ไม่หยุดความเหลื่อมล้ำการศึกษา จะเกิดการส่งต่อความจนจากรุ่นสู่รุ่น
เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงไม่น้อยกับข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาของสังคมไทย เพราะจากข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่าความยากจนทำให้เด็กไทยมากกว่า 5 แสนคนหลุดออกนอกระบบไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา และอีก 2 ล้านคนมีแนวโน้มไม่ได้เรียนต่อ โดยมีเยาวชนเพียง 5% จากครอบครัวยากจนกลุ่ม 20% ล่างสุดของประเทศที่มีโอกาสเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา
ปัญหาดังกล่าวมีการให้ข้อมูลไว้ว่า เกิดจากครอบครัวของเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ สูงกว่าครอบครัวร่ำรวยถึง 4 เท่า และผลกระทบที่ตามมากับประเทศไทยก็คือ ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสทางเศรษฐกิจสูงถึง 2 แสนล้านบาทต่อปี และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ รวมทั้งการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
หนึ่งในองค์กรที่เป็นหน่วยงานตั้งขึ้นมาใหม่ ที่เกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก็คือ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่เป็นหนึ่งในองค์กรที่เข้ามาขับเคลื่อนเพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะกับเด็กยากจน เด็กด้อยโอกาสทั่วประเทศเพื่อสร้างความเสมอภาคด้านการศึกษาให้แก่สังคม
นพ.ศุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้ข้อมูลเชิงวิชาการ รวมถึงบอกเล่าการทำงานของ กสศ.ในการคลี่คลายปัญหาใหญ่ของสังคมไทยในเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยลำดับแรก นพ.ศุภกร กล่าวปูพื้นโดยสรุปให้เข้าใจบทบาทหน้าที่ของ กสศ.กับภารกิจสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาว่า กสศ.เกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 โดยก่อนจะมาเป็น พ.ร.บ.กองทุนดังกล่าว ที่มาของกองทุนมีที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในมาตรา 54 วรรคท้าย ที่บัญญัติเรื่องแนวทางปฏิรูปการศึกษาเอาไว้ โดยวรรคท้ายพูดเรื่องการให้มีกองทุนขึ้นมากองทุนหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
...ในรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้สั้นๆ แต่ในทางปฏิบัติ รัฐธรรมนูญให้มีคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ที่เกิดขึ้นสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (ประยุทธ์ 1) ในช่วงปลายปี 2560 ที่มีศาสตราจารย์นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน โดยกรรมการมีข้อเสนอปฏิรูปการศึกษาหลายเรื่อง แต่มีโจทย์ 4 เรื่อง
...คือ 1.คุณภาพการศึกษา 2.การปฏิรูปการศึกษา เพราะการศึกษาปัจจุบันยังเป็นตัวถ่วงทำให้ขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไม่สูงเท่าที่ควร จึงต้องปฏิรูปการศึกษาให้ประเทศแข็งแรงขึ้น 3.การใช้ทรัพยากรของประเทศทางการศึกษาที่ตอนนี้ประสิทธิภาพยังค่อนข้างต่ำ คือใช้งบประมาณค่อนข้างมาก แต่ยังได้ผลค่อนข้างน้อย 4.เรื่องที่แต่เดิมมาคนไม่ค่อยนึกถึง คือเรื่องการศึกษาของประเทศมีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างมาก ระหว่างคนมีฐานะค่อนข้างดีกับคนที่มีฐานะยากจนในประเทศ
...ประเด็นความเหลื่อมล้ำดังกล่าว เป็นโจทย์ข้อหนึ่งที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาชี้ประเด็นไว้ว่า หากไม่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็อาจทำให้ไม่สามารถปฏิรูปการศึกษาได้ครบถ้วน ไม่สำเร็จ
คณะกรรมการจึงเสนอทางแก้ไว้ว่า จำเป็นต้องมีการจัดสรรทรัพยากรเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ชัดเจนมากกว่าเดิม ก็มีการคิดคำนวณไว้ว่าน่าจะใช้งบประมาณต่อปี คิดเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศทางด้านการศึกษาที่มีอยู่ปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันงบด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการอยู่ที่ประมาณ 5 แสนล้านบาทต่อปี 5 เปอร์เซ็นต์ก็อยู่ที่สองหมื่นห้าพันล้านบาทต่อปี แต่ไม่ได้เสนอว่าจะให้งบดังกล่าวอยู่ที่ส่วนใด เพียงแค่เสนอว่าควรต้องเติมเข้าไป แต่หากเติมเข้าไปอยู่ในงบปกติของกระทรวงศึกษาธิการ มันก็จะละลาย ไม่ได้ไปที่เป้าหมายของการลดความเหลื่อมล้ำ
นพ.ศุภกร กล่าวต่อไปว่า ทางกรรมการอิสระฯ ก็มีการเสนอแนวที่เป็นเงื่อนไขในการตั้งงบสองหมื่นห้าพันล้านบาทดังกล่าวว่าต้องมีข้อแม้ 2 ข้อ 1.ต้องไม่ทำอย่างอื่น นอกจากมุ่งไปที่การลดความเหลื่อมล้ำ 2.พุ่งเป้าไปที่กลุ่มเป้าหมายที่เขาขาดโอกาสทางการศึกษา ภาษาวิชาการเรียกว่าต้องไปด้านอุปสงค์ คือ Demand Side ก็คือปกติงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้กันปัจจุบันเกือบเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ จะไปที่ Supply Side ก็คือไปตามระบบราชการ เช่น เงินเดือนครู งบจัดซื้ออุปกรณ์ของโรงเรียน คือเป็นการใช้งบที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเด็กโดยตรง คือไม่ผูกพันกับเด็กและกลุ่มเป้าหมายอย่างแน่นแฟ้น
...เราสำรวจพบว่ามีอยู่แค่ประมาณครึ่งเปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นการตั้งงบแบบ Demand Side เรียกว่างบอุดหนุนสำหรับเด็กยากจน นักเรียนยากจน ที่ก็ตกปีละประมาณ 2,500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งถือว่าน้อยมาก ดังนั้นส่วนที่จะเติมเข้าไปให้ได้ 25,000 ล้านบาท จึงควรอยู่ใน 2 ข้อแม้ดังกล่าวข้างต้น
นอกจากนี้ ข้อเสนอของกรรมการอิสระฯ ยังมีการทำร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่เห็นว่าการจะทำให้แนวทางข้างต้นเกิดผลได้จริง ต้องมีเครื่องมือใหม่เป็นกลไกเข้ามาจัดการแก้ปัญหาเรื่อง Demand Side ก็คือ concept ของการให้มีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเพื่อให้มาทำหน้าที่บริหารจัดการปฏิรูปเพื่อที่จะลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ
...กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่ตั้งขึ้นมา ไม่ได้หมายถึงว่างบสองหมื่นห้าพันล้านบาทดังกล่าวต้องนำมาใส่ไว้ในกองทุน คืออาจไปอยู่ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีของหลายหน่วยก็ได้ แต่ กสศ.ต้องดูภาพรวมงบดังกล่าวว่าจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทรัพยากรที่รัฐบาลจัดสรรให้ควรนำไปไว้ที่ใดบ้างเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ
...ต่อมาหลังร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จนมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย โดยมีบอร์ดหรือคณะกรรมการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่มี ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล มาเป็นประธานบอร์ด กสศ.ที่เป็นมิติใหม่ เพราะประธานมาจากพื้นฐานการพัฒนาประเทศในระดับมหภาค เป็นอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เป็นผู้มองภาพรวมของประเทศด้วย ทำให้การทำงานของบอร์ด กสศ.ไม่ได้มองเฉพาะการศึกษาในระบบเท่านั้น แต่มองแบบเชื่อมโยงกับการพัฒนาประเทศในภาพรวมได้ด้วย ก็เป็นจุดเริ่มต้นของ กสศ.ที่ถึงตอนนี้ก็ตั้งมาได้ประมาณปีกว่า
นพ.ศุภกร บอกเล่าถึงการขับเคลื่อนของ กสศ.ในการทำให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษาต่อไปว่า พอออกมาเป็นกองทุน งบที่บอกว่าประมาณสองหมื่นห้าพันล้านบาทมาทำเรื่องนี้ก็ยังไม่ได้เกิดขึ้น เพราะสำนักงานก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณอยู่ที่ประมาณสิบเปอร์เซ็นต์ ของจำนวนที่ประมาณการไว้คือสองพันห้าร้อยล้านบาท ซึ่งบอร์ดก็คาดประมาณสถานการณ์ว่า ด้วยกำลังงบประมาณของประเทศ การที่จะจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีมาให้กองทุนมากๆ ก็คงเป็นไปได้ยากในระยะเริ่มต้น จึงต้องมียุทธศาสตร์ในการทำงาน คือสำนักงานได้รับงบประมาณมาเท่าใด ก็ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ คือได้กระสุนมาน้อยก็ต้องยิงให้แม่น
...หลักวิธีคิดก็คือต้องคิดในแง่ของการทำให้การปฏิรูปการศึกษาทำแล้วได้ผล โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำ ต้องพยายามหาให้เจอโดยเน้นการสร้างความรู้ ซึ่งไม่ได้ทำเฉพาะเรื่องวิจัย เพราะ กสศ.ก็ได้รับงบประมาณอยู่พอสมควรแม้จะไม่มาก เราจึงต้องทดลองทำให้ดู แต่ไม่ใช่การทำวิจัยแบบในมหาวิทยาลัย แต่เป็นการทำความรู้และทำระบบให้เกิดผลออกมา ที่หากทำแล้วได้ผลดี มีข้อสรุปที่ดีและชัดเจน ใน พ.ร.บ.กองทุนฯ ก็มีการให้อำนาจหน้าที่กับบอร์ด กสศ.ไว้ ว่าสามารถนำเสนอนโยบายตรงถึงคณะรัฐมนตรีได้ด้วย ที่อยู่ในมาตรา 23 เพื่อทำเป็นนโยบายรัฐบาลให้ขยายผลต่อไปได้
งานของเราจึงเป็นงานในเชิงสร้างความรู้ ทดลองระบบ เพื่อหาตัวแบบและวิธีการในการปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผลสำเร็จ โดยใช้งบประมาณเท่าที่รัฐบาลจะจัดให้กับ กสศ. นพ.ศุภกรกล่าวย้ำ
กะเทาะปัญหา dropout
เด็กออกจากระบบการเรียนกลางคัน
-สมัยยังไม่มีกองทุนฯ เด็กนักเรียนและเยาวชนที่ต้องออกจากระบบการเรียนการศึกษา เพราะที่บ้านมีฐานะยากจน มีมากน้อยแค่ไหนในแต่ละปี?
ความจริงแล้วถ้าพูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำ เราจะไปมองแค่ว่าทำให้เด็กต้องออกจากระบบการศึกษาอย่างเดียว-ไม่ใช่ เหมือนกับเรามองเห็นน้ำแข็งลอยน้ำ เราจะเห็นสิ่งที่ลอยขึ้นมาแค่ไม่มาก ประมาณหนึ่งในสิบเท่านั้น คือเป็นปัญหาที่ทนไม่ไหวแล้วก็โผล่ขึ้นมา ต้องหลุดออกจากระบบ
เรื่องของความเหลื่อมล้ำ แม้แต่นักเรียนที่อยู่ในระบบก็เผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำเยอะมาก เพราะเอาเข้าจริงคนที่เผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำส่วนใหญ่ไม่ใช่นักเรียนนอกระบบ เพราะที่หลุดออกไปจากระบบเป็นพวกฮาร์ดคอร์แล้ว คือแย่เต็มที่จึงหลุดออกจากระบบ โดยมีสาเหตุเช่นความยากจน ความด้อยโอกาส แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะเรื่องความยากจนเท่านั้น แต่มีอีกหลายปัญหา เช่น นักเรียนหญิงตั้งครรภ์ในวัยเรียน จึงเรียนหนังสือต่อไม่ได้ต้องหลุดออกจากระบบ หรือเด็กนักเรียนที่มีฐานะยากจน พ่อแม่ทำงานก่อสร้าง จึงต้องคอยเคลื่อนย้ายครอบครัวไปตามไซต์งานก่อสร้าง หรือบางรายมีปัญหาเรื่องคดีความ มีปัญหาทางกฎหมายต้องหยุดเรียนหนังสือ รวมถึงที่ต้องออกจากระบบการเรียน เพราะมีปัญหาด้านสุขภาพก็มีเยอะ
เรื่องความเหลื่อมล้ำแล้วทำให้เด็กต้องออกจากระบบการเรียน จริงอยู่ที่ว่ามาจากปัญหาครอบครัวมีฐานะยากจน แต่ความจริงปัญหาดังกล่าวไม่ได้มีเฉพาะแค่เรื่องความยากจน เพราะเด็กที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความด้อยโอกาส พบว่ามีหลายปัญหาด้วยกัน ไม่ใช่แค่เรื่องความยากจน บางคนก็มีปัญหาเรื่องเป็นแม่วัยใส (การตั้งครรภ์หรือท้องก่อนวัยอันควร) หรือการที่เด็กต้องคอยดูแลคนป่วย คนพิการ ที่อยู่ในบ้าน เช่น ปู่ย่าตายาย หรือพ่อแม่ที่ไม่สบาย
...ปัญหาเด็กเลิกเรียนกลางคันดังกล่าวจึงมีหลายมิติด้วยกัน ทั้งเรื่องทางสังคม-กฎหมาย-สุขภาพ ถ้าเราจะมองคนที่ออกจากระบบการศึกษา พวก dropout ออกกลางคัน ทางกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ก็เคยประมาณการไว้ว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณหกแสนกว่าคน ที่อยู่ในช่วง ป.1 ถึง ม.3 ที่จะมีประมาณสองแสนกว่าคน นอกเหนือจากนั้นก็จะเป็นเด็กเยาวชนที่อยู่ในวัยที่โตขึ้นไป ซึ่งกลุ่มดังกล่าวทั้งหมดปัญหาอยู่ที่ตัวเด็ก แต่ก็ยังเป็นกลุ่มเล็ก เพราะกลุ่มใหญ่จริงๆ ที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำ คือคนที่ยังอยู่ในระบบที่เราไม่ได้มองแค่เฉพาะที่ตัวเด็กเท่านั้น
ทาง กสศ.เรามองความเหลื่อมล้ำในเรื่องของคุณภาพการศึกษาด้วย เช่น ความเหลื่อมล้ำของคุณภาพครู คุณภาพของโรงเรียน ซึ่งถ้ายกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมก็เช่น ผลการศึกษาวิจัยของธนาคารโลก เขาได้ศึกษาวิจัยแล้วพบว่าโรงเรียนที่อยู่ในเขตเมืองกับโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ชนบท มีความเหลื่อมล้ำในแง่คุณภาพแตกต่างกันเยอะ
“พบว่าโรงเรียนที่อยู่ในเขตเมือง เช่น โรงเรียนประจำจังหวัด เมื่อเทียบกับโรงเรียนที่อยู่ในชนบท พบว่าเด็กที่มีอายุเท่ากัน อยู่ชั้นเดียวกัน เช่น อายุ 15 ปี อยู่ชั้น ม.3 พบว่าเด็กที่อยู่ในโรงเรียนที่อยู่ในชนบทมีความรู้ความสามารถตามหลังอยู่ประมาณ 1.5 ปีการศึกษา คือมีความรู้เท่ากับเด็กอายุ 13 ปีของเด็กที่เรียนอยู่ในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเมือง ทั้งที่อายุ 15 ปีเท่ากันกับเด็กที่เรียนหนังสือในเมือง
นี่คือความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษา ที่แม้เด็กจะอยู่ในโรงเรียน แต่ไม่ได้หมายถึงว่าโรงเรียนทุกแห่งจะมีคุณภาพการศึกษาเท่าเทียมกัน เรื่องของความเหลื่อมล้ำจึงต้องแก้ปัญหาเรื่องความแตกต่างของคุณภาพการศึกษาไปด้วยพร้อมๆ กัน”
ความเหลื่อมล้ำในนิยามของ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จึงไม่ใช่ความเหลื่อมล้ำเฉพาะแค่เรื่องความยากจน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องปัญหาเฉพาะตัวของเด็กแต่ละคน แต่มองถึงความเหลื่อมล้ำของช่องว่างคุณภาพการศึกษาของเด็กที่มีโอกาสเข้าถึงโรงเรียน เข้าถึงครูที่มีคุณภาพน้อยกว่าเด็กอีกกลุ่มหนึ่ง เราจึงไม่ได้มองการศึกษาแบบง่ายๆ ว่า แค่มีงบประมาณแล้วจัดสรรงบไปให้ แล้วจะแก้ปัญหาได้ ไม่ใช่เช่นนั้น
GPE และ J-PAL Role Model-กสศ.
ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พูดถึงการนำงบประมาณของ กสศ.ที่รัฐบาลจัดสรรให้แต่ละปีไปขับเคลื่อนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาไว้ว่า งบประมาณ กสศ.ได้รับการจัดสรรงบประมาณมาแต่ละปี เราไม่ได้รับงบจำนวนมากอะไร จึงต้องพยายามใช้งบให้เกิดผลมากที่สุด ที่ก็คือการสร้างความรู้ หาตัวแบบ ทดลอง หาวิธีปฏิรูป แต่ว่าก็มีความคาดหวังว่า กสศ.จะเข้าไปช่วยโดยตรงด้วยส่วนหนึ่ง เราก็มีการแบ่งงานออกเป็นสองขา โดยขาหนึ่งก็เข้าไปช่วยโดยตรง แต่ก็ไปช่วยได้ไม่มาก โดยลักษณะการไปช่วยก็เป็นแบบบรรเทา บำบัดอุปสรรคที่เป็นอุปสรรคเฉพาะหน้าในการทำให้เด็กที่มาเรียนแล้วเรียนได้ไม่ดีจนต้อง dropout ไป เช่น มาโรงเรียนแล้วท้องหิวหรือบ้านอยู่ไกล มาเรียนแล้วเรียนไม่ทันเพื่อน เพราะเป็นเด็กที่มาจากกลุ่มครอบครัวฐานะยากจน เป็นกลุ่มที่ด้อยโอกาส ก็จะเข้าไปช่วยเหลือโดยตรง
เราก็จะมีงบประมาณส่วนหนึ่งที่ก็เป็นงบประมาณส่วนใหญ่ก็จะเข้าไปช่วยด้านนี้ แต่ก็ช่วยได้ไม่มาก เพราะหากเอาเข้าจริง หากต้องช่วยโดยตรง มันต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล แต่ว่างบประมาณส่วนน้อยของเรา ก็จะเข้าไปทำงานในลักษณะหาวิธีปฏิรูปการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
ส่วนขาที่สองที่เป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งบอร์ด กสศ.ก็ได้ศึกษามาก่อนแล้วว่าวิธีการที่จะใช้งบประมาณจำนวนไม่มาก แต่ทำแล้วมีประสิทธิภาพ เราก็ไปศึกษาดูแล้วพบว่าองค์กรที่มีลักษณะคล้ายๆ กับ กสศ.ในต่างประเทศก็มีหลายองค์กรที่เขาก็มีงบประมาณจำนวนไม่มากเช่นกัน เช่น องค์กรที่จะเรียกได้ว่าเป็น กสศ.โลกก็ได้ ที่เรียกว่า Global Partnership for Education (GPE) ที่เป็นองค์กรของสหประชาชาติคล้ายๆ กับ กสศ. เพียงแต่ไม่ใช่สำนักงานของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นของสหประชาชาติที่เข้าไปช่วยประเทศต่างๆ ตอนนี้มีประมาณร่วม 70 ประเทศทั่วโลก โดยไปช่วยให้แต่ละประเทศทำนโยบายเรื่องปฏิรูปการศึกษาได้ผล
...เขาก็มีตัวอย่างเช่นที่ไปช่วยที่ประเทศเอธิโอเปีย ซึ่งเดิมก่อนหน้านั้นมีเด็กเข้าเรียนประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ โดยหลุดออกไปประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ องค์กร GPE ก็เข้าไปช่วยสักระยะหนึ่ง ก็พบว่าตัวเลขเด็กที่เข้าเรียนเพิ่มสูงขึ้นเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งลักษณะการช่วยไม่ใช่การนำเงินไปช่วยแล้วให้เงินจำนวนมากๆ กับเอธิโอเปีย แต่เข้าไปช่วยในด้านการจัดการความรู้ ไปทำนโยบายด้านการศึกษาให้กระเตื้องขึ้น มีการให้ทุนในลักษณะที่เข้าไปทำตัวอย่างทดลอง เช่น ที่เอธิโอเปียพบว่าเด็กผู้หญิงล้าหลัง มีโอกาสเข้าเรียนน้อยกว่าเด็กผู้ชาย พอ GPE เข้าไปทำงานได้สักระยะ เช่น การทำให้ครูใหญ่หรือผู้บริหารโรงเรียนเป็นผู้หญิง ก็เข้าไปทำอยู่ประมาณ 4-5 ปี ต่อมาพบว่ามีเด็กนักเรียนผู้หญิงเข้าสู่ระบบการเรียนเพิ่มมากขึ้น คือจากเดิม 4 เปอร์เซ็นต์ ก็เพิ่มขึ้นมาเป็น 11 เปอร์เซ็นต์
...พบว่าการที่ผู้บริหารโรงเรียนเป็นเพศใดเพศหนึ่ง ก็เป็น Role Model เป็นตัวอย่างที่ทำให้นักเรียนเห็นว่าแม้จะเป็นผู้หญิง แต่ก็สามารถไต่เต้าขึ้นมาจนประสบความสำเร็จในอาชีพ และครูใหญ่ที่เป็นผู้หญิงก็จะรู้ว่าเงื่อนไขของการที่นักเรียนเป็นผู้หญิงควรจะต้องดูแลนักเรียนในรายละเอียดเรื่องต่างๆ อย่างไรบ้าง ก็ทำให้นักเรียนที่เป็นเพศหญิงได้รับการยกระดับขึ้นมา แต่กรณีของประเทศเอธิโอเปีย ก็ไม่ใช่ว่าจะเหมือนกับประเทศอื่นๆ เพราะอย่างประเทศไทยก็ไม่ได้มีปัญหาลักษณะเช่นนั้น แต่เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า GPE ก็ไม่ได้ใช้งบประมาณที่นำไปให้ประเทศต่างๆ มากมาย แต่ไปเน้นเรื่องการทำนโยบายด้านการปฏิรูปให้ชัดเจนมากขึ้น ไปทดลองวิธีการแก้ไขปัญหาให้ได้ผล
...หรือกรณีของอีกหนึ่งองค์กรที่เป็นข่าวในปีนี้ คือการที่นักเศรษฐศาสตร์ได้รับรางวัลโนเบล ปีล่าสุดที่มี 3 คน (นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย อภิจิต บาเนอร์จี, นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันเชื้อสายฝรั่งเศส เอสเธอร์ ดูโฟล และนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ไมเคิล เครมเมอร์ จากผลงานการแก้ปัญหาความยากจนทั่วโลก)
...ศาสตราจารย์บาเนอร์จี และศาสตราจารย์ดูโฟล สอนอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีรัฐแมสซาชูเซตส์ (MIT) ส่วนศาสตราจารย์เครมเมอร์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด โดยเขาทำงานมาโดยมีกลไกคล้ายกับองค์กร GPE แต่เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นใน MIT เรียกว่า The Abdul Latif Jameel Poverty Action Lab (J-PAL)โดย J-PAL เป็นชื่อของสปอนเซอร์ ที่สนับสนุนเขาในช่วงแรก เป็นชาวอาหรับ ชื่อ Jamel ส่วน Pal คือ Poverty Action Lab เป็นห้อง Lab แก้ปัญหาความยากจน ซึ่งวิธีการของ J-PAL ที่ไปทำงานอยู่กับประเทศต่างๆ ทั่วโลกร่วม 81 ประเทศ มีเงินทุนก้อนหนึ่ง แต่หากนำเงินไปให้กับประเทศต่างๆ มันก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรได้มาก โดยเขาทำงานด้วยวิธีการไปร่วมมือกับนักวิชาการในแต่ละประเทศโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยในการสะสางปัญหาความยากจน เช่น ไปศึกษาดูว่าเด็กนักเรียนที่มาเรียนแล้วเรียนได้ไม่ดี พวก dropout
...เช่นที่อินเดีย สาเหตุเกิดจากเรื่องอะไร ก็พบว่าเกิดจากหลายปัญหาโยงกันไปหมด แต่เขาใช้วิธีการแก้ปัญหาไปทีละเรื่อง โดยเรื่องที่แก้ง่ายที่สุดแล้วเกิดผลกระทบทางบวก กลายเป็นเรื่องเกี่ยวกับพยาธิ เรื่องของสุขภาพ คือพบว่าเด็กมีปัญหาเรื่องของอาหารที่ไม่สะอาด มีพยาธิ เด็กเลยเจอปัญหาว่าแม้จะได้กินอาหาร แต่ก็โดนพยาธิแย่งไปหมด เด็กมาโรงเรียนเลยมาแบบท้องหิว มีพัฒนาการทางร่างกายที่ไม่ดี เขาเลยใช้วิธีแก้ปัญหาเรื่องพยาธิที่ไม่ได้ใช้เงินจำนวนมาก แต่แก้แล้วทำให้เด็กมาเรียนหนังสือแล้วได้ผลดีขึ้นอย่างเห็นหน้าเห็นหลัง นี่คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการทำงานเชิงวิชาการทำให้ได้รู้ว่าเรื่องบางเรื่องที่เราอาจมองไม่เห็นหรือดูแล้วเป็นเรื่องเผินๆ ไม่ได้นึกถึง แต่พอซูมเข้าไปที่ชีวิตเด็ก ก็จะเห็นปมปัญหาหลายปมผูกเป็นเงื่อนอยู่ ซึ่งเงื่อนปมหลายเรื่องดังกล่าวบางทีแก้ได้ไม่ยาก และหากจัดการแกะปมปัญหาทีละเรื่อง จะทำให้ปมปัญหาคลายตัวลง โดยใช้งบประมาณไม่สูงมากนัก ซึ่งนอกจากที่อินเดียแล้ว เขาก็ยังไปเจอปัญหาลักษณะเดียวกันที่แอฟริกา โดยการแก้ปัญหาไม่ได้ใช้งบประมาณที่สูงแต่อย่างใด
...หรืออย่างที่จีน J-PAL เขาก็พบปัญหาเด็กนักเรียนมีปัญหาด้านสายตาและไม่มีแว่นใส่ ทำให้เรียนแล้วมองกระดานไม่เห็นหรือเห็นไม่ชัด โดยเมื่อเข้าไปแก้ปัญหาดังกล่าวก็ทำให้การเรียนรู้ของเด็กดีขึ้น จากเดิมที่คนไม่คิดถึงเรื่องดังกล่าว แต่ไปนึกถึงเรื่องอื่นๆ ที่สังเกตง่าย
...ข้างต้นคือตัวอย่างของการใช้งานวิชาการเข้าไปแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ มันมีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จมาแล้วครึ่งค่อนโลก ก็เป็นบทบาทที่หาก กสศ.เราไม่ได้รับงบประมาณจำนวนมากๆ ที่จะช่วยเหลือสงเคราะห์เด็กนักเรียนได้โดยตรง เราก็ต้องทุ่มเทไปกับการพยายามหามาตรการ ความรู้แก้ปัญหาการศึกษาที่บางเรื่องเราเคยมองข้ามไปแล้วไปชินชากับเรื่องบางเรื่องที่บ่นๆ กัน แต่เมื่อซูมเข้าไปถึงชีวิตของเด็ก หรือกลุ่มเป้าหมาย บางทีเราก็จะไปเจอสาเหตุที่มองข้ามกันมานานได้
ภารกิจสองขา กสศ.สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา
นพ.ศุภกร กล่าวต่อไปถึงเข็มทิศของ กสศ.ในการทำงานเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้แก่สังคมไทยทั้งระยะสั้นและระยะยาวว่า งานของ กสศ.จะมีสอง task โดย task แรกจะเข้าไปช่วยโดยตรง จะใช้งบประมาณค่อนข้างมาก แต่เมื่อ กสศ.ได้รับการจัดสรรงบประมาณมาน้อย ก็เป็นสิ่งที่เราต้องคิดวิธีกันว่าจะเข้าไปดำเนินการช่วยอย่างไร
...อีก task หนึ่งก็คือ การเข้าไปสร้างการทดลองการสร้างความรู้และตัวแบบการปฏิรูป ที่จะใช้งบประมาณน้อยกว่า แต่เราต้องรักษาไว้เพราะจะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดผลกระทบเยอะมาก คุ้มค่ามากกว่าขาแรก แต่ขาแรกก็เป็นขาที่สำคัญ เพราะบางทีหากเราบอกว่าต้องมุ่งสร้างองค์ความรู้ แต่สังคมก็คาดหวังว่าเราจะเข้าไปช่วยโดยตรงด้วย แต่เนื่องจากขาแรกใช้งบประมาณมาก เราก็ต้องจัดลำดับความสำคัญ
กสศ.เราไม่ได้เน้นการเข้าไปช่วยแบบรายคน แบบวอล์กอินเข้ามาหรือพอมีข่าวตามสื่อแล้วเราไปช่วยตามข่าว เราไม่ค่อยได้ทำแบบนั้น เพราะก็จะมีหน่วยงานอื่นเข้าไปอยู่แล้ว แต่ของ กสศ.เวลาจะเข้าไปช่วยเด็กเราจะเข้าไปในลักษณะที่ไปพร้อมกับการสร้างระบบ เช่นการทำ โครงการช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษ คือยากจนข้นแค้น ยากจนที่สุด ที่ทางบอร์ด กสศ.เห็นว่าเมื่อเรามีงบน้อย เราก็ต้องช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนที่สุดก่อน เราก็ต้องหาให้เจอว่าหากเราจะไปช่วยนักเรียนที่ยากจนที่สุด เราจะทำอย่างไร ก็ต้องมีการวิจัยกัน เพราะหากเราจะทำไปถามว่าคนไหนจนไม่จน เดือดร้อนไม่เดือดร้อน อยากให้ช่วยไหม ทุกคนก็บอกจนทั้งนั้น เราก็ต้องเริ่มต้นจากการทำวิจัย ซึ่งเรื่องนี้เราเริ่มต้นทำวิจัยกันมาก่อนที่จะเกิด กสศ. คือตั้งแต่เป็นสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ที่ทำวิจัยมากับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีทางธรรมศาสตร์เข้ามาเป็นนักวิจัยหลักในการหาว่าเด็กคนไหนจนมากจนน้อย ซึ่งเรื่องนี้เราจะไปถามเขาลอยๆ ว่าทางบ้านมีรายได้เท่าใด ต้องมีข้อมูลมากกว่านั้น ก็คือไปดูสภาพที่บ้านของเด็ก ไปดูว่ามีภาระค่าใช้จ่ายอย่างไร ลักษณะบ้านเป็นอย่างไร ดูว่าที่บ้านมีภาระต่างๆ เช่นคนพิการที่ต้องดูแลหรือไม่ ดูว่าเขามีพ่อแม่หรือไม่ หรือว่าเป็นลูกกำพร้า
...กระบวนการดังกล่าว ทางนักวิชาการมีวิธีคิดคำนวณที่เป็นวิธีการที่นักเศรษฐศาสตร์สากลก็ใช้กันอยู่เรียกว่า ตัวชี้วัดทางอ้อม เพื่อดูว่าระดับความจนเป็นเท่าใด เรียกว่า การทดสอบความจนทางอ้อม ที่จะทำให้เราทราบได้ว่านักเรียนที่จนที่สุดคือใคร ที่จากข้อมูลก็พบว่าเด็กที่ยากจนก็จะสอดคล้องกับเส้นความยากจนของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งหากพูดถึงจำนวนนักเรียนยากจนทั่วประเทศตอนนี้ก็มีประมาณสองล้านคน ซึ่ง กสศ.จะเข้าไปช่วยได้ประมาณหกแสนคน ก็จะเห็นได้ว่าวิธีการก็จะต่างจากระบบเดิม เช่นการไปทดสอบความยากจน จากเดิมที่ไม่ได้มีการคัดกรอง เช่นครูสงสารก็ใส่ชื่อส่งมาที่ส่วนกลาง ก็กลายเป็นการได้รับความช่วยเหลือโดยที่เด็กก็ไม่ได้จนมากนัก นอกจากนี้เมื่อเราได้ชื่อมาแล้ว ชื่อก็จะถูกเก็บไว้เป็นข้อมูลในระบบฐานข้อมูลดิจิตอลรายบุคคล ที่สามารถนำไปวิเคราะห์ต่อได้ทั้งในระดับประเทศ จังหวัดและระดับโรงเรียน ก็จะทำให้ครูหรือ ผอ.โรงเรียนรู้ได้ว่านักเรียนในโรงเรียนที่เข้าข่ายยากจนคือใครบ้าง จะได้ให้ความเอาใจใส่มากขึ้น
นอกจากนี้ การให้ความช่วยเหลือโดยตรงของ กสศ.ก็จะมีความยืดหยุ่นมากกว่า คือไม่ใช่ว่าให้ไปแล้วต้องนำไปใช้แบบตายตัว อันเป็นการดำเนินการตามผลที่ได้มาจากการวิจัยว่าเด็กมีความเดือดร้อนเรื่องใดบ้าง ซึ่งแต่เดิมรัฐบาลแต่ละชุดก็มีการช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น อุปกรณ์การเรียนการสอนฟรี เราก็เข้าไปดูเพิ่มว่าแล้วอะไรที่ทำให้เด็กยังมีความลำบากอยู่ ที่ก็พบว่าเด็กยังมีปัญหาอื่นๆ เช่น เด็กมาโรงเรียนแล้วท้องหิว คือเรื่องของอาหาร หรือปัญหาเรื่องการเดินทางสำหรับบางโรงเรียน เช่นอยู่ห่างไกล หรือปัญหามาแล้วเรียนไม่ทันหรือนักเรียนต้องการเรียนในเรื่องที่โรงเรียนไม่ได้สอน เช่นนักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจน อยากเรียนเกี่ยวกับเรื่องการประกอบอาชีพที่ไม่มีในหลักสูตร เราก็คิดว่างบที่เราช่วยไปยังโรงเรียนต่างๆ จะทำให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนที่เป็นประโยชน์จริงๆ กับนักเรียนแต่ละแห่งได้
นพ.ศุภกร ย้ำว่า การเข้าไปช่วยโดยตรงของ กสศ. สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่การนำเงินไปให้เท่านั้น สิ่งสำคัญมากกว่าคือไปจัดรูปแบบใหม่ ระบบใหม่ในการช่วยนักเรียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งการใช้ระบบคัดกรอง การใช้ระบบฐานข้อมูลดิจิตอลในการคุมสถานการณ์ต่างๆ และการใช้ความยืดหยุ่น เพื่อให้เงินไปถึงเด็กแล้วเกิดประโยชน์สูงสุดโดยไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกโรงเรียน ขณะที่งานด้านการปฏิรูป เราก็พยายามหาวิธีการอื่นๆ อยู่ เช่นเราก็ทดลองงานการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก แต่ไม่ใช่โรงเรียนเล็กทั่วไป แต่เป็นโรงเรียนเล็กที่อยู่ห่างไกลมาก เช่นตามป่าเขา ตามดอย หรืออยู่ตามเกาะต่างๆ ที่ก็จะเจอปัญหาว่าพอบรรจุครูแล้วส่งไปสอนที่นั่น ครูก็เริ่มนับถอยหลังตั้งแต่วันแรกๆ แล้วว่าเมื่อไหร่จะย้ายเสียที เพราะครูก็ไม่ได้มีบ้านอยู่ในพื้นที่ เช่นเป็นคนเมือง พอไปบรรจุก็ไม่อยากอยู่นาน ก็เลยมีปัญหาครูขอย้ายกันบ่อย เราก็เลยทดลองดูว่าให้เยาวชนที่มีภูมิลำเนาที่เขาอยากเป็นครู เราก็คัดเลือกให้มาเรียนครู โดยให้ทุนเรียนครู แต่พอเรียนจบแล้วต้องกลับไปสอนที่บ้าน กลับภูมิลำเนาเดิม ซึ่งหลักดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขเขาทำแล้วได้ผลมาหลายสิบปีแล้ว ทางด้านการศึกษาเราก็ทดลองดูว่าจะได้ผลหรือไม่
นพ.ศุกภร กล่าวต่อไปว่า จากการที่ กสศ.เข้าไปช่วยเด็กนักเรียน ป.1-ม.3 ที่อยู่ในการศึกษาภาคบังคับ เราพบว่าพอเด็กพ้น ม.3 ไปแล้ว เด็กเยาวชนที่จะไปเรียนในระดับที่สูงกว่านั้นมีน้อยมาก คือต้องออกไปทำงาน เลิกเรียน
“พบว่าเด็ก ม.6 ที่มีฐานะยากจน โอกาสที่จะได้ไปเรียนต่อในระดับสูงขึ้นพบว่ามีน้อยมาก คือแค่ 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เทียบได้ว่าเท่ากับเด็ก ม.6 ที่มาจากฐานะยากจน 100 คน มีโอกาสเรียนต่อแค่ 5 คน ถ้าเทียบกับชนชั้นกลางในกรุงเทพมหานคร เกือบร้อยทั้งร้อยส่งลูกไปเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา เท่ากับต่างกันถึง 20 เท่า และถ้าเทียบค่าเฉลี่ยครอบครัวคนไทยทั้งประเทศ ส่งลูกเรียนต่อจนจบระดับอุดมศึกษาก็คืออยู่ที่ประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับครอบครัวยากจนที่อยู่ 5 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับห่างกันร่วม 7 เท่า”
...หากเป็นแบบนี้เรื่อยไป ประธาน กสศ.-ท่านประสาร ก็เคยบอกว่าเท่ากับความยากจนก็จะส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น คือพ่อยากจน รุ่นลูกก็จะจนต่อไป รุ่นหลานก็ไม่มีทางเงยหน้าอ้าปาก เพราะการที่จะเลื่อนชนชั้นในสังคมขึ้นไป การศึกษาเป็นกลไกสำคัญ เห็นได้จากคนในสังคมหลายคนเวลานี้ ที่ก่อนหน้านี้ก็มีภูมิหลังมาจากครอบครัวยากจน แต่ต่อมาตั้งตัวได้ ก็มาจากการศึกษาทั้งสิ้น หากยังมีแค่เด็ก 5 เปอร์เซ็นต์ที่มีโอกาสเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น จะทำให้รุ่นพ่อจนอย่างไร รุ่นลูกรุ่นหลานก็จะสืบต่อความยากจนต่อไป ก็จะเป็นความยากจนความด้อยโอกาสที่ส่งต่อข้ามเจเนอเรชัน ส่งต่อข้ามชั่วคน ก็ต้องเบรกตรงนี้ให้ได้
นพ.ศุภกร กล่าวถึงความพยายามแก้ปัญหาดังกล่าวว่า ก็มีการทดลองกันโดยการให้โอกาสเด็กที่มาจากครอบครัวยากจนได้มีโอกาสเรียนต่อสูงกว่า ม.6 แล้วคอยดูระยะยาวว่าเขาจะมีโอกาสตั้งตัวได้หรือไม่ จะช่วยลดความยากจนในรุ่นต่อๆ ไปได้หรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องดูระยะยาว แต่เราไม่ได้จะมารอกันสิบปีเพื่อดูผล แต่จะตามดูกันไปเลยว่าผลระยะสั้นเป็นอย่างไร
...เช่นเรามีทุนการศึกษาให้เขาเรียนเกิน ม.6 แต่หากไปเรียนในสาขาที่เรียนแล้วตกงาน ก็จะเสียเวลาเปล่าๆ ก็เริ่มต้นด้วยการส่งเรียนสาขาอาชีพ สายอาชีวะ เพราะประเทศต้องการ โดยการวิเคราะห์ว่าตลาดแรงงานขาดเรื่องอะไร เช่น สายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี หรือบางพื้นที่เช่นโครงการใน EEC ต้องการ คือต้องเป็นสาขาที่เรียนแล้วไม่ตกงาน มีตลาดแรงงานรองรับ ขณะเดียวกันก็ต้องทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้สอดรับกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยของโลก ที่ก็จะเป็นการทำให้คุณภาพการศึกษาทางสายอาชีพดีขึ้นด้วย และตอบโจทย์สาขาแรงงานที่ประเทศต้องการ กสศ.ได้เริ่มต้นแล้วกับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงที่ทำไปแล้วตอนนี้ เป็นรุ่นที่หนึ่ง โดยคัดเด็กนักเรียน ม.3 และ ม.6 ที่มีศักยภาพพอสมควร ซึ่งพบว่าผลการเรียนของนักเรียนทุนของเราในเทอมแรก สอบได้คะแนนดี เกรด 3-4 ประมาณ 2 ใน 3 ก็ทำให้เรารู้สึกพอมีความหวัง ว่าจะเป็นมาตรการทำให้เด็กเยาวชนที่เมื่อเขาสำเร็จการศึกษาแล้วจะไปได้ดี
-จนถึงขณะนี้มั่นใจว่าการขับเคลื่อนของ กสศ.จะลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทยได้หรือไม่?
หลักการของเราที่ทางบอร์ดมีแนวให้ใช้ความรู้เป็นตัวเดินเรื่อง น่าจะมีโอกาสพลาดน้อย เพราะว่าเราไม่ได้นึกว่าอยากจะทำอะไรก็ทำ แต่เราจะพยายามวิเคราะห์ก่อน หาความรู้และทำวิจัยก่อนและเริ่มต้นจากสเกลเล็กแล้วก็พัฒนา ทำการวิจัยให้ดีขึ้นตามลำดับ โอกาสพลาดก็น่าจะน้อย ไม่ใช่ทำสเกลใหญ่ตั้งแต่ต้น เพราะหากทำสเกลใหญ่แต่ต้นหากเสียหายก็น่าเสียดาย
ส่วนที่หลายคนอาจสงสัยว่า กสศ.จะมีการวัดผลการทำงานอย่างไรว่า การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สิ่งที่ทำมาประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา บอกว่าต้องดูจากทั้งระยะสั้นและระยะยาว ถ้าระยะสั้นเราจะไปดูที่ผลลัพธ์ยังไม่ได้ ก็ต้องดูว่าใช้งบประมาณไปแล้วได้ผลผลิตสมกับราคาหรือไม่ เช่นทุนการศึกษาที่เราใช้ไปตรงไหน มีผู้มารับทุนตามจำนวนหรือไม่ ค่าใช้จ่ายสมเหตุสมผลหรือไม่ สิ่งนี้คือผลระยะสั้นหรือผลในระดับปฏิบัติการ แต่ผลระยะยาวที่ว่าจะเกิดผลดีต่อชีวิตของกลุ่มเป้าหมายอย่างไรต้องรอสักระยะ เช่นเด็กที่ได้ทุนไปแล้วเขาไปมีอาชีพอย่างไรต่อไป เขาตั้งตัวได้หรือไม่ หรือดูว่าคุณภาพการศึกษาที่เราทดลองกับโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาต่างๆ เราก็จะเห็นว่าโรงเรียน สถาบันก็จะมีการเปลี่ยนแปลง แต่ผลที่จะเกิดจากการเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนมันจะส่งผลระยะต่อไป ก็ต้องรอดูสักระยะ ซึ่งตามกฎหมายของ กสศ.ก็จะมีการประเมินทุกสามปี ตอนนี้ก็มาได้กลางทางแล้ว อีกสักประมาณหนึ่งปีครึ่งถึงสองปีก็จะมีการประเมินโดยกระทรวงการคลัง ที่จะมีการตั้งกรรมการดูว่าผลงานภาพรวมของ กสศ.โดยเฉพาะการสร้างการเปลี่ยนแปลงต้องมีการปรับปรุงอย่างไรต่อไป
แก้ปัญหาการศึกษาติดหล่ม
ต้องทลายกำแพงล้อมรอบ
เมื่อถามถึงหลังจากการเกิดขึ้นของ กสศ.จนถึงขณะนี้ พบเจอปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้าง นพ.ศุภกร สะท้อนเรื่องนี้ไว้ว่า ปัญหาและอุปสรรคก็คือเราเป็นองค์กรใหม่ ดังนั้นความเข้าใจในภารกิจขององค์กรก็จะยังไม่เป็นที่เข้าใจตรงกันในกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง บางทีเข้าใจว่าจะให้เราไปโอบอุ้มช่วยเหลือเด็กนักเรียนเป็นล้านๆ คน ซึ่งงบประมาณที่เราได้มามันน้อยมาก เราไปทำแบบนั้นไม่ไหว ต้องเข้าใจว่า กสศ.เหมือนกับห้องแล็บ ที่จะไปหาวิธีในการปฏิรูปและทดลองว่ามันได้ผลหรือไม่ได้ผลแล้วก็ส่งต่อให้รัฐบาลต่อไป จะให้เราไปดูแลเด็กเป็นล้านๆ คนก็ต้องมีงบประมาณอีกแบบหนึ่ง ที่เราได้มาปัจจุบันก็ประมาณสิบเปอร์เซ็นต์ที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้ประมาณการไว้เท่านั้นเอง ก็ต้องเข้าใจบทบาทของ กสศ.ภายใต้ข้อจำกัดของขนาดองค์กรและงบประมาณ
อีกเรื่องหนึ่งก็คือ กสศ.เราไม่ได้มีแขนขาของตัวเอง เราไม่ใช่หน่วยงานลักษณะกระทรวง เราเป็นองค์กรขนาดเล็ก เจ้าหน้าที่ก็แค่ประมาณห้าสิบคน เราต้องทำงานผ่านหน่วยงานที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ ต้องทำงานร่วมกับอีกหลายกระทรวง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กระทรวงมหาดไทยที่มีศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนในสังกัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงทำงานกับภาคเอกชน เช่น การฝึกด้านอาชีพก็ต้องดึงเอกชนมาเป็นแล็บให้เด็กได้ฝึกงาน
กสศ.เราไม่ได้ทำงานได้ด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่กิจกรรมในภาคสนามเราไม่ได้ทำเองเลย ต้องอาศัยความร่วมมือขององค์กรภาคีเครือข่ายต่างๆ ข้างต้น ที่จะเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานของเราเพื่อทำงานร่วมกันให้เกิดผลสำเร็จอันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ซึ่งจะเรียกว่าอุปสรรคก็ไม่ใช่ แต่เป็นลักษณะการทำงานที่เราต้องมีเพื่อนร่วมทาง
-จากที่ได้ทำงานด้านการศึกษามา คิดว่าปัญหาสำคัญที่ทำให้สังคมไทยเกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และการศึกษาของไทยสุดท้ายยังไม่มีการปฏิรูปเสียที เกิดจากอะไร และควรแก้ไขอย่างไร?
หากถามผม ขออ้างอิงถึงสิ่งที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้ศึกษามา สิ่งที่กรรมการได้เสนอไว้ก่อนหน้านี้ เช่นเรื่องคุณภาพการศึกษา การใช้ทรัพยากรเพื่อการศึกษา เรื่องความเหลื่อมล้ำ น่าจะถูกแล้ว และต้องปฏิรูปตัวระบบการศึกษาด้วย น่าเสียดายที่ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ที่กรรมการชุดดังกล่าวยกร่างไว้ ดูเหมือนจะยังคาราคาซังอยู่ยังไม่ผ่านรัฐสภาออกมา ก็มีแนวทางมาตรการไว้หลายเรื่อง ก็ต้องคอยดูกัน
...ผมเข้าใจว่าสิ่งหนึ่งที่น่าจะเป็นโจทย์ที่หลายคนเห็นตรงกันคือ การศึกษาของไทยเราปฏิรูปไม่ต่อเนื่อง ไอเดียดีๆ ออกมาทั้งนั้น แต่ทำไปได้สักระยะก็เลิก แล้วเทอมใหม่ก็มีเรื่องใหม่เข้ามา การที่มีเรื่องปลีกย่อยเข้ามาเรื่อยๆ ก็ทำให้การขับเคลื่อนการผลักดันเรื่องการปฏิรูปไม่ต่อเนื่อง และผมคิดว่าเรื่องการศึกษาคนอยากช่วยเยอะ ไม่ใช่แค่คนในวงการการศึกษา แต่คนในสังคมต่างมองด้วยความเอาใจใส่ เอาใจช่วย พ่อแม่ผู้ปกครองทั้งหลายอยากช่วยทั้งนั้น แต่ไม่ได้มีช่องทางและพื้นที่เข้ามาช่วยปฏิรูป
“หากเรื่องการปฏิรูปการศึกษามีประตูใหญ่พอสมควรให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น ก็น่าจะไปได้เร็วขึ้น หากเรายังอยู่ในกำแพงล้อมรอบ การศึกษาก็คุยกันเฉพาะนักการศึกษา ก็น่าจะทำให้ไปได้ช้า” นพ.ศุภกรกล่าวปิดท้าย.
โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
..........................................................
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |