จับมือพรรคร่วมรัฐบาลล่องแพ รับศึกใหญ่ "วิ่งไล่ลุง-ซักฟอก"


เพิ่มเพื่อน    

        ไม่ว่าจะเป็นรัฐนาวา-เรือแป๊ะ จนมาถึงยุคเรือเหล็ก จะเกิดอาการโครงเครง มีรอยรั่วมาตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมาบ้าง แต่วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา 3 ป.บูรพาพยัคฆ์ก็ฝ่ามรสุมผ่านการเลือกตั้ง และ สถานการณ์หัวเลี้ยว-หัวต่อมาได้ จนเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบัน ที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงพันธมิตรอีก 18 พรรค ที่ พล.อ.ประยุทธ์ไปเล่าให้ต่างชาติฟังด้วยความภูมิใจ

        แน่นอนว่า ในภาพของรัฐบาลผสมหลายพรรค ทั้งพรรคเล็ก และพรรคใหญ่ จะต้องมีการต่อรอง และความขัดแย้งในเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบาย แนวคิด และผลประโยชน์บ้าง จนกลายเป็นคำเปรียบเทียบของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ กับคำว่า แจกกล้วย แม้แต่ในพรรคพลังประชารัฐเอง ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า 3 ป. คือ "ตัวจริง-เสียงจริง" ในการคุมพรรค ก็มีปัญหาเรื่องของ "มุ้ง" ที่ก่อนเลือกตั้งไปกวาดต้อนมาอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ ที่แม่บ้านพรรคก็กลายเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่อยู่ในปมความไม่พอใจของคนในพรรค

        การประชุมใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐเมื่อวานนี้จึงเป็นการ "สังคายนา" ปัญหาที่ถูกแขวนไว้ จากความกินแหนงแคลงใจมานาน และได้รับการคลี่คลายในที่สุด อีกทั้งที่ประชุมมีมติตั้ง นายอนุชา นาคาศัย และนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นรองหัวหน้าพรรค

        และตั้งกรรมการบริหารพรรคเพิ่มอีก 17 คน ประกอบด้วย 1.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ 2.นายสมศักดิ์ เทพสุทิน 3.นายสันติ พร้อมพัฒน์ 4.นายสุพล ฟองงาม 5.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า 6.นายวิรัช รัตนเศรษฐ 7.นายสุชาติ ชมกลิ่น 8.นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ 9.นางประภาพร อัศวเหม 10.นายนิโรธ สุนทรเลขา 11.นายไพบูลย์ นิติตะวัน 12.นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ 13.นายสกลธี ภัททิยกุล 14.นายไผ่ ลิกค์ 15.นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ 16.นายสุรชาติ ศรีบุศกร และ 17.นายนิพันธ์ ศิริธร

        ขณะที่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค ที่มีเสียงบ่นจากบางมุ้ง ให้จัดการ "ปลด" ออกจากตำแหน่งแม่บ้านพรรค แต่ในที่สุดนายสนธิรัตน์ยังเหนียวนั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรคต่อไป ภายใต้ข่าวการ  "เคลียร์" ปมคาใจบางส่วนออกไปได้บางเปราะ

        ถือเป็นการ จัดทัพ ให้เหล่าบรรดา "ขุนพล" มีบทบาทและศักดิ์ศรีในพรรคอย่างเป็นทางการ เฉลี่ยบทบาทหน้าที่ในพรรคใหม่ลดความลักลั่นภายใน

        นอกจากนี้ที่ประชุมมีมติเปลี่ยนโลโก้พรรคใหม่ จากสัญลักษณ์รังผึ้งหกเหลี่ยม สีลายธงชาติ ภายในเป็นข้อความพรรคพลังประชารัฐ มาเป็นวงกลม สีลายธงชาติ ล้อมรอบข้อความพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งแสดงถึงความกลมเกลียว ไร้เหลี่ยมคมที่จะทิ่มแทงตัวเอง เป็นการ "รีฮวงจุ้ย" ตราสัญลักษณ์ของพรรค เพื่อให้พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลมีความแข็งแกร่ง เหนียวแน่น สามัคคีจากภายในพรรค

        เพื่อนำไปสู่การจัดสมดุลให้เกิดขึ้นจากจุดเริ่มต้น ก่อนจะไปบริหารจัดการปัญหาภายในพรรคร่วมรัฐบาลต่อไป เหตุเพราะที่ผ่านมาการทำงานในกระทรวงต่างๆ ของพรรคการเมืองต่างพรรค มีการ "ขบเหลี่ยม" ขัดแย้งกันหลายครั้ง จนมีการร้องขอให้ "ผู้ใหญ่" ลงมาเคลียร์ และแก้ไขปัญหาอย่างเป็นธรรม

        หากรัฐมนตรีมีความพึงพอใจ ก็เชื่อได้ว่าจะเป็นจุดเชื่อมให้พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลยังคงดำรงสถานะพันธมิตร และหนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ลดปัญหาเรื่องเสียงในสภาฯ ที่ไม่รู้ว่าจะเกิด "อุบัติเหตุ" มือหายไปเมื่อไหร่ จากความไม่พอใจภายในรัฐบาล ท่ามกลางสถานการณ์เสียงปริ่มน้ำที่กลไกของ "วิปรัฐบาล" ยังไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

        จึงไม่แปลกที่ พล.อ.ประยุทธ์จะลงมาคลุกวงในมากขึ้น หลังจากที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานยุทธศาสตร์ และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รับฟังปัญหาและพยายามแก้ไข แต่ในที่สุดก็ต้องพึ่งผู้มีอำนาจตัวจริง ซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรี        

        ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์กระชับความสัมพันธ์ขึ้นหลายเวที ไล่ตั้งแต่ในเวทีงานเลี้ยงสังสรรค์สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล ที่มีภาพจับมือ โอบไหล่ กอดคอ ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พร้อมร้องเพลงที่มีความหมายของความสามัคคี กลายเป็นภาพความหวานชื่นของแกนนำใน ครม.จากต่างพรรคการเมือง พร้อมตบท้ายด้วยการเปิดใจกับสื่อมวลชนสายทำเนียบรัฐบาลว่า

        "อยากจะยืนยันว่าผมไม่ได้ต้องการอำนาจ ไม่ต้องการผลประโยชน์อะไรทั้งสิ้น สิ่งที่ทำวันนี้ต้องการทำให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าให้ได้ด้วยฝีมือของพวกเรา ฝีมือของรองนายกฯ ที่มาจากหลายพรรคการเมืองต้องทำให้ได้ เรื่องเศรษฐกิจสำคัญที่สุด สิ่งที่จะเกื้อหนุนคือความมั่นคง ความมีเสถียรภาพทางการเมือง เพราะฉะนั้นเรื่องที่ใครพูดกันไปกันมาแล้วจะมาตีกันอยู่อย่างนี้ ผมว่ามันไม่เกิดประโยชน์ อย่ามองว่าแพจะแตกแพจะล่มหรือเปล่า ไม่มีล่มหรอก ถ้าผมยืนอยู่ตรงนี้ไม่มีล่ม จะต้องยืนอยู่ให้ได้ นั่นคือ ครม.ของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ ครม.ของพรรคใดพรรคหนึ่ง พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง" นายกฯ กล่าว

        ตอกย้ำความเป็น "รัฐนาวา" ที่เข้มแข็ง และให้ความเชื่อมั่นในการบริหารงานต่อไปจนครบ 4 ปี โดยมีแนวโน้มจะมีเสียงเข้ามาเพิ่มในการหนุนฝ่ายรัฐบาลมากขึ้น

        แม้ปัจจัยเสี่ยงของรัฐบาลจาก สนิมเนื้อใน ได้ถูกขจัดไปอย่างเร่งด่วน แต่ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องหนักใจคือ "กระแส" ที่ถูกปลุกจากกลุ่มที่ไม่เอาเผด็จการ แนวร่วมของ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ที่มีการขับเคลื่อนการต่อสู้ลงบนท้องถนนอย่างเป็นระบบ

        จะเรียกว่าเป็น "โมเดล" การชุมนุมในต่างประเทศที่ถูกประยุกต์ให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมายในประเทศไทยก็ได้ โดยการเพิ่มหัวเชื้อกระตุ้นให้คนมีปฏิกิริยาต่อต้านผู้มีอำนาจเป็นขั้นเป็นตอนก่อนรอสถานการณ์ให้สุกงอมเพื่อจุดพลุไปสู่ม็อบใหญ่ที่มีพลังตามที่วางเป้าไว้

        เป็นยุทธศาสตร์การชุมนุมที่ไม่ต่างจาก กปปส. และ นปช.ในอดีต แต่มียุทธวิธีที่ต่างกัน เพราะการสร้างการรับรู้ และเข้าถึงพฤติกรรมของผู้ที่อยู่ฝ่ายต้านรัฐบาลนั้นเป็นผู้ที่ใช้โซเชียลมีเดียที่ "เก็ต" กับรสนิยมการชุมนุมในเชิงสัญลักษณ์และเข้ากับยุคสมัย

        ปฏิบัติการ ส่งไม้ จากการไล่ล่าอดีต "สีเทา" ของกองทัพ นับแต่ "ขุมทรัพย์-หม้อข้าว" เงินนอกงบประมาณ ความร่ำรวยของบรรดานายพล การปลุกกระแสต้านการเกณฑ์ทหารแบบเก่า ล้วนแล้วแต่เป็นการ "ปักธง" ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของนิติบัญญัติ และใช้เกม "ในลู่" เพื่อเริ่มต้นไปสู่เป้าหมาย

        ต่อไปด้วยปฏิบัติการ "แฟลชม็อบ" นัดชุมนุมที่สกายวอล์กสยามฯ เป็นลักษณะของผู้ที่เห็นเหมือนกันมารวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมและสลายตัวไป เพื่อเลี่ยง พ.ร.บ.การชุมนุมฯ แต่ได้ผลในเชิงสัญลักษณ์ ทั้งในแง่ของภาพที่มีคนมารวมตัวจำนวนมาก

        แม้ฝ่ายความมั่นคงไม่กังวลกับตัวเลขผู้มารวมตัวในวันนั้นมากนัก เพราะมีการสแกนแล้วพบว่าในจำนวนหลักหลายพัน เป็นกลุ่มคนที่มาชุมนุมทำกิจกรรมประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งที่มีการวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ต่อจากนี้ก่อนถึงการจัดกิจกรรม "วิ่งไล่ลุง" ที่จะมีขึ้นในวันที่ 12 ม.ค.2563 เป็นสิ่งที่น่าสนใจ

        โดยเฉพาะปัจจัยเสริมที่จะนำไปสู่การสร้างพลังเพื่อ "เรียกแขก" ให้ร่วมรายการ "วิ่งไล่ลุง" มากขึ้น รวมไปถึงการตัดสินของศาลในคดีที่เกี่ยวข้องกับ "ธนาธร" และ "พรรคอนาคตใหม่" ด้วย

        แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือ "สถานการณ์แทรกซ้อน" โดยเฉพาะในช่วงต่อเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่มักจะมีพวก "ผสมโรง" เพื่อสร้างสถานการณ์ดิสเครดิตรัฐบาล ที่ "บิ๊กแดง" ก็เคยชี้เป้าไปที่กลุ่มคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

        ซึ่งถูกมองว่าเป็น การรับไม้ เป็นทอดๆ ก่อนจะถึงวัน "ปักธง" บนท้องถนนอย่างแท้จริง ด้วยกิจกรรมที่ยังอยู่ "ในลู่" เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนต่อไป

        นัยแห่งการส่งไม้ต่อเหล่านี้ ส่งผลให้ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้พูดถึง proxy crisis หรือ วิกฤติตัวแทน ในภาพรวมของสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ แม้จะไม่ได้พาดพิงใคร แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธว่า กินความถึงปรากฏการณ์ "วิ่งไล่ลุง" ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้า

        กระนั้นปรากฏการณ์ "รับไม้ต่อ" จะส่งผลให้เกิดพลังในการเขย่าต่อเสถียรภาพต่อรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ได้แค่ไหนนั้น เป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะเอาเข้าจริงการ "จุดพลุ" ของธนาธรนั้นเป็นเรื่องส่วนรวม หรือส่วนตัว เป็นสิ่งที่สังคมยังคลางแคลงใจอยู่ไม่น้อย จึงยังไม่ได้กระตุกต่อม "ไทยเฉย" มากเท่าใดนัก

        การตั้งรับของฝ่ายรัฐบาล และการรุกของฝ่ายต้านต่อจากนี้จึงเป็นสิ่งที่มีความต่อเนื่องที่ลากยาวจากปลายปี 62 ไปสู่ปี 63 ที่การเมืองในและนอกสภาฯ น่าจะร้อนแรงและต้องจับตาดูอย่างตาไม่กะพริบ. 

                                                                                  ทีมข่าวการเมือง

       "แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือ สถานการณ์แทรกซ้อน โดยเฉพาะในช่วงต่อเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่มักจะมีพวกผสมโรง เพื่อสร้างสถานการณ์ดิสเครดิตรัฐบาล ที่บิ๊กแดงก็เคยชี้เป้าไปที่กลุ่มคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย"


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"