ยุทธศาสตร์ ‘เรือเร็วปราดเปรียว’ เพื่อฝ่าข้ามพายุ disruption


เพิ่มเพื่อน    

                ปีใหม่ที่จะถึงนี้การปรับตัวขององค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อให้สอดคล้องกับ “ความป่วน” หรือ disruption คงจะยิ่งหนักหน่วงและรุนแรงมากยิ่งขึ้น

                ผมเห็นข่าวหลายสถาบันการเงินพูดถึงยุทธศาสตร์ “เรือเล็ก” กับ “เรือใหญ่” และ “เรือเล็ก” แล้วก็ทำให้เห็นการปรับตัวอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ

                สถาบันการเงินแห่งหนึ่งบอกว่า จะต้องขับเคลื่อนองค์กร 2 รูปแบบที่สำคัญ

                เป็นทั้ง “เรือบรรทุก” หรือ carrier

                และ “เรือเร็ว” หรือ speed boat

                ในทางปฏิบัติหมายถึง

                1.ความเร็ว

                2.ระบบปฏิบัติการอัจฉริยะที่สามารถปรับสเกลได้อย่างทันท่วงที

                3.สามารถถอนแกน หรือ core ออกมา โดยเฉพาะระบบไอทีที่ใช้บริหารธุรกิจที่ต้องไม่ใช่ “ก้อนใหญ่” อีกต่อไป ทุกอย่างต้องเป็นแบบ modular ที่แยกส่วน ดึงออกมาเหมือนเป็นเลโก (lego) เพื่อนำไปต่อรวมกันได้หลายๆ มิติ

                4.ต้องยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ตามความเปลี่ยนแปลงของลูกค้าและ business model

                ผู้บริหารองค์กรบอกว่า แต่ก่อนถ้าเคยเป็น “อุลตร้าแมน” วันนี้ต้องแปลงเป็น “ทรานสฟอร์มเมอร์” ที่พร้อมจะแปลงร่างเหมือนเลโก้ประกอบเป็นรูปแบบต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล่วฉับพลัน

                ผู้บริหารอีกองค์กรหนึ่งบอกว่า business model ใหม่จะต้องนำ “เรือเล็กออกจากฝั่ง”เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจแทน “เรือใหญ่” ซึ่งอาจจะเทอะทะ หลบหลีกคลื่นและพายุไม่ได้สะดวก ขาดความคล่องตัว

                “เรือเล็ก” หมายถึงการส่งออกไปทดลองทำอะไรใหม่ๆ ที่ “เรือใหญ่” อาจเห็นเป็นความเสี่ยงเกินไป

                “เรือเล็ก” ที่ว่านี้เมื่อก้าวออกไปทำกิจกรรมเล็กๆ ที่คล่องแคล่วก็อาจจะไปจับมือกับธุรกิจอื่นเพื่อตอบโจทย์ของลูกค้าบางกลุ่ม โดยเฉพาะที่ “เรือใหญ่” ไม่สามารถทำได้หรือไม่อยู่ในฐานะที่จะย่อตัวเองลงมา

                ผู้บริหารทั้งสองแห่งนี้พูดคล้ายกันว่า การมียุทธศาสตร์ “เรือเล็ก” หรือ “เรือเร็ว” นั้นไม่จำเป็นต้อง “สละเรือใหญ่”

                หากเดินตามกลยุทธ์นี้แล้ว ถ้าเรือเล็กสามารถทำธุรกิจใหม่ๆ ได้ ก็จะไต่ขึ้นมาทำหน้าที่แทน “เรือใหญ่” ได้

                ถึงตอนนั้นก็ไม่จำเป็นต้องมีเรือใหญ่แล้ว

                นี่คือแนวคิดของการปรับตัวขององค์กรที่เป็น “เรือใหญ่” ที่จะต้องเปลี่ยนความคิดจาก

                ปลาเล็กกินปลาใหญ่

                หรือปลาเร็วกินปลาช้า

                มาเป็น “ปลาฉลาดกินปลาโง่”

                ปลาตัวเล็กว่ายน้ำได้คล่องแคล่วกว่าปลาใหญ่ยังไม่พอ จำเป็นจะต้องเป็น “ปลาเล็กที่ฉลาด” ด้วย

                นั่นหมายถึงการใช้เทคโนโลยีมาเสริมสมรรถภาพของการทำงานขององค์กรอย่างกล้าหาญและชาญฉลาด

                องค์กรใหญ่ที่ไม่กล้า “ทำลายเพื่อสร้างสรรค์” (creative destruction) จะด้วยเหตุผลใดก็ตามทีจะต้องกล้าทดลองใช้ “เรือเร็วลำเล็ก” ที่กระจายตัวออกจาก “เรือแม่” ที่เริ่มจะต้องเผชิญกับพายุและสัมภาระที่หนัก

                ผมเคยเปรียบเทียบองค์กรสื่อว่าเป็น “ เรือเอี้ยมจุ๊น ” ที่ทั้งใหญ่, หนัก และมีรอยรั่วอยู่หลายจุด

                อีกทั้งกัปตันก็เป็นคนเก่าที่ใช้มือและประสบการณ์เก่าในการทำหน้าที่ ขณะที่ภัยธรรมชาติรอบๆ ตัวนั้นหนักหน่วงและแปรสภาพที่วิปริตมากขึ้น

                ทางรอดของเรือเอี้ยมจุ๊นคือ

                1.สละเรือ โดยที่ผู้โดยสารที่ว่ายน้ำไม่เป็นเสี่ยงจมน้ำตาย ที่รอดได้ก็คือคนที่ว่ายน้ำเป็นและฝึกฝนเป็นประจำซึ่งมีน้อยราย

                2.หาเรือเล็กหรือเรือเร็วมาหลายๆ ลำเพื่อกระจายผู้โดยสารเป็นกลุ่มย่อยๆ แล่นฝ่ามรสุมออกไป

                นั่นแปลว่าในทางปฏิบัตินั้น แต่ละกลุ่มย่อยจะต้องมีความคล่องตัว, สร้างทักษะที่ต้องเผชิญกับปัญหาใหม่ และพร้อมจะเสี่ยงกับความไม่แน่นอนกลางทะเล

                ถ้าไม่กระจายตัวลงเรือเร็วลำเล็กและยังเกาะแน่นอยู่กับเรือใหญ่ที่เทอะทะ อาจจะ “ตายหมู่” ได้ เมื่อกระโดดลงเรือเล็กกันเป็นกลุ่มย่อยๆ และหาหนทางฝ่าฟันคลื่นลมได้แล้ว ถ้าโชคดี เราจะไปเจอกันที่สุดขอบฟ้าข้างหน้า

                ถึงเวลานั้น, จะกู้เรือใหญ่หรือไม่ หรือจะสละเรือเอี้ยมจุ๊นหรือไม่ก็ไม่ใช่ประเด็นอีกต่อไป

                เพราะหากเรือเร็วเล็กสามารถรวมตัวกันได้อย่างเหนียวแน่น ก็ประกาศตนเป็น “กองเรือเล็ก” ที่ยิ่งใหญ่และเข้มแข็งได้อย่างไม่ยากเย็นเลย.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"