาไว้ได้คนเดียว
การตรวจสอบส่วนที่ 3 ป.ป.ท.ได้ขยายผลไปยังหน่วยงานภายในกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ อีกจำนวน 28 แห่ง การตรวจสอบพบมูลทุจริต 7 แห่ง ในวงเงินงบประมาณ 41,410,000 บาท คือ ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง 3 แห่ง คือ จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดแพร่ และจังหวัดราชบุรี นิคมสร้างตนเอง 4 แห่งที่ลำโดมใหญ่ (จังหวัดอุบลราชธานี) ท้ายเหมือง (จังหวัดพังงา) รัตภูมิ (จังหวัดสงขลา) และเบตง (จังหวัดยะลา) และอยู่ระหว่างตรวจสอบเพิ่มเติมอีก 21 แห่ง
จากการตรวจสอบของ ป.ป.ท.ทั้ง 3 ส่วนมีการตรวจสอบทั้งสิ้น 113 หน่วยงาน งบประมาณรวม 376,136,600 บาท คณะกรรมการ ป.ป.ท.มีมติรับไว้ไต่สวนข้อเท็จจริง 61 หน่วยงาน พบมีมูลการทุจริตใน 68 จังหวัด ไม่พบการทุจริต 8 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครศรีธรรมราช นนทบุรี แพร่ นครสวรรค์ สุโขทัย และอุตรดิตถ์ มีเจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เกี่ยวข้องกับการทุจริตทั้งสิ้นจำนวนถึง 284 คน ทั้งนี้ การทุจริตภายในกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ไม่เพียงเป็นการยักยอกเงินสงเคราะห์ภายในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในจังหวัดต่างๆ เท่านั้น แต่ยังลุกลามเหมือนมะเร็งร้ายที่กระจายไปยังหน่วยงานของจังหวัดต่างๆ ที่ได้รับงบประมาณส่วนเดียวกันอีก 6 หน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์ปฏิบัติการคนไร้ที่พึ่งและขอทาน กองคุ้มครองสวัสดิการและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต นิคมสร้างตนเอง สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง และศูนย์ประสานงานโครงการหมู่บ้านสหกรณ์
ทางออกป้องกันการทุจริต
ปัญหาการทุจริตที่แทรกซึมระบบราชการนับวันยิ่งทวีความรุนแรง โดยพัฒนาเป็นขบวนการทุจริตที่กินกันเป็นทอดๆ โดยมีผู้บริหารระดับสูงบงการอยู่เบื้องหลัง ปัญหาสำคัญอยู่ที่การเบิกจ่ายงบประมาณซึ่งไม่มีระบบตรวจสอบอย่างรัดกุม ที่ผ่านมาคนไทยอาจจะได้ยินว่าการทุจริตส่วนใหญ่เกิดจากการจัดซื้อจัดจ้าง การติดสินบน ฮั้วประมูล แม้ขั้นตอนเหล่านี้จะมีระบบตรวจสอบ แต่มักไม่สามารถเอาผิดผู้ทุจริตได้โดยง่าย ขณะเดียวกันการเบิกจ่ายงบประมาณก็เป็นอำนาจของผ้บริหารของหน่วยงานโดยตรง โดยผู้บริหารแต่ละส่วนมีอำนาจเป็นทอดๆ จึงอาจเกิดความหละหลวมและมีช่องว่างที่เอื้อต่อการทุจริตได้ โดยระบบตรวจสอบ เช่น สตง. ก็มัก “จับไม่ได้ ไล่ไม่ทัน”
จากการทุจริตที่เกิดขึ้น พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้สั่งการให้วางมาตรการการจ่ายเงินอุดหนุนใหม่ โดยกำหนดให้ระบบเบิกจ่ายงบประมาณใช้ช่องทางระบบอิเล็กทรอนิกส์โอนเงินผ่านธนาคารกรุงไทย (Krungthai Corporate Online) แทน โดยมีกรมบัญชีกลางและธนาคารกรุงไทยให้ความร่วมมือในการจ่ายเงิน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งระบบการจ่ายเงินอุดหนุนรูปแบบใหม่จะโอนเงินช่วยเหลือเงินสงเคราะห์ ได้แก่ เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งเงินสงเคราะห์คนพิการ และผู้สูงอายุที่อยู่ในสภาวะยากลำบากโดยตรง
ขั้นตอนการจ่ายเงินมีดังนี้ เมื่อสำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณมาถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะจัดสรรเบิกจ่ายผ่านคณะกรรมการ One Home บันทึกรายชื่อผู้ประสบปัญหาทางสังคมไว้ในระบบเพื่ออนุมัติช่วยเหลือตามรายชื่อแล้วโอนเงินอัตโนมัติเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทยถึงมือประชาชนโดยตรงทันที โดยไม่ผ่านเจ้าหน้าที่เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่จับเงิน ส่วนบัญชีธนาคารอื่นๆ ใช้เวลา 2 วัน ในกรณีที่จะต้องเบิกจ่ายงบอุดหนุนเป็นเงินสด ต้องมีพยานบุคคล 2 คน ประกอบด้วย บุคคลภายนอก 1 คน เช่น ผู้นำชุมชน อปท. อพม. หรือเครือข่าย และเจ้าหน้าที่ พม. 1 คน ลงลายมือชื่อในแบบใบเสร็จรับเงิน รวมทั้งถ่ายภาพขณะรับมอบให้เห็นจำนวนเงินเพื่อเป็นหลักฐานด้วย
สำหรับมุมมองของนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์อย่าง ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า การเปลี่ยนวิธีจ่ายเงินสงเคราะห์จากเดิมไปยังศูนย์สงเคราะห์มาเป็นจ่ายผ่านธนาคารแทนนั้น เป็นการแก้ไขปัญหาการทุจริตเฉพาะหน้าเท่านั้น ในระยะยาวเสนอว่าโครงการที่เกี่ยวข้องกับระบบสวัสดิการแห่งรัฐทั้งหมดต้องมีการชี้แจงสิทธิถึงผู้ได้รับสิทธิโดยตรงว่ามีจำนวนเท่าไร และชี้แจงผลประโยชน์ของผู้ได้รับสิทธิที่ควรจะได้รับ เพราะคนพิการมีสิทธิอย่างหนึ่ง ผู้สูงอายุมีสิทธิอย่างหนึ่ง คนไร้ที่พึ่งมีสิทธิอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นต้องทำให้เกิดความชัดเจน นอกจากนี้เสนอให้มีการจัดแบ่งภารกิจ หรือสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ว่าใครควรทำอะไร ระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น และศึกษาว่าใครควรรับผิดชอบอย่างไร เรื่องใดสมควรถ่ายโอนและกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการปฏิรูปอย่างแท้จริง ส่วนการจ่ายเงินผ่านธนาคารหรือไม่นั้น ไม่น่าจะมีปัญหา หากมีการปฏิรูปตามข้อเสนอดังกล่าว
เพิ่มบทบาทการตรวจสอบของภาคประชาสังคม
ภาคประชาสังคมอย่างองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยนายมานะ นิมิตมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ออกมาเรียกร้องให้คนนอกเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบปัญหานี้ แทนที่จะให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ตรวจสอบกันเอง เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกระทรวงให้ความร่วมมือกับการตรวจสอบอย่างเต็มที่ เพราะการคอร์รัปชันจำนวนมากขนาดนี้อาจมีการเชื่อมโยงมาถึงข้าราชการระดับสูงในกระทรวง
ขณะที่กลุ่มของนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์สมาคมฯ เรียกร้องให้ ปปง.ตรวจสอบเส้นทางการเงินของผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เพราะเชื่อว่าน่าจะเป็นขบวนการใหญ่ระดับประเทศที่มีการสมคบคิดกันอย่างเป็นระบบที่ดำเนินการในเกือบทุกจังหวัด ซึ่งข้าราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ระดับเล็กๆ คงไม่กล้ากระทำหากไม่ได้รับการคุ้มครองจากผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง ดังนั้นการที่กระทรวงตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงจึงไม่ใช่ข้อยุติในการหาผู้กระทำความผิดในครั้งนี้ได้ทั้งหมด นอกจากนี้กระทรวงยังมีอีกหลายโครงการที่ใช้เงินงบประมาณหลายหมื่นล้านบาท โดยเฉพาะโครงการบ้านมั่นคงที่มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตอย่างมหาศาลอีกด้วย
สรุป
ในขณะที่ประเทศไทยมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจจนเจริญก้าวหน้าไปอย่างมาก แต่พื้นฐานนิสัยของคนในสังคมจำนวนไม่น้อยกลับถดถอย นึกถึงแต่ประโยชน์ตัวเอง ไม่สนใจว่าสังคมจะเป็นอย่างไร ทำให้เกิดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันทั้งในแวดวงต่างๆ ดังเช่นปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้นในกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ซึ่งไม่ได้มีสาเหตุเพียงเพราะช่องว่างของการตรวจสอบในระบบราชการเท่านั้น แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากทัศนคติความนิ่งเฉย การทำใจยอมรับของคนไทยซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่มีการทุจริต เพียงเรากะพริบตานิ่งเฉยกับสิ่งที่เกิดขึ้นก็เกิดความเสียหายกับประเทศชาติมากมายมหาศาล จนกลายเป็นตัวฉุดรั้งการพัฒนาของประเทศได้อย่างไม่คาดคิด
กรณีการทุจริตในกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่ถูกเปิดโปงครั้งนี้ น่าจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของยอดภูเขานำแข็งแห่งการทุจริตที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งดำเนินมายาวนานและสะท้อนถึงความล้มเหลวของระบบตรวจสอบทั้งหมด ตั้งแต่การตรวจสอบภายในของกระทรวงเอง หรือการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่น สตง. และองค์กรตรวจสอบการทุจริตของประเทศ เช่น ป.ป.ท. ในขณะที่ภาคประชาสังคม เช่น องค์การต่อต้านคอร์รัปชันได้ “ออกโรง” มา “เป่านกหวีด” เปิดโปงการทุจริต ภายหลังการเปิดเผยความไม่ชอบมาพากลของหน่วยงานรัฐ โดยนักศึกษาฝึกงานและลูกจ้างของหน่วยงานดังกล่าว ปรากฏการณ์ดังกล่าวจึงเป็นเหมือนการแสดงถึงพลังของปัจเจกที่ช่วยกันทำหน้าที่ปกป้องประเทศชาติโดยไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพลใดๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมไทยต้องช่วยกันสังคายนา และสร้างเสริมค่านิยมและทัศนคติของสังคมไทยให้เป็นสังคมที่โปร่งใสและซื่อตรง จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว
4.ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ภัยจากต่างแดน
ประเทศไทยกำลังกลายเป็นบ่อทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์แห่งใหม่ของโลก หลังรัฐบาลจีนลงนามสัตยาบันกับองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ จนมีการปราบปรามการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ในจีน ส่งผลให้ให้ขยะอันตรายเหล่านี้ส่วนหนึ่งมุ่งหน้ามาสู่ประเทศไทยแทน
จากข้อมูลของกรมศุลกากรพบว่า ไทยนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้อง (ภายใต้อนุสัญญาบาเซลที่ควบคุมการขนส่งเคลื่อนย้ายขยะอันตราย) ช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2561 จำนวนกว่า 52,000 ตัน ซึ่งมีปริมาณมากขึ้นเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับ 2560 ตลอดทั้งปี อีกทั้งยังมีการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ผิดกฎหมาย (นอกเหนืออนุสัญญาบาเซล) อีกจำนวนมาก ผ่านตู้สินค้าทางเรือด้วยวิธีการสำแดงเท็จว่าเป็นวัตถุที่ถูกต้องตามกฎหมาย นี่จึงเป็นสัญญาณเตือนว่า ประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นบ่อขยะพิษของโลกแห่งใหม่ (หรือไม่) บทความนี้เป็นการสรุปสถานการณ์ของขยะอิเล็กทรอนิกส์ และอภิปรายแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
สถานการณ์ขยะอิเล็กทรอนิกส์ของไทย
ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุถึงปริมาณขยะกากอุตสาหกรรมในไทยย้อนหลัง 5 ปี พบว่า ปี 2555 มีปริมาณ 4,387,769 ตัน ปี 2556 มีปริมาณ 10,150,937 ตัน ปี 2557 ปริมาณ 12,322,492 ตัน ปี 2558 ปริมาณ 11,159,866 ตัน และปี 2559 ปริมาณ 16,340,000 ตัน แสดงให้เห็นถึงปริมาณขยะอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากเป็น 4 เท่าในช่วงเวลาเพียง 5 ปี โดยจำนวนมากเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-waste คือกากขยะที่มาจากผลิตภัณฑ์จำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของโลกในการหาแนวทางการจัดการเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เพราะส่วนประกอบในขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้มีแร่โลหะที่มีมูลค่าสูง หากมีเทคโนโลยีที่เหมาะสมก็สามารถสร้างมูลค่าได้ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น มีการนำโลหะมีค่าที่สกัดจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ ทองคำ ทองแดง มาผลิตเป็นเหรียญรางวัลที่จะใช้ในกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2020
สำหรับประเทศไทยการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จะต้องดำเนินการตามอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนและการกำจัดซึ่งของเสียอันตราย (Basel Convention on the Control of Transboundary Movements of Hazardous Wastes and Their Disposal: Basel Convention) อันเป็นมาตรการจำกัดการเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายระหว่างประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายคือลดปริมาณสารพิษที่เกิดจากของเสียหรือขยะ อนุสัญญาจะควบคุมการขนส่งเคลื่อนย้ายกากสารเคมีประเภทต่างๆ ซึ่งเดิมได้กำหนดบัญชีรายชื่อของเสียที่ควบคุมเพียง 47 ชนิด แต่ต่อมาได้มีการปรับปรุงแก้ไขและจัดกลุ่มใหม่เป็น List A ซึ่งมี 61 ชนิด ได้แก่ (1) ของเสียประเภทโลหะ 19 ชนิด เช่น สารหนู ตะกั่ว ปรอท แอสเบสตอส แคดเมียม ฯลฯ (2) ของเสียประเภทอนินทรียสาร 6 ชนิด เช่น สารเร่งปฏิกิริยาฟลูออรีน ฯลฯ (3) ของเสียประเภทอินทรียสาร 20 ชนิด เช่น น้ำมันดิบ น้ำมันเตา ฯลฯ และ (4) ของเสียประเภทอนินทรียสารและหรืออินทรียสาร 16 ชนิด เช่น ของเสียจากโรงพยาบาลวัตถุระเบิด ฯลฯ
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้การจัดการขยะเหล่านี้ไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศ เกิดปัญหาสารเคมีตกค้างรั่วไหลทำลายระบบนิเวศ ซึ่งข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมในปี 2560 พบว่า ประเทศไทยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้องกว่า 6 หมื่นตัน แบ่งออกเป็นขยะที่มาจากภาคอุตสาหกรรมในประเทศจำนวนประมาณ 7,400 ตัน และนำเข้าประมาณ 53,000 ตัน ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตบำบัดและกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ 148 แห่ง ประกอบด้วย โรงงานคัดแยกขยะ โรงงานบำบัดและกำจัดขยะ และโรงงานสกัดโลหะมีค่านำกลับมาใช้ใหม่ ขยะที่นำเข้ามารีไซเคิล ส่วนใหญ่มาจากประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ โดย 98% เป็นโทรศัพท์มือถือ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์กรมโรงงานฯ ได้ออกใบอนุญาตให้มีการนำเข้า 7 โรงงานมีโควตาการนำเข้ารวมประมาณ 117,000 ตันต่อปี ในจำนวนนี้มี 5 โรงงานที่เข้าข่ายมีการนำเข้าโดยผิดเงื่อนไขในใบอนุญาต
ส่วนกรมควบคุมมลพิษพบว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี จากซากอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ จากจำนวน 357,000 ตัน ในปี 2555 เพิ่มขึ้นเป็น 384,233 ตันในปี 2558 โดยซากที่เกิดขึ้นมากที่สุดคือ โทรทัศน์ (ร้อยละ 27) รองลงมาคือ เครื่องปรับอากาศ (ร้อยละ 19) ตู้เย็น (ร้อยละ 17) เครื่องซักผ้า (ร้อยละ 16) และคอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 15)
นอกนั้นเป็นเครื่องเล่นวีซีดี/ดีวีดี โทรศัพท์ และกล้องถ่ายรูปดิจิทัล โดยแหล่งกำเนิดส่วนใหญ่มาจากบ้านเรือนทั่วไปคิดเป็นร้อยละ 82 รองลงมาคือ สำนักงาน ร้อยละ 14 และโรงแรม/อพาร์ตเมนต์ ร้อยละ 3 ตามลำดับ
จากการสำรวจข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มครัวเรือนในการจัดการกับผลิตภัณฑ์ซากเมื่อไม่ใช้งานแล้ว พบว่า ส่วนใหญ่จะขายซากผลิตภัณฑ์ คิดเป็นร้อยละ 51.3 เก็บรวบรวมไว้ ร้อยละ 25.3 ทิ้งปนกับขยะทั่วไป ร้อยละ 15.6 และให้ผู้อื่นร้อยละ 7.8 การคาดการณ์ปริมาณซาก จากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษพบว่า โทรศัพท์มือถือเป็นซากผลิตภัณฑ์ที่พบมากที่สุดและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2559 มีซากมือถือ 10.9 ล้านเครื่อง และคาดว่าในปี 2564 จะมีซากมือถือจำนวน 13.42 ล้านเครื่อง
อันตรายจากซากโทรศัพท์มือถือและแบตเตอรี่
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ใกล้ตัวคนไทยมากที่สุดคือ โทรศัพท์มือถือกลายเป็นขยะอยู่ตามแหล่งชุมชนปะปนไปกับขยะมูลฝอย ไม่มีการจัดการที่ถูกต้อง เมื่อเวลาผ่านไปส่วนเปลือกห่อหุ้มของเครื่องโทรศัพท์และแบตเตอรี่จะเสื่อมสภาพหรือผุกร่อน สารเคมีที่เสื่อมสภาพภายในจะไหลออกมาสู่สิ่งแวดล้อม สารพิษนี้ก็จะเข้าสู่ระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร ผ่านทางดินน้ำและอากาศ และก่อให้เกิดอันตรายต่างๆ ที่ไม่คาดคิด
การลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์:อาชญากรรมข้ามชาติ
การลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยมีมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมศุลกากร ได้ตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ทั้งหมด 7 ตู้ ที่นำเข้ามาจากฮ่องกงและประเทศญี่ปุ่น พบขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งเครื่องเล่นเกมเก่า สายไฟ และแผงวงจร มีการสำแดงข้อมูลระบุไว้ว่าเป็นเพียงพลาสติก และได้ตั้ง 4 ข้อหาคือ สำแดงเท็จตามพระราชบัญญัติศุลกากร หลีกเลี่ยงการเสียภาษีตามพระราชบัญญัติศุลกากร นำเข้าสินค้าต้องห้ามและนำเข้าวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 นอกจากนี้บริษัทที่นำเข้าจะต้องรับผิดชอบในการกำจัด หรือส่งกลับประเทศต้นทางด้วย
จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษพบมีการลักลอบ นำเข้ากากของเสียประเภทขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ผิดกฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ
- เดือนธันวาคม ปี 2544 มีการลักลอบนำเข้าแบตเตอรี่รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์จากสหราชอาณาจักร จำนวน 5 ตู้คอนเทนเนอร์ นำหนักรวม 23.4 ตัน
- เดือนกันยายน ปี 2545 ลักลอบนำเข้าจอคอมพิวเตอร์ใช้แล้วจากญี่ปุ่น 2 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนัก 46.2 ตัน
- เดือนมกราคม ปี 2547 ลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากญี่ปุ่น 7 ตู้คอนเทนเนอร์ หนัก 46.2 ตัน
- เดือนสิงหาคม ปี 2557 ลักลอบนำเข้าซากเครื่องใช้ไฟฟ้าจากญี่ปุ่น 8 ตู้คอนเทนเนอร์ หนัก 196.1 ตัน
เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนถึงปัญหาความหละหลวมในการบริหารจัดการและการควบคุมของไทย ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากการทุจริตรับสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ผิดกฎหมาย เหล่านี้เป็นขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ มีกลุ่มเอกชนของจีนเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทหรือซื้อต่อโรงงานจากคนไทยเพื่อดำเนินการ โดยยื่นขอใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อดำเนินกิจการนี้ก่อนจะนำเข้าขยะดังกล่าวมา อย่างไรก็ดี บริษัทกลับไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะดำเนินการ จึงกระจายขยะต่อให้กับโรงงานในเครือข่ายกำจัดทิ้งแทน มีการรายงานข่าวว่า กลุ่มเอกชนเหล่านี้ได้จ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่ออำนวยความสะดวกด้วย โดยตกตู้คอนเทนเนอร์ละหลักแสนบาท สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะความเห็นแก่ตัวของคนบางกลุ่ม โดยไม่ได้คำนึงผลกระทบต่อส่วน รวมทั้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศและปัญหาสุขภาพของประชาชน
ทางออกในการจัดการปัญหา
ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการเศษเหลือทิ้งของผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์โดยตรง แม้จะพยายามผลักดันร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีหลายครั้ง ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมาจนครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว สาระสำคัญกำหนดให้ผู้ผลิตต้องจัดตั้งศูนย์รับคืนซากผลิตภัณฑ์ หรือให้ผู้จัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือผู้ใดดำเนินการแทนภายใต้การควบคุมดูแลของผู้ผลิตหรือผู้ผลิต สามารถทำความตกลงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการดำเนินการจัดตั้งศูนย์รับคืนซากผลิตภัณฑ์ แต่จนถึงต้นปี 2562 ก็ยังไม่มีการเสนอร่างกฎหมายนี้ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา เพราะยังอยู่ระหว่างการให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาทบทวน ปัจจุบันจึงมีเพียงกฎหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับการจัดการของเสียอันตรายและการประกอบกิจการอุตสาหกรรม และกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับต่างๆ ได้แก่
- พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535
- พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535
- พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522
- พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535
- พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2551
- พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520
- พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522
- พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2548
- พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530
การดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้จัดทำกรอบการดำเนินงานและแผนปฏิบัติการเพื่อรองรับผลกระทบจากระเบียบสหภาพยุโรปเกี่ยวกับเศษเหลือทิ้งของผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อปี 2549 กรมโรงงานอุตสาหกรรมทำการศึกษาการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้ถูกวิธี และออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการกำหนดให้เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้วเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ซึ่งผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ครอบครองจะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมก่อนจึงจะสามารถประกอบการได้ ขณะที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ ได้ดำเนินการศึกษาและจัดทำโครงการต่างๆ เช่น โครงการศึกษาเพื่อจัดตั้งศูนย์กำจัดของเสียอันตรายจากชุมชนโครงการกลไกการเรียกคืนซากแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ คู่มือการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และยุทธศาสตร์การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เชิงบูรณาการ เป็นต้น ส่วนกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ได้จัดทำคู่มือประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับขยะอิเล็กทรอนิกส์
สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินคณะที่ 5 ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ได้พิจารณามาตรการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2561 มี 3 มาตรการเร่งด่วนคือ
- ระงับการอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากโรงงานที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามอนุสัญญาบาเซล
- ผลักดันให้นำกลับขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกในกรณีที่พบการสำแดงเท็จ พร้อมดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด
- หากนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกแล้วส่งไปโรงงานกำจัดที่ไม่ถูกต้องตามใบอนุญาต ให้ส่งกลับไปยังโรงงานที่ได้รับอนุญาต หรือนำไปกำจัดให้ถูกต้อง พร้อมดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดกฎหมาย
ข้อเรียกร้องของนักวิชาการและภาคประชาสังคม
นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ได้เรียกร้องให้เร่งออกกฎหมายการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ และซากผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ไฟฟ้า (Waste from Electrical and Electronic Equipment : WEEE) ภายใต้หลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิตและผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ จัดระบบรับคืน รวบรวม ขนส่ง รีไซเคิลและกำจัดซากผลิตภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้บริโภค ท้องถิ่น และผู้จัดจำหน่าย โดยกำหนดให้ผู้บริโภคที่ต้องการกำจัดซากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวต้องทำการคัดแยกขยะและจ่ายค่าธรรมเนียมการกำจัดให้แก่ภาครัฐที่รับขนไปยังโรงงานรีไซเคิล นอกจากนี้ร้านค้าปลีกต้องรับสินค้าเก่าคืนเมื่อขายสินค้าใหม่ โดยผู้ผลิตต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการรับซื้อคืนและรีไซเคิล ทำให้ปริมาณการรีไซเคิลมีจำนวนมากขึ้น ลดปัญหาการกำจัดลง และผู้ผลิตจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณสมบัติรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ลดการใช้วัสดุที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลต้องเร่งสนับสนุนให้เกิดโรงงานรีไซเคิลมากขึ้น สนับสนุนทั้งองค์ความรู้ งบประมาณ และกำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมประเภทกำจัดกากของเสียอันตรายและโรงงานอุตสาหกรรมประเภทรีไซเคิลทั้งหมด ต้องดำเนินการภายในพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรม เพื่อสะดวกในการควบคุมและกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม
ขณะที่ในระยะเร่งด่วน นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กับชาวบ้าน 7 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง สมุทรสาคร เพชรบุรี สระบุรี และราชบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีโรงงานคัดแยกขยะรีไซเคิลตั้งภายในพื้นที่จำนวนมาก ได้เรียกร้องให้ คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เข้ามาจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง เนื่องจากปัญหานี้มีสาเหตุจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมทยอยออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ยกเว้นให้ไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตรายเกี่ยวกับการดำเนินการในการขออนุญาตและขึ้นทะเบียน ส่งผลให้การผลิต การนำเข้า การส่งออก และการครอบครองของเสียและขยะดังกล่าวได้รับยกเว้นไม่ต้องขออนุญาต จึงอาจส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้
สรุป
ปัญหาอุปสรรคในการจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วมาจากผลิตภัณฑ์ในกลุ่มโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ ที่ผู้บริโภคเริ่มมีค่านิยมในการเปลี่ยนเครื่องก่อนที่เครื่องเดิมจะเสื่อมสภาพลง เป็นผลให้เกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น เบลเยียม ใช้การแก้ไขปัญหาโดยมีองค์กรกลางที่เรียกว่า RECUPEL เป็นหน่วยงานที่มีระบบการจัดเก็บและจัดการซากอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของการป้องกันและจัดการของเสียและข้อตกลงด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม ในการเรียกคืนซากอิเล็กทรอนิกส์ อันเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างภาครัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยควรให้ความสำคัญจัดตั้งองค์กรกลาง เพื่อผนึกกำลังส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาเป็นองค์กรเดียวกันในการควบคุมและจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ ส่งเสริมให้เกิดโรงงานรีไซเคิล และโรงงานประเภทกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างครบวงจรในประเทศ กำหนดโซนนิงพื้นที่กำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้ชัดเจน ไม่ให้กระทบต่อชุมชน ส่วนปัญหาการลักลอบการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้น ควรมีระบบตรวจสอบคัดกรองสินค้าตั้งแต่ต้นทางก่อนนำตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าเข้ามาถึงประเทศ เพื่อป้องกันการลักลอบนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในประเทศ และต้องสูญเสียงบประมาณในการส่งกลับออกไปอีก
5.ปลดล็อกกัญชา:ก้าวแรกสู่ความหวังทางการแพทย์
หลายประเทศทั่วโลกอนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์หรือสันทนาการได้อย่างถูกกฎหมาย แต่หลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยกำหนดให้กัญชาเป็นสิ่งเสพติดให้โทษประเภท 5 ห้ามเสพ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ทว่าล่าสุดได้มีการปลดล็อกพืชกัญชาที่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เพื่อเปิดทางให้นำมาใช้ทางการแพทย์ได้แล้ว ทำให้เกิดความหวังว่าผู้ป่วยบางโรคจะได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว
ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 กัญชาถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 แบบเดียวกับพืชกระท่อม ผู้ใดมีไว้ครอบครองมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี ปรับสูงสุดถึง 100,000 บาท การเรียกร้องให้ถอดกัญชาจากประเภทยาเสพติดมาเป็นพืชสมุนไพรถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่หลายๆ ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้กัญชาสามารถนำมาใช้ได้อย่างถูกกฎหมาย แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว เรื่องของยาเสพติดเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ยากที่คนในสังคมส่วนใหญ่จะยอมรับ แต่ทว่าสิ่งที่มีการเรียกร้องกันอยู่นี้ไม่ใช่เรื่องของการนำกัญชามาเสพเพื่อความบันเทิง แต่เป็นการใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์ โดยมีงานวิจัยจำนวนมากต่างยืนยันว่ากัญชาสามารถนำมารักษาโรคได้หลายชนิด บทความนี้เป็นการอภิปรายมุมมองกัญชาในด้านต่างๆ และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายและกฎหมายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ตลอดจนผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
กัญชาคือยาหรือยาเสพติด
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พบว่า ในกัญชามีสารตระกูลแคนนาบินอยด์ (Cannabinoids) อยู่จำนวนหนึ่งมีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท คือ Delta-9-Tetrahydrocannabinol (THC) สารดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 การค้นคว้าเกี่ยวกับฤทธิ์ของ THC นำไปสู่การผลิตยา (Dronabinol (Marinol) ซึ่งมีส่วนผสมของ THC สำหรับใช้ในผู้ป่วยมะเร็งที่รักษาด้วยวิธีเคมีบำบัด เพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน และทำให้เพิ่มความอยากอาหารในผู้ป่วยเอดส์
กัญชานิยมเสพโดยการสูบ ฤทธิ์ของกัญชาเมื่อเสพเข้าสู่ร่างกาย จะแทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็วภายใน 2-3 นาที และจะออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทได้สูงสุดถึง 1 ชั่วโมง อาการโดยทั่วไปจะเซื่องซึมลงอย่างช้าๆ แต่บางรายก็ลดลงอย่างรวดเร็ว ผู้เสพกัญชาจะมีอาการเคลิ้มจิต (Euphoric “high” or “stoned”) โดยในระยะแรกมักจะเป็นอาการกระตุ้นประสาท และบางคนจะมีอาการตึงเครียดทางใจหรืออาการกังวล ต่อมาจะมีอาการเคลิ้มจิตเคลิ้มใจ ทำให้ผู้สูบรู้สึกว่าบรรยากาศทั่วๆ ไปเงียบสงบ จากนั้นมักจะมีปฏิกิริยาที่เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน เดี๋ยวหัวเราะลั่น เดี๋ยวสงบ เพราะฉะนั้นอาการเคลิ้มจิตจึงควรเรียกว่า “อาการเมากัญชา" มากกว่า อาการอื่นๆ ที่พบคือ ผู้เสพจะรู้สึกล่องลอย ปากแห้ง สับสน อยากอาหาร ชีพจรเพิ่มขึ้น ตาแดงขึ้น ในขณะที่เสพยา หากเสพเป็นประจำจะทำให้สุขภาพเสื่อมลง เกิดโรคตามมา ได้แก่ โรคหลอดลมอักเสบ ไซนัสอักเสบ ทางเดินหายใจอักเสบ ตะคริว ท้องร่วง โดยรวมแล้วกัญชามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่คล้ายกับพวกยากระตุ้นประสาท (Stimulant) ยากดประสาท (Depressant) ยาหลอนประสาท (Hallucinogen) ยาแก้ปวด (Analgesic) และยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท (Psychotropic) หลายประการในยาตัวเดียวกัน
นพ.สมยศ กิตติมั่นคง จากสำนักโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค ได้เขียนหนังสือ “กัญชา คือ ยารักษามะเร็ง” อธิบายว่า กัญชามีคุณประโยชน์สามารถรักษาโรคได้ โดยเฉพาะการรักษาโรคเอดส์ในอดีต มีการใช้กัญชาช่วยรักษามาตลอด โรคเอดส์ซึ่งเป็นโรคที่ทำลายภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้ร่างกายทรุดโทรม ผอมแห้งแรงน้อย เมื่อเสพกัญชาเข้าไปแล้วจะทำให้ผู้ป่วยอ้วนท้วนสมบูรณ์ ขณะที่การรักษาโรคมะเร็งมีการวิจัยทดลองในหนู พบว่าขนาดของกัญชาที่ให้ในหนูมีผลต่อการลดมะเร็งตับในหนู และลดการเกิดมะเร็งชนิดที่ไม่รุนแรง เช่น ในต่อมเต้านม มดลูก ต่อมใต้สมอง อัณฑะ ตับอ่อน และยังพบการยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งปอดในหลอดทดลอง โดยการนำก้อนเซลล์มะเร็งปอดจากคนยัดเข้าไปใต้ผิวหนังของหนู และพบว่ากัญชาสามารถยับยั้งได้ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มะเร็งไม่ลาม ผลวิจัยจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ก็ได้ยืนยันว่า การใช้กัญชาได้ผล เพราะสารสกัดจากกัญชาเมื่อสัมผัสกับเซลล์มะเร็งแล้วจะกระตุ้นที่เซลล์มะเร็งให้เกิดกระบวนการทำลายตัวเอง
กัญชาสมุนไพรไทยโบราณ
จากงานวิจัยเรื่อง “การใช้กัญชาทางการแพทย์” ของ ภญ.วีรยา ถาอุปชิต ค้นพบว่า แท้จริงแล้วกัญชาถูกใช้เป็นพืชสมุนไพรอยู่ในตำรับยาของไทยมาแต่โบราณ พบตำรับยาไทยที่มีส่วนประกอบของกัญชาในตำรายาแพทยศาสตร์สังเคราะห์ และตำราพระโอสถพระนารายณ์ ซึ่งเป็นตำราเก่าแก่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่มีการใช้มายาวนานกว่า 360 ปีแล้ว ตำรับยาที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบหลัก ได้แก่ ยาทิพกาศ ยาศุขไสยาศน์ ยาอัมฤตย์โอสถ ยาอัคคินีวคณะ ซึ่งเป็นยาบำรุงร่างกาย ยาเจริญอาหาร ยานอนหลับ แก้ปวดหัว ขับลม เป็นต้น โดยมีหลักฐานที่บันทึกไว้ เช่น “อัคคินีวคณะ เอากัญชา ยิงสม สิ่งละส่วน เปลือกอบเชย ใบกระวาน กานพลู สะค้าน สิ่งละ 2 ส่วน ขิงแห้ง 3 รากเจตมูลเพลิง ดีปลี สิ่งละส่วน น้ำตาลกรวด 6 ส่วน กระทำเป็นจุณน้ำผึ้งรวงเป็นกระสาย บดเสวยหนักสลึง 1 แก้อาเจียน 4 ประการ ด้วยติกกะขาคินีกำเริบ แลวิสมามันทาคินีอันทุพล จึงคลื่นเหียนอาเจียน มิให้เสวยพระกระยาหาร เสวยมีรสชูกำลังยิ่งนัก.......ข้าพระพุทธเจ้า ขุนประสิทธิโอสถจีนประกอบทูลเกล้าฯ ถวาย ครั้งสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้าเมืองลพบุรี เสวยเพลาเข้าอัตรา ดีนักแลฯ” นอกจากนี้ยังพบในตำราต่างๆ อีกนับ 100 ฉบับ มีทั้งที่จารึกไว้ ณ วัดพระเชตุพนฯ หรือวัดโพธิ์ แต่ต่อมาองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้กัญชาจัดเป็นยาเสพติดกลุ่ม Narcotic drug ตั้งแต่ปี 2504 ทำให้การใช้กัญชากลายเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในเกือบทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย
มุมมองใหม่: WHO การันตีกัญชาเป็นยารักษาโรค
เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านการพึ่งพายาขององค์การอนามัยโลก ออกรายงานว่า แคนนาบิไดออล (Cannabidiol) หรือ CBD ซึ่งเป็น 1 ในกว่า 100 สารประกอบที่พบในกัญชา สามารถใช้รักษาบำบัดอาการชักจากโรคลมชักได้ทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ และสัตว์ รวมถึงใช้รักษาอาการของโรคอัลไซเมอร์ อาการประสาทหลอน มะเร็ง และโรคพาร์กินสันได้ นอกจากนี้ยังพบว่า CBD แตกต่างจากสารอื่นๆ ที่พบในกัญชา หรือที่เรียกว่าสารตระกูลแคนนาบินอยด์ ตรงที่ไม่มีฤทธิ์ต่อประสาท เท่ากับไม่สามารถทำให้ “ไฮ” หรือ “เมา” ได้ และยังไม่ทำให้ผู้ใช้ต้องพึ่งพายาหรือเกิดการติดยาอีกด้วย รายงานดังกล่าวขององค์การอนามัยโลกยังระบุด้วยว่า คุณประโยชน์ทางยาของ CBD ทำให้รัฐบาลหลายประเทศเริ่มปรับกฎหมายเพื่อให้สามารถนำสารชนิดนี้มาใช้รักษาผู้ป่วยได้ แต่มีรัฐบาลบางประเทศยังขึ้นบัญชี CBD ให้อยู่ในสารควบคุมประเภท 1 คือให้โทษสูง และไม่มีประโยชน์ทางการแพทย์ ทำให้เกิดการซื้อขาย CBD อย่างผิดกฎหมาย เสี่ยงต่อการใช้เกินขนาดหรือผิดวิธี รวมถึงการได้ยาที่ไม่มีคุณภาพ ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลกได้ออกรายงานที่ชื่อว่า “The health and social effects of non-medical cannabis use 4” หรือผลกระทบด้านสุขภาพและสังคมที่เกิดจากการใช้กัญชาโดยไม่ใช่ทางการแพทย์ ซึ่งมีกระทรวงสาธารณสุขของสวีเดนเป็นเจ้าภาพ โดยรายงานดังกล่าวระบุว่า ผลกระทบจากการเสพกัญชาที่ชัดเจนที่สุดก็คือ การทำให้ผู้เสพเสี่ยงต่อการก่ออุบัติเหตุจราจรเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 1-3 เท่า อย่างไรก็ตาม ผลกระทบดังกล่าวถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับปัญหาเมาแล้วขับของผู้ขับขี่รถยนต์ที่ได้รับจากการดื่มแอลกอฮอล์ ด้านมหาวิทยาลัยรังสิตก็ได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังจนถึงขั้นผลิตยาสเปรย์ Cannabis กัญชาบรรเทาอาการเจ็บปวดและอาเจียนจากการรักษาทางเคมีบำบัดของผู้ป่วยโรคมะเร็งได้สำเร็จ
รัฐบาลไฟเขียวปลดล็อกกัญชา
ประเด็นการใช้กัญชาเป็นยารักษาโรคกลายเป็นเรื่องที่สังคมไทยกำลังให้ความสนใจ โดยสาร 2 ตัวที่สามารถนำมาใช้ทางการแพทย์คือ สาร Cannabidiol (CBD) และสาร Tetrahydrocannabinol (THC) ซึ่งมีผลต่อการรักษาที่แตกต่างกัน แต่ด้วยกฎหมายของไทยที่รัดกุม ควบคุมให้กัญชาเป็นยาเสพติด ทำให้รัฐบาล คสช.เริ่มเดินหน้าเรื่องนี้ผ่านการเข้าชื่อของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เรียกร้องให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เปิดทางให้สามารถนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ได้
แต่ถึงกระนั้นยังมีข้อถกเถียงถึงการจดสิทธิบัตรกัญชาของไทย โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาเปิดเผยว่า การปลดล็อกกัญชากำลังมีปัญหา ที่แม้ปลดไปก็อาจจะไม่สามารถใช้กัญชาของไทยได้เอง เนื่องจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้รับเรื่องจากบริษัทต่างชาติขอจดสิทธิบัตรสารจากกัญชาแล้ว ทั้งๆ ที่ทำไม่ได้ เพราะสารที่บริษัทต่างชาติมาจดเป็นสารในธรรมชาติของกัญชา ตามกฎหมายสิทธิบัตรไม่สามารถจดได้ และตามขั้นตอนได้ประกาศในเว็บไซต์เพื่อให้มีคนมาคัดค้าน ซึ่งให้ระยะเวลาคัดค้าน คือ 90 วัน ปรากฏว่าผ่านพ้นไปแล้ว และหากบริษัทต่างชาติได้สิทธิบัตร สิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่ทั้งการเดินหน้าปลดล็อกกฎหมายเพื่อผู้ป่วย การเดินหน้าขององค์การเภสัชกรรม ทั้งโรงงานกึ่งอุตสาหกรรม และการพัฒนาสายพันธุ์ การสกัดสารที่ใช้งบ 120 ล้านจะทำได้อยู่หรือไม่
เรื่องนี้ร้อนถึงสมาชิก สนช.ที่กำลังพิจารณาแก้ไขกฎหมายยาเสพติดให้โทษ ทำให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เรียกกรมทรัพย์สินทางปัญญาชี้มาแจง เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 นายดิเรก บุญแท้ รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ยอมรับว่าบริษัทต่างชาติเข้ามายื่นขอจดสิทธิบัตรกัญชา 11 คำขอจริง แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญายืนยันว่ายังไม่ได้จดสิทธิบัตรกัญชาให้บริษัทต่างชาติแม้แต่คำขอเดียว และมีบางคำขอที่ได้ดำเนินการยกเลิกเพิกถอนคำขอแล้ว จึงสร้างความมั่นใจให้กับ สนช. จากนั้น สนช.ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฉบับใหม่ ด้วยมติเอกฉันท์ 166 เสียง เนื้อหามีทั้งสิ้น 28 มาตรา
สาระสำคัญคือ ให้สามารถนำเข้าหรือส่งออกยาเสพติดประเภท 5 คือ กัญชาและกระท่อมได้ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ทางราชการ โดยได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาต โดยยกเว้นให้มียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไว้ในครอบครองไม่เกินจำนวนที่จำเป็น สำหรับการใช้รักษาโรคเฉพาะ หรือสำหรับใช้ในการปฐมพยาบาลหรือกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินเพิ่มเติมให้ใช้ยาเสพติดประเภท 5 ได้ หากกระทำเพื่อการรักษาโรคตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบโรคศิลปะ หรือเพื่อการศึกษาวิจัย กำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตสามารถจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ได้เฉพาะสถานที่ที่กำหนดเท่านั้น
ขณะเดียวกันยังเพิ่มเติมในส่วนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ให้มีอำนาจกำหนดเขตพื้นที่ เพื่อทดลองปลูกพืชที่เป็นหรือให้ผลผลิตที่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และทดสอบยาเสพติดประเภท 5 ได้ตามพื้นที่ที่กำหนด โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ท้องที่ใดเป็นท้องที่ที่เสพโดยไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งเป็นการปลดล็อกเฉพาะในส่วนของผู้ที่เกี่ยวข้อง คือแพทย์และคนไข้ เป็นการยกเว้นให้ไม่มีความผิดหลากหลายความเห็นเรื่องการปลดล็อกกัญชา
หลังเกิดกระแสเรียกร้องให้ปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดในช่วงที่กำลังเข้าสู่การเลือกตั้ง ทำให้เรื่องนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นนโยบายของพรรคการเมืองหลายพรรค ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลเมืองไทย พรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ เป็นต้น แต่ในที่สุดก็ได้ผลักดันเรื่องนี้ โดยแก้กฎหมายผ่าน สนช.จนสำเร็จ ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย ได้ออกมาแถลงไม่เห็นด้วยกับการปลดล็อกกฎหมายใช้กัญชาทางการแพทย์ และอนุญาตให้มีการปลูกกัญชาและมีกัญชาในครอบครองได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เนื่องจากอาจเกิดปัญหาในการควบคุมได้หากวัยรุ่นเอาไปเสพทางสันทนาการ แต่ควรวางมาตรการควบคุมและป้องกันให้เรียบร้อยก่อน เพราะปัจจุบันยังขาดแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง
ขณะที่ประเทศไทยยังถกเถียงกันเรื่องปลดล็อกกัญชาทางการแพทย์ บริษัทยาข้ามชาติก็ได้เข้ามายื่นขอจดสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาตามธรรมชาติในไทย ทำให้นายปานเทพ พัวพงศ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย นายคมสันต์ โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.รังสิต น.ส รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และ ศ.พิเศษวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พร้อมด้วยเครือข่ายประชาสังคมกัญชาเพื่อการแพทย์สำหรับประชาชนกว่า 100 คน ได้แสดงจุดยืนเรียกร้องไม่ให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาจดสิทธิบัตรกัญชาไทยให้บริษัทต่างชาติที่เป็นการเอื้อประโยชน์นายทุน พร้อมคัดค้านการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดทำประกาศกระทรวงฯ เข้มงวดการปลูกกัญชา โดยระบุให้ปลูกได้แต่ในโรงเรือนระบบปิดเท่านั้น ในขณะที่แคนาดาเปลี่ยนการปลูกมาเป็นแบบปลูกกลางแจ้ง เพราะแสงแดดมีผลต่อสารและสรรพคุณสำคัญของกัญชา รวมทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิตได้
ผลกระทบจากการปลดล็อกกัญชา
แน่นอนว่ากัญชามีสารเคมีหลายชนิดที่ให้ทั้งคุณและโทษ หากใช้รักษาโรคตามข้อมูลทางการแพทย์ที่ยืนยันว่ากัญชาสามารถใช้เพื่อบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยได้หลายโรค รวมถึงยับยั้งการเติบโตของมะเร็งได้ จึงถือเป็นอีกทางเลือกในการรักษาโรคที่จะทำให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงยาที่มีประสิทธิผลมากขึ้น และลดผลข้างเคียงที่เกิดจากยาที่ได้จากการสังเคราะห์จากสารเคมี อีกทั้งอาจช่วยให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาถูกลงเมื่อเทียบกับตัวยาที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพราะกัญชาถือเป็นพืชสมุนไพรพื้นถิ่นที่อยู่คู่กับคนไทยมายาวนานจากข้อมูลในประวัติศาสตร์ที่ระบุไว้ นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมนวัตกรรมทางการแพทย์ของไทยให้มีความเป็นเลิศและเป็นที่ยอมรับในประชาคมโลก อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพสังคมไทยแล้วปัญหาที่จะเกิดขึ้นทันที คือการลักลอบปลูกและขายกัญชาเพื่อใช้เสพ เพื่อความบันเทิง โดยไม่มีการควบคุมจากแพทย์ หากใช้กัญชาในปริมาณที่มากจนเกินไปก็ย่อมก่อให้เกิดผลเสียได้เช่นเดียวกัน เพราะมีสารเคมีบางตัวจะทำให้ความคิดเลื่อนลอย สับสน ควบคุมตัวเองไม่ได้ ความจำเสื่อม กล้ามเนื้อลีบ หัวใจเต้นเร็ว และหูแว่ว นำมาซึ่งปัญหาในสังคมที่จะตามมา โดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรมจากคนที่มีอาการทางจิตเพิ่มขึ้น เกิดปัญหาอุบัติเหตุ ทำลายคนในสังคม จึงถือเป็นเหรียญสองด้านที่ภาครัฐต้องมีวิธีรับมือ
พ.ร.บ.ยาเสพติดฉบับใหม่ ไฟเขียว “กัญชา-กระท่อม” เพื่อการแพทย์
ล่าสุดเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2562 ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ลงในราชกิจจานุเบกษา เนื่องจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ปี 2522 ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน และมีบางบัญญัติที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้ ปรากฏผลการวิจัยว่าสารสกัดจากกัญชาและพืชกระท่อมมีประโยชน์ทางการแพทย์เป็นอย่างมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการรับรองและคุ้มครองสิทธิของผู้ป่วยที่จะได้รับและใช้กัญชา เพื่อประโยชน์ในการรักษาและพัฒนาทางการแพทย์ ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผู้ได้รับอนุญาต ให้ทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้ ให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ อธิบดีกรมสุขภาพจิต นายกแพทยสภา นายกสภาการแพทย์แผนไทย และนายกสภาเภสัชกรรม เป็นกรรมการในคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่งเพิ่มขึ้นด้วยเฉพาะในวาระที่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ให้ความเห็นชอบต่อรัฐมนตรีในการอนุญาตให้ผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง
สำหรับผู้ใดที่มีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ การรักษาผู้ป่วย การใช้รักษาโรคเฉพาะตัวหรือการศึกษาวิจัย อยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ไม่ต้องรับโทษ โดยจะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ แต่ถ้ากรณีที่ไม่ได้รับอนุญาต ให้กัญชานั้นตกเป็นของกระทรวงสาธารณสุข หรือให้ทำลาย
นอกจากนี้แล้วยังมีกฎหมายลำดับรองที่ออกตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ลงนามโดย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย
ฉบับที่ 1 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการกำหนดให้ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชาตกเป็นของกระทรวงสาธารณสุข หรือให้ทำลายกัญชาที่ได้รับมอบจากบุคคล ซึ่งไม่ต้องรับโทษตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ
ฉบับที่ 2 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการครอบครองยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชาสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้เพื่อรักษาโรคเฉพาะตัวก่อน พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ใช้บังคับให้ไม่ต้องรับโทษ
ฉบับที่ 3 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการแจ้งการมีไว้ในครอบครองกัญชาสำหรับผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา26/5 และบุคคลอื่นที่มิใช่ผู้ป่วยตามมาตรา 22 (2) ก่อน พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ใช้บังคับให้ไม่ต้องรับโทษ กล่าวคือบุคคลที่ไม่ใช่กลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 ซึ่งทั้ง 3 ฉบับให้มีผลบังคับใช้ในวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
นอกจากนี้ยังให้มีการนิรโทษกรรมผู้ครอบครองกัญชา 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) แพทย์ นักวิจัย วิสาหกิจชุมชน 2) ผู้ป่วย และ 3) กลุ่มอื่นๆ ตามกฎหมาย โดยผู้ที่ครอบครองกัญชาทั้ง 3 กลุ่มนี้ สามารถแจ้งการครอบครองได้ที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดสามารถแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่สายด่วน 1556 กด 3 ในวันและเวลาราชการ ซึ่งให้บริการตอบข้อซักถามในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกัญชาโดยตรง
สรุป
ข้อมูลของกรมการแพทย์พบว่า คนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งเฉลี่ยปีละ 122,757 ราย หรือวันละ 336 ราย และเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเฉลี่ยปีละ 78,540 ราย หรือวันละ 215 ราย สถานการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทยนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ในขณะที่การศึกษาและวิจัยกัญชาเพื่อรักษามะเร็งยังมีเพียงในสถาบันการศึกษาบางแห่งและไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจัง ด้วยข้อจำกัดด้านกฎหมาย ดังนั้นรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญในการจัดตั้งหน่วยงาน หรือสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย ทดลอง นำกัญชามาใช้รักษาโรคให้ประสบความสำเร็จ อีกทั้งรัฐบาลควรสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาที่มีความพร้อมมีโอกาสต่อยอดเรื่องนี้ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม การนำกัญชาไปใช้ในทางที่ผิดหรือเสพเพื่อความบันเทิง เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาควบคุมอย่างรัดกุม เพราะไม่เช่นนั้นกัญชาจะกลายเป็นดาบสองคมที่ทำลายสังคมไทยได้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง และวางระบบป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากกัญชาในทางที่มิชอบด้วย
6.โรคพิษสุนัขบ้าระบาด:ปัญหาการฉีดวัคซีนป้องกันโรค
ในปี 2561 ข่าวการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่องในหลายจังหวัด ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนไปทั่วประเทศ โดยสื่อได้พาดหวัข่าวรายวันว่า แต่ละวันมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นกี่คน จนสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนอย่างมาก สถานการณ์ดังกล่าวสร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้กับสังคมว่า ทำไมอยู่ดีๆ โรคพิษสุนัขบ้าถึงกลับมาระบาดในประเทศไทยอีก ทั้งๆ ที่หลายปีที่ผ่านมาไม่ค่อยมีข่าวการแพร่ระบาดของโรคมากนัก
อธิบดีกรมควบคุมโรคได้เปิดเผยสถานการณโรคพิษสุนัขบ้าในปี 2561 ว่าพบผู้เสียชีวิตถึง 17 ราย ใน 14 จังหวัด แบ่งเป็น บุรีรัมย์ ระยอง และสงขลา จังหวัดละ 2 ราย ส่วน สุรินทร์ ตรัง นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง หนองคาย ยโสธร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ตาก และสุราษฎร์ธานี พบจังหวัดละ 1 ราย ในขณะที่กรมปศุสัตว์ได้รายงานสถานการณ์ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในปี 2561 ว่ามีตัวอย่างสัตว์ส่งตรวจทั้งหมด 9,275 ตัวอย่าง พบผลบวกทั้งหมด 1,469 ตัวอย่าง ใน 54 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 15.83 โดยมีการระบาดสูงสุด ใน 10 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด สงขลา นครราชสีมา ยโสธร ชลบุรี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ นครศรีธรรมราช และกาฬสินธุ์ ส่วนชนิดสัตว์ที่พบ ได้แก่ สุนัข 1,281 ตัว โค 117 ตัว แมว 51 ตัว กระบือ 15 ตัว แพะ 2 ตัว นอกจากนี้ยังมีม้า กวาง และสุกร ชนิดละ 1 ตัว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-30 ธันวาคม 2561 มีจังหวัดที่ไม่พบโรคพิษสุนัขบ้าเพียง 23 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง ตราด นครนายก บึงกาฬ สกลนคร หนองบัวลำภู เชียงใหม่ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี นครปฐม ชุมพร พังงา ภูเก็ต และนราธิวาส
ไม่น่าเชื่อว่ารากเหง้าของปัญหาการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าครั้งนี้ คือปัญหาของระบบบริหารราชการแผ่นดินของประเทศไทย นั่นคือการตีความเรื่อง “การกระจายอำนาจ” องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เห็นว่าหน้าที่การทำงานในเรื่องนี้เป็นของราชการส่วนกลางในระดับกระทรวงและกรม ไม่ใช่หน้าที่ของ อปท. ทำให้ สตง.เข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของ อปท. และเรียกงบประมาณที่ดำเนินการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าคืนจาก อปท. ผลกระทบตามมาจึงเกิดเรื่องร้ายแรงที่ไม่มีใครคาดคิด เนื่องจาก อปท.ทั่วประเทศไม่กล้าดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จนทำให้เกิดการระบาดของโรคตามมาและมีผู้เสียชีวิตในที่สุด
กรณีนี้เป็นบทเรียนว่าการบริหารราชการแผ่นดินที่เน้นการตีความข้อกฎหมายตามความคิดความเข้าใจของเจ้าหน้าที่โดยไม่ดู “เป้าหมายที่แท้จริง” ในการทำงาน ทำให้เกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไปอย่างกว้างขวาง ดังนั้น แม้ประเทศไทยจะมีความพร้อมทั้งบุคลากร ระบบยา และเวชภัณฑ์ แต่เมื่อเกิดปัญหาในแง่ของการตีความอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของคนที่ไม่รู้จริงเรื่องกฎหมาย ก็ทำให้เกิดปัญหามากมายตามมาได้ บทความนี้จะสะท้อนภาพการแพรร่ะบาดของโรคพิษสุนัขบ้าที่เกิดขึ้นจากปัญหาการตีความด้านกฎหมายและถอดบทเรียนดังกล่าว เพื่อปรับปรุงแนวทางการแก้ปัญหาในอนาคต
ปัญหาการกระจายอำนาจกับการลุกลามของโรคพิษสุนัขบ้า
ภายหลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 ได้มีนโยบายตรวจสอบความโปร่งใสและการใช้งบประมาณของ อปท. จนนำไปสการตรวจสอบงบการเงินของเทศบาลตำบลสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ประจำงวดปีงบประมาณ 2556 สตง.จึงได้ทำหนังสือแจ้งไปยังเทศบาลสุรนารี ว่าการจัดซื้อวัคซีนพิษสุนัขบ้าผิดวัตถุประสงค์ เนื่องจากไม่ใช่หน้าที่ของเทศบาล แต่เป็นหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ พร้อมทั้งให้เรียกเงินคืน อีกทั้งเสนอให้มีการสอบวินัยผู้บริหารท้องถิ่นด้วย นอกจากนี้ สตง.ยังมีหนังสือเวียนไปยัง อปท.ทั่วประเทศมิให้นำงบประมาณไปจัดซื้อวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าเพื่อฉีดให้แก่สัตว์เลี้ยงของประชาชนและสัตว์จรจัดในพื้นที่ด้วย เทศบาลสุรนารีซึ่งต้องการความชัดเจนในเรื่องนี้ จึงทำหนังสือถึงกรมปศุสัตว์ เพื่อให้กรมปศุสัตว์เสนอเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตีความอำนาจหน้าที่ในการจัดซื้อวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าของ อปท. เพื่อให้เกิดความกระจ่างในเรื่องนี้
ต่อมากรมปศุสัตว์ได้มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อให้ตีความอำนาจหน้าที่ในการจัดซื้อวัคซีนพิษสุนัขบ้าของ อปท. เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2558 จนกระทั่งเดือนมีนาคม 2559 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงได้มีคำวินิจฉัยที่ 442/2558 ตีความว่า กรมปศุสัตว์มีอำนาจหน้าที่ในการจัดซื้อตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535 และมีอำนาจในการมอบหมายหน้าที่ดังกล่าวให้ อปท.ได้ด้วย แต่ สตง.ไม่แจ้งผลของการตีความดังกล่าวให้ อปท. ทั่วประเทศรับทราบ และในต้นปี 2561 สตง.ยังคงตามตรวจสอบประเด็นวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวหาว่าวัคซีนที่จัดซื้อไม่ได้คุณภาพหรือจัดซื้อราคาแพงเกินไป
จนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้ามาแทรกแซงเรื่องการนำเข้าวัคซีน ทำให้วัคซีนพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยขาดสต๊อกไประยะหนึ่ง และ อปท.ส่วนใหญ่ไม่กล้าตั้งงบประมาณจัดซื้ออีกด้วย เนื่องจากเกรงว่า สตง.จะเรียกเงินคืนและฟ้องร้องเป็นเรื่องราว ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของ สตง. ในปี 2557-2561 พบว่ามี อปท.ที่ซื้อวัคซีนพิษสุนัขบ้าเพียง 4 แห่งเท่านั้น จนในที่สุดการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าจึงเริ่มรุนแรงขึ้นในปี 2560 และทวีความรุนแรงขึ้นอีกในปี 2561 โดยมีการระบาดของโรคในพื้นที่ถึง 54 จังหวัดทั่วประเทศ
ในช่วงของการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ได้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคมที่หลากหลายต่อปัญหาการระบาดดังกล่าว มีการเสวนาของนักวิชาการเพื่อสะท้อนปัญหาการระบาดว่าเกิดจากสาเหตุใด ซึ่งข้อสรุปของวงเสวนานอกจากเรื่องปัญหาการตีความของ สตง. เรื่องวัคซีนไม่มีคุณภาพแล้ว ปัญหาหนึ่งที่มักจะไม่ค่อยมีผู้ยกขึ้นมาพิจารณาคือ เรื่องการเพิ่มขึ้นของสุนัขจรจัด เนื่องจากไม่มีการควบคุมการเลี้ยงสุนัข และปัญหาการทิ้งสุนัขของเจ้าของ
นอกจากนั้น ผู้นำชุมชนหลายแห่งยังได้ออกมาสะท้อนปัญหาการตีความของ สตง. ที่ไม่สอดคล้องกับบริบทการทำงานในพื้นที่ นอกจากนั้นกลุ่มประชาชนผู้รักสัตว์ยังได้รวมตัวกันเรียกร้องให้อธิบดีกรมปศุสัตว์ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเห็นว่าการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากการที่กรมปศุสัตว์จัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ไม่มีคุณภาพ ส่วนในสื่อสังคมออนไลน์ (Social media) ประชาชนจำนวนมากได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ สตง. ว่าสาเหตุทำให้เกิดการระบาดของโรค จน สตง.ต้องออกมาแถลงการณ์เพื่อปฏิเสธถึงเรื่องดังกล่าวด้วย
สรุปประมวลความเห็นของ สตง. และการตีความของ สคก.
กรมปศุสัตว์ได้ทำเรื่องหารือการดำเนินการของ อปท. ในเรื่องการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าต่อ สคก. โดยมีข้อหารือและประเด็นพิจารณา สรุปสาระสำคัญได้ดังต่อไปนี้
1.ข้อเท็จจริง เทศบาลตำบลสุรนารีใช้งบประมาณ ในปีงบประมาณ 2556 ในการจัดซื้อวัคซีนพิษสุนัขบ้า เพื่อนำมาฉีดให้แก่สุนัขที่มีเจ้าของและสุนัขจรจัด สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดนครราชสีมาได้เข้าตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ พบว่าการใช้จ่ายดังกล่าวผิดวัตถุประสงค์ เนื่องจากไม่ใช่หน้าที่ของเทศบาลสรุนารี แต่เป็นหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ โดยมีความเห็นของ สตง. และกฤษฎีกาตีความดังต่อไปนี้
2.ความเห็นของ สตง.
2.1 ตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535 การควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าไม่ใช่ภารกิจโดยตรงของเทศบาลตำบลสุรนารี แต่เป็นภารกิจโดยตรงของกรมปศุสัตว์
2.2 สตง.ได้ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณประจำงวด ปีงบประมาณ 2556 พบว่าเทศบาลสุรนารีได้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่สัตว์โดยเจ้าของสัตว์ไม่เสียค่าใช้จ่าย ขณะที่มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535 กำหนดให้เจ้าของสัตว์มีหน้าที่ต้องจัดให้สัตว์ของตนได้รับการฉีดวัคซีนจากสัตวแพทย์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย โดยเจ้าของสัตว์ต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายเอง แต่เทศบาลสุรนารีกลับฉีดวัคซีนฟรี แม้ว่าเขตพื้นที่ของเทศบาลสุรนารียังไม่ได้รับการประกาศจากอธิบดีกรมปศุสัตว์ให้ดำเนินการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เทศบาลสุรนารีจึงมิได้ดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด เพราะขณะนั้นไม่มีประกาศจากอธิบดีกรมปศุสัตว์ให้มิต้องเก็บค่าใช้จ่ายจากประชาชนเจ้าของสัตว์ ดังนั้น เทศบาลสุรนารีจะต้องเก็บค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนจากประชาชนเจ้าของสัตว์ทุกรายที่มารับบริการฉีดวัคซีนย้อนหลังด้วย
3.ความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
3.1 พระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535 มุ่งประสงค์ให้กรมปศุสัตว์ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมและป้องกันโรคระบาดสัตว์ ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2499 เป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย เนื่องจากมีสัตวแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถ ตลอดจนเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมและเหมาะสมในการควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า อย่างไรก็ตาม กฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายฉบับได้กำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการป้องกันและระงับโรคติดต่อ หรืออำนาจหน้าที่ในด้านการสาธารณสุขไว้ ได้แก่ ม.67 (3) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 ม.50 (4) ม.53 (1) ม.56 (1) และ ม.56 (3) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 และ ม.62 (14) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2542 นอกจากนั้น ใน ม.89 (16) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 กำหนดให้กรุงเทพฯ มีอำนาจหน้าที่ในด้านการสาธารณสุข การอนามัยครอบครัว และการรักษาพยาบาลด้วย อีกทั้งบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535 ได้กำหนดหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าให้แก่เจ้าพนักงานท้องถิ่น สัตวแพทย์ของ อปท. และราชการส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องดำเนินการหลายประการ อปท.จึงมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดในการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งเป็นโรคติดต่อตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อเช่นเดียวกับกรมปศุสัตว์
3.2 ในขณะที่ สตง.ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณประจำงวด ปีงบประมาณ พ.ศ.2556 เทศบาลตำบลสุรนารีก็ได้รับแจ้งขอความร่วมมือจากจังหวัดนครราชสีมา ว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมปศุสัตว์) กระทรวงสาธารณสุข (กรมควบคุมโรค) กระทรวงมหาดไทย (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินโครงการรณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี โดยในปี 2556 ได้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มีนาคม ถึง 30 เมษายน 2556 เพื่อให้สุนัขและแมวได้รับการฉีดวัคซีน ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจาก อปท. และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าและการดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยลดการเกิดโรคในสัตว์และจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าได้ และช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามแผนยุทธศาสตร์การกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปภายในปี 2563 ซึ่งทำให้เทศบาลตำบลสุรนารีเชื่อโดยสุจริตว่าจะมีการออกประกาศของอธิบดีกรมปศุสัตว์กำหนดเขตท้องที่ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535 ครอบคลุมถึงพื้นที่เทศบาลตำบลสุรนารีด้วย เหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติมาในทุกๆ ปี ประกอบกับเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของเทศบาลตำบลสุรนารีในการป้องกันและระงับโรคติดต่อตามมาตรา 50 (4) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 ดังนั้นจึงเห็นว่าแม้ในปี 2556 ยังไม่มีการประกาศกำหนดเขตท้องที่ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535 ครอบคลุมถึงพื้นที่เทศบาลตำบลสุรนารีก็ตาม เทศบาลตำบลสุรนารีก็ย่อมดำเนินการฉีดวัคซีนและให้ยาคมกำเนิดสัตว์ควบคุมโดยไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากเจ้าของสัตว์ควบคุมได้ตามอำนาจหน้าที่ของตนได้
แนวทางการแก้ไขปัญหาในอนาคต
ปัญหาที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของ สตง. มีปัญหาความเข้าใจในข้อกฎหมาย ผิดพลาด และขาดการพิจารณาถึงรายละเอียดในการบริหารราชการแผ่นดิน อีกทั้งหน่วยงานที่จัดทำแผนยุทธศาสตร์ยังขาดการพิจารณาภาพรวมในการบริหารกฎหมายด้วย จึงควรมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ดังต่อไปนี้
1.เพิ่มการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
การตีความอำนาจหน้าที่ของ สตง. ในกรณีเรื่องวัคซีนพิษสุนัขบ้าในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า สตง.มุ่งที่จะตีความเฉพาะอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเฉพาะ (พระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535) กำหนดไว้เท่านั้น ดังจะเห็นได้จากการตีความว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นอำนาจของกรมปศุสัตว์ หากจะให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการจะต้องมีการออกประกาศของอธิบดีกรมปศุสัตว์ตามกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้ พิจารณาถึงกรอบของกฎหมายอื่นแต่อย่างใด ทั้งที่ในการบริหารงานท้องถิ่นจะต้องคำนึงถึงพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ซึ่งกำหนดแนวทางให้ราชการส่วนกลางถ่ายโอนภารกิจและหน้าที่การให้บริการสาธารณสุข (การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า) ที่พื้นที่ต้องทำเป็นประจำไปให้ อปท.ดำเนินการแทนราชการส่วนกลาง ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายจัดตั้ง อปท. (พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496) ที่กำหนดหน้าที่ดังกล่าวไว้เช่นกัน ดังนั้นตามกฎหมาย อปท.จึงมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเช่นเดียวกับกรมปศุสัตว์
นอกจากนั้น การตีความของ สตง.ในครั้งนี้จะต้องตีความประกอบกับข้อเท็จจริงในภารกิจอำนาจหน้าที่ ตลอดจนข้อจำกัดในการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐตามความเป็นจริงด้วย ไม่ใช่พิจารณาเฉพาะกฎหมายเท่านั้น กล่าวคือ กรมปศุสัตว์เป็นราชการส่วนกลาง แม้จะมีการแบ่งส่วนราชการไปยังภูมิภาค คือปศุสัตว์ตัวจังหวัดและปศุสัตว์อำเภอก็ตาม แต่ยังมีข้อจำกัดในการดำเนินการในการฉีดวัคซีนในระดับตำบลและหมู่บ้าน เนื่องจากไม่มีบุคลากรที่จะไปดำเนินการถึงยังหมู่บ้าน ตรอก ซอก ซอยต่างๆ ทั่วประเทศได้ ประกอบกับมีงบประมาณในการดำเนินการที่จำกัด ทำให้กรมปศุสัตว์ร่วมกับกรมควบคุมโรค กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จัดทำแผนยุทธศาสตร์การกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปภายในปี 2563 ร่วมกัน โดยแผนดังกล่าวเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552 ดังนั้นการดำเนินการของกรมปศุสัตว์จึงมีลักษณะเป็นการบูรณาการจุดแข็งของแต่ละส่วนราชการต่างๆ ตลอดจนขอความร่วมมือของหลายส่วนราชการในการดำเนินการให้บรรลุภารกิจของรัฐ ในการป้องกันและแก้ไขโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยกรมปศุสัตว์ได้ขอความร่วมมือจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในการประสานงานไปยังจังหวัดต่างๆ ในการดำเนินการ ซึ่งก็ได้รับการร่วมมืออย่างดี
2.การจัดทำแผนยุทธศาสตร์กำจัดโรคพิษสุนัขบ้า ควรพิจารณากฎหมายอื่นประกอบด้วย
ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปในปี 2563 หน่วยงานที่ดำเนินการควรตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของแผนยุทธศาสตร์เสมอ เพราะจากหลักกฎหมายปกครองที่ว่า “การกระทำทางปกครองจะต้องชอบด้วยกฎหมาย” กฎหมายจึงเป็นทั้งที่มาของอำนาจและสิ่งที่จำกัดอำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หลักการนี้เป็นกระบวนการให้ฝ่ายปกครองต้องอูยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย มีผลทำให้เกิดการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามมา เพราะหากไม่มีหลักดังกล่าว องค์กรและเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายอาจใช้อำนาจตามอำเภอใจ หรือใช้อำนาจในลักษณะเกินเลยต่อความจำเป็น ซึ่งก็จะก่อให้เกิดปัญหากับประชาชนได้ เหตุการณ์นี้จึงเป็นบทเรียนสำคัญให้หน่วยงานที่จะดำเนินการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติต้องพิจารณา ว่าหากต้องการให้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์นี้ประสบความสำเร็จ จะต้องใช้กฎหมายใดบ้างมาสนับสนุนการดำเนินการ และกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันเพียงพอต่อการดำเนินการให้แผนยุทธศาสตร์สำเร็จลุล่วงหรือไม่
เพื่อเป็นการยุติความยุ่งยากในการตีความกฎหมาย กระทรวงมหาดไทยจึงได้ดำเนินการออกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการจัดสวัสดิภาพสัตว์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2562 สาระสำคัญของระเบียบดังกล่าวได้ให้อำนาจเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อาจจัดสวัสดิภาพสัตว์ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นกรณีการกักสัตว์หรือสร้างสถานสงเคราะห์สัตว์ ดูแลสัตว์จนกว่าเจ้าของจะมารับ หรืออาจขายทอดตลาดสัตว์ก็ได้ ขณะเดียวกันระเบียบดังกล่าวยังกำหนดให้ อปท.จะต้องจัดทำทะเบียนสัตว์ในพื้นที่รับผิดชอบให้เป็นปัจจุบันตามแบบที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกำหนดด้วย หาก อปท.ขนาดเล็ก เช่น อบต. หรือเทศบาลใดเห็นว่าหากให้ อปท.ขนาดใหญ่กว่า เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์แทนจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในท้องถิ่นมากกว่า ก็สามารถร้องขอให้ อบจ.ในพื้นที่ดำเนินการแทนได้ และในการบริหารจัดการงบประมาณตามระเบียบนี้ กำหนดให้เทศบาล อบต. และ อบจ. สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ตามหลักเกณฑ์ เช่น ค่าก่อสร้างสถานสงเคราะห์ ค่าอาหาร ค่าทำหมัน ค่าเวชกรรม (เช่น ยา วัคซีน) และค่าตรวจวินิจฉัย เป็นต้น ทั้งนี้ เทศบาลและ อบต.สามารถขอรับเงินอุดหนุนจาก อบจ.ในพื้นที่ของตนเพื่อดำเนินการตามระเบียบนี้ได้ด้วย ดังนั้นระเบียบฉบับนี้จะช่วย อปท.ในการจัดการโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่รับผิดชอบของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สรุป
แม้ประเทศไทยจะมีความพร้อมทั้งบุคลากรด้านสาธารณสุข ระบบยาและเวชภัณฑ์ แต่หากเกิดปัญหาในแง่ของการตีความอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ก็อาจทำให้เกิดปัญหาด้านสาธารณสุขตามมาได้ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของกฎหมายและนโยบายของรัฐต่อเรื่องการบริหารจัดการงานด้านสาธารณสุขของประเทศ ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์การกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปภายในปี 2563 ที่กรมปศุสัตว์และเทศบาลสุรนารีใช้เป็นกรอบในการดำเนินการนั้น เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552 ก่อนที่ สตง.จะเข้าตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ (สตง.เข้าตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณปี 2556) และในความเป็นจริงมีการสั่งการทางนโยบายจากจังหวัดและหน่วยงานส่วนกลางในการดำเนินงานป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาตลอด หลายปีจากปัญหาที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของ สตง.มีปัญหาความเข้าใจในข้อกฎหมาย ผิดพลาด และขาดการพิจารณาถึงรายละเอียดในการบริหารราชการแผ่นดิน อีกทั้งหน่วยงานที่จัดทำแผนยุทธศาสตร์ยังขาดการพิจารณาภาพรวมในการบริหารกฎหมายด้วย ในการบริหารงานท้องถิ่นจะต้องคำนึงถึงพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ซึ่งกำหนดแนวทางให้ราชการส่วนกลางถ่ายโอนภารกิจและหน้าที่ที่เป็นบริการสาธารณสุขด้วย อีกทั้งในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปในปี 2563 ควรพิจารณาด้วยว่าหากต้องการให้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์นี้ประสบความสำเร็จจะต้องใช้กฎหมายใดบ้างมาสนับสนุนการดำเนินการ และกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันเพียงพอต่อการดำเนินการให้แผนยุทธศาสตร์สำเร็จลลุ่วงหรือไม่
7.เครือข่าย ‘เมจิกสกิน’:ถึงเวลายกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคแล้วหรือยัง?
กรณีการจับกุม “เจ้าของผลิตภัณฑ์เมจิกสกิน” ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารเสริมและเครื่องสำอางผิดกฎหมายไร้คุณภาพที่สวมเครื่องหมาย อย. โดยใช้ศิลปิน ดารา คนดังโฆษณาอวดอ้าง รีวิวสินค้าเกินจริง จนทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากหลงเชื่อและซื้อสินค้าไปใช้โดยไม่รู้เท่าทันถึงอันตรายที่แอบแฝงอยู่ เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจอย่างกว้างขวางในปี 2561 เนื่องจากสะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพในการกำกับดูแลของรัฐ และภัยอันตรายที่ผู้บริโภคประสบจากผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและเครื่องสำอางผิดกฎหมายจำนวนมากในท้องตลาด
ประเด็นร้อนของสังคมไทยเรื่องหนึ่งในปี 2561 คือข่าวการตรวจจับผลิตภัณฑ์ของบริษัท เมจิกสกิน จำกัด และผลิตภัณฑ์ที่จดทะเบียนในชื่อ วรรณา พวงสน เจ้าของบริษัท เมจิกสกิน กรณีนี้เป็นบทพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพของการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพของไทย ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยสะท้อนว่าเครื่องหมาย อย.ที่แสดงบนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ได้หมายถึงความปลอดภัยเสมอไป ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผิดกฎหมายที่ลักลอบใส่สารอันตรายต่างๆ เช่น ไซบูทรามีนเพื่อลดน้ำหนัก หรือใส่สารปรอทเพื่อทำให้ผิวขาว ทำไมจึงเกิดขึ้นอย่างเป็นล่ำเป็นสัน อีกทั้งเหล่าดารา-เน็ตไอดอลชื่อดัง ยังร่วมรีวิวสินค้าขาวใสภายใน 7 วัน ผอมไวภายใน 7 วัน อย่างครึกโครม ปัญหาของการกำกับดูแลอยู่ตรงไหน แล้วจะแก้ปัญหานี้อย่างไร อย.ควรทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคอย่างไร บทความนี้จะอภิปรายในประเด็นปัญหาดังกล่าว โดยถอดบทเรียนของกรณีเมจิกสกินที่เกิดขึ้น
ร่วมด้วยช่วยกัน สังคมเคลื่อนไหวตรวจสอบเครือข่ายเมจิกสกิน
เมื่อเกิดปัญหาผลิตภัณฑ์ด้อยมาตรฐานและมีผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้สินค้าของเมจิกสกิน จึงมีการร้องเรียนไปที่สื่อมวลชนและมีการนำเสนอเรื่องราวผ่านสื่อจนนำไปสู่การจับกุมดำเนินคดีโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2561 โดย อย. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ สสจ.นครราชสีมา และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ได้นำหมายศาลเข้าตรวจค้น โดยกระจายกำลังเข้าตรวจสอบสถานที่หลายแห่งในจังหวัดนครราชสีมา หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวโฆษณาเกินจริง หลอกลวงให้ผู้บริโภคหลงซื้อใช้เลข อย.ปลอม และสินค้าไม่ตรงกับฉลาก โดยผู้เสียหายส่วนใหญ่เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายที่ถูกบริษัทชักชวนให้ซื้อผลิตภัณฑ์มาสต๊อกไว้แล้วหาลูกทีมเพื่อบังคับให้รับซื้อต่อ หากทำยอดได้ก็สัญญาว่าจะให้ทองหรือท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่ถ้าขายไม่ได้แล้วไป ร้องเรียนก็จะถูกข่มขู่ 2 สองเดือนต่อมาได้มีการขยายพื้นที่จับกุม โดยเมื่อวันที่ 21 เมษายน ตำรวจกว่า 100 นาย ได้ลงพื้นที่ตรวจค้นสถานที่เป้าหมาย 13 แห่งในกรุงเทพฯ นครราชสีมา และชลบุรี โดยศาลออกหมายจับผู้ต้องหา 8 รายในความผิดฉ้อโกงประชาชน ซึ่งสามารถจับกุมได้เพียง 1 คน คือ นายไมยสิทธิ์ สว่างธรรมรัตน์ เมื่อตรวจค้นบ้านพักและออฟฟิศ พบว่าทำเป็นห้องสอน ห้องผสมผลิตภัณฑ์มีส่วนประกอบของครีม น้ำหอม เครื่องผสมและบรรจุ จากการตรวจสอบของ อย. พบว่ามีสินค้าของบริษัท เมจิกสกิน ไม่ขึ้นทะเบียนหลายรายการ และอีกกว่า 260 รายการที่ขอขึ้นทะเบียนในนามของนางวรรณภา พวงสน และบริษัท แต่สถานที่ผลิตไม่ตรงตามที่จดแจ้ง จึงสั่งระงับการผลิตและห้ามขาย พร้อมเพิกถอนใบรับจดแจ้ง เรียกเก็บสินค้าคืนเพื่อทำลาย อาทิ แอปเปิ้ลสลิม สโนว์มิลค์ เฟิร์นคลิโอ เมจิกสกิน ชิโนบิ ตรีชฎา เมโส เป็นต้น และดำเนินการเอาผิดทางกฎหมาย
สำหรับกรณีกล่าวหาเครือข่ายบริษัท เมจิกสกิน นั้น มีผู้เสียหายรวม 145 คน มูลค่าความเสียหาย 113 ล้านบาทเศษ ขณะที่ตามสำนวนการสอบสวนของ กก. 4 บก.ป.นั้น มีความเห็นควรฟ้องผู้ต้องหารวม 6 คน ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกง ร่วมกันนำเข้าข้อมูลที่บิดเบือนหรือข้อมูลที่เป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ผลิตเพื่อจำหน่ายเครื่องสำอางปลอม และรับจ้างผลิตเครื่องสำอางปลอม โดยเห็นควรฟ้องข้อหาร่วมกันรับจ้างผลิตเครื่องสำอางโดยไม่แจ้งรายละเอียดเครื่องสำอางตามที่จดแจ้ง เป็นผู้รับจ้างผลิตฉลากที่มีข้อมูลซึ่งอาจก่อให้เกิดการเข้าใจผิดในสาระสำคัญที่เกี่ยวกับเครื่องสำอาง และรับจ้างผลิตเครื่องสำอางปลอม
ใช้คนดังสร้างความน่าเชื่อรีวิวสินค้ากว่า 59 คน
การเติบโตอย่างรวดเร็วที่ผ่านมาของเมจิกสกิน คือการใช้กลยุทธ์ทางการตลาด ใช้ Influencer/ KOL (Key Opinion Leader) เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ด้วยการว่าจ้างให้เหล่าดารานักแสดง และเน็ตไอดอลที่มีชื่อเสียงรีวิวโฆษณาสินค้า หรือถือผลิตภัณฑ์ให้ผ่านหน้าเพจของบริษัท และใช้อินสตาแกรมส่วนตัว เพื่อทำให้ผู้บริโภคคล้อยตามว่าผลิตภัณฑ์ตัวนี้มีความน่าเชื่อถือ โดยมีการจ่ายค่าจ้างในราคาหลักหมื่นถึงหลักแสนบาทให้กับ Influencer/ KOL ส่งผลให้มีการออกหมายเรียกดารานักแสดงที่รับรีวิวสินค้าเมจิกสกิน จำนวน 59 คน เข้าให้การกับตำรวจ โดยทั้งหมดให้การว่า “ตรวจสอบเลข อย.แล้ว เห็นว่ามีเลข อย.จึงคิดว่าถูกต้อง มั่นใจได้จึงรับรีวิว ไม่มีเจตนาหลอกลวงประชาชน” กรณีนี้เป็นที่ชัดเจนว่าการใช้ Influencer แนะนำสินค้าไม่ได้แปลว่าเป็นของที่ถูกกฎหมายหรือเป็นของที่ได้มาตรฐานแต่อย่างใด
ความคืบหน้าในการดำเนินคดีกับเหล่าดารานักแสดงและเน็ตไอดอลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรีวิวสินค้า พบว่ามีเพียง 10 รายที่ต้องถูกดำเนินคดีในฐานความผิดโฆษณาคุณประโยชน์คุณภาพ หรือสรรพคุณเพื่อประโยชน์ทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหารฯ มาตรา 41 มีโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท ส่วนอีก 36 รายนั้น คดีขาดอายุความ ส่วนความคืบหน้ากรณีการเรียกเก็บภาษีจากกลุ่มดาราบุคคลที่มีชื่อเสียงในสื่อออนไลน์ หรือเน็ตไอดอลที่เข้าไปรับจ้างรีวิวผลิตภัณฑ์เมจิกสกิน อธิบดีกรมสรรพากรยืนยันที่จะเดินหน้าเรียกเก็บภาษีผู้กระทำผิดคดี “เมจิกสกิน” จนถึงที่สุด
ปัญหาผู้บริโภคกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ถ้าจะวิเคราะห์ถึงต้นเหตุของปัญหาจากกรณีศึกษา “เมจิกสกิน” ปัญหาผู้บริโภคก็เป็นปัญหาหลักที่สำคัญ โดยสามารถแบ่งกลุ่มปัญหาได้ ดังนี้
1.ค่านิยม ทัศนคติที่ชอบคนขาว ผอม สวย หล่อ สูง กระชับสัดส่วน ฟิต อึ๋ม ปึ๋ง ปั๋ง จึงทำให้ผู้บริโภคหาทางลัดเพื่อไปสู่ความต้องการ
2.โรคร้าย บางกลุ่มเป็นโรคร้ายที่การแพทย์แผนปัจจุบันบอกว่ารักษาให้หายขาดไม่ได้ จึงต้องหาทางออกเพื่อให้ตนกลับมามีสุขภาพที่ปกติ
3.ความโลภ กลุ่มที่อยากรวยโดยไม่คิดถึงความถูกต้อง ความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินผู้อื่น การสร้างเครือข่าย แม่ข่าย ลูกข่ายของเมจิกสกิน สามารถชักจูงคนมาร่วมลงทุนได้จำนวนมาก ตีมูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้าน ไม่ต่างอะไรกับธุรกิจ “แชร์ลูกโซ่” แต่งานนี้ สคบ.ก็ไม่ได้ออกมาชูธงบังคับใช้กฎหมายภายใต้หัวโขนหน่วยการกำกับดูแลหลักแม้แต่น้อย อีกทั้งยังไม่คุ้มครองกลุ่มผู้เสียหาย เพราะกลุ่มผู้เสียหายเป็นผู้ร่วมขาย ไม่ใช่ผู้บริโภค นี่คือคำกล่าวอ้างที่หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคได้กล่าวกับกลุ่มผู้เสียหาย
4.ไม่เท่าทันสื่อโฆษณา หลงเชื่อการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง โดยขาดการตรวจสอบความถูกต้อง สื่อสังคมออนไลน์อัตราส่วนร้อยละ 100 โฆษณา เข้าข่ายผิดกฎหมาย เพราะไม่แสดงเลขอนุญาตโฆษณา แต่หน่วยงานกำกับดูแลก็ไม่ได้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ทำให้ผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อโฆษณา
การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน
สังคมไทยควรจะใช้เมจิกสกินเป็นกรณีศึกษา เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายในการดูแลผลประโยชน์ของผู้บริโภค เมจิกสกินอาศัยช่องโหว่ในการกำกับดูแลสื่อออนไลน์ของกฎหมายไทย ใช้ทุกแพลตฟอร์มในการขายสินค้าทั้งระบบออนไลน์ (E-Commerce) เช่น Facebook, Instagram, Line, Website, E-Market Place, E-Classified และสื่อต่างๆ ในชีวิตประจำวันทั้งโทรทัศน์ วิทยุ ป้ายโฆษณาบนถนน ป้ายโฆษณาติดรถประจำทาง ป้ายโฆษณาบนรถไฟฟ้า และป้ายโฆษณาในรถไฟฟ้าใต้ดิน โดยจ้างดาราดังกระพือการรับรู้ของแบรนด์ เรียกศรัทธาความเชื่อจากกลุ่มเป้าหมาย ใช้กลยุทธ์ Influencer Marketing ผ่านโลกออนไลน์ หรือดึงเหล่าผู้นำทางความคิด (Key Opinion Leader : KOL) ในแวดวงต่างๆ มาเป็นตัวแทนของแบรนด์ สร้างการรับรู้ สร้าง Engagement ตลอดจนกระตุ้นยอดขายผ่านวิธีการรีวิวสินค้าจริงๆ ช่วยสร้างความ “น่าเชื่อถือ” หลอกลวงผู้บริโภค กล่าวอ้างเครื่องหมาย อย. และเลขจดแจ้งที่จดทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ (E-Submission) มาเป็นเครื่องมือในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภค ทั้งๆ ที่ผลิตภัณฑ์มีสารประกอบอันตรายเป็นภัยต่อผู้บริโภค
แต่ในด้านบวกกรณี “เมจิกสกิน” ได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่สื่อมวลชนทุกสำนักทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ต่างทำหน้าที่รายงานสถานการณ์รายวันได้อย่างฉับไว ติดตามรายงานตามเหตุการณ์ตลอดเวลา สื่อไม่ได้มีหน้าที่เพียงรายงานข่าวสด หรือ FB Live เพื่อเพิ่มยอดการขายข่าว การคลิกอ่านของสำนักตนเท่านั้น แต่มีการหาแหล่งข่าวเพิ่มเติมเชิงลึก นำข้อมูลเชิงลึกจากหน่วยงานต่างๆ มาย่อยเพื่อให้คนในสังคมเข้าใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยคุ้มครองผู้บริโภคในสังคมให้รู้เท่าทันและไม่ตกเป็นเหยื่อธุรกิจได้อีกทางหนึ่ง
หน่วยงานกำกับดูแล ทางออก และการแก้ไขปัญหา
ระบบ E-Submission คือระบบที่ อย.สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในการยื่นคำขอทางอินเทอร์เน็ตโดยไม่เสียเวลาเดินทาง เจตนารมณ์ของระบบนี้เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ แต่ก็มีช่องโหว่ให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ ด้วยเหตุนี้ อย.จึงพบว่าหลายๆ กรณีของผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทั้งอาหาร ยา เครื่องสำอาง ไม่มีแหล่งผลิตตามที่จดทะเบียนไว้ อีกทั้งบางผลิตภัณฑ์ก็มีส่วนประกอบของสารอันตราย ทั้งๆ ที่มิได้จดทะเบียน อย.อย่างถูกต้อง แต่กลับมีทั้งเลขทะเบียนผลิตภัณฑ์และเลขจดแจ้งที่ออกโดย อย.
“เมจิกสกิน” เป็นบทเรียนที่สำคัญต่อหน่วยงานกำกับดูแล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจาก อย.ที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลหลักด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพแล้ว ยังมีหน่วยงานอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพงานวิจัยเรื่อง “การจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายของหน่วยงานกำกับดูแลปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ ได้นำเสนอว่าปัญหาและอุปสรรคในการจัดการปัญหามีหลายด้าน แม้ อย.จะจัดตั้งศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) ขึ้น เพื่อจัดการและแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ แต่ปัญหาการโฆษณาเกิดขึ้นตลอดเวลา เกินกว่ากำลังของเจ้าหน้าที่เพียงหน่วยงานเดียวจะแก้ปัญหาได้ ต้องร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลอื่นๆ ของรัฐ อีกทั้งต้องประสานความร่วมมือกับภาคประชาชนด้วย แต่โดยอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายนั้น อย.เป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยและบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ จึงทำให้เกิดปัญหาการกระจุกตัวของการทำงาน
แนวทางในการแก้ปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการกระจายอำนาจไปยังหน่วยงานอื่นให้มีส่วนร่วมในการจัดการมากยิ่งขึ้น อย.ควรจะกระจายอำนาจให้ สสจ.มีอำนาจวินิจฉัยการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากทุกสื่อที่จังหวัดนั้นๆ สามารถรับสัญญาณได้ ควรมีการปรับปรุงบทลงโทษให้มีโทษหนักขึ้น เพื่อให้ผู้ที่คิดจะกระทำผิดมีความเกรงกลัวและเลือกที่จะไม่กระทำผิด จัดทำและเปิดใช้ “คลังข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพสาธารณะ” ซึ่งจะเป็นคลังข้อมูลที่รวบรวมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งหมดที่ได้จดทะเบียนกับ อย. รวมทั้งการอนุญาตโฆษณาคำที่อนุญาตให้ใช้ในโฆษณา เลขที่อนุญาตโฆษณา ซึ่งจะแสดงรายละเอียดในสื่อรูปแบบต่างๆ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ ภาพ เสียง วิดีโอ และเปิดสาธารณะให้สืบค้นข้อมูลได้อย่างสะดวก รวมไปถึงการสนับสนุนภาคประชาชนในการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย เช่น การสนับสนุนด้านงบประมาณ เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมการสนับสนุนข้อมูลเพื่อสื่อสารสาธารณะ
นอกจากนี้ อย.อาจประกาศใช้ “แนวทางปฏิบัติ หลักเกณฑ์การพิจารณาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย” เพื่อให้หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องได้บังคับใช้ตามแนวทางที่ออกประกาศ และให้บังคับใช้กฎหมายในฐานความผิดของหน่วยงานด้วย ถือเป็นความผิดเดียว ผิดหลายกฎหมาย บังคับใช้กฎหมายจริงจังและรุนแรง เพื่อไม่ให้กระทำผิดซ้ำอีก และจัดตั้ง “คณะกรรมการจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพออนไลน์ไตรภาคี” โดยคณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วย 3 ภาคส่วน คือ หน่วยงานกำกับดูแลภาครัฐ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำกับดูแลโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ การคุ้มครองผู้บริโภค และการกำกับดูแลสื่อออนไลน์ โดยการดำเนินงานของคณะกรรมการชุดนี้จะต้องมีความเป็นกลาง โปร่งใส ทำงานได้คล่องตัว สื่อสารสาธารณะได้ฉับไว ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดแรงกระเพื่อมในสังคม
ถึงแม้ว่าจะเคยมีกระบวนการเพื่อจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผ่านมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ 2557-2561 แต่ด้วยเทคโนโลยทีก้าวไปสู่ยุคดิจิทัลอย่างรวดเร็ว การอาศัยแต่เพียงการบังคับใช้กฎหมายโดยวิธีการแบบบนลงล่าง (Top down) นั้นไม่สามารถแก้ปัญหาโฆษณาได้อย่างมีประสิทธิภาพ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จึงร่วมกับศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคส่วนภูมิภาค 6 ภาค และภาคีเครือข่าย ผู้บริโภค ติดตาม เฝ้าระวัง ศึกษาสถานการณ์ปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน และประสบความสำเร็จในหลายกรณี เช่น กดดันให้ อย.สั่งปลด โฆษณา “รังนก” โดยห้ามใช้คำว่า “แท้ 100%” ในปี 2554 เพราะเป็นการใช้คำโฆษณาเกินจริง โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของผู้บริโภค
นับแต่นั้นมามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและภาคีเครือข่ายผู้บริโภค ก็ได้พัฒนากลไกมาตรการเชิงป้องกันที่ต้นทาง โดยการทำความเข้าใจและสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการในการพัฒนากลไกการกำกับดูแลกันเองที่มีประสิทธิภาพ ควบคู่กันกับการพัฒนาระบบเฝ้าระวัง เตือนภัย ทั้งการสร้างช่องทางการสื่อสารข้อมูล อาทิ เฟซบุ๊ก เพจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพจซอกแซกสื่อ (มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค) และเพจของศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดต่างๆ การเฝ้าระวังโฆษณาทางทีวีดาวเทียม ร้องเรียนผ่านช่องทางพิเศษ (ระบบไลน์) ซึ่งทางผู้ประกอบการก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และถอดโฆษณาออกภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่มีการแจ้งว่าพบ ทำให้ผู้ประกอบกิจการโครงข่ายเกิดระบบการกำกับดูแลกันเอง ต่อมาปี 2559 โครงการเฝ้าระวังการกระทำที่มีลักษณะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้ช่วยให้หนหน่วยงานภาครัฐ ทั้ง อย. สสจ. และ กสทช. ยอมรับการทำงานของเครือข่ายผู้บริโภคมากขึ้น สร้างความตระหนักและความตื่นตัวในสิทธิของตนเองแก่ผู้บริโภค โดยมุ่งหวังให้ผู้บริโภคมีศักยภาพในการรับสื่ออย่างรู้เท่าทัน มีความรู้ด้านกฎหมายเบื้องต้น สามารถพิทักษ์สิทธิตนเมื่อได้รับความเสียหายจากการหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย
สรุป
“เมจิกสกิน” เป็นกรณีศึกษาการคุ้มครองผู้บริโภคในยุคโลกไร้พรมแดน ที่การสื่อสารหลายช่องทางเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตผู้คนมากมาย ซึ่งภาครัฐ ภาคสื่อ ภาคประชาชน และทุกภาคส่วนควรสรุปบทเรียน ปรับวิธีคิด กลยุทธ์ และการจัดการปัญหาเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และเท่าทันกลยุทธ์ทางธุรกิจ คดีนี้ช่วยให้หน่วยงานกำกับดูแลของรัฐทั้ง อย.และหน่วยงานอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง อีกทั้งช่วยให้สังคมไทยมีมาตรฐานใหม่ในการรีวิวสินค้า และสื่อมวลชนสำนักต่างๆ ได้ทบทวนรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความเป็นจริงอย่างละเอียดรอบด้าน กรณีนี้ให้บทเรียนว่า อย.ไม่ใช่เครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์การันตีคุณภาพของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ ความคาดหวังที่จะให้ อย.เป็นหน่วยงานเดียวที่จะรับผิดชอบเรื่องนี้คงเป็นไปได้ยากในยุค 4.0 เช่นนี้ ผู้บริโภคจึงต้องมีสติ มีความตระหนักรู้จักตรวจสอบคุณภาพสินค้าก่อนตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ใดๆ ในโลกออนไลน์ที่สัมผัสตัวตนจริงไม่ได้
8.17 วันกับภารกจิจช่วยทีมหมูป่าอะคาเดมี
เหตุการณ์เมื่อกลางปี 2561 ที่สมาชิกทีมนักฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีพร้อมโค้ช 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน จนถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 รวมกว่า 17 วันนั้น นำมาซึ่งปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือครั้งใหญ่ ปฏิบัติการดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม และ “มีเรี่องให้จดจำมากมาย”
การหายตัวไปของสมาชิกนักฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีพร้อมโค้ช 13 ชีวิต ที่ติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย นำมาซึ่งการค้นหาและช่วยเหลือทั้ง 13 ชีวิตออกมาจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนที่ลึกลงไปใต้ดินหลายกิโลเมตรให้ปลอดภัย ท่ามกลางสภาพภูมิศาสตร์ที่ยากลำบากและสภาพดินฟ้าอากาศที่มีน้ำป่าไหลหลาก ปฏิบัติการนั้นเป็นเรื่องมหศัจรรยอ์ย่างยิ่ง หลายคนคิดว่าเป็นภารกิจที่เป็นไปไม่ได้ (Mission Impossible) แต่ในที่สุดด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ที่เข้าร่วมปฏิบัติการถึง 271 หน่วยงาน โดยมีผู้เข้าร่วม 4,559 คน รวมถึงอาสาสมัครและผู้เชี่ยวชาญจาก 27 ประเทศ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการดำน้ำในถ้ำระดับโลกเข้าร่วมปฏิบัติการด้วย การปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือกินเวลานานถึง 17 วัน 4 ชั่วโมง 29 นาที จนประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือ 13 สมาชิกทีมหมูป่าอะคาเดมีออกมาจากถ้ำได้ แต่ก็มีเรี่องน่าเศร้า เนื่องจากในช่วงการปฏิบัติการดังกล่าว มีอาสาสมัครเสียชีวิตหนึ่งราย เนื่องจากขาดอากาศหายใจระหว่างการดำน้ำในถ้ำ
ติดถ้ำ น้ำท่วม : จุดเริ่มต้นการค้นหาสมาชิกทีมหมูป่า
เย็นวันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน 2561 หลังฝึกซ้อมฟุตบอลเสร็จ นักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่าอะคาเดมีพร้อมโค้ช รวม 13 คน ได้เข้าไปเที่ยวถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย แต่จนถึงเวลาพลบค่ำพวกเขาก็ไม่ได้กลับออกมาจากถ้ำ เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบก็พบรถจักรยานและรองเท้าอยู่หน้าถ้ำ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครและครอบครัวจึงเข้าไปให้ความช่วยเหลือ แต่ไม่สามารถเข้าไปภายในถ้ำได้ เพราะระดับน้ำท่วมสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อข้อมูลบ่งชี้ว่าเด็กๆ ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ทางจังหวัดจึงรีบให้ความช่วยเหลือ โดยมีการร้องขอให้หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ หรือซีล (SEAL) และหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้ เนื่องจากต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญในหลายด้าน โดยมีอุปสรรคหลักคือ ฝนที่ตกหนักติดต่อกัน ส่งผลให้ระดับน้ำในถ้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้โอกาสที่จะช่วยเหลือเด็กๆ เป็นไปด้วยความยากลำบาก
ในเวลาต่อมากระทรวงมหาดไทยได้ประกาศให้พื้นที่ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนเป็นเขตพื้นที่ประสบภัย เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2561 โดยมอบหมายให้นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายในขณะนั้น เป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย (ผอ.ศอร.)
ในหลวงรัชกาลที่ 10 รับสั่งให้ดูแลและช่วยเหลือให้ดีที่สุด
การปฏิบัติการช่วยเหลือทีมหมูป่าเป็นเรื่องยาก เนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เป็นอุปสรรคและประเทศไทยยังขาดประสบการณ์ในการช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในถ้ำที่มีน้ำท่วม จึงต้องอาศัยความร่วมมือร่วมแรงของหน่วยงานต่างๆ และอาสาสมัครจำนวนมาก ซึ่งความร่วมมือร่วมแรงดังกล่าวในพื้นที่ห่างไกลได้เกิดขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ อันเนื่องมาจากความห่วงใยในเรื่องนี้ของในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงติดตามสถานการณ์มาตั้งแต่ต้น พระราชทานความช่วยเหลือและรับสั่งผ่านราชเลขานุการในพระองค์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องนี้ให้ดีที่สุด
นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผอ.ศอร. ได้เปิดเผยด้วยว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดหาอุปกรณ์ที่ไม่สามารถจัดซื้อตามระบบราชการได้ทันเวลา เช่น พระราชทานเสื้อกันฝน ไฟฉายพร้อมหมวก ชุดหมีพร้อมรองเท้าบูต ชุดดำน้ำ หลอดไฟแอลอีดีที่สามารถชาร์จไฟได้ เป็นต้น และในขณะที่ทีมกู้ภัยกำลังทำงานอยู่ในถ้ำด้านนอกก็มีประชาชนในโครงการจิตอาสา “เราทำความดีด้วยหัวใจ” หลายร้อยชีวิตผลัดเปลี่ยนกันมาช่วยงานจิตอาสา เช่น ขนย้ายอุปกรณ์ แจกจ่ายอาหารและน้ำให้กับผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงการเก็บขยะ (แม้ในภายหลังการช่วยเหลือสิ้นสุดลงในวันบิ๊ก คลีนนิ่ง เดย์ เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบของวนอุทยานฯ ขุนน้ำนางนอนให้กลับคืนสู่ธรรมชาติดังเดิม ก็ได้มีกลุ่มจิตอาสาจำนวนมากมาช่วยกันเก็บขยะ ใบไม้ รื้อถอนเต็นท์ อุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงรื้อฝาย เบี่ยงทางน้ำบนแนวเขาด้วย)
ไทยผสานทีมกู้ภัย-นักดำน้ำนานาชาติ
ภารกิจค้นหาและช่วยเหลือสมาชิกทีมหมูป่าไม่ใช่ภารกิจเฉพาะของคนไทยเท่านั้น แต่เป็นปฏิบัติการนานาชาติที่หลอมรวมความร่วมมือของผู้คนจากทั่วโลก โดยปฏิบัติการครั้งนี้ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญถ้ำ โดยเฉพาะการดำน้ำในถ้ำ โชคดีที่ภารกิจครั้งนี้สามารถติดต่อและได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้เชี่ยวชาญด้านการดำน้ำจากประเทศต่างๆ เช่น สหราชอาณาจักร เบลเยียม ออสเตรเลีย ไทย ประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย ทีมกู้ภัยจากกองทัพอากาศสหรัฐ สปป.ลาว รัสเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น อาทิ นายจอห์น โวลันเธน และนายริชาร์ด สแตนตัน นักดำน้ำชาวอังกฤษ โดยที่นักดำน้ำต้องทำหน้าที่ดำน้ำผ่านโพรงถ้ำภายใต้ข้อจำกัดของพื้นที่ที่ทั้งแคบ มืด และมีข้อจำกัดเกี่ยวกับอากาศ โดยติดตั้งเชือกนำทางไปด้วย ในช่วงแรกคาดการณ์ว่าเด็กๆ น่าจะอยู่ที่หาดพัทยา แต่ปรากฏว่าไม่พบ ทำให้นักดำน้ำและหน่วยซีลต้องมุ่งหน้าต่อเพื่อค้นหาโพรงที่มีอากาศอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นที่หลบภัยของเด็ก
ปฏิบัติการค้นหาเป็นไปด้วยความเข้มข้น ไม่ว่าจะเข้าทางปากถ้ำ การขุดเจาะถ้ำ การหาช่องหรือปล่องที่คาดว่าจะเข้าถ้ำได้ รวมทั้งการบริหารจัดการเรื่องน้ำซึ่งเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่น ถูกนำมาใช้ในปฏิบัติการนี้ทั้งสิ้น การค้นหาที่ตั้งเป้าว่าจะต้องเจอเด็กๆ ตั้งแต่วันที่เด็กๆ หายไปเมื่อ 23 มิถุนายน จนกระทั่งภารกิจลำเลียงขวดอากาศเข้าสู่ห้องโถง 3 และทำเชือกนำทาง จนในที่สุดได้พบเด็กๆ ทีมหมูป่าที่ติดอยู่ในถ้ำมืดและขาดอาหารนานกว่า 10 วัน (พบโดยนักดำน้ำชาวอังกฤษ) นำความยินดีมาสู่ชาวไทยและผู้คนทั่วโลกจำนวนหลายล้านคนที่เฝ้าติดตามข่าวการช่วยเหลือเด็กๆ ทีมหมูป่าอย่างใจจดใจจ่อ โดยตลอดเวลา 3 สัปดาห์ สื่อมวลชนทั้งไทยและนานาชาติได้เกาะติดรายงานภารกิจช่วยเหลืออย่างเข้มข้น จนกลายเป็นข่าวสำคัญไปทั่วโลก
แต่ภารกิจความช่วยเหลือยังเผชิญปัญหาที่ท้าทายอีกมาก เนื่องจากทุกฝ่ายต้องหาทางนำสมาชิกทีมหมูป่าออกมาจากถ้ำที่มีน้ำท่วมเต็มเป็นช่วงๆ แต่เด็กส่วนใหญ่ว่ายน้ำไม่เป็น หรืออยู่ในสภาพที่อิดโรยเกินกว่าจะว่ายน้ำออกมาได้ ภารกิจนำทีมหมูป่าออกมาโดยการดำน้ำผ่านเส้นทางอันวิบากและเสี่ยงอันตรายเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง จึงต้องอาศัยการวางแผนที่ยอดเยี่ยมและรัดกุม ต่อมามนุษย์กบได้ดำน้ำเข้าพื้นที่พร้อมหมอเวชศาสตร์ใต้น้ำ นำเจลให้พลังงาน (power gel) และอุปกรณ์ยังชีพไปให้ทีมหมูป่า และอยู่เป็นเพื่อนเพื่อดูแลทีมหมูป่าจนกว่าแผนการลำเลียงกลับจะเริ่มขึ้น
จ่าแซม วีรบุรุษถ้ำหลวง
อย่างไรก็ตาม ในการปฏิบัติการช่วยเหลือทีมหมูป่าได้เกิดเหตุเศร้าสลดเมื่อเกิดการเสียชีวิตของจ่าเอกสมาน กุนัน อายุ 38 ปี อดีตนักทำลายใต้น้ำจู่โจมนอกราชการ ซึ่งเป็นอาสาสมัครที่เข้าร่วมปฏิบัติการช่วยเหลือในครั้งนี้ เนื่องจากขาดอากาศหายใจระหว่างการดำน้ำ โดยจ่าเอกสมานรับหน้าที่ดำน้ำวางขวดอากาศบนเส้นทางจากห้องโถง 3 ไปจนถึงบริเวณ 3 แยก จนภารกิจที่ได้รับมอบหมายเสร็จสิ้น จึงดำน้ำกลับมาที่ตั้ง แต่ในระหว่างทาง จ่าเอกสมานหมดสติอยู่ในน้ำ คู่ดำน้ำบัดดี้จึงช่วยปั๊มหัวใจ แต่ก็ไม่สามารถช่วยชีวิตจ่าเอกสมานได้ ต่อมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานยศนาวาตรีเป็นกรณพิเศษให้แก่จ่าเอกสมาน กุนัน และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือกเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเป็นผู้ประกอบคุณงามความดี และอุทิศความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์จนกระทั่งเสียชีวิต มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน องค์กร และนานาชาติ
ภารกิจเคลื่อนย้ายทีมหมูป่าออกจากถ้ำ
การค้นหาเด็กๆ ว่ายากลำบากแล้ว การนำเด็กออกมาอย่างปลอดภัยก็ยากยิ่งกว่า การวางแผนการลำเลียงเด็กๆ จึงถูกวางแผนอย่างรอบคอบและรัดกุม พล.ร.ต.อำภากร อยู่คงแก้ว ผบ.หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ ให้ข้อมูลถึงวิธีการลำเลียงผู้ประสบภัยทั้ง 13 คนออกจากถ้ำว่า เมื่อเด็กออกจากเนินนมสาว จะใส่หน้ากากที่ต่อกับขวดออกซิเจน โดยมีนักดำน้ำประกบเป็นคู่ออกมา และเมื่อมาถึงที่โถง 3 เพื่อออกไปยังปากถ้ำ
ด้วยลักษณะพื้นที่ต้องใช้แรงพอสมควร จึงใช้วิธีให้น้องๆ นอนบนเปล ภายใต้วิธีการทางการแพทย์ทำให้ทุกคนนอนหลับเพื่อมิให้ตื่นตกใจระหว่างทาง เปลที่ใช้เป็นเปล SKED แบบม้วน มีความยืดหยุ่นสูง สามารถบิดหรือเอียงตามลักษณะพื้นที่ สามารถป้องกันร่างกายของผู้ประสบภัยจากแรงกระแทกโดยรอบด้าน และใช้การเคลื่อนย้ายโดยรอก เพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกในการส่งตัวผู้ประสบภัย และยังลดความเสี่ยงหากเคลื่อนย้ายในพื้นที่อันตราย มีการเปิดเผยว่าระหว่างการลำเลียง เด็กๆ ถูกให้ยาเพื่อทำให้สงบ (อัลปราไซแลม Alprazolam เคตามีน Ketamine อะโทรปีน Atropine) เพื่อลดการตื่นกลัวระหว่างการดำน้ำลำเลียง ไม่เช่นนั้นอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
เมื่อเด็กออกมาจากถ้ำจะลำเลียงขึ้นรถพยาบาลไปยังโรงพยาบาลสนามในพื้นที่วนอุทยานถ้ำหลวงไปยังจุดคัดกรอง ก่อนจะเคลื่อนย้ายโดยเฮลิคอปเตอร์และรถพยาบาลไปยังโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ต่อมาได้มีการเปิดเผยว่า นายแพทย์ริชาร์ด แฮร์ริส (Richard Harris) วิสัญญีแพทย์และผู้เชี่ยวชาญการดำน้ำในถ้ำชาวออสเตรเลีย ผู้มีประสบการณ์ในการดำน้ำกว่า 30 ปี และเคร็ก แชลเลน เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการดำน้ำเข้าไปเพื่อประเมินสุขภาพของทีมหมูป่า และปรับสภาพให้พร้อมต่อการเคลื่อนย้าย ร่วมกับทีมนักดำน้ำและทีมกู้ภัย โดยได้กล่าวว่า ภารกิจนี้อันตรายที่สุดที่เคยเข้าร่วม จนการปฏิบัติการราบรื่นและประสบความสำเร็จ
ภายหลังทีมช่วยเหลือประสบความสำเร็จในการนำทีมหมูป่าออกมาจากถ้ำแล้ว โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ได้รับมอบหมายให้เป็นโรงพยาบาลหลักด้านการรักษาและควบคุมป้องกันโรคแก่สมาชิกทีมหมูป่าอะคาเดมีและโค้ช ซึ่งได้ทยอยเข้ารับการดูแลที่โรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 8-10 กรกฎาคม 2561 ครบทั้ง 13 คน ทีมแพทย์ได้ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักและพิษสุนัขบ้า ให้วิตามินบี 1 และยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำตามแผนการรักษา จากนั้นผู้เชี่ยวชาญเข้าประเมินร่างกายโดยละเอียด เช่น ประเมินสายตาและการมองเห็น โภชนาการและสภาวะจิตใจ พร้อมส่งตัวอย่างเพื่อหาเชื้อไวรัสโรคอุบัติใหม่ จากการตรวจไม่พบเชื้อโรคติดต่อประจำถิ่นที่เป็นอันตราย
นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร:ผู้นำในภาวะวิกฤติ
กรณีการช่วยชีวิตทีมหมูป่าอะคาเดมีไม่เพียงประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือทั้ง 13 ชีวิตให้ปลอดภัยเท่านั้น แต่ยังได้รับเสียงชื่นชมในด้านการบริหารจัดการและภาวะผู้นำของนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายและ ผอ.ศอร.ในขณะนั้น ที่สามารถประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน มีความพร้อมและความเข้าใจในการรับมือสภาวะวิกฤติ รวมถึงการจัดการด้านการให้ข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจนและครอบคลุมในทุกด้าน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ความว่า “ได้ติดตามการปฏิบัติแล้ว น่าชื่นชมที่ได้เห็นข้าราชการผู้ใหญ่ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง อดทน และมุ่งมั่นในภารกิจเฉพาะหน้าที่ยากและท้าทาย แสดงถึงความมีสติปัญญาและมีการตัดสินใจที่ดี และวิสัยทัศน์ที่ถูกต้อง และเป็นศูนย์กลางแห่งการประสานการปฏิบัติจนภารกิจลุล่วงด้วยดี และได้ทราบว่าเป็นข้าราชการที่มีคุณภาพ กล้าต่อสู้กับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และในเวลาเดียวกันก็มุ่งมั่นที่จะสร้างความดีและความถูกต้องให้เกิดขึ้นให้แก่ประเทศชาติ ขอชมเชยและให้กำลังใจ ขอให้รักษาความดีไว้ และขอให้มีความสุขความเจริญ”
นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรียังได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณสุดยอดวัฒนธรรมสร้างสรรค์แห่งปี พ.ศ.2561 ให้แก่นายณรงค์ศักดิ์ ซึ่งได้ทำงานอย่างทุ่มเท เสียสละ เป็นนักบริหารจัดการที่ดี สามารถช่วยเหลือชีวิตทีมหมูป่าออกมาจากถ้ำหลวงได้อย่างปลอดภัย ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ
ถอดบทเรียนแผนการรับมือพิบัติภัย
นักวิชาการกว่า 140 คน ได้ร่วมกันถอดบทเรียนแผนการรับมือพิบัติภัยผ่านเวที่เสวนาวิชาการในหลายเวที เช่น กลุ่มนักวิชาการด้านธรณีวิทยา ซึ่งมี ผศ.ดร.สมบัติ อยู่เมือง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภูมิศาสตร์สนเทศเพื่อประเทศ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้ระบุถึงแนวทางการบริหารจัดการธรณีพิบัติภัยว่ามีหลักการดังนี้ (1) องค์ความรู้ด้านการจัดการ (2) สร้างระบบเฝ้าระวังและเตือนภัย (3) กำหนดมาตรการที่เหมาะสมกับพิบัติภัยที่เกิดขึ้น โดยกรณีถ้ำหลวงนี้กลายเป็นกรณีศึกษาระดับโลก เพราะไม่เคยเกิดขึ้นและมีความยากลำบาก จนนักดำน้ำบอกว่าเหมือนการดำน้ำผ่านยอดเขาเอเวอเรสต์ จึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ไทยจะต้องมีการศึกษาเชิงธรณีวิทยาในแต่ละพื้นที่ ซึ่งต้องระดมทั้งผู้เชี่ยวชาญถ้ำ นักวิชาการ นักธรณีวิทยา เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ทางด้านสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หนึ่งในหน่วยงานที่ได้ร่วมภารกิจการค้นหาด้านอากาศยาน ทั้งอุปกรณ์โดรนและกำลังพลที่ร่วมวางแผน การกู้ภัยในแต่ละวันก็ได้เสนอให้ไทยเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ ทั้งการสร้างองค์ความรู้ และข้อมูลพื้นฐานของแต่ละพื้นที่เมื่อเกิดเหตุ ข้อมูลทั้งหมดนี้จะถูกนำมาใช้ในการวางแผนเพื่อจัดการภัยพิบัติได้อย่างทันท่วงที
ส่วน นพ.ประเวศ วะสี ได้กล่าวถึงบทเรียนของหมูป่าโมเดลว่า สามารถนำมาใช้ในการแก้ปัญหาของสังคมได้ โดยกล่าวว่า “ถ้าเราพยายามทำความเข้าใจหมูป่าโมเดล ซึ่งเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนและยาก เราจะพบวิถีทางที่จะพากันออกจากถ้ำทั้งประเทศ และสำหรับโลกซึ่งติดขัดอยู่ก็สามารถเรียนรู้และนำไปใช้ได้ ซึ่งก็คือมรรค 8 แห่งความสำเร็จของหมูป่าโมเดล” โดยองค์ประกอบของความสำเร็จของหมูป่าโมเดล 8 ประการสรุปได้ดังนี้
(1) บริหารจัดการโดยคนในพื้นที่ซึ่งเผชิญสถานการณ์จริง ไม่ใช่โดยอำนาจรวมศูนย์ซึ่งห่างไกลต่อการเข้าใจความจริง ประเทศไทยบริหารจัดการโดยการใช้อำนาจรวมศูนย์จึงแก้ไขปัญหาไม่ได้
(2) รวมใจเป็นหนึ่งเดียวหรือมีความมุ่งมั่นร่วมกันในการช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ ไม่เหมือนการบริหารจัดการประเทศโดยทั่วไปที่มีใจอยู่ที่ต่างๆ กัน เช่น ผลประโยชน์ของกลุ่ม ของพรรค ของพวก ขององค์กร ขัดแย้งทอนกำลังกัน ในหมูป่าโมเดลไม่ใช้การคิดเชิงปฏิปักษ์
(3) รวมพลังโดยก้าวข้ามการแบ่งแยกทุกประเภท ไม่ว่าเป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการกรมกองใด พ่อค้า ประชาชน สื่อมวลชน ไม่มีการติดอยู่ในอุดมการณ์ใดๆ หรือการอ้างกฎระเบียบราชการให้มารวมพลังกันไม่ได้ในกรณีรวมพลังช่วยหมูป่า ใครจะมาอ้างกฎระเบียบข้อบังคับให้เป็นอุปสรรคต่อการรวมพลัง ทำไม่ได้ เพราะสถานการณ์บังคับ
(4) มีการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริงที่ซับซ้อนและพลิกผัน การใช้ความรู้สำเร็จรูปโดยไม่เรียนรู้ ใช้ไม่ได้ผล ตามปกติข้าราชการจะใช้อำนาจโดยไม่เรียนรู้ การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริงเป็นการเรียนรู้ที่ทรงพลังยิ่ง เพราะทำให้เกิดปัญญาร่วม (Collective wisdom) นวัตกรรม และอัจฉริยภาพกลุ่ม (Group genius)
(5) มีการแสวงหาความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ให้ตรงประเด็นปัญหา มีการเปิดใจกว้าง รับผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่างๆ อย่างทันการณ์
(6) ผู้ประสานงานหรือฝ่ายอำนวยการแก้ปัญหาในพื้นที่สามารถ ยึดกุมภาพองค์รวมของทั้งหมด สามารถสื่อสารสร้างความเป็นเอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย เช่นนี้ทำไม่ได้โดยอำนาจรวมศูนย์
(7) ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่เห็นแก่ตัว เสียสละ ถ่อมตน ยกย่องผู้อื่น หรืออีกนัยหนึ่งทุกคนทำด้วยหัวใจ ของความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เพื่อผลกำไร หรือชื่อเสียงใดๆ หัวใจของความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความดีที่มีอยู่แล้วในส่วนลึกของหัวใจมนุษย์ เมื่อเบ่งบานออกมาเชื่อมโยงกัน ย่อมมีพลังเหนืออำนาจอื่นใด
(8) มีการสื่อสารให้รับรู้กันโดยทั่วถึงทั้งประเทศและทั่วโลก ทำให้มีความเป็นสาธารณะ ความเป็นสาธารณะจะกำกับทุกคนทุกฝ่ายให้อยู่ในความถูกต้อง ใครขืนทำอะไรไม่ถูกต้อง สาธารณะไม่ยอมรับ การจัดการช่วยชีวิตหมูป่ามีความเป็นสาธารณะอย่างยิ่ง ไม่มีใครกล้าทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง
สรุป
ภารกิจช่วยทีมหมูป่าอะคาเดมีได้สะท้อนภาพหลายด้าน ในด้านหนึ่งเหตุการณ์นี้เป็นการหลอมรวมพลังแห่งมนุษยธรรม และธารน้ำใจเพื่อการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์จากทั่วโลก การเสียสละของอาสาสมัครและผู้เชี่ยวชาญด้านการกู้ภัยและการดำน้ำกว่าสี่พันคนที่ร่วมปฏิบัติงานในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่ามนุษย์เรายังไม่สิ้นความหวัง เมื่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันประสบภัยก็ยังมีคนต่างชาติ ต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรมที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือ
เหตุการณ์ครั้งนี้ยังเป็นบทเรียนการกู้ภัยและการจัดการภัยพิบัติที่ยอดเยี่ยมของประเทศไทย ภายใต้การนำของนายณรงค์ศักดิ์ นอกจากนี้ยังสะท้อนบทบาทที่สำคัญยิ่งของสื่อมวลชนและโซเชียลมีเดียที่สร้างกระแสการรับรู้และความตื่นตัวต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระดับโลก อีกทั้งยังเป็นความท้าทายของสื่อมวลชน ทั้งในด้านการตรวจสอบข้อมูล ความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าว และการแข่งขันด้านความเร็วบนพื้นฐานของจรรยาบรรณในวิชาชีพด้วย และแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าที่างการแพทย์และวิทยาการต่างๆ ที่นำมาใช้ในการปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ ยิ่งไปกว่านั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังเป็นบทเรียนสำคัญที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการเตรียมการและจัดการข้อมูลพื้นที่ต่างๆ เพื่อสามารถรับมือกับภัยพิบัติในรูปแบบอื่นได้ในอนาคตด้วย
9.โศกนาฏกรรม “เรือล่มภูเก็ต 2561” บทเรียนท่องเที่ยวไทย
โศกนาฏกรรม "เรือ 3 ลำอับปางที่ภูเก็ต" เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 ได้คร่าชีวิตนักท่องเที่ยวชาวจีน 47 คน นับเป็นเหตุการณ์ที่สร้างผลกระทบทั้งทางด้านกายภาพ ความรู้สึกและภาพลักษณ์ของประเทศไทย ตลอดจนส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-จีน และภาคการท่องเที่ยวของไทยอย่างมหาศาล
โศกนาฏกรรม “เรือล่มภูเก็ต” เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 จนทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนเสียชีวิต 47 คน และมีผู้ประสบภัย 149 คน ได้ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวจีนลดลงหลายแสนคน และสร้างผลต่อเนื่องไปยังห่วงโซ่อุปทานด้านการท่องเที่ยวของไทยอย่างสาหัสสากรรจ์ในช่วง ไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปี 2561 เหตุการณ์นี้จึงเป็นบทเรียนสำคัญที่ไทยต้องศึกษาเพื่อแก้ปัญหาด้านความปลอดภัยในการคมนาคมของประเทศ ตลอดจนเข้าใจถึงความอ่อนไหวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในการสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจ และแสดงความจริงใจและจริงจังในการมุ่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น บทความนี้เป็นการสรุปย่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และถอดบทเรียนเพื่อการปรับปรุงแก้ไขปัญหาเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวในอนาคต
คลื่นซัด เรืออับปาง 3 ลำกลางทะเลภูเก็ต
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ณ พื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ยอดนิยมของทะเลอันดามัน บริเวณเกาะราชากับเกาะเฮ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ได้เกิดเหตุสะเทือนขวัญที่สร้างความเสียหายต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยครั้งใหญ่ มีเรือล่มพร้อมกันในวันเดียวถึง 3 ลำ ลำแรกคือเรือนำเที่ยว “ฟีนิกซ์พีซไดวิ่ง” ซึ่งบรรทุกผู้โดยสารเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน 89 ชีวิต ได้ล่องเรือออกสู่ทะเลท่ามกลางดินฟ้าอากาศที่แปรปรวน แต่แล้วกลับต้องประสบพบเจอกับมรสุมลูกใหญ่ โดยคลื่นสูงกว่า 4 เมตร ได้ซัดเอาเรือนำเที่ยวลำดังกล่าวล่มลง จนจมลึกใต้ท้องทะเลกว่า 45 เมตร ทำให้คร่าชีวิตนักท่องเที่ยวชาวจีนบนเรือไปถึง 47 คน ลำที่สองคือ “เรือยอชต์เซเรนิตา” ล่มลงบริเวณเกาะไม้ท่อน ผู้โดยสาร 42 คน ได้รับการช่วยเหลือรอดชีวิตทั้งหมด ลำที่สามเป็นเรือเจ็ตสกีของนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียล่ม มีผู้โดยสาร 2 คน ล่มบริเวณเกาะราชา ได้รับการช่วยเหลือทั้งสองคน ทำให้ในวันนั้นมีผู้ประสบภัยเรือล่มรวม 149 ราย
แน่นอนว่าอุบัติเหตุจากภัยธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด และไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อสืบสาวราวเรื่องแล้วกลับพบว่าในช่วงก่อนเกิดเหตุทางการได้มีการแจ้งเตือนให้เรืองดออกจากฝั่งแล้ว แต่คนขับเรือยังประมาท ฝ่าฝืนนำเรือออกจากฝั่ง ต่อมากองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยวได้สืบสวนพบข้อมูลทางการเงินเจ้าของเรือฟีนิกซ์ พบว่ามีการกระทำการในลักษณะใช้คนไทยเป็นนอมินีให้กับนายทุนชาวจีนที่มาทำธุรกิจท่องเที่ยวในภูเก็ตด้วย ทำให้ประเด็นเรื่องความปลอดภัยถูกโยงเข้ากับเรื่องธุรกิจผิดกฎหมาย และพยายามผลักปัญหาว่าต้นตอมาจากกลุ่มนักธุรกิจนอมินีที่มุ่งแต่แสวงหากำไร โดยไม่คำนึงถึงการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบเรื่องความปลอดภัยของทางราชการ มากกว่าการแสดงความตั้งใจที่จะมุ่งแก้ปัญหาเรื่องการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของไทยทั้งระบบ ทั้งหมดนี้จึงนำไปสู่ประโยคหลุดปากจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น ที่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า
“เป็นเรื่องของคนจีนที่ทำกับนักท่องเที่ยวจีนเอง ทำเรือของเขาเอง ละเมิดฝ่าฝืนและทำผิดกฎหมายไทย เขาทำตัวของเขาเอง...”
แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ “น้ำผึ้งหยดเดียว” นี้ได้สร้างความไม่พอใจให้กับทางการและประชาชนจีนอย่างมาก ชาวจีนแสดงความโกรธแค้นผ่านสังคมออนไลน์อย่างเผ็ดร้อน จนส่งกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นในการเดินทางมาเที่ยวไทยอย่างมาก ร้อนจนถึง พล.อ.ประวิตร ต้องออกมาแสดงความเสียใจและขอโทษผ่านทางสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย พร้อมประกาศเยียวยาผู้เสียชีวิตและผู้ประสบเหตุที่ได้รับบาดเจ็บ ควบคู่ไปกับการเดินหน้าดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย
สารพัดปัญหารุมเร้า ทำนักท่องเที่ยวจีนหดหาย
ภายหลังเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ตได้สร้างกระแสต่อต้านประเทศไทยจนบานปลายออกไป ก็ได้เกิดเหตุผีซ้ำด้ามพลอยขึ้น โดยเจ้าหน้าที่สนามบินดอนเมืองได้วิวาทและตบหน้านักท่องเที่ยวจีน จากสาเหตุที่ชาวจีนรายหนึ่งได้มาขอ Visa on Arrival แต่ไม่ยอมจ่าย “ค่าบริการพิเศษ” ที่ ตม.เรียกเก็บเพิ่มอีก 300 บาท โดยไม่มีใบเสร็จ จนทำให้เกิดปากเสียงกัน และปรากฏภาพเป็นคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ไปทั่วประเทศจีน ยิ่งสร้างภาพลบให้กับการท่องเที่ยวของไทยเติมเข้าไปอีก จนทำให้เกิดกระแสต่อต้านไม่มาเที่ยวประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาเศรษฐกิจของจีนเองก็ทำให้ชาวจีนจำนวนไม่น้อยงดการเดินทางไปต่างประเทศ เนื่องมาจากผลกระทบจากสงครามการค้ากับสหรัฐ ทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงไป ถึง 6-7% และดัชนีตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ก็ได้ปรับตัวลดลงเกือบ 30% จากช่วงต้นปี ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของคนจีน
ทั้งหมดนี้สร้างความเสียหายให้กับภาคการท่องเที่ยวของไทยอย่างใหญ่หลวง นั่นเพราะนักท่องเที่ยวจีนมีบทบาทที่สำคัญต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยอย่างมาก รายงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดตลอดทศวรรษที่ผ่านมา โดยในปี 2553 มีนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทย 1.13 ล้านคน ปี 2558 นักท่องเที่ยวจีนเพิ่มเป็น 7.93 ล้านคน ปี 2559 จำนวนเพิ่มเป็น 8.77 ล้านคน และในปี 2560 มีนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยจำนวนถึง 9.8 ล้านคน ถือเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติอันดับหนึ่งของไทย แต่ภายหลังเหตุการณ์เรือล่มและข่าวเชิงลบต่างๆ ที่เกิดขึ้น ภาคการท่องเที่ยวถึงกับต้องกุมขมับ เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้าไทยเกิดหดตัวและติดลบต่อเนื่องกันนานถึง 5 เดือน โดยในเดือนกรกฎาคมที่เพิ่งเกิดเหตุการณ์เรือล่ม นักท่องเที่ยวเริ่มติดลบที่ 0.87% ต่อมาในเดือนสิงหาคมเริ่มเห็นเค้าลางหายนะ เพราะชาวจีนมาเที่ยวไทยติดลบถึง 12% ตามมาด้วยเดือนกันยายนที่ติดลบ 15% และหดตัวเพิ่มขึ้นอีกในเดือนตุลาคม โดยติดลบถึง 19.79% ก่อนที่จะเริ่มซาลงในเดือนพฤศจิกายน โดยยอดติดลบลดลงเหลือ 13.86% รวมเม็ดเงินการท่องเที่ยวที่หายไปกว่าหนึ่งแสนล้านบาท
บรรยากาศท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวในภูเก็ต รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวที่คนจีนนิยม เช่น พัทยา และเชียงใหม่ ต่างได้รับผลกระทบลุกลามเป็นลูกโซ่ มีรายงานว่า โรงแรมขนาดเล็กและรีสอร์ตต่างๆ ต้องประกาศขายกิจการจำนวนมาก โดยที่ภูเก็ตมี 105 แห่ง เชียงใหม่ 49 แห่ง และพัทยา 51 แห่ง โดยโรงแรมที่ปิดตัวส่วนใหญ่มักมุ่งกลุ่มลูกค้าชาวจีนเพียงกลุ่มเดียว และเน้นที่มากับกรุ๊ปทัวร์ ซึ่งโดยมากเป็นกิจการขนาดเล็กที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการลงทุนของกลุ่มทุนจีนที่ร่วมกับคนไทยเพื่อรองรับกลุ่มทัวร์จีนโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ธุรกิจนำเที่ยว ร้านอาหาร แหล่งช็อปปิ้ง รวมถึงการแสดงโชว์ต่างๆ สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวจีนต่างก็ได้รับผลกระทบรุนแรงไปตามๆกัน
เร่งแก้ปัญหามาตรฐานความปลอดภัย ฟื้นความเชื่อมั่น
อุบัติเหตุเรือล่มที่ภูเก็ตจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 นั้น ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าว ข้อมูลของกองมาตรฐานความปลอดภัย การท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยว ระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทั้งทางบกและทางทะเล ในปี 2560 สูงถึง 936 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 25.12 โดยเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวเสียชีวิต 265 คน และบาดเจ็บ 671 คน โดยนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากที่สุด สะท้อนถึงมาตรฐานความปลอดภัยด้านการคมนาคมของไทยที่อยู่ในระดับต่ำ โดยความหละหลวมในการกำกับดูแลการโดยสารทางน้ำเป็นสาเหตุที่สำคัญประการหนึ่ง
ปัญหาที่บานปลายจนส่งผลกระทบด้านการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง ทำให้ภาครัฐต้องเร่งระดมทีมกู้วิกฤติศรัทธานักท่องเที่ยวจีนครั้งใหญ่เริ่มที่การสืบค้นสาเหตุต้นตอของปัญหา นั่นคือการกู้เรือฟีนิกซ์ โดยรัฐบาลทุ่มงบประมาณกว่า 39 ล้านบาท ในการนำเรือเครนขนาด 1,200 ตันจากประเทศสิงคโปร์เข้ามาดำเนินงานกู้ซากเรือโดยใช้เวลา 2 วัน ก่อนที่จะสำเร็จในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2561 หลังเหตุการณ์เรือล่มกว่า 3 เดือน เนื่องจากต้องรอให้ฤดูมรสุมผ่านพ้นไปก่อน งานนี้มีผู้บริหารระดับสูงทั้งไทยและจีนร่วมสังเกตการณ์จำนวนมาก เช่น นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายหลี่ ชุนหลิน ที่ปรึกษาและกงสุลใหญ่สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย นายหลี่ ชุนฝู รองกงสุลใหญ่จีนประจำสงขลา ฯลฯ
ภายหลังกู้ซากเรือแล้วก็ได้มีการเร่งตรวจสอบหลักฐาน โดยสำนักงานพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมผู้เชี่ยวชาญจากเยอรมันและรัฐบาลจีน ได้ร่วมกันตรวจสอบและเห็นตรงกันว่า เรือไม่ได้มาตรฐาน ประตูผนึกน้ำ ที่ปกติต้องมี 4 ประตู แต่เรือลำดังกล่าวมีเพียง 1 ประตู ส่วนกระจกต้องเป็นกระจกมารีนที่สามารถทุบออกไปได้ แต่ตรวจสอบแล้วไม่ใช่กระจกมารีน ซึ่งการที่มีผู้เสียชีวิตในเรือจำนวนมาก เพราะไม่สามารถทุบกระจกออกไปได้ เครื่องยนต์ก็ไม่ใช่เครื่องยนต์เรือ แต่เป็นของรถฮีโน่ จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมดกับเจ้าท่าภูเก็ต ในข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ พร้อมส่งสำนวนให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินคดีต่อไป
ความพยายามในการสืบค้นความจริงและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้สร้างความพอใจให้กับทางการจีนพอสมควร โดยนายหลี่ ชุนหลิน ที่ปรึกษาและกงสุลใหญ่ สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย แสดงความพอใจในการดำเนินการของรัฐบาลไทยที่จริงใจและทุ่มเทในการสืบสวนหาสาเหตุของการเกิดเรือล่ม พร้อมเชื่อมั่นว่า เมื่อการคลี่คลายคดีสิ้นสุดจะทำให้ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวจีนกลับคืนมา สร้างบรรยากาศและภาพลักษณ์ที่ดีด้านการท่องเที่ยว และเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับจีนให้ยั่งยืนต่อไป
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาว รัฐบาลได้หยิบยกเรื่องความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวเป็น “ระเบียบวาระแห่งชาติ” โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้กล่าวในการแถลงแผนการตลาดท่องเที่ยวปี 2562 ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยว่า “จะไม่ประนีประนอมเรื่องความไม่ปลอดภัย ต้องดูแลนักท่องเที่ยวตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง” ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ภาพลักษณ์ของไทยต้องกลายเป็นประเทศที่ปล่อยปละละเลยในเรื่องของความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ทางด้านนายกรัฐมนตรีเองก็ได้สั่งการให้ ททท.พัฒนาระบบการเฝ้าระวังรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยว พร้อมกำหนดมาตรการในการดูแลนักท่องเที่ยวทั่วประเทศ เพื่อปรับปรุงดัชนีความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวของไทยที่ปัจจุบันอยู่ในอันดับ 118 จาก 136 ประเทศทั่วโลก
เข้าสู่โหมดกระตุ้นการท่องเที่ยวรอบใหม่
ภายหลังการฟื้นความเชื่อมั่นให้กับทางการจีนและนักท่องเที่ยวจีน ทางการไทยก็ได้จัดยาแรงกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวรอบใหม่ เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจีนกลับมาประเทศไทยอีกครั้งในช่วงฤดูท่องเที่ยวปลายปี 2561 ซึ่งจะต่อเนื่องไปยังช่วงเทศกาลตรุษจีนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือ Visa on Arrival แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ 20 ประเทศ (ซึ่งรวมจีนและอินเดีย) และ 1 เขตเศรษฐกิจ (ไต้หวัน) เป็นระยะเวลา 60 วัน ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 ถึงวันที่ 13 มกราคม 2562 (ก่อนที่จะขยายเวลาอีกครั้งไปจนถึงเดือนเมษายน 2562) ซึ่งแน่นอนว่าเป้าหมายหลักคือนักท่องเที่ยวจีน พร้อมหวังดึงนักท่องเที่ยวจากชาติอื่นเพื่อชดเชยนักท่องเที่ยวจีนที่หายไปด้วย
ทุกสิ่งที่ทำมาดูเหมือนจะเริ่มเห็นผลในช่วงสิ้นปี 2561 โดยนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. ได้เปิดเผยตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่ติดลบมาตลอด 5 เดือนว่า เริ่มพลิกกลับเป็นบวกได้ในวันที่ 1-10 ธันวาคม โดยนักท่องเที่ยวจีนมาเยือนไทยเพิ่มขึ้น 10.72% และแสดงความเชื่อมั่นว่าวิกฤตินักท่องเที่ยวจีนได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว เพราะจากตัวเลขที่เลวร้ายที่สุดในเดือนตุลาคม ค่อยๆ ติดลบลดลงในเดือนพฤศจิกายน และคาดว่าทั้งเดือนธันวาคมนี้จะหยุดการติดลบได้สำเร็จ พร้อมมั่นใจว่านักท่องเที่ยวจีนจะมาเที่ยวไทยปี 2561 ราว 10.5 ล้านคน รวมแล้วยังเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนซึ่งมีจำนวน 9.8 ล้านคน
มุมมองของภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยว เห็นว่าทั้ง 2 มาตรการคือการกู้ซากเรือฟีนิกซ์เพื่อคลี่คลายคดี รวมถึงการออกมาตรการฟรีวีซ่ามีส่วนสำคัญอย่างมากในการกู้วิกฤติท่องเที่ยวในครั้งนี้ นายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เปิดเผยว่า นักท่องเที่ยวจีนรวมถึงประเทศที่ฟรีวีซ่า ได้ทำการจองที่พัก ตั๋วเครื่องบิน รวมทั้งจองทัวร์มาเที่ยวไทยมากขึ้น โดยทางสมาคมได้ทำหนังสือต่อรัฐบาลเพื่อขอต่อมาตรการฟรีวีซ่าดังกล่าวไปอีก 3 เดือนจนถึงเดือนเมษายน 2562 เพื่อให้ครอบคลุมไตรมาสแรกของปี 2562 ด้วย เนื่องจากหลังจากที่รัฐบาลใช้มาตรการดังกล่าวมาได้ประมาณ 1 เดือน พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดจีน ทั้งยังคาดว่าในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 น่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนมาไทย 2.5 ล้านคน แต่ถ้าหากได้ต่อมาตรการฟรีค่าธรรมเนียมไปอีก 3 เดือน ก็อาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนมาไทยเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านคน ขณะที่นายศุภฤกษ์ ศูรางกูร นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว กล่าวว่า มาตรการฟรีวีซ่า 21 ประเทศ ถือเป็นมาตรการที่มีประโยชน์ เนื่องจาก ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวในการเดินทางเข้าไทยได้ แต่สิ่งสำคัญคือการสร้างมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่ชัดเจน รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในภาคการท่องเที่ยวของไทย เพราะในขณะนี้แม้ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของไทยจะดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้ดีเท่าเดิมในสายตาของนักท่องเที่ยวจีน
สรุป
โศกนาฏกรรมเรือฟีนิกซ์ครั้งนี้ได้มอบบทเรียนอันใหญ่หลวงให้กับประเทศไทย ไล่ไปตั้งแต่การละเลยกระบวนการตรวจสอบการดำเนินธุรกิจนอมินี ความประมาทของผู้ขับขี่เรือ ความหละหลวมของผู้ควบคุมท่าเรือ การสื่อสารต่อผู้สูญเสีย ที่ไม่ได้ดำเนินการอย่างระมัดระวังและคำนึงถึงความรู้สึกของผู้ประสบภัย และความจำเป็นในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการคมนาคมแบบครบวงจร ขณะนี้แม้ว่าสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวจะคลี่คลายลง แต่ทุกภาคส่วนควรเรียนรู้จากความผิดพลาด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นอีก นั่นเพราะต้นทุนที่ใช้ในการกู้วิกฤติศรัทธาให้กลับคืนมานั้น มันคือการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของผู้ประสบภัยทุกคน อีกทั้งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศ กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล
10.โรคหัดกลับมา “อุบัติซ้ำ” ในไทย
ข่าวการระบาดของไข้หัดในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เป็นเรื่องวิตกของคนในแวดวงสาธารณสุข เนื่องจากในอดีตสามารถควบคุมได้ดีด้วยการฉีดวัคซีน โดยในช่วงเดือนตุลาคม 2561 พบว่าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเด็กป่วยเพิ่มขึ้นกว่า 800 คน เสียชีวิต 9 คน โดยหลายคนไม่เคยรับวัคซีนมาก่อน จึงเกิดคำถามเกี่ยวกับระบบการเบิกจ่ายและการบริหารวัคซีนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดังกล่าว
“ไข้ออกผื่นร่วมกับอาการไอ (Cough) น้ำมูก (Coryza) ตาแดง (Conjunctivitis) หรืออาการ 3C” เป็นคำสำคัญที่นักเรียนแพทย์ต้องท่องจำให้ขึ้นใจ เพราะถ้าเจอในข้อสอบจะตอบว่าเป็นโรคอื่นไม่ได้นอกเสียจาก ‘โรคหัด (Measles)’ เท่านั้น ต่างจากโรคหัดเยอรมัน (Rubella) ตรงที่อย่างหลัง จะไม่มีอาการตาแดง และผื่นจะขึ้นกระจายมากกว่า” โรคหัดเป็นโรคติดเชื้อซึ่งเกิดจากไวรัสที่ติดต่อกันได้ง่ายมาก ทางอากาศ อาการทั่วไปมักมีไข้สูง ร่วมกับอาการไอมีน้ำมูกและเยื่อตาอักเสบ และจะมีผื่นแดงตามมา อาการที่พบบ่อยของโรคหัด คือ “ไข้ออกผื่น” สิ่งที่ต้องดูแลและเฝ้าระวังคือ ภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ท้องร่วง ตาบอด สมองอักเสบ ปอดอักเสบ ซึ่งพบได้ถึง 30% และมักเป็นเหตุให้เสียชีวิตตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยอายุน้อย และมีภาวะทุพโภชนาการร่วมด้วย
ในปี 2561 ได้เกิดการระบาดของโรคหัดในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างครั้งใหญ่ โดยพบผู้ป่วยไข้ออกผื่น หรือสงสัยโรคหัด จำนวนทั้งสิ้น 4,450 ราย ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดในประเทศและมีผู้เสียชีวิตถึง 23 ราย จึงเกิดคำถามเกี่ยวกับระบบการจัดหาวัคซีน การกระจายวัคซีนที่เหมาะสมสำหรับกรณีเกิดโรคระบาด และการประสานงานของหน่วยงานระดับต่างๆ ในการบริหารจัดการวัคซีน บทความนี้เป็นการทบทวนสถานการณ์ระบาดของโรคหัดที่เกิดขึ้นเพื่อให้เข้าใจข้อเท็จจริง และเป็นการถอดบทเรียนระบบการจัดหาและกระจายวัคซีนโรคหัดของไทย
สถานการณ์โรคหัดในไทย
การระบาดของโรคหัดมาจากผู้ป่วยโรคหัดที่ไอจาม ซึ่งจะมีเชื้อหัดออกมาด้วยทั้งทางน้ำมูกและน้ำลาย โอกาสที่ผู้ไม่มีภูมิคุ้มกันจะติดเชื้อมีมากถึง 9 ใน 10 คน จึงเกิดการระบาดได้ง่ายมาก และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้ จึงนับเป็นโรคระบาดหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนในช่วงอายุ 9-12 เดือน และกระตุ้นอีกครั้งในช่วงอายุ 2 ขวบครึ่ง ประเทศไทยมีการรณรงค์ให้เด็กทุกคนได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดร่วมกับโรคหัดเยอรมัน และคางทูม (MMR) ในช่วงวัยดังกล่าว จากการศึกษาทางระบาดวิทยา พบว่าหากจะควบคุมการระบาดในชุมชนให้ได้ผล จะต้องทำให้เกิดความครอบคลุมการฉีดวัคซีนให้ได้ไม่น้อยกว่า 95%
ประเทศไทยมีพันธสัญญาร่วมกับองค์การอนามัยโลกในการกำจัดโรคหัด โดยมีเป้าหมายที่จะกำจัดโรคหัดให้ได้ ในปี 2563 ซึ่งไทยได้ดำเนินการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วย วัคซีนป้องกันโรคหัดแก่เด็กอายุ 9 เดือนมาตั้งแต่ปี 2527 มีอัตราความครอบคลุมในระดับประเทศที่น่าพอใจ แต่ก็ยังมีการระบาดในบางพื้นที่อยู่เป็นระยะ ซึ่งในซึ่งในต่างประเทศก็มีการพบโรคนี้ในหลายพื้นที่ โดย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้เปิดเผยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก พบว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาพบรายงานผู้ป่วยโรคหัดในทุกภูมิภาคของโลก โดยมีจำนวนผู้ป่วยสูงสุดในอินเดีย 64,972 ราย รองลงมาคือ ยูเครน 53,218 ราย และปากีสถาน 33,224 ราย ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบการระบาดในประเทศฟิลิปปินส์ เซอร์เบีย จอร์เจีย แอลเบเนีย อีกด้วย
สำหรับไทย ข้อมูลจากระบบรายงานโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2561 มีอัตราป่วยโรคหัดทั้งประเทศ 4 ต่อประชากรแสนคน โดยจังหวัดยะลามีอัตราป่วยสูงที่สุด พบมากในกลุ่มอายุน้อยกว่าหนึ่งปี รองลงมาคือประจวบคีรีขันธ์และสมุทรสาคร ตามลำดับ ในขณะที่โรคหัดรุนแรง คือมีภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วย จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือยะลา ปัตตานี และอุบลราชธานี
อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง พบผู้ป่วยไข้ออกผื่น หรือสงสัยโรคหัดจำนวนทั้งสิ้นถึง 4,450 ราย ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดในประเทศ และมีผู้เสียชีวิตถึง 23 ราย มีอัตราป่วยตายที่ร้อยละ 0.52 จังหวัดที่มีอัตราผู้ป่วยสงสัยโรคหัดสูงสุด คือยะลา จำนวน 1,621 ราย (อัตราป่วย 307.42 ต่อประชากรแสนคน) เสียชีวิต 10 ราย อัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.62 รองลงมาเป็นปัตตานี จำนวน 1,788 ราย (อัตราป่วย 251.90 ต่อประชากรแสนคน) เสียชีวิต 10 ราย อัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.56 ตามลำดับ
โดยพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนอย่างชัดเจนตั้งแต่เดือนสิงหาคมใน 4 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างเป็นต้นมา โดยเริ่มการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในจังหวัดยะลา ต่อมาเป็นปัตตานี นราธิวาส และสงขลา ตามลำดับ ทั้งนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุต่ำกว่า 5 ปี โดยมีอัตราป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุต่ำกว่า 1 ปี คิดเป็น 1,348.64 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 1-4 ปี มีอัตราป่วย 555.84 ต่อประชากรแสนคน
สำหรับผู้ป่วยที่เสียชีวิตมีอายุระหว่าง 7 เดือน ถึง 14 ปี ส่วนใหญ่มีภาวะทุพโภชนาการร่วมด้วย ทุกรายเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคหัดที่มีภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ปอดอักเสบและอุจจาระร่วง เกือบทุกรายมีประวัติไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรค มีเพียงหนึ่งรายเท่านั้นที่อายุยังไม่ครบเกณฑ์ที่จะได้รับวัคซีน เมื่อจำแนกตามรายอำเภอพบว่า อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี มีจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตสูงสุด 6 ราย รองลงมาเป็นอำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา 5 ราย
มีการกล่าวอ้างกันว่าสาเหตุสำคัญที่โรคหัดกลับมาระบาดซ้ำ คือผู้ปกครองบางคนเชื่อว่าการฉีดวัคซีนผิดหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งมีทั้งข้อเท็จจริงปะปนกันอยู่ แต่ในขณะเดียวกันกลับสวนทางกับข้อมูลความครอบคลุมการได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดในประเทศไทยที่ค่อนข้างสูง แม้ว่าจะไม่ถึงเป้าที่ตั้งเอาไว้ จากข้อมูลบางส่วนพบว่าการระบาดของโรคหัดในครั้งนี้เกิดปัญหาการต่อต้านการฉีดวัคซีนในเด็กมุสลิม ว่าการฉีดวัคซีนผิดหลักศาสนา แต่ประเด็นนี้ได้มีคำวินิจฉัย (ฟัตวา) จากจุฬาราชมนตรี ผู้นำศาสนาอิสลามของประเทศไทย ในปี 2556 เกี่ยวกับประเด็นนี้ว่าไม่ผิดหลักศาสนาอิสลามแต่อย่างใด ในอีกทางหนึ่งพบว่า ยังมีช่องว่างทางภูมิคุ้มกันในประชากรบางส่วน เช่น เด็กที่ได้รับวัคซีนปกติไม่ครบตามเกณฑ์ รวมทั้งผู้ใหญ่อายุ 20-40 ปี โดยเฉพาะที่อยู่ในกลุ่มคนหมู่มาก เช่น ในค่ายทหาร เรือนจำ โรงงาน แหล่งท่องเที่ยว และสถานบริการสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม ปัญหาการระบาดของโรคหัดที่เกิดขึ้นก็ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับระบบการเบิกจ่ายและบริหารจัดการวัคซีนที่ไม่ครอบคลุมเด็กบางกลุ่ม รวมถึงการรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโรคหัดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หน่วยงานบริหารจัดการวัคซีน
ปัจจุบันหน่วยงานบริหารจัดการและรับผิดชอบการบริหารจัดการวัคซีนของประเทศไทย 3 แห่ง ได้แก่ กรมควบคุมโรค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกองเศรษฐกิจสุขภาพ และหลักประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ทั้ง 3 หน่วยงานมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน ดังนี้
1.กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่ดังนี้
• รับผิดชอบวัคซีนสำหรับผู้เดินทางไปต่างประเทศ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนไข้กาฬหลังแอ่นสำหรับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ วัคซีนไข้เหลืองสำหรับผู้เดินทางไปทวีปแอฟริกา
• วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สำหรับบุคลากรกลุ่มเสี่ยง
• การให้วัคซีนแบบปูพรม (Mop-up) แก่เด็กทุกคนในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคและไม่ทราบประวัติการได้รับวัคซีน รวมถึงวัคซีนที่ใช้ควบคุมการระบาด (MMR/MR/dT)
• วัคซีนตามโครงการกำจัดกวาดล้างตามพันธสัญญานานาชาติ ได้แก่ วัคซีนโปลิโอ และวัคซีนที่มีส่วนประกอบของหัด (MMR/MR) กรณีการให้วัคซีนเสริม เช่น เพื่อการ “เก็บตกเป็นปริมาณมาก”
2.สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดูแลวัคซีนพื้นฐานสำหรับคนไทยทุกสิทธิ ได้แก่
• วัคซีน EPI Routine (ตามกลุ่มวัย) และวัคซีนเก็บตกระหว่างรอบ
• วัคซีน EPI นักเรียน (ป.5, ป.6) และวัคซีนเก็บตก (ป.1)
• วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล
3.กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่ดูแลวัคซีน 3 ประเภท ได้แก่
• วัคซีน EPI Routine สำหรับประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว
• วัคซีนสำหรับบุคคลรอพิสูจน์สถานะและสิทธิ
• วัคซีนสำหรับต่างด้าวไม่ขึ้นทะเบียน
วัคซีนหัด คางทูม และหัดเยอรมัน (Measles Mumps Rubella) เป็นหนึ่งในวัคซีนพื้นฐานสำหรับสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้กับเด็กทุกคน ตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข ปกติให้ครั้งแรกที่อายุ 9-12 เดือน และกระตุ้นช่วงอายุ 2 ปีครึ่ง โดยการฉีดกระตุ้นจะช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในผู้รับวัคซีนประมาณ 2-5% ที่มีภูมิคุ้มกันขึ้นไม่มากพอหลังการรับวัคซีนครั้งแรก วัคซีนนี้ใช้แพร่หลายทั่วโลก ประมาณไว้ว่าตั้งแต่ออกใช้ครั้งแรกในช่วงต้นทศวรรษ 1970s มีการให้วัคซีนี้ไปแล้วประมาณห้าร้อยล้านครั้งในกว่า 60 ประเทศ
การรับมือกับสถานการณ์การระบาดโรคหัดในพื้นที่
นับตั้งแต่การเกิดภาวะระบาดอย่างรุนแรงของโรคหัดในพื้นที่ เบื้องต้นมีการประสานขอการสนับสนุนวัคซีนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อระดมการฉีดวัคซีนแก่ผู้สัมผัสโรค เจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ป่วย รวมถึงผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนในชุมชน ซึ่งตัวเลขจากพื้นที่มีจำนวนสูงมาก เกินกว่าที่กรมควบคุมโรคจะสามารถจัดหาวัคซีนสนับสนุนได้ทัน จึงมีความจำเป็นต้องประสานสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างเร่งด่วนในการบริหารจัดการวัคซีน และสามารถสนับสนุนวัคซีนแก่จังหวัดที่มีการระบาด ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 125,000 โดส ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2561 เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ในเดือนธันวาคม พบว่าอุบัติการณ์ลดลงมากอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดของการบริหารวัคซีนระดับชาติจากการกำหนดบทบาทหน้าที่แยกกัน 3 หน่วยงาน ขาดการบูรณาการที่จะแก้ปัญหาได้ฉับไว แม้จะมีงบประมาณในการจัดซื้อวัคซีนฉุกเฉินก็ไม่อาจดำเนินการได้รวดเร็ว เนื่องจากวัคซีนต้องใช้เวลาในการผลิตระยะหนึ่ง การบริหารวัคซีนในภาพรวมของประเทศจึงมีความสำคัญมาก และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะกระบวนการจัดหาวัคซีน การกระจายที่เหมาะสมสำหรับกรณีเกิดโรคระบาด การประสานงานของหน่วยงานต่างๆ ทั้งนี้ การควบคุมการระบาดของโรคจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนจึงประสบผลสำเร็จได้
สรุป
เหตุการณ์ระบาดของโรคหัดในภาคใต้เมื่อปี 2561 สะท้อนให้เห็นว่าการควบคุมการระบาดของโรคจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ หน่วยให้บริการควรต้องร่วมมือกับเครือข่ายและท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เปราะบางทางความมั่นคง เพื่อให้สามารถบริการครอบคลุมกลุ่มประชากรให้มากขึ้น เน้นทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ และสร้างความตระหนักและมีส่วนร่วมในการรับบริการให้มากขึ้น เพราะการป้องกันจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการที่จะลดอันตราย หรือความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน
สำหรับในระดับประเทศมีความจำเป็นต้องทบทวนทั้งระบบอย่างเร่งด่วนเกี่ยวกับกระบวนการจัดหาวัคซีน การกระจายที่เหมาะสมสำหรับกรณีเกิดโรคระบาด การประสานงานของหน่วยงานระดับกรม กองหรือกระทรวง กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดหาวัคซีนหรือส่งวัคซีนให้ทันต่อความต้องการของพื้นที่รวม ทั้งการบริหารจัดการความตื่นตระหนกของประชากรในพื้นที่อีกด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |