สมเถา สุจริตกุล วาทยกรชื่อดัง และประธานมูลนิธิมหาอุปรากรกรุงเทพ
คนไทยรู้จักคีตกวี"เบโธเฟน" หรือ“ลุดวิก ฟาน เบโธเฟน” คีตกวีเอกชื่อดังก้องโลก บทเพลงของเบโธเฟนได้รับยกย่อง และมีผู้ฟังอย่างกว้างขวาง เป็นต้นแบบศิลปินที่มีความอัจฉริยะ ผลงานซิมโฟนีของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งซิมโฟนี หมายเลข 9 และคอนแชร์โตสำหรับเปียโนที่บีโธเฟนประพันธ์ขึ้น เป็นผลงานที่ได้รับความนิยมอย่างมากที่สุด
ปีนี้วันที่ 17 ธันวาคม ตรงกับวันคล้ายวันกิดของเบโธเฟน ทั่วโลกมีการเฉลิมฉลองในวาระครบ 250 ปีเบโธเฟน โดยเฉพาะในกรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนี บ้านเกิดของคีตกวีเอง
และเป็นที่น่ายินดีประเทศไทย โดยมูลนิธิมหาอุปรากรกรุงเทพ ได้รับคัดเลือกจากสมาคมบีโธเฟนโลกร่วมฉลองวาระประวัติศาสตร์เช่นกันด้วยโครงการใหม่แกะกล่อง”เบโธเฟน X “ ความโดดเด่นของโครงการนี้มูลนิธิประสานความร่วมมือกันของออร์เคสตร้าเยาวชนไทยถึง 4 วงได้แก่สยามซินโฟนิเอตต้า วงดุริยางค์เยาวชนไทย อิมมานูแอล ออร์เคสตรา และอิสานดุริยางค์ ซึ่งเยาวชนทุกวงเคยสัมผัสมรดกด้านคีตศิลป์สุดอมตะของคีตกวีผู้นี้ พวกเขาและเธอพร้อมวาทยากรชื่อดังจะบรรเลงซิมโฟนีทุกบทของเบโธเฟนตลอดระยะเวลา 1 ปีเต็ม
วรปราชญ์ วงศ์สถาพรพัฒน์ วาทยกรหนุ่มไฟแรง
กิจกรรมคิกออฟเมื่อวันเกิดเบโธเฟนที่ผ่านมาด้วยเพลง "Ode to Joy “ ของเบโธเฟน จัดแสดงยิ่งใหญ่ในรูปแบบแฟลชม็อบที่ไม่เหมือนใคร ภายใต้ชื่อ"บิ๊กแบงเบโธเฟน X" เริ่มด้วยเชลโลและเบสส์จากชั้นล่าง ก่อนที่นักดนตรีอื่นๆ เข้าร่วมจากมุมอื่นๆ ตามแต่ละชั้น ช่วงท้ายอลังการที่สุดนักร้องประสานเสียงขับร้องจากเฉลียงชั้นบนสุดเปล่งพลังพร้อมดนตรีจาก 4 วงดังกระหึ่มหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กิจกรรมได้รับความสนใจจากชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างมาก ตะโกนขออังกอร์ ทำให้ออกมาเล่นบทเพลงอีกครั้ง รายการแสดงจะมีจนถึงเดือนธันวาคม 2563 ในรูปแบบแตกต่างกันไป
เปิดตัวโครงการ”เบโธเฟน X”ฉลอง 250 ปี เบโธเฟน โดย รมช.วัฒนธรรม เป็นประธาน
สมเถา สุจริตกุล ประธานมูลนิธิมหาอุปรากรกรุงเทพและผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของโอเปร่าสยามอินเตอร์เนชันแนลกล่าวว่า มูลนิธิเริ่มโครงการด้วยแฟลชม็อบได้ความคิดนี้จากโครงสร้างซิมโฟนีหมายเลข 9 ของเบโธเฟน แสดงถึงเมล็ดพันธุ์แห่งอัจฉริยภาพของมหาคีตกวีเบโธเฟน ซึ่งเจริญเติบโตตามกาลเวลามันคือการเริ่มต้นของจุดเล็กๆ ก่อนขยายตัวเป็นดนตรีเข้าถึงคนทั่วโลก
“ ไทย เกาหลี และจีน เป็น 3 ประเทศเอเซียได้รับคัดเลือกเฉลิมฉลอง 250 ปีเบโธเฟน เราเลือกเพลง"Ode to Joy “ มาแสดงครั้งแรก เพลงนี้เป็นซิมโฟนีบทสุดท้ายที่เบโธเฟนไม่ได้ฟัง เพราะบั้นปลายป่วยเป็นโรคหูหนวก แต่เขาก็แต่งเพลงมีเอกลักษณ์ เป็นสิ่งที่อยู่ในจิตวิญญาณและสมอง นี่เป็นศิลปะ ตลอดปีจะเล่นซิมโฟนีทั้ง 9 หมายเลข กลางปีจะเล่นเพลงที่ยากคือ missa solemnis คอนเสิร์ตสุดท้ายในวันครบรอบวันเกิดจะแสดงซิมโฟนี หมายเลข 9 นักดนตรี200 ชีวิต เบโธเฟนเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ชีวิต พ่อสอนดนตรีให้แต่เด็ก สอนแบบเข้มงวดเพราะอยากให้เป็นนักดนตรีอัจฉริยะเหมือนโมสาร์ท หลายครั้งถูกทำโทษอย่างทารุณ ต้องเล่นดนตรีหาเงินเลี้ยงครอบครัว สอนดนตรี จนกระทั่งประสบความสำเร็จมีชื่อเสียง ถือเป็นแบบอย่างให้นักดนตรีและเยาวชนไทย ส่วนตัวแล้วซิมโฟนี หมายเลข2 ของเบโธเฟนทำให้ตัดสินใจก้าวสู่โลกดนตรี” สมเถากล่าวด้วยความซาบซึ้งในชีวิตและผลงานคีตกวีเอก
ทฤษฎี ณ พัทลุง ร่วมโครงการ”เบโธเฟน X”
สำหรับวงดุริยางค์เยาวชน 4 วงร่วมสร้างปรากฏการณ์สำคัญ เริ่มจากสยามซินโฟนิเอตต้า เป็นออร์เคสตร้าเยาวชนระดับบุกเบิก ก่อตั้งโดยสมเถา สุจริตกุล ใช้วิธีการสอนแบบสมเถา เป็นนวัตกรรมการสอนคนดีที่คิดค้นขึ้นใหม่ วงนี้คว้ารางวัลชนะเลิศบนเวทีโลกมากมาย รวมทั้งคาร์เนกีฮอลล์ในมหานครนิวยอร์กถึง3 ครั้ง วงออกเดินทางบรรเลงดนตรีทั่วยุโรป อมริกา และตะวันออกกลาง ได้ชื่อว่ามีความสามารถบรรเลงคีตนิพนธ์ที่ยาก เช่นซิมโฟนีของมาห์เลอร์ สตราวินสกี้ และบาร์ทอค
ถัดมาวงดุริยางค์เยาวชนไทยเป็นออร์เคสตร้าเยาวชนในสังกัดกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ภายใต้การอำนวยการของ เป้- อัครวัฒน์ ศรีณรงค์ ทายาทของครอบครัวนักดนตรีชั้นนำแห่งวงการคลาสสิก ถือเป็นวงที่สองที่ได้รับรางวัล Summa Cum Laude จากการแข่งขันมูสิคเฟราย(Musikverein) ณกรุงเวียนนาหลังจากที่สยามซินโฟนิเอตต้าได้วงแรก
ส่วนอิมมานูเอลเป็นออร์เคสตร้าเยาวชนของมูลนิธิดนตรีเพื่อชีวิตที่ฝีไม้ลายมือน่าติดตาม วงสุดท้ายอิสานดุริยางค์น้องใหม่จาก จ.นครราชสีมา ก่อตั้งเมื่อปี2561 มีเป้าหมายให้เด็กๆ แดนอีสานเข้าถึงดนตรีคลาสสิกมากขึ้น
รายการแสดง”เบโธเฟนX” ตลอดปีหน้ามีวาทยกรชื่อดัง นำทีมโดยสมเถาสุจริตกุล,อัครวัฒน์ ศรีณรงค์ และทฤษฎี ณ พัทลุง พร้อมด้วยวาทยกรชาวเวลล์ โจนาธาน แมนน์ แห่งอิมมานูเอลออร์เคสตร้าและวรปราชญ์ วงศ์สถาพรพัฒน์ วาทยากรที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาสดๆร้อนๆ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดดจ์ร่วมนำเสนอกิจกรรมครั้งสำคัญนี้
ทฤษฎี ณ พัทลุง กล่าวว่า เบโธเฟนมีความหมายกับตนในฐานะนักดนตรีและคนๆหนึ่ง ตนเรียนดนตรีเมื่ออายุ 12 ปีสมัยเด็กไม่ได้ฟังดนตรีคลาสสิกจนกระทั่งพ่อซื้อซีดีซิมโฟนี หมายเลข 9 ของเบโธเฟน ฟังแล้วชอบทันที ตัดสินใจเรียนเปียโน เพลงคีตกวีที่เลือกเล่นเพลงแรก คือmoonlight sonata ของเบโธเฟน เขาแต่งเพลงได้กินใจและแสดงความรู้สึกความหมายอย่างลึกซึ้ง ภูมิใจที่ได้ร่วมฉลองโอกาสสำคัญ กิจกรรมดึงวงเยาวชนเข้าร่วม นี่คืออนาคตดนตรีของไทย ประเทศเรามีนักดนตรีเยาวชนจำนวนมาก แต่ละคนเหมือนใบหน้าที่สดใสของไทย
เยาวชนไทยร่วมบรรเลงดนตรีคลาสสิคบทเพลงของคีตกวี
เป้-อัครวัฒน์ ศรีณรงค์ วาทยกรและนักไวโอลินระดับโลก กล่าวว่า หลายคนคิดว่า วงดุริยางค์แบ่งเป็นค่ายแต่ความจริงเรารักกันมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและพร้อมสร้างชัยชนะด้วยกัน กิจกรรมครั้งนี้นำผลงานเบโธเฟนเป็นสื่อกลาง เพราะงานของเขามากมาย ทุกคนได้สัมผัสแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะคอเพลงคลาสสิก ป๊อป ร็อค ตั้งแต่ยุค 60 อยากชวนทุกคนมาร่วมกิจกรรมรับรองสนุกและตื่นเต้นมาก วาทยกร 5 คนรวมตัวกันไม่ธรรมดา
“ เพลงของเบโธเฟนเป็นพลังงานที่มีอยู่จริงไม่ใช่สัมผัสแค่หู เห็นด้วยตา แต่สัมผัสได้ด้วยใจและจิตวิญญาณ พลังเยาวชนดนตรีจาก4 วงจะส่งต่อความเป็นสากลของไทยที่มีเอกลักษณ์ “เป้-อัครวัฒน์ กล่าว
นักดนตรีคลาสสิกไฟแรงวรปราชญ์วงศ์สถาพรพัฒน์ วาทยกร บอกว่า เบโธเฟนเป็นหนึ่งในศิลปินและคอมโพสเซอร์คนสำคัญ ทำให้ตนสนใจพลังการสื่อสารของดนตรี ตอนอายุ9 ขวบได้เล่นเพลงของเขา เป็นเพลงที่ทรงพลังที่สุดจากนั้นตนหันมาแต่งเพลงและทำงานวาทยกร อยากให้เยาวชนซึมซับงานเบโธเฟนยิ่งพัฒนาความเข้าใจของตัวเองมากแค่ไหนจะทำให้สร้างผลงานมีผลสะเทือนสังคมมากขึ้น
เยาวชนเล่นเครื่องเป่าถ่ายทอดเพลง"Ode to Joy “
ส่วนหนุ่มน้อยวัย 14 ปี ร่วมวงอิสานดุริยางค์ เด็กชายมรรค ศรลัมพ์ นำไวโอลินคู่ใจมาร่วมบรรเลงในวันเกิดเบโธเฟนที่หอศิลป์ กทม. เผยว่า ครั้งแรกที่ได้มาแสดงดนตรีที่กรุงเทพฯ ตื่นเต้นมาก คนสนใจชมการแสดงเยอะมาก เสียงปรบมือดังเมื่อเล่นจบ ภูมิใจได้เป็น 1 ใน 4 วงเล่นฉลอง 250 ปี เบโธเฟน อย่างยิ่งใหญ่อลังการ ส่วนเพลง "Ode to Joy “ เล่นแล้วสนุกมาก รู้สึกอยากเล่นเพลงอื่นๆ ด้วย ปกติเล่นเพลงโมสาร์ท จากนี้จะฝึกซ้อมทุกวันทั้งที่บ้านและซ้อมรวมวง เพื่อพัฒนาทักษะและการอ่านโน้ต เพื่อให้การแสดงกิจกรรมตลอดทั้งปีดีที่สุด
จัดแสดงยิ่งใหญ่ในรูปแบบแฟลชม็อบภายใต้ชื่อ"บิ๊กแบงเบโธเฟนX" ณ หอศิลป์กทม.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |