ส่องสัดส่วน 'กก.บห.พปชร.' สมคิด–สามมิตรเซฟดุลอำนาจ


เพิ่มเพื่อน    

      เป็นการ “ยกเครื่อง” ครั้งใหญ่ นับตั้งแต่ก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐมา เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2561 และเลือกกรรมการบริหารพรรค เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2561

      ก่อนหน้าที่จะปรับเปลี่ยนครั้งนี้ พรรคพลังประชารัฐมีกรรมการบริหารพรรค 23 คน ส่วนกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ที่มีการเลือกไปเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2561 มี 34 คน โดยชุดเก่าลาออก 7 คน และมีคนใหม่เข้ามาเพิ่ม 17 คน

      17 คนที่เข้ามา ส่วนใหญ่เป็นแกนนำกลุ่มก๊กต่างๆ ภายในพรรค และมีตัวแทนครอบคลุมทุกภาค เมื่อเทียบจากชุดเดิม ซึ่งเป็นชุดก่อตั้ง

      ตัวหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ยังเป็นคนเดิมคือ นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน โดยเฉพาะรายหลังที่มีข่าวว่าจะถูกผลักออก ยังคงรักษาสถานะไว้เอาได้

      หากจัดก๊กจัดเหล่า ที่รวมตัวหรือทำกิจกรรมร่วมกัน ในกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ของพรรคพลังประชารัฐ 34 คน สามารถแบ่งสัดส่วนได้ดังนี้

       “กลุ่ม 4 กุมาร” ของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับมอบหมายมาทำพรรคในช่วงก่อตั้ง จำนวน 8 คน ได้แก่ นายอุตตม, นายสนธิรัตน์, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม, นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล, นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อและนายทะเบียนพรรค, นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและเหรัญญิกพรรค, นายชวน ชูจันทร์ ผู้ก่อตั้งพรรค, นายสันติ กีระนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

       “กลุ่มสามมิตร” จำนวน 7 คน ประกอบด้วย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม, นายอนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท, นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส.ชลบุรี, นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ส.ส.ชัยภูมิ, นายสุรชาติ ศรีบุศกร ส.ส.พิจิตร

      ขณะที่ “กลุ่ม กทม.” มี 5 คน คือ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นายชาญวิทย์ วิภูศิริ ส.ส.กทม.

       กลุ่ม ส.ส.ภาคกลางบางส่วน ที่นำโดย “เสี่ยเฮ้ง” นายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี และประธาน ส.ส. กับกลุ่มของนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อและประธานวิปรัฐบาล ซึ่งทำกิจกรรมร่วมกัน จำนวน 4 คน มีนายวิรัช, นายสุชาติ, นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์, นายสัมพันธ์ มะยูโซะ ส.ส.นราธิวาส

       “กลุ่มผู้กองมนัส” จำนวน 4 คน ได้แก่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์, นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.พะเยา, นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร, นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

      นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนของแกนนำจังหวัด ประกอบด้วย นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม ซึ่งเป็นโควตากลุ่มพลังชลของนายสนธยา คุณปลื้ม, นางประภาพร อัศวเหม ภรรยาของพี่ชายนายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม จากกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า, นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คมนาคม จากกลุ่ม ส.ส.เพชรบูรณ์, นายนิพันธ์ ศิริธร ส.ส.ตรัง จากภาคใต้ตอนบน และนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ถูกส่งมาช่วยทำงาน

      สัดส่วนของกลุ่มนายสมคิดยังมากที่สุดเหมือนกรรมการบริหารพรรคชุดแรก รองมาคือกลุ่มสามมิตร ซึ่งเป็นนักการเมืองก๊กแรกๆ ที่นายสมคิดชวนมาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ

      และในทางปฏิบัติหากถึงคราวต้องต่อสู้กับการเมืองภายในพรรค ทั้ง “กลุ่มสามมิตร–กลุ่มสมคิด” แทบจะเป็นกลุ่มเดียวกัน แม้จะมีข่าวว่ามีการเสนอชื่อนายอนุชามาทำหน้าที่เลขาธิการพรรคแทนนายสนธิรัตน์ก็ตาม

      ขณะเดียวกัน ทั้งสองกลุ่มนี้ยังเป็นกลุ่มที่ถือสัดส่วนในคณะรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐมากที่สุดในพรรคอีกด้วย คือ 5 เก้าอี้ ได้แก่ นายอุตตม รมว.การคลัง, นายสนธิรัตน์ รมว.พลังงาน, นายสุวิทย์ รมว.การอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม, นายสุริยะ รมว.อุตสาหกรรม, นายสมศักดิ์ รมว.ยุติธรรม

      แน่นอนว่า ข่าวลือการเปลี่ยนตัว “สนธิรัตน์” ออกจากตำแหน่งแม่บ้านพรรค คาบเกี่ยวกับการปรับคณะรัฐมนตรีในอนาคต

      เพราะหาก “สนธิรัตน์” หลุดจากเก้าอี้เลขาธิการพรรค จะส่งผลตำแหน่งรัฐมนตรีของตัวเอง ที่จะต้องยกโควตานี้ไปให้กับเลขาธิการพรรคคนใหม่

      หากคนที่เป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่คือนายอนุชา เท่ากับกลุ่มสามมิตรจะได้โควตารัฐมนตรีเพิ่มทางอ้อม แต่หากเป็นคนอื่น เช่น นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาการ ที่เคยมีข่าวคั่วตำแหน่งนี้อยู่ จะทำให้มีตัวแทนจากก๊กอื่นๆ ในพรรคมีโอกาสได้เข้ามาเป็นรัฐมนตรี เพราะนายณัฏฐพลนั้น เป็นรัฐมนตรีในโควตากลุ่ม กทม.ไปแล้ว 

      คนที่เสียหายคือ “กลุ่มสามมิตร–กลุ่มสมคิด” ที่แพ็กกันคราวมีภัย จะมีโควตาหายไป 1 เก้าอี้

      เรื่องการเปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรค เป็นความคิดที่ตรงกันของ ส.ส.หลายกลุ่มในพรรค หากแต่มันมีความเกี่ยวพันกับโควตารัฐมนตรี จึงต้องมีการแก้เกมกันจนถึงนาทีสุดท้าย

      ซึ่งสายที่ต้องการเปลี่ยน พยายามเข้าหา “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานยุทธศาสตร์พรรค ในขณะที่ฝ่ายที่ถูกสั่นคลอนอำนาจในพรรค วิ่งตรงเข้าสู่ตึกไทยคู่ฟ้า

      และผู้กุมชัยชนะยกนี้ ไม่ใช่ “สนธิรัตน์” ที่รักษาเก้าอี้แม่บ้านพรรคไว้ได้ หากแต่มันสะท้อนผ่านสัดส่วนกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เรียบร้อยแล้ว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"