มีความพยายามมาหลายรัฐบาลที่จะออกกฎหมายจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ประชาชนต่างก็เข้าใจว่าจะเป็นการจัดเก็บภาษีจากคนรวยที่มีบ้านและที่ดินมากมาย แล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ ปล่อยให้เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า ถ้าหากมีการเก็บภาษีจากที่ดินที่ไม่ได้ทำประโยชน์เหล่านี้ ก็จะทำให้เจ้าของที่ดินมีความคิดที่จะทำประโยชน์จากที่ดินที่ตนมีอยู่ อย่างน้อยก็ใช้เป็นพื้นที่ทำการเกษตร ให้มีผลผลิตที่จะเพิ่ม GDP ของประเทศ แต่บัดนี้กฎหมายที่ออกมาทำให้ประชาชนผิดหวัง และมองว่าเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เพราะเศรษฐีตัวจริงที่มีบ้านใหญ่โตราคากว่า 40 ล้านเพียงหลังเดียว จะไม่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้ แต่ชนชั้นกลางที่มีรายได้น้อยกว่าเศรษฐี แต่มีบ้านมากกว่าหนึ่งหลัง รวมกันกว่า 10 ล้าน หรืออาจจะไม่ถึง 10 ล้านด้วยซ้ำ เป็นผู้ที่ต้องเสียภาษี แทนที่จะมาเก็บว่ามีกี่หลัง แล้วหลังที่สองเป็นต้นไปจะต้องเสียภาษี ทำไมไม่เอายอดรวมของทุกหลัง ถ้าหากเกิน 50 ล้าน ก็ให้เขาเสียภาษีในส่วนที่เกินจาก 50 ล้าน ถ้าหากไม่เกิน 50 ล้าน จะมีกี่หลังก็ไม่ต้องเสีย แบบนี้น่าจะเป็นธรรมกว่า เป็นการเก็บภาษีจากคนที่รวยจริง ไม่ใช่เก็บจากชนชั้นกลางที่มีบ้านมากกว่าหนึ่งหลังด้วยเหตุผลที่ต่างกัน
นาย ก. อาจจะมีบ้านอยู่ชานเมืองราคาไม่เกิน 5 ล้าน แต่เดินทางมาทำงานลำบากเพราะรถติด จึงมีความพยายามเก็บเงินซื้อคอนโดฯ ในเมืองใกล้ที่ทำงาน ติดสถานีรถไฟฟ้า เอาไว้อยู่ในวันทำงาน ราคาไม่ถึง 3 ล้าน คอนโดฯ ดังกล่าวกลายเป็นบ้านหลังที่สองที่นาย ก.ก็จะต้องเสียภาษี ขณะที่นาย ข. มีบ้านหลังเดียว 49 ล้าน รวยกว่านาย ก. ตั้งเยอะ แต่นาย ข.ไม่ต้องเสียภาษี แบบนี้เป็นธรรมไหมคะ ลองคิดดูค่ะ คณิตศาสตร์อย่างง่ายเลยนะคะ นางสาว ค. เป็นสาวโสด ไม่ได้แต่งงานมีบ้านราคา 4 ล้าน ตัวคนเดียว เกรงว่าแก่ไปจะไม่มีใครดูแล จึงต้องหาทางมีรายได้หลังเกษียณ เลยไปซื้อคอนโดฯ ขนาดไม่เกิน 2 ล้านไว้ 2 หลัง เป็นคอนโดฯ อยู่ใกล้มหาวิทยาลัย เพื่อให้เด็กนักศึกษาเช่าในช่วงเรียน มหาวิทยาลัย ทั้งบ้านและคอนโดฯ รวมกันไม่ถึง 10 ล้าน นางสาว ค. ต้องเสียภาษีคอนโดฯ ทั้ง 2 ห้อง ทำไมไม่ออกกฎหมายกำหนดให้คนที่มีบ้านให้คนเช่าต้องจดทะเบียน ต้องออกใบเสร็จ เพื่อรายงานรายได้จากค่าเช่าล่ะคะ เป็นภาษีเงินได้ ไม่ใช่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เธอมี และมูลค่าน้อยกว่าของนาย ข. ที่มีบ้านหลังเดียวเกือบ 50 ล้าน แทนที่จะมาเก็บเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มาจัดระเบียบการมีบ้านเช่า และให้จ่ายภาษีเงินได้จากค่าเช่าน่าจะเป็นธรรมกว่านะ
คุณตา ง. และคุณยาย จ. มีเงินบำเหน็จจากการเกษียณ คิดแล้วเอาเงินไปฝากธนาคารก็คงได้ดอกเบี้ยไม่พอจะเลี้ยงชีพรายเดือน เลยตัดสินใจเอาเงินบำเหน็จที่ได้มากับเงินออมที่ได้ ซื้อตึกแถวไว้ให้คนทำการค้า พอจะมีรายได้เป็นเงินเลี้ยงชีพ แต่จะต้องมาจ่ายภาษีของการถือครองตึกแถว ให้เช่า และถ้าผู้เช่าต้องการเอาค่าเช่าไปหักเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อลดภาระภาษี คุณตาและคุณยายก็ต้องรายงานรายได้ ต้องเสียภาษีเงินได้ และเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอีก แบบนี้เป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อนที่ไม่เป็นธรรมกับประชาชนหรือเปล่าค่ะ เพราะจะต้องเสียทั้งภาษีเงินได้ และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แบบนี้คนแก่ควรคิดจะออมเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นหนทางที่ดีในการจะทำให้มีรายได้ไว้เลี้ยงชีพยามชรา คนทำตึกแถวขายก็จะขายยากขึ้น คนค้าขายไม่ได้มีความสามารถซื้อตึกแถวได้ทุกคนไป ต้องอาศัยเช่าตึกแถวของคนอื่น ถ้าหาเช่าไม่ได้ ก็ไม่อาจจะทำธุรกิจได้ เป็นการทำลายโอกาสของคนที่จะเป็น SME ที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เคยมองประเด็นนี้ไหมคะ
นาง ช. เป็นแม่บ้าน มีบ้านอยู่ในหมู่บ้าน เลยใช้พื้นที่หน้าบ้านเป็นร้านขายของชำในหมู่บ้าน เป็น SME บ้านนั้นจะเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทันที และจะมีสรรพากรไปประเมินรายได้จากการขายของร้านชำอีกด้วย ก็หมายความว่าเธอต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราของอาคารพาณิชย์ และต้องเสียภาษีเงินได้จากการทำร้านชำเล็กๆ นั้นด้วย มันมากไปไหมคะ สำหรับแม่บ้านที่คิดจะช่วยหารายได้ให้กับทางบ้าน และผันตัวเองจากแม่บ้านธรรมดามาเป็นผู้ประกอบการ SME อ่านกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเสร็จ SME คงหายไปหลายราย เพราะต้องเสียภาษีซ้ำซ้อน นั่งอยู่บ้านเฉยๆ ดีกว่า GDP ของประเทศก็หายไปด้วยนะคะ
นาย ซ. และ นาง ฉ. สองผัวเมีย มีลูก 3 คน มีบ้านราคา 5 ล้านบาท พยายามเก็บเงินซื้อคอนโดฯ ราคา 3 ล้านบาทให้ลูก 3 คน รวม 9 ล้านบาท เมื่อรวมกับบ้านพ่อและแม่แล้ว มีทรัพย์สินเป็นชื่อนาย ซ. ผู้เป็นพ่อ รวมทั้งบ้านและคอนโดฯ ที่ซื้อให้ลูกเป็นเงิน 14 ล้านบาท ถ้าหากไม่รีบโอนให้ลูกทั้ง 3 คน นาย ซ. จะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทั้งๆ ที่บ้านและคอนโดฯ รวมกันยังมีราคาน้อยกว่าบ้านหลังเดียวของนาย ก. ที่ราคา 49 ล้าน ที่นาย ซ. ยังไม่โอนนั้น เพราะเป็นห่วงกลัวลูกเอาสมบัติไปขาย หรือลูกบางคนอาจจะไม่น่าไว้ใจว่า เมื่อได้สมบัติไปแล้ว ยามเมื่อพ่อแม่แก่เฒ่า ไม่มีรายได้แล้ว ลูกๆ จะเลี้ยงดูพ่อแม่หรือไม่ จึงตั้งใจจะให้เป็นมรดกแก่ลูกยามเมื่อเสียชีวิตไปแล้ว แต่หากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นเช่นนี้ เห็นที นาย ซ. จะต้องรีบโอนคอนโดฯ ให้ลูกทั้ง 3 แล้วไปเสี่ยงเอาว่าลูกจะเก็บรักษาสมบัติที่พ่อแม่มอบให้ไว้ได้หรือไม่ และต้องหวังว่าเมื่อพ่อแม่แก่เฒ่า ลูกที่ได้สมบัติไปแล้วจะยินดีเลี้ยงดูพ่อแม่ที่ไม่มีรายได้แล้ว
คงมีอีกหลายกรณีที่ผู้เสียภาษีที่เป็นชนชั้นกลาง จะรู้สึกว่าการจัดเก็บภาษีตามกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ไม่เป็นธรรม ถ้าหากไม่นับจำนวนหลัง แต่คิดแบบเหมารวม ใครมีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะกี่หลังก็ตาม หากราคาประเมินรวมกันเกิน 50 ล้านต้องเสียภาษีส่วนที่เกิน ส่วนคนที่รวมทุกหลังและทุกผืนที่มีไม่เกิน 50 ล้านก็ไม่ต้องเสีย แบบนี้คนรวยจะต้องเสีย แต่ชนชั้นกลางที่พยายามออมด้วยการลงทุนกับอสังหาริมทรัพย์จะรู้สึกว่าเป็นธรรมมากกว่า ส่วนหลังไหนถูกนำไปใช้เป็นเชิงพาณิชย์ ทำให้เกิดรายได้ ก็เก็บภาษีเงินได้จากการค้าขายหรือจากค่าเช่า โดยจะต้องมีระบบจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ ตอนนี้มีคนมากมายที่มีบ้าน มีคอนโดฯ มีห้องให้เช่า แต่ไม่ได้เสียภาษี ถ้าหากเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บภาษีเงินได้ตรงนี้ น่าจะเป็นธรรมมากกว่า และรัฐบาลก็จะไม่ถูกด่า และไม่เสียคะแนนเสียง ถ้าหากยังยืนกรานที่จะเก็บตามที่ประกาศมา เสียคะแนนแน่ค่ะ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |