“วัชระ” เปิด 4 รายชื่อเอี่ยวก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ล่าช้า แต่กลับได้นั่ง กมธ.เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ข้องใจสอดไส้คนกันเอง ชี้ขัดกันแห่งผลประโยชน์ ผู้สอบกับผู้ถูกสอบเป็นคนคนเดียวกัน จะไม่ได้ความจริงแน่นอน องค์กรต้านโกงหนุนรณรงค์ ไม่ให้ ไม่รับ ของขวัญเทศกาลปีใหม่ โปร่งใส ไม่ต้องเอาใจนาย
เมื่อวันอังคาร นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ในสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) 12 คนที่เสนอมานั้น เป็นที่น่าสงสัยมาก เพราะตั้งผู้ที่จะถูกสอบสวนหรือลูกน้องผู้ถูกสอบสวนมานั่งเป็นกรรมาธิการด้วย ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของสภาไทย อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 129 วรรคสอง กำหนดให้คณะกรรมาธิการมีหน้าที่ในการกระทำกิจการ สอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดๆ ตามหน้าที่และอำนาจ แล้วรายงานให้สภาทราบ
"ซึ่งตามหลักของการสอบหาข้อเท็จจริง ระหว่างผู้สอบข้อเท็จจริงกับผู้ถูกสอบข้อเท็จจริงต้องไม่มีความเกี่ยวข้องกัน หรือในภาษากฎหมายเรียกว่าการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และที่ร้ายแรงที่สุดที่ไม่ควรเกิดขึ้นคือ ผู้สอบข้อเท็จจริงกับผู้ถูกสอบข้อเท็จจริงเป็นคนคนเดียวกัน เพราะจะทำให้ผลการสอบข้อเท็จจริงไม่เกิดความชอบธรรมหรือความจริงแน่นอน"
นายวัชระกล่าวอีกว่า สำหรับผู้ที่ควรจะถูกสอบข้อเท็จจริงในการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ แต่กลับได้เป็นกรรมาธิการ ประกอบด้วย 1.นายสุชาติ โรจน์ทองคำ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และในอีกฐานะหนึ่งคือประธานคณะกรรมการตรวจการจ้าง (ตรวจรับ) งานก่อสร้างอาคารรัฐสภาฯ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรง ในการพิจารณาตรวจรับงานการก่อสร้าง และให้ความเห็นชอบในการขยายระยะเวลาการก่อสร้างฯ และงาน ICT งานสาธารณูปโภคฯ ตลอดจนงานอื่นๆ ของการก่อสร้างอาคารรัฐสภาฯ และเป็นกรรมการเร่งรัดการก่อสร้างอาคารรัฐสภาฯ และเป็นกรรมการบริหารการก่อสร้างอาคารรัฐสภาฯ ซึ่งมีหน้าที่ในการอำนวยการก่อสร้างในภาครวม และต้องรับผิดชอบโดยตรง หากปรากฏว่าการขยายเวลาก่อสร้างเป็นไปโดยมิชอบ
2.นายพินิจ พูลเกิด ที่ปรึกษาบริหารโครงการก่อสร้างฯ CAMA เป็นผู้ที่ได้รับค่าตอบแทนจากสำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร ในการให้คำปรึกษา ประสานงาน รวมทั้งให้ความเห็นในการพิจารณาการขยายระยะเวลาการก่อสร้างฯ รวมถึงงาน ICT งานสาธารณูปโภค และงานอื่นๆ ของการก่อสร้างอาคารรัฐสภาฯ และเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงหากปรากฏว่าการขยายระยะเวลาการก่อสร้างเป็นไปโดยมิชอบ
3.นายพงศ์กิตต์ อรุณภักดีสกุล และนางปัณณิตา สะท้านไตรภพ ข้าราชการระดับสูงของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ซึ่งเป็นผู้แทนของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา โดยมีนายนัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภา เป็นผู้บังคับบัญชาของนายพงศ์กิตต์และนางปัณณิตา ซึ่งสามารถให้คุณให้โทษแก่บุคคลทั้งสองได้โดยตรง ทั้งนี้ สถานะของนายนัฑย่อมส่งผลโดยตรงกับความเห็นของบุคคลทั้งสองอย่างชัดเจน
และ 4.นายนัฑเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการเร่งรัดการก่อสร้างฯ และเป็นกรรมการบริหารการก่อสร้างฯ ซึ่งได้รับทราบและไม่คัดค้านผลของการขยายระยะเวลาการก่อสร้าง และเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าการขยายระยะเวลาการก่อสร้างเป็นไปโดยมิชอบ ดังนั้น ความเห็นของบุคคลทั้งสองในฐานะกรรมาธิการตรวจสอบข้อเท็จจริงย่อมไม่เกิดความเป็นธรรมอย่างแน่นอน
นายวัชระกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีกรณีที่นายพินิจ พูลเกิด เพิ่งชี้แจงเห็นด้วยกับการขยายเวลาก่อสร้างอาคารรัฐสภาครั้งที่ 4 จำนวน 382 วันคู่กับนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาฯ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมาแล้ว ครม.กลับมาเสนอชื่อให้เป็นคณะกรรมาธิการได้อย่างไร และยังน่าสงสัยด้วยว่านายสรศักดิ์เซ็นอนุมัติการขยายเวลาย้อนหลังว่าขยายเวลาวันที่ 4 ธันวาคมตอนค่ำๆ แต่นายสรศักดิ์มาแถลงกับสื่อมวลชนในวันที่ 10 ธันวาคม ขนาดนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ยังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในวันที่ 9 ธันวาคมว่ายังไม่ได้รับรายงานเรื่องการขยายสัญญาครั้งที่ 4
"หากนายสรศักดิ์เซ็นขยายสัญญาครั้งที่ 4 ในวันที่ 4 ธันวาคมตอนค่ำจริง เหตุใดจึงไม่รีบรายงานให้ประธานสภาฯ ทราบ และทำไมไม่เปิดเผยต่อสื่อมวลชนในวันนั้น กลับมาแถลงย้อนหลังในวันที่ 10 ธันวาคม หลังจากที่มีการคัดค้านการขยายเวลาก่อสร้างจากนายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตประธาน ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติอย่างยิ่ง และรีบอนุมัติขยายสัญญาก่อนหมดอายุในวันที่ 15 ธันวาคมถึง 11 วันโดยสำนักกฎหมาย เลขาธิการสภาฯ ไม่ได้ให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอของฝ่ายพัสดุ สำนักการคลังแต่ประการใด ช่างแปลกประหลาดจริงๆ" นายวัชระ กล่าว
ขณะที่ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “โปร่งใส ไม่ต้องเอาใจนาย : No Gift Policy” ว่า ปีนี้ก้าวหน้าและคึกคักมากกับการรณรงค์ ‘ไม่ให้ ไม่รับ’ ของขวัญในเทศกาลปีใหม่ เพราะรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนทั้งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทที่เป็นสมาชิก CAC บริษัทขนาดใหญ่ทั่วไป ต่างพร้อมใจกันร่วมรณรงค์ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ หน่วยราชการ เพราะเท่าที่รวบรวมได้ มีเพียงกระทรวงสาธารณสุข (ท่านอนุทิน ชาญวีรกุล), กระทรวงการคลัง (ท่านอุตตม สาวนายน), กระทรวงดิจิทัลฯ (ท่านพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์), กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ท่านวราวุธ ศิลปอาชา), กระทรวงวัฒนธรรม (ท่านอิทธิพล คุณปลื้ม), กระทรวงการทรวงการเที่ยวและกีฬา (ท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ), กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ (ท่านจุติ ไกรฤกษ์), สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ (นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ์ ปลัดฯ สปน.) เท่านั้น ที่ประกาศนโยบายนี้ออกมา
"เท่ากับว่ามีเพียง 8 กระทรวง จากทั้งหมด 20 กระทรวงเท่านั้นที่แสดงวิสัยทัศน์และเจตจำนงชัดเจนในเรื่องนี้ ลดลงจากปีที่แล้วที่มีมากถึง 12 กระทรวง ซึ่งไม่ทราบว่าเพราะเจ้ากระทรวงไม่เห็นความสำคัญหรือเพราะเหตุใด"
ดร.มานะระบุต่อว่า ในประกาศของกระทรวงสาธารณสุขกล่าวให้เหตุผลไว้น่าชื่นชมมากว่า เพื่อสร้างค่านิยมในการประหยัดและสร้างทัศนคติที่ถูกต้อง และผู้บังคับบัญชาต้องดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดี และในการแสดงความปรารถนาดีต่อกันในโอกาสต่างๆ โดยใช้บัตรอวยพร การอวยพรผ่านสื่อออนไลน์ การทำจิตอาสาแทนการมอบของขวัญ ฯลฯ ก็เพียงพอ ขณะที่สำนักปลัดสำนักนายกฯ ก็ประกาศชัดเจนว่า สปน. มุ่งสร้างสำนึก ค่านิยม วัฒนธรรม ตามหลักธรรมาภิบาล คุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตระหนักและต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบ รู้จักแยกแยะประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม รวมทั้งป้องกันการเรียกสินบนหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด หรือใช้อำนาจหรือหน้าที่ในการเอื้อประโยชน์หรือแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ
"องค์กรและสถาบันหลักของรัฐที่ประกาศนโยบายสำคัญนี้ไว้เป็นแบบอย่างที่ดีให้คนไทยชื่นชม เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย, ก.ล.ต., ตลาดหลักทรัพย์, ป.ป.ช., ป.ป.ท., สคร. เป็นต้น ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมแสดงวิสัยทัศน์และเจตนารมณ์ชัดเจนที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน แม้บางคนจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่คนส่วนใหญ่และคนทั่วโลกรู้ดีว่านี่เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นมากถ้าจะเอาชนะคอร์รัปชัน" ดร.มานะระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |