“ประตูตะวันตก” สู่กรุงเบลเกรด (Western City Gate) สร้างเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 1979 กลมๆ ตรงกลางนั้นคือร้านอาหารชมวิวหมุนติ้วๆๆ 360 องศา
สตรีน้ำใจงามประจำคาเฟ่ Gondola ผู้กรุณาโทรศัพท์ตามเจ้าของอพาร์เมนต์ให้เราเมื่อตอนบ่ายยิ้มร่าที่เห็นผมและโกรันเปิดประตูร้านเข้าไป เราโผล่มาช้ากว่าเวลานัดราวครึ่งชั่วโมง คาดว่ามีแขกรายอื่นอยากได้ที่นั่งทำเลดีโต๊ะนั้น แต่เธอคงยืนยันว่ามีคนจองไว้แล้ว
เบียร์ยี่ห้อ Sarajevsko 2 ขวดเล็กมาวางพร้อมขนมขบเคี้ยวบริการฟรี มีทั้งถั่วและขนมปังอบกรอบหลายรูปทรงในถ้วยใบใหญ่ เข้ากันได้ดีกับเบียร์และฟุตบอลบนจอทีวี เราดื่มกันคนละ 3 ขวด ฟุตบอลก็จบลงด้วยผลการแข่งขันที่ผมต้องฉลองต่อ แต่โกรันขอผ่านเพราะง่วงหนัก ผมจึงขอซื้อขึ้นไปดื่มบนห้องพักที่อยู่อาคารเดียวกับคาเฟ่อีก 1 ขวด สตรีที่ทำงานอยู่เพียงคนเดียวในร้านขอให้นำขวดลงมาคืนพรุ่งนี้เช้า เบียร์ประจำเมืองซาราเยโวที่เราดื่มราคาขวดละ 3 KM หรือประมาณ 60 บาท เงินทอน 4 KM ผมยื่นเป็นทิปให้แก่เธอ เจ้าตัวแสดงอาการงงๆ ก่อนจะรับไว้ด้วยยิ้มแปลกๆ
เช้าวันรุ่งขึ้นผมนำขวดลงไปคืน ปรากฏว่าผู้ที่ดูแลร้านในเวลาเช้าตรู่นี้กลายเป็นผู้ชาย อาจเป็นพนักงานกะเช้า หรือไม่ก็สามีของเธอ ผมคืนขวดพร้อมกล่าวขอบคุณแล้วเดินออกทางด้านหน้าร้าน พอดีกับที่โกรันเดินจากลานจอดรถอ้อมมาถึง
ในย่านบาซาร์บาสซาซิยา (Bascarsija) กลิ่นไก่อบหอมลอยออกมาจากร้านอาหารตรงข้าม Brusa Bezitan (ตลาดแบบหลังคาปิดรูปโดม 6 โดม และได้แบ่งส่วนหนึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ของเมือง) ผมกล่อมจนโกรันคล้อยตามเปิดประตูเข้าร้านเข้าไป แต่หากไม่มีบูเร็ค ขนมปังอบชีสแบบแผ่นขายด้วย เขาก็อาจไม่ยินยอม เพราะนี่คือมื้อเช้าสุดโปรดของเพื่อนชาวเซิร์บคนนี้
ยามเช้าของบาซาร์บาสซาซิยาในกรุงซาราเยโว
ไก่อบครึ่งตัวของผมราคา 5 KM หรือประมาณ 100 บาท เนื้อไก่นุ่มและฉ่ำ หอมเครื่องเทศ รสชาติเค็มๆ หวานๆ กินกับโยเกิร์ตเข้ากันดีมาก ผมสรุปเอาเองจากประสบการณ์ว่าไก่ที่ปรุงโดยมุสลิมและไก่แขกคือไก่ที่อร่อยที่สุดในโลก อย่างไก่ทันดูรีของอินเดียนั้นผมยกให้เป็นอันดับหนึ่ง แม้แต่ในเมืองไทยหากเป็นไก่ของมุสลิมโดยเฉพาะทางปักษ์ใต้ที่หมักเครื่องเทศเข้าเนื้อก็อร่อยไว้ใจได้ ไม่เหมือนไก่ทอดทั่วไปที่ทอดพอผ่านๆ แล้วไปหวังพึ่งปาฏิหาริย์ของน้ำจิ้มเอา เวลาขายจึงโฆษณาน้ำจิ้มแทนที่จะอวดไก่ทอด
คนในร้านทั้งพนักงานและแขกโต๊ะอื่นมองมาที่เราอย่างที่อาจไม่เข้าใจความหมายได้ โกรันจ่ายเงินกับแคชเชียร์แล้วรีบเดินออกจากร้านไป ผมขอน้ำเปล่ามาดื่ม 1 แก้ว แล้วกล่าวขอบคุณพร้อมรอยยิ้มสยาม แจกให้ไม่เฉพาะคนที่นำน้ำมาให้ แต่หว่านไปยังแขกโต๊ะอื่นๆ ด้วย พวกเขายิ้มตอบและพยักหน้า จึงคิดได้ว่าเขาพร้อมใจเปิดรับกับทุกคน เพียงแต่รอดูท่าทีผู้มาเยือนก่อน หากมอบความเป็นมิตรให้ผู้ได้รับย่อมยินดีและแสดงไมตรีกลับคืน
โกรันแวะร้านขนมหวาน เลือกซื้อเป็นชิ้นเล็กๆ ใส่กล่องใบใหญ่ 2 ใบ เพื่อฝากแม่ที่เมืองโบเลช สาธารณรัฐเซอร์เบีย และฝากลูกเมียที่เมืองเบรูน สาธารณรัฐเช็ก เปิดกล่องของแม่หยิบมากินหนึ่งชิ้น ยื่นให้ผมอีกชิ้น แต่ผมปฏิเสธเพราะรู้ว่าหวานสะท้านทรวง แล้วเดินกลับมายังร้าน Gondola เพื่อซื้อกาแฟใส่แก้วกระดาษ ก่อนขึ้นรถออกเดินทางตอนประมาณ 11 โมง
ใช้เวลา 2 ชั่วโมงนิดๆ ย้อนเส้นทางเดิมก็เข้าเขตเมืองวิเชกราด แม่น้ำดรีนาไหล่ล่องเป็นสีเขียวมรกตอยู่ด้านขวามือ ผ่านสะพานเมเหม็ดพาชาโซโคโลวิชอันเป็นตำนาน ข้ามสะพานสำหรับรถข้ามไปยังฝั่งตัวเมือง สำรวจวิเชกราดในความทรงจำด้วยสายตาขณะโกรันขับออกนอกเมืองสู่ด่านชายแดนบอสเนียฯ-เซอร์เบีย
๏๏๏๏๏๏๏๏๏๏๏๏๏๏๏๏๏๏
ที่นอกเมืองอูซิเซ อีกเมืองสำคัญของเซอร์เบีย โกรันแวะซื้อหม้อดินเผาสำหรับใส่อาหารแล้วนำไปอบในเตาอบที่ใช้ฟืน วิธีการนี้จะทำให้อาหารหอมอร่อยและคงคุณค่าได้ดีเยี่ยม เขาจะนำไปใช้ที่บ้านในสาธารณรัฐเช็ก
แม่น้ำดรีนาคดเคี้ยวไปตามช่องเขาในเขตประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา
จากนั้นโกรันขับขึ้นมอเตอร์เวย์ ถนนที่ได้รับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากรัฐบาลจีนและสร้างโดยบริษัทของจีน ซึ่งในอีกไม่นานจะมีเส้นทางเชื่อมเบลเกรดกับทะเลเอเดรียติกในมอนเตเนโกร นับว่าได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย จีนนั้นนอกจากได้งานแล้วยังได้กระจายสินค้าไปยังประเทศในคาบสมุทรบอลข่าน ส่วนเซอร์เบียก็ยังขาดงบประมาณในการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอยู่พอสมควร และไม่เป็นที่รักใคร่จากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป หลายปีผ่านไปพวกเขาก็ยังไม่ได้เป็นสมาชิกเสียที ส่วนสหรัฐอเมริกานั้น อาจถึงขั้นไม่เผาผีกันก็ว่าได้ แต่พวกเขาไม่โดดเดี่ยว เพราะมีประเทศมหาอำนาจใหม่อย่างจีน รัสเซีย และอินเดีย ที่พร้อมคบหา
ถนนเส้นนี้เพิ่งสร้างได้ไม่นานและยังไม่เชื่อมต่อไปจนถึงเมืองหลวง โกรันจึงต้องเลี้ยวออกที่เมืองชาชัก หรือที่ประมาณครึ่งทางก่อนถึงจุดหมาย ถนนส่วนใหญ่มีเพียง 2 เลนวิ่งสวนกัน หากต้องวิ่งตามรถบรรทุกหรือรถบัสที่ส่วนมากจำกัดความเร็วที่ 80 กม./ชม. หรือในเขตเมืองจะลดลงไปที่ 70 กม./ชม. เราก็ต้องวิ่งตามต้อยๆ ไปอย่างนั้น โอกาสจะแซงหาได้ยาก เพราะฝั่งที่สวนมาจำนวนรถก็ไม่น้อยเช่นกัน ยิ่งถ้าเป็นรถบรรทุกหรือรถบัสที่มีน้ำหนักเกิน 7.5 ตัน ก็ยิ่งจะต้องวิ่งช้าตามกฎหมายลงไปอีก เท่าที่สังเกตดูรถบรรทุกจากเยอรมนีจะมีจำนวนมากกว่ารถจากประเทศอื่น และไม่ต้องสงสัยเลยว่าพวกเขาเข้มงวดในกฎเกณฑ์เหล่านี้แค่ไหน
โกรันมองหาร้านหมูย่างและแกะย่างแบบหมุนในเตากระจกสุญญากาศ เขาบอกว่าต้องเลือกร้านที่มีรถบรรทุกจอดอยู่เยอะๆ พวกนี้จะรู้ดีว่าร้านไหนอร่อยเพราะขับผ่านไปมาอยู่เป็นประจำ ร้านที่เราเข้าไปวันนี้มีเหลือเฉพาะหมูย่าง สั่งมา 1 กิโลกรัม ราคา 1 พันดินาร์ หรือประมาณ 350 บาท ขณะรอพนักงานแพ็กใส่ห่อก็สั่งกาแฟมาดื่มคนละแก้ว ส่วนแกะย่างเราไปซื้อได้ที่ร้านห่างออกไปอีกหลายกิโลเมตร ในราคากิโลกรัมละ 1,300 ดินาร์ หรือประมาณ 430 บาท โกรันวางไว้บนเบาะหลังรถทำให้กลิ่นหอมอบอวลไปทั้งคัน เร่งให้น้ำย่อยออกมาก่อนเวลาอันควร
สะพานเมเหม็ดพาชาโซโคโลวิชเบื้องหน้าทำให้ทราบว่าเรามาถึงเมืองวิเชกราดแล้ว
เมื่อถึงบ้านแม่โกรันที่เนินเขาเมืองโบเลชในเวลาประมาณ 1 ทุ่ม เราช่วยกันยกเตาอบใบเก่าไปเก็บในห้องเก็บของซึ่งสร้างอยู่ติดกับที่จอดรถที่ต้องเดินขึ้นบันไดชันๆ ไปหลายขั้น จากนั้นก็หามเตาอบรุ่นใหม่เข้าประจำที่ แม้จะใช้แรงถึง 4 คน ได้แก่ ผม, โกรัน, แม่ของโกรัน และลุงของโกรันที่บ้านอยู่ติดกัน ก็ยังต้องมานั่งเหนื่อยหอบอยู่นาน
โกรันแกะหมูย่างออกมากินกับอาหารอื่นๆ ที่แม่ของเขาทำรอไว้แล้ว ยอมรับว่าหมูย่างจากเมืองชาชักอร่อยจริงๆ หอมกลิ่นควัน และเนื้อนุ่มละมุนลิ้น แกะที่ยังอยู่ในห่อโกรันแช่ตู้เย็นเตรียมจะนำไปกินที่บ้านในสาธารณรัฐเช็ก แม่โกรันไม่นิยมกินเนื้อเป็นมื้อเย็น ส่วนลุงโกรันกินแค่นิดเดียวแล้วแกก็เดินกลับบ้าน ผมและโกรันจึงซัดเนื้อหมูจนหมด แถมด้วยอาหารจำพวกซุป, ผัก และขนมปัง นอกจากนี้แม่โกรันก็ยังหุงข้าวด้วยวิธีของแกไว้ต้อนรับผมเหมือนเดิม ทำให้เราอิ่ม ง่วง และเข้านอนอย่างรวดเร็ว วันต่อมาจึงตื่นตั้งแต่เช้าตรู่ได้ตามแผน
เสร็จจากมื้อเช้าที่มีไข่ ขนมปัง มะเขือฝานชุบแป้งทอด และกาแฟแบบตุรกีแล้วก็ลาแม่และลุงของโกรันออกเดินทางตั้งแต่ประมาณ 9 โมงเช้า แต่ออกมาจากหมู่บ้านได้ไม่เท่าไหร่โกรันก็แวะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตอีกจนได้ ชั้น 2 ของซูเปอร์มาร์เก็ตมีแผนกขายของที่นำเข้าจากประเทศจีนล้วนๆ โกรันคิดว่าจะเจอของฝากสำหรับลูกๆ (เพิ่มเติม) แต่ก็ผิดหวัง เมื่อลงมายังชั้นล่างก็คว้าตะกร้ามาช็อปปิ้งอีกจนได้ และไม่น่าเชื่อว่าเขาจะเลือกซื้อไวน์อีกรอบ ก่อนนี้ที่เมืองวิเชกราด เขาก็ซื้อมาแล้ว 2 ชุด รวมกันน่าจะหกเจ็ดขวด ผมจึงถือโอกาสซื้อไวน์ขาวเป็นของขวัญวันเกิดให้เมียรักของเพื่อน 1 ขวด เขาเองน่าจะบวกเข้าไปเพิ่มรวมเป็น 10 ขวดเห็นจะได้
ธุระของโกรันยังไม่หมด เขาขับเข้ากรุงเบลเกรดไปยังเขตที่เรียกว่า Novi Beograd หรือ “เบลเกรดเมืองใหม่” เพื่อนำของไปให้ยายวัยเกือบ 80 ปี หลานสาวของแกซึ่งทำงานเป็นลูกจ้างโกรันในร้านขายของที่ระลึกในกรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก ฝากของและเงินมาให้ยายที่อาศัยอยู่ในแฟลตเพียงผู้เดียว เมื่อรับซองจากโกรันแกก็ฉีกนับเงินแล้วฝากโกรันไปคืนหลานครึ่งหนึ่ง บอกว่าเป็นของขวัญวันเกิด ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะมาถึงเมื่อไหร่
๏๏๏๏๏๏๏๏๏๏๏๏๏๏๏๏๏๏
ก่อนถึงด่านชายแดนออกจากเซอร์เบียไม่ไกล มีจุดแวะพักรถ โกรันเอาแซนด์วิชที่แม่ทำใว้ให้เป็นมื้อเที่ยงออกมาแบ่งกับผมคนละ 2 ชิ้น ผมคืนเขาไป 1 ชิ้น เพราะเผลอกินขนมในรถมาก่อนหน้านี้ ระหว่างนี้มีรถป้ายทะเบียนเยอรมนีขับมาจอด เด็กวัยประมาณ 10 ขวบพูด “เฮลโล่” กับผม จึง “เฮลโล่” ตอบไปพร้อมรอยยิ้ม เขาเข้าไปยืนฉี่ที่ชายป่าข้างทางซึ่งมีตาข่ายขึงไว้ คงกั้นทั้งไม่ให้สัตว์ลงมาและคนเข้าไป เด็กเยอรมันฉี่เสร็จก็มาพูดว่า “บาย” แล้วเดินไปขึ้นรถ ผมก็ “บาย” ตอบ แถม “กู้ดลัค” ไปให้ด้วย ส่วนพ่อแม่ไม่ได้แสดงอาการอะไรแม้ผมจะยิ้มให้ ผมคิดว่าเด็กคงถูกสอนมาจากโรงเรียนมากกว่าที่บ้าน
ก่อนจะถึงตัวเมืองอูซิเซ สาธารณรัฐเซอร์เบีย
เราใช้เวลาที่ด่านฮอร์กอสของเซอร์เบียแค่แป๊บเดียวก็ได้รับตราประทับออกประเทศ แต่ที่ด่านชายแดนรอสเกของฮังการี เขตกลุ่มประเทศอียูและเชงเกน รถติดยาวเป็นกิโล และแถวที่เราเข้าคิวอยู่ช้ากว่าแถวอื่นเป็นพิเศษ
มีตำรวจ ตม. 2 นายเดินตรวจรถแต่ละคันมาเรื่อยๆ เมื่อถึงคันของเราก็เคาะกระจกเรียกโกรันลงไป ขอให้เปิดท้ายรถ และตรวจบริเวณเบาะหลังรถ (ผมไม่ได้ลง) ซึ่งโกรันมีของต้องห้ามเพียบ โดยมีกระเป๋าเดินทาง ของกิน และของเล่นเด็กปิดทับไว้ ไม่ว่าจะเป็น “รัคเคีย” หรือบรั่นดีพลัมของฝากจากยายแห่งเบลเกรดเมืองใหม่ ไวน์เกินปริมาณที่กฎหมายกำหนด ต้นเชอร์รีในกระถางที่แม่โกรันฝากไปให้ลูกสะใภ้
ตำรวจถามแค่ว่า “มีรัคเคียหรือเปล่า” ซึ่งชาวเซิร์บส่วนมากมักจะขนรัคเคียติดตัวออกจากบ้านเสมอเมื่อต้องไปอยู่ต่างแดน โกรันสีหน้านิ่ง “อ๋อ ไม่มีหรอก ผมเลิกดื่มไปนานแล้ว”
คงเพราะแถวที่ยาวมากหรือปาฏิหาริย์ใดไม่ทราบได้ ตำรวจทั้งสองเชื่ออย่างง่ายดายแล้วเดินต่อไปยังรถอีกคัน
ใครก็อยากได้บ้านวิวดีๆ แม้ต้องไปกระจุกตัวกันบนเนินเขา
ผมโล่งอกแทนโกรัน เดินออกไปเข้าห้องน้ำ เหยียดแข้งเหยียดขา แล้วกลับไปยังกลุ่มรถที่เข้าคิวกันอยู่โดยเดินขึ้นหน้าจากจุดเดิมไปหน่อยหนึ่ง คะเนว่ารถโกรันขยับไปข้างหน้าแล้ว ที่ไหนได้ผมต้องเดินกลับไปยังจุดเดิม มีหลายคนลุกออกมาจากรถและแสดงอาการหัวเสียถึงการทำงานอย่างเชื่องช้า (หรือเข้มงวด) ของเจ้าหน้าที่ ผู้ชายบางคนถอดเสื้อ เดินและนั่งอาบแดดมันเสียเลย
ผ่านไปนับชั่วโมงช่อง All Passport ของเราเปิดเพิ่มอีก 1 ช่องติดๆ กัน โกรันถามผมว่าจะไปเข้าช่องใหม่หรืออยู่ช่องเดิม ผมว่าให้เข้าช่องใหม่ โกรันลังเลและชักช้าจนรถจากด้านหลังวิ่งไปเข้าช่องใหม่ปิดทางเลี้ยวออกของเราไว้หมด จะถอยก็ไม่ได้เพราะคันที่ต่อท้ายเราดันปักหลักช่องเดิม พอผมถามว่าทำไมไม่ไป หมอว่าตอนนี้เราอยู่ใกล้กว่าหากจะพยายามไปเข้าช่องใหม่ แต่ผมเถียงว่า “ไม่เห็นตัวอย่างก่อนหน้านี้หรือไงว่าช่องนี้มันช้ามาก ไปลุ้นช่องใหม่ย่อมดีกว่า”
แล้วก็เป็นอย่างที่ผมว่า ช่องเดิมของเราแทบไม่ขยับเขยื้อนเหมือนเดิม ส่วนช่องใหม่ผ่านสบายคล่องตัว รวมเวลาแล้วเราเสียเวลาอยู่ในช่องนี้เกือบ 2 ชั่วโมง และอาจจะนานกว่านั้นหากเจ้าหน้าที่คนเดิมไม่เปลี่ยนเวรออกไปพัก โกรันชี้ให้ผมดู “นั่นไงไอ้อ้วนจอมแสบย้ายก้นออกไปแล้ว หวังว่ามันคงจะโดนเจ้านายเรียกไปทำโทษ” จากนั้นรถในแถวของเราก็เคลื่อนที่เหมือนแถวอื่นๆ ทันที หลังการมาของเจ้าหน้าที่คนใหม่
โกรันแวะซื้อหม้อดินอบอาหารระหว่างทางกลับบ้าน
ผ่านฮังการี เข้าสู่ประเทศสโลวะเกีย โดยไม่มีรอยต่อเรื่องด่านชายแดน แม้จะเห็นด่านเก่าตั้งอยู่ก็เพียงแค่ให้ผู้เดินทางรับรู้ว่าบัดนี้ได้ผ่านไปยังอีกประเทศหนึ่งแล้วเท่านั้น จากสโลวะเกียก็เข้าสู่เช็ก บางครั้งระหว่างเส้นทางมีสะพานลอยแปลกๆ ส่วนถนนที่เราวิ่งไปก็ดูเหมือนจะเป็นอุโมงค์มากกว่า โกรันบอกว่าข้างบนคือทางสัตว์ผ่าน การตัดถนนผ่านป่าถือว่ารบกวนผู้อาศัยเดิม จึงต้องคงทางที่สัตว์ใช้สัญจรไว้ให้มากเท่าที่จะทำได้
กว่าจะถึงบ้านโกรันที่เมืองเบรูน เขตชานกรุงปราก ก็ปาเข้าไป 5 ทุ่ม สมาชิกในบ้านคลุมโปงนอนกันหมดแล้ว ก่อนนี้ที่ห้าง Tesco โกรันได้แวะซื้อของบางอย่างตามคำสั่งศรีภรรยา เพราะเธอจะจัดงานวันเกิดต้อนรับแขกในวันพรุ่งนี้ และเครื่องดื่มอย่างเบียร์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ โกรันให้ผมเลือกใส่รถเข็นเอาตามใจชอบ
เบียร์หลายสิบยี่ห้อละลานตาอยู่ในอาณาจักรย่อมๆ หลายยี่ห้อผมไม่เคยได้ยินชื่อ ขวดขนาดครึ่งลิตรเฉลี่ยตกราคาขวดละยี่สิบกว่าบาทเท่านั้น ผมบรรจงหยิบทีละขวดลงรถเข็นอย่างอารมณ์ดี
แต่ทันใดนั้นกลับรู้สึกเศร้าอย่างบอกไม่ถูก เมื่อคิดถึงเพื่อนๆ ที่นั่งดื่มเบียร์อยู่ที่เมืองไทย.
ตรงไปแต่ไม่แวะ บูดาเปสต์จะกลับมาอีกในอีกไม่กี่ฉบับถัดไป
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |