สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) โดยศูนย์เรียนรู้สุขภาวะร่วมกับแผนงานสนับสนุนการบริหารจัดการข้อมูลและเทคโนโลยีสร้างเสริมสุขภาพ สำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ บริษัท ไวซ์ไซท์ ประเทศไทยและภาคีเครือข่ายทางวิชาการ จัดเวที“Thaihealth Watch จับตา10 ประเด็นพฤติกรรมสุขภาพคนไทยปี2563 “ ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ เมื่อวันก่อน
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่าThaihealth Watch เป็นเครื่องมือใหม่ที่เราสื่อสารกับสังคม หลายคนเคยเห็นรายงานสุขภาพคนไทยที่ สสส.ร่วมจัดทำจะเป็นเอกสารวิชาการให้ข้อมูลสถานการณ์เด็ดๆ แต่Thaihealth Watch ใช้โซเชียลมีเดียส่องสิ่งที่คนในสังคมพูดจากัน สสส.และภาคีเครือข่ายร่วมกันวิเคราะห์ พบว่ามี10 ประเด็นพฤติกรรมสุขภาพคนไทยปี2563 ในกลุ่มวัยเด็กและเยาวชนที่น่าจับตาได้แก่ โรคซึมเศร้า ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตปี2562 พบว่า ไทยมีผู้ป่วยซึมเศร้า2.9 ล้านคนจากประชากร70 ล้านคนอัตราฆ่าตัวตายสูงขึ้น ทุก 1 ชั่วโมงจะมีคนฆ่าตัวตาย 6 รายโดยมีกลุ่มเด็กเยาวชนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จถึงปีละ 300 ราย โซเชียลมีเดียมีทั้งมุมที่เป็นต้นเหตุขยายสาเหตุที่มีแต่เดิมอีกมุมช่วยเยียวยาได้จากกระแสบนโลกออนไลน์ พบว่า สาเหตุที่ทำวัยรุ่นซึมเศร้าอันดับ 1 มาจากปัญหาความสัมพันธ์โดยเฉพาะครอบครัว ตามด้วยเรื่องหน้าที่การงาน การถูกกลั่นแกล้งหรือBully และความรุนแรง จากการศึกษาข้อความที่ส่งนั้นปรับทุกข์ก็มี ร้องขอความช่วยเหลือก็มี ช่วงเวลาที่วัยรุ่นโพสต์ข้อความอยากฆ่าตัวตายมากที่สุดในสื่อทวิตเตอร์ คือ วันอังคาร 4 ทุ่มและวันศุกร์1 ทุ่ม หากช้อนความรู้สึกได้ทันจะสามารถลดความเสี่ยงจากการคิดสั้นได้ถึงร้อยละ 50
“ ซึมเศร้ามีหลายระดับ เริ่มจากเครียดแต่เอาอยู่ สสส. จับมือกรมสุขภาพจิตทำแผนสุขภาพจิตแห่งชาติขึ้น เน้นส่งเสริมสุขภาพจิต ลดความเครียด ออกกำลังกาย จะพัฒนาแผนต่อไป ถัดมาเครียดจัดประคองได้กลุ่มนี้ ถ้ามีคนรับฟังจะไม่ก้าวสู่โรคซึมเศร้า ต่อมาซึมเศร้ากระทบชีวิตต้องพบแพทย์ คนรอบข้างช่วยเหลือ สุดท้ายซึมเศร้าจะฆ่าตัวตายต้องแก้ระดับนโยบาย เราพูดถึงการปลดล็อค พ.ร.บ.สุขภาพจิต เด็กต่ำกว่า18 เข้าถึงสิทธิการรักษาโรคทางจิตเวชโดยปราศจากผู้ปกครอง“ ดร.สุปรีดา กล่าว
ภัยคุกคามทางออนไลน์เป็นประเด็นต่อมาผู้จัดการกองทุน สสส. ฉายภาพให้ฟังว่า เด็กไทยยุคไซเบอร์ใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย10-12 ชั่วโมงต่อวัน ผลสำรวจของ COPAT ร่วมกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทยในปี62 พบว่าเด็กร้อยละ 31 ถูกกลั่นแกล้งทำร้ายล่อลวงละเมิดร้อยละ34 เคยกลั่นแกล้งคนอื่น เด็กมากกว่าร้อยละ50 เชื่อว่า เมื่อเกิดปัญหากับตัวเองจะจัดการได้ นอกจากนี้เพศทางเลือกโดนมากที่สุดถึงร้อยละ49 และเมื่อถูกแกล้งออนไลน์เด็กถึงร้อยละ40 ไม่บอกใคร
“ เด็ก74% เคยพบเห็นสื่อลามกอนาจารทางออนไลน์ ที่ต้องจับตาความสัมพันธ์ผ่านโลกไซเบอร์พบ25% เคยนัดเพื่อนที่รู้จักในออนไลน์ เรื่องที่เกิดตามมาคือโดนพูดจาล้อเลียน ดูถูก หลอกเงิน ที่สำคัญถูกละเมิดทางเพศ ที่หนักหนากว่าเก่าการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์เกิดได้ตลอดเวลา ขยายได้ไกลทั่วโลก และอยู่ต่อเนื่องไปอีก5-10 ปี ถูกกระทำซ้ำไม่รู้จบดังนั้น ภาคีและสสส.ศึกษาจริงจังบทบาทครอบครัว พ่อแม่ ครู ผู้ให้บริการเน็ทสังคมจะต้องช่วยกัน“ ดร.สุปรีดา กล่าว
เรื่องที่ควรจับตาเรื่องที่3 ทางเลือกทางรอดของเด็กและเยาวชนในการเดินทาง ดร.สุปรีดา บอกว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นโศกนาฏกรรมใหญ่ของคนไทยติดสามอันดับสาเหตุการตายของคนไทย เป็นวัยรุ่นชายวัยทำงานเพศชายและจากมอเตอร์ไซค์เกือบร้อยละ80 และไม่สวมหมวกกันน็อคเรื่องนี้เกิดซ้ำซาก สถิติการใส่หมวกกันน็อกยังไม่ถึงร้อยละ50 ขณะที่เด็กเล็กใส่หมวกกันน็อกเพียงร้อยละ8 เท่านั้น ในปี2563 สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่ายทำงานโดยลงลึกใน283 อำเภอกลุ่มเสี่ยงซึ่งครอบคลุมการเสียชีวิตถึง81% ในกลุ่มวัยทำงาน
เวทีนี้มีข่าวดีมาบอกจำนวนแม่วัยใสลดลง แต่ข่าวร้ายอัตราการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นสูงขึ้นถึง3 เท่าตัว โดยเฉพาะโรคซิฟิลิสและหนองใน เป็นประเด็นที่ปีหน้าต้องกัดไม่ปล่อย ดร.สุปรีดา กล่าวว่า 5 โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์กลับมาซิฟิลิสหนองในเทียมหนองในแผลริมอ่อนและฝีมะม่วงเพิ่มในกลุ่มวัยรุ่นมาสู่โจทย์เดิม ทำไมไม่ใส่ถุงยางเหตุผลที่วัยรุ่นไม่ใช้ถุงยางเมื่อเจาะลึกในโลกออนไลน์คือถุงยางราคาแพงอายไม่กล้าซื้อใช้วิธีอื่นเช่นฝังยาคุมดังนั้นจำเป็นต้องกลับมาทบทวนเพื่อลดการติดโรค สสส.ร่วมกับกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุขผลักดันให้ปี2563 คนไทย90% ต้องเข้าถึงถุงยางอนามัย
อีกเรื่องติดอันดับคือ E-Sport ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า E-Sport เป็นกีฬาหรือเกมส์ ทำให้หลายคนกุมขมับเพราะมีพื้นที่สีเทาเยอะ ส่องโซเชียลเทรนด์มาแรงกลายเป็น1 ใน5 อาชีพในฝันของเด็กไทย แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นนักกีฬามืออาชีพได้ การศึกษาพบว่าวินัยและการแบ่งเวลาเป็นเส้นแบ่งสำคัญระหว่างนักกีฬามืออาชีพกับเด็กติดเกมนอกจากนี้ ยังพบการพนันออนไลน์ดูดเงินที่แฝงมาพร้อมกับการแข่งขัน
“ อาการติดเกมส่งผลต่อสุขภาพพฤติกรรมการเล่นมีผลกระตุ้นแบบเดียวกับต้องเสพมากขึ้น ส่งผลลบต่อชีวิตประจำวัน สมัชชาสุขภาพหยิบยกถกทางออกป้องกันและแก้ไขในฐานะผู้เล่น ผู้ปกครอง ผู้ผลิตเกม ผู้จัดแข่ง รัฐ ถ้ามีE-Sport ต้องควบคุมปีหน้าต้องถกมากขึ้น“ ดร.สุปรีดา เผย
ประเด็นที่6 น่าจับตาไม่แพ้กัน ดร.สุปรีดายกพฤติกรรมกินอยู่อย่างไทยพบว่าการเสียชีวิต 3 อันดับแรกของคนไทยยังคงเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่างโรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน หัวใจขาดเลือดแต่ละปีมีคน4 แสนคนตาย โดยพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคผลการสำรวจ Top Post อาหารยอดนิยมในโลกออนไลน์ในปีที่ผ่านมาพบว่า รสเผ็ดและหวานยังคงเป็นรสชาติยอดนิยมของคนไทย วัยทำงานติดอาหารรสจัด วัยรุ่นเน้นที่รูปลักษณ์ แชะแชร์แล้วกิน ขณะที่เด็กคนโสดคนทำงานบริษัทกินผักน้อยที่สุดจากข้อมูลคนไทยกินเพื่อหาความสุขในการกินสูงขึ้น แต่กินด้วยสติปัญญาพิจารณาคุณภาพอาหารลดลง ยูเอ็นตั้งเป้าลดตายจาก NCDs 1ใน3 ภายในปี2573 ต้องทำงานอีกมาก ปรับพฤติกรรมการกิน รวมถึงการทำงานเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้าถึงอาหารสุขภาพมากยิ่งขึ้น
มาแรงปีนี้และปีหน้า ดร.สุปรีดาพูดถึงเมื่อกัญชาเป็นยารักษาโรคว่า หลังจากที่กัญชาได้รับการปลดล็อกอนุญาตให้ใช้ทางการแพทย์เพื่อการรักษาผู้ป่วยโรคที่กรมการแพทย์ประกาศรับรองว่าสามารถใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์มีเพียง 4 โรค คือภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายากและโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษาภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วย โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งและภาวะปวดประสาท ขณะที่โลกออนไลน์ที่ระบุถึงสรรพคุณใช้กัญชารักษาโรคไปไกลมากกว่าที่ได้มีการรับรองมีชุดความรู้กัญชากว่า 35,000 ไอเทม จะจัดการอย่างไร ขณะที่งานวิจัยกัญชายังมีอีกจำนวนมากจึงต้องมีการศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์
กระแสมาแรงจนน่าจับตาเรื่องที่8 Fake News สุขภาพ ดร.สุปรีดา กล่าวว่า จากการสำรวจบนโลกออนไลน์ดีกรีตั้งแต่ปั้นน้ำเป็นตัวส่งไปหลอกลวงคนและความเข้าใจคลาดเคลื่อนแล้วส่งต่อ การจัดการไม่ง่าย พบว่า5 ข่าวปลอมสุขภาพที่มียอดแชร์มากที่สุดคืออังกาบหนูรักษามะเร็ง น้ำมันกัญชารักษามะเร็ง หนานเฉาเว่ยรักษาสารพัดโรค บัตรพลังงานรักษาสารพัดโรค ความฉลาดของลูกได้จากแม่มากกว่าพ่อ เพจที่เผยแพร่ข่าวปลอมแล้วได้รับยอดแชร์มากที่สุดส่วนมากเป็นเพจที่ตั้งชื่อเป็นสำนักข่าว แต่ไม่ใช่สื่อหลัก ส่วนเพจที่ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข่าวปลอมและได้รับยอดแชร์มากที่สุดเป็นเพจสำนักข่าวเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นหมอแล็บแพนด้าที่ไม่ใช่เพจสำนักข่าว แต่ได้รับยอดแชร์มากที่สุดการทำงานของสสส. สร้างเครือข่ายช่วยกันกว้างขวาง
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นทางสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อสุขภาพ ดร.สุปรีดากล่าวถึงเรื่องที่9 "ชีวิตติดฝุ่นอันตราย" ว่า PM 2.5 เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ5 ของประชากรโลกในปี2558 องค์การอนามัยโลกประกาศให้ในปี2559 ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ7 ล้านคนซึ่งร้อยละ91 เกิดในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกตะวันตกหากดูจากค่าความเข้มของฝุ่นPM 2.5 ในกทม.ย้อนหลังจะพบแนวโน้มฝุ่นพิษเกิดขึ้นในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. ซึ่งเด็กและผู้สูงอายุจัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงส่วนคนทั่วไปทำให้อายุเฉลี่ยลดลง จึงร่วมกับเครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทยจัดทำข้อเสนอแนะจัดการฝุ่นตั้งแต่ต้นทางทั้งเขตเมืองภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
ประเด็นสุดท้าย ดร.สุปรีดา กล่าวว่าเป็นเรื่องอาหารที่เป็นขยะส่วนเกิน คนไทยสร้างขยะอินทรีย์ที่บางส่วนเป็นขยะอาหารเฉลี่ยปีละ 254 กิโลกรัมเป็นอย่างน้อยมากกว่าชาวฝรั่งเศสร้อยละ30 และมากกว่าชาวอเมริกันร้อยละ40 ขณะที่การจัดการขยะจากงานวิจัยของทีดีอาร์ไอพบว่าการกำจัดโดยการเผาฝังกลบเป็นวิธีการที่หลายประเทศแนะนำให้ทำน้อยที่สุดขณะที่ประเทศไทยใช้วิธีการนี้มากที่สุดดังนั้นภาครัฐในระดับนโยบายควรสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการลดขยะอาหารและการนำอาหารที่ต้องทิ้งไปใช้ประโยชน์อื่นหรือนำไปบริจาคแทนการฝังกลบส่วนผู้บริโภคก็ไม่ซื้อาหาร เพราะราคาถูก ซื้อเพราะลด ใกล้หมดอายุ นี่คือการสร้างปัญหา
งานเดียวกันเปิดเวทีให้ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. เผยแนวทางรับมือกับโลกดิจิทัลในแต่ละเจนเนอเรชั่นเรียกว่ามาขยี้ประเด็นพฤติกรรมเสี่ยงบนโลกออนไลน์เต็มๆ
“ โลกดิจิทัลนำภาวะคุกคามมามากมายGen Y และGen Z เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีทั้งการกลั่นแกล้งข่าวปลอมด้านสุขภาพค้นหาข้อมูลและช้อปออนไลน์สำหรับการกลั่นแกล้งไซเบอร์มาช่องทางใหม่แต่อยู่ภายใต้แนวคิดเดิมวิธีจัดการคือหยุดสนใจและกดบล็อคสุดท้ายบอกให้ผู้เกี่ยวข้องจัดการปัญหาจะลดลงอีกวิธีเป็นทักษะการรักษาข้อมูลส่วนตัวตั้งรหัสผ่านบัญชีอีเมล์ตั้งค่าส่วนตัวและที่สำคัญการโอนเงินอย่าใช้ไวไฟสาธารณะ และรู้เท่าทันภัยคุกคามจากอินเตอร์เน็ทส่วนเรื่องข่าวปลอมเราต่อสู้ได้อย่าหลงเชื่อหัวข้อข่าวพิจารณาลิงค์ข่าวอย่างถี่ถ้วนตรวจสอบแหล่งข่าวหากพบไม่จริงให้หยุดส่งต่อ“ ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวพร้อมให้คำแนะนำดีๆสามารถใช้ได้กับทุกเจนเพื่อรับมือโลกออนไลน์ไม่ว่าปีนี้หรือปีไหน