มีคำแนะนำที่รู้กันทั่วไปว่าเมื่อเข้าสู่สูงวัยหรือใกล้หมดประจำเดือนควรเริ่มกินยาแคลเซียมกับวิตามินดีทุกวัน เพื่อป้องกันกระดูกแตกหัก อย่างไรก็ตามตำราบางเล่มเตือนว่าอาจไม่ได้ผลอย่างที่คิด งานศึกษาล่าสุดชี้ว่าการกินยาเหล่านั้นไม่ช่วยแต่ประการใดผู้สูงวัยมักกินแคลเซียมกับวิตามินดีเพื่อลดหรือป้องกันการสูญเสียมวลกระดูก หวังให้กระดูกแข็งแรง ไม่แตกหักง่าย มีข้อมูลว่าเฉพาะปี 2016 คนอเมริกันซื้อแคลเซียมกับวิตามินดีเกือบ 2,000 ล้านดอลลาร์ (66,000 ล้านบาท)
งานวิเคราะห์ของ Jia-Guo Zhao จาก Tianjin Hospital กับทีมงานที่ตีพิมพ์เมื่อปลายปี ให้ข้อสรุปว่าการกินยาแคลเซียมกับวิตามินดีเพื่อหวังป้องกันกระดูกแตกหักไม่ได้ผล เสียเงินโดยใช่เหตุ
กระดูกแตกหักในผู้สูงวัย ปัญหาระดับโลก :
คนผิวขาวกับชาวเอเชียเป็นพวกที่มีปัญหาเรื่องความหนาแน่นของกระดูก (Bone mineral density) ต่ำมากที่สุด ประชากรร้อยละ 52 ของ 2 กลุ่มนี้จะมีปัญหาเสี่ยงที่กระดูกแตกแหกเมื่อเข้าสู่สูงวัย เฉพาะปี 2005 ในสหรัฐมีเหตุกระดูกแตกหักถึง 2 ล้านครั้ง ในจำนวนนี้ร้อยละ 71 เป็นหญิง ชายร้อยละ 29 กระดูกสะโพกหักเป็นปัญหาใหญ่สุด และคาดว่าในปี 2025 จะมีเหตุกระดูกแตกหักถึง 3 ล้านครั้ง
ที่อังกฤษ เฉพาะผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักมีปีละ 60,000 ราย
ปัญหากระดูกเปราะกระดูกพรุนเป็นเรื่องที่บ่มเพาะมาตั้งแต่กรรมพันธุ์ สารอาหารที่ได้รับตั้งแต่เด็กว่าส่งเสริมการสร้างเนื้อกระดูกมากเพียงไร วิถีการดำเนินชีวิต ระดับฮอร์โมน มีปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับกระดูกหรือไม่ เหล่านี้มีผลต่อความเสี่ยงที่กระดูกจะแตกหัก
เมื่อเข้าสู่สูงวัย ความหนาแน่นของกระดูกลดต่ำ ความแข็งแรงของกระดูกลดลง หากหกล้มอาจกระดูกหัก อายุยิ่งมากยิ่งเสี่ยงมาก ทั้งนี้ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการได้รับแคลเซียมจากอาหารลดลง (ทานข้าวน้อยลงหรือทานไม่ครบหมู่) ร่างกายสร้างวิตามินดีน้อยเพราะไม่ค่อยออกไปรับแดด
แต่ภาวะเหล่านี้ไม่ปรากฏอาการใดๆ คนส่วนใหญ่รู้ว่าตนกระดูกเปราะบางเมื่อกระดูกหักหรือตรวจความหนาแน่นของกระดูกเท่านั้น จึงเป็นภัยเงียบอย่างหนึ่ง
ที่น่ากังวลคือกระดูกสะโพกหัก เพราะรักษายาก ยิ่งสูงวัยยิ่งรักษายาก วิถีชีวิตผู้ป่วยเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง จากผู้ที่สามารถเดินเหินไปมา ดูแลตัวเองเหมือนคนปกติ กลายเป็นคนป่วยที่ต้องนอนบนเตียง กระทบร่างกายจิตใจอย่างรุนแรง ผู้ป่วยมักซึมเศร้า รู้สึกไร้ค่า เป็นภาระแก่ผู้อื่น และมักมีโรคแทรกซ้อนตามมา บางรายถึงขั้นเสียชีวิต
ไม่เพียงเท่านั้น ยังส่งผลต่อครอบครัวที่จะต้องมีผู้ดูแลผู้ป่วยต่อเนื่อง ผู้ป่วยกระดูกแตกหักคนเดียวจึงกระทบทั้งครอบครัว
รายงานใหม่ล่าสุด :
งานศึกษาในอดีตบางชิ้นระบุว่าหากคนเหล่านี้ได้รับแคลเซียมกับวิตามินดีจะช่วยลดโอกาสกระดูกแตกหัก
งานวิจัยล่าสุด ทีมศึกษาวิเคราะห์งานวิจัยทั่วโลกเรื่องการป้องกันกระดูกแตกหักจากแคลเซียมกับวิตามินดี โดยใช้แหล่งข้อมูลจาก The PubMed, Cochrane library และ EMBASE แล้วนำมาวิเคราะห์ร่วม
งานศึกษานี้วิเคราะห์ข้อมูลวิจัย 33 ชิ้น งานวิจัยส่วนใหญ่มาจากสหรัฐ อังกฤษ นิวซีแลนด์และออสเตรเลีย ส่วนใหญ่ศึกษากระดูกสะโพกหัก รวมผู้ทดลองกว่า 51,000 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก ผู้เข้าทดลองเป็นผู้ใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไปที่ดูแลตัวเอง (หมายถึงคนทั่วไปที่ไม่ใช้บริการของสถานดูแลคนชราหรือได้รับการดูแลใกล้ชิดเป็นพิเศษ) ทั้งหมดทดลองให้กินแคลเซียม วิตามินดี อย่างใดอย่างหนึ่งหรือกินร่วมกัน แล้วเทียบกับผู้กินยาหลอก (placebo) หรือไม่กินยาเลย
ได้ข้อสรุปว่า การกินยาแคลเซียมกับวิตามินดีไม่ช่วยลดกระดูกแตกหักอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะใช้ขนาดสูงหรือต่ำ เป็นชายหรือหญิง มีประวัติกระดูกแตกหักหรือไม่ การได้แคลเซียมจากอาหารก็ไม่แตกต่าง
ในกรณีเพิ่มวิตามินดีเพื่อช่วยการดูดซึมแคลเซียม ได้ข้อสรุปเหมือนกันว่าไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ช่วยลดกระดูกแตกหักทุกประเภท
จึงไม่แนะนำให้คนสูงวัยหรือใกล้หมดประจำเดือนกินยาแคลเซียมกับวิตามินดีทุกวันอีกต่อไป
งานวิจัยล่าสุดนี้สอดคล้องกับงานวิจัยอีกชิ้นที่ตีพิมพ์เมื่อ 2015 ใน British Medical Journal งานชิ้นนั้นให้ข้อสรุปว่า ยาเม็ดแคลเซียมที่กินทุกวันช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูกร้อยละ 1-2 เท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะลดกระดูกแตกหัก
ในทางกลับกัน การกินแคลเซียมเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ โรคนิ่วและปัญหาทางเดินทางอาหาร
ข้อแนะนำ :
Jia-Guo Zhao หัวหน้าทีมวิจัยแนะนำว่าทุกคนยังควรได้รับแคลเซียมกับวิตามินดีอย่างเพียงพอ แต่ด้วยอาหาร การออกกำลังกายเป็นหลัก ไม่ใช่จากยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แนะนำทานนม ผัก ผลไม้ พวกถั่วชนิดต่างๆ เพื่อได้แคลเซียม และออกไปรับแดดบ้าง เพื่อร่างกายจะผลิตวิตามินดีมากเพียงพอความต้องการ จะให้ยาแคลเซียมกับวิตามินดีในกรณีเฉพาะที่ผู้ป่วยขาดสารอาหารดังกล่าวจริงๆในทำนองเดียวกัน นายแพทย์ Marvin M. Lipman แนะนำว่าถ้าอยากมีกระดูแข็งแรง ต้องดูแลสุขภาพตั้งแต่เด็กก่อนถึงวัย 30 อันเป็นช่วงที่กระดูกร่างกายกำลังเติบโตพัฒนา
การได้แคลเซียมกับวิตามินดีจากอาหารเป็นหนทางที่ดีที่สุด การรับแดดวันละ 10 นาทีร่างกายจะสร้างวิตามินดีที่ต้องการ เป้าหมายการกินอาหารที่มีแคลเซียมนั้นคือ ลดการสูญเสียมวลกระดูก แต่ไม่ช่วยให้แข็งแรงกว่าเดิม
ผู้ที่กระดูกอ่อนแออยู่แล้วเมื่อเข้าสู่สูงวัยจะแตกหักง่าย การกินแคลเซียมวิตามินดี แม้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้จริง แต่มีผลต่อการสร้างมวลกระดูกเพียงเล็กน้อย คงเป็นเพราะการสร้างมวลกระดูกต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ ไม่เพียงแคลเซียมกับวิตามินดีเท่านั้น ดังที่ทราบกันทั่วไปว่าร่างกายจะหยุดสร้างมวลกระดูกหลังวัย 30 ทั้งๆ ที่ยังได้รับแคลเซียมวิตามินดีทุกวัน อีกทั้งกระดูกเปราะบางจากหลายสาเหตุ ต้องแก้ไขที่สาเหตุอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย
การออกกำลังกายแบบแอโรบิค การเดินวันละ 30 นาที ลดการสูญเสียมวลกระดูก
นอกจากนี้ ควรเข้าใจว่าหากกล้ามเนื้อขาแข็งแรง จัดแจงห้องหับต่างๆ ที่ป้องกันการหกล้ม โอกาสกระดูกแตกหักย่อมลดลง
อย่างไรก็ตาม นายแพทย์ Daniel Smith จาก Icahn School of Medicine ไม่เห็นด้วย ชี้ว่าผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักเพียงรายเดียวสร้างความสูญเสียมหาศาล การให้กินยาแคลเซียมวิตามินดีกับทุกรายจึงยังเป็นคำแนะนำที่ดี
วิเคราะห์องค์รวม :
ควรตระหนักว่างานวิจัยของ Jia-Guo Zhao เป็นงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งเท่านั้น ยังไม่อาจถือเป็นข้อสรุป จากนี้ไปน่าจะมีผู้วิจัยประเด็นเดียวกันนี้อีกหลายครั้ง เพื่อยืนยันข้อสรุป
ข้อคิดที่ได้คือ ความรู้ด้านยาด้านสาธารณสุขมีการปรับปรุงอยู่เสมอ ความรู้ที่เคยใหม่ที่เคยปฏิบัติทั่วไปอาจกลายเป็นของเก่าล้าสมัย ยาที่เคยใช้อาจกลายเป็นยาต้องห้ามในเวลาต่อมา การติดตามศึกษาความรู้เหล่านี้ย่อมเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพตนเองและคนรอบตัว การรักษาสุขภาพให้แข็งแรงย่อมดีกว่ากระดูกสะโพกหักแล้วค่อยรักษา ร่างกายมนุษย์ไม่ใช่เครื่องจักรกลที่สามารถยกเครื่อง เปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ แล้วกลายเป็นรถใหม่
หลายคนคิดว่ากินวิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เท่านี้ก็เพียงพอ สามารถทดแทนวิธีการดูแลรักษาสุขภาพอื่นๆ บางคนยอมเสียเงินนับพันซื้อผลิตภัณฑ์ยี่ห้อแพงๆ เพราะคิดว่ายิ่งแพงยิ่งดี งานวิจัยล่าสุดชิ้นนี้เตือนว่าไม่ว่าถูกหรือแพงก็ไม่แตกต่าง เพราะไม่ได้ผลเหมือนกัน
วิธีแก้ปัญหาโรคกระดูกแตกหักที่ดีและได้ผลมากที่สุดอยู่ที่การเลือกคู่แต่งงาน เลือกคู่ครองที่ร่างกายแข็งแรง กระดูกแข็งแรง เพราะกรรมพันธุ์เป็นปัจจัยที่มีผลต่อมวลกระดูกมากที่สุด รองมาคือการเลี้ยงดูในวัยเด็ก ต้องกินสารอาหารครบถ้วนและออกกำลังกายอยู่เสมอ
หากทำได้เช่นนี้คนรุ่นลูกรุ่นหลานก็ไม่ต้องเสียค่ายาที่ไม่ค่อยมีประสิทธิผลเท่าที่ควร
เป็นอีกกรณีตัวอย่างชี้ให้เห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม มีความเข้าใจที่ถูกต้องต่อการดูแลรักษาสุขภาพ
ในอนาคตการตัดสินใจเลือกใช้ยาจะดีขึ้นกว่าปัจจุบัน การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Fourth Industrial Revolution) จะช่วยให้คนไข้กับญาติสามารถเข้าถึงข้อมูล สามารถตัดสินใจเลือกวิธีรักษา เลือกยาที่ต้องการให้เหมาะกับโรค ฐานะทางเศรษฐกิจและอื่นๆ
ในกรอบที่กว้างขึ้น ปัญหาสุขภาพต่างๆ มักสัมพันธ์กับจิตใจ สุขภาพจิตที่ดีเป็นสุดยอดยา ไม่เฉพาะต่อกระดูกเท่านั้น แต่มากยิ่งกว่านั้นมาก นำความสุขความเจริญสู่ตนเอง ครอบครัวและสังคมโลก
ปัญหาสุขภาพเป็นประเด็นหนึ่งที่สำคัญของโลก ผู้บาดเจ็บเสียชีวิตมีมากกว่าเหตุจากภัยสงคราม ภัยความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศเสียอีก วิธีการใช้ยาและยาแผนปัจจุบันที่จำหน่ายในประเทศกำลังพัฒนามักเป็นองค์ความรู้จากประเทศพัฒนาแล้ว ความรู้เหล่านี้ปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ จึงต้องติดตามให้ทันการเปลี่ยนแปลง ไม่ล้าหลัง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |