ภาพ"จ้อง" คว้ารางวัลเกียรติยศประเภทสัตว์ป่า
“สัตว์ป่า” และ “ป่าไม้” เป็นเครื่องบ่งชี้ระบบนิเวศ และสะท้อนความสมบูรณ์งดงามของธรรมชาติที่น่าหลงใหลที่ยังคงหลงเหลืออยู่บนโลกของเรา และภาพถ่ายถือเป็นเครื่องมือบันทึกถ่ายทอดเรื่องราวความสำคัญของพันธุ์พืช และสัตว์ป่าหายากที่นับวันจะสูญสลายหายไปอย่างรวดเร็ว อาทิ “ป่าพรุ” ป่าที่มีพื้นที่ลุ่มน้ำขัง ดินเป็นหล่มเลนมีซากอินทรีวัตถุทับถมทำให้ดินยุบตัวได้ง่าย มีลักษณะเด่นแตกต่างจากป่าอื่นๆ มีพันธุ์พืชที่เป็นเอกลักษณ์ ปัจจุบันเหลือเพียงไม่กี่แห่งในไทย และเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ทำให้ป่าพรุที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ถูกทำลายไปอย่างมาก หรือเรื่องราวของสัตว์ป่าบางชนิดเช่น “เสือดาว” ที่พบว่าเหลือเพียงไม่กี่ตัวในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน รวมถึงสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ทั้งพืชและสัตว์อีกมากที่คนต่างมองข้ามและไม่เคยรู้จักมาก่อน จึงทำให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมด้วยบริษัทในเครือฯ ได้แก่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร บริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด และบริษัท ซีพี บีแอนด์เอฟ (ไทยแลนด์) จำกัด จัดการประกวดภาพถ่าย “สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ” ครั้งที่ 25 ประจำปี 2562 ภายใต้โครงการปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
ในปีนี้มีภาพที่ส่งเข้าร่วมประกวดทั้งหมด 2,061 ภาพ แบ่งเป็นภาพสัตว์ป่าจำนวน 1,224 ภาพ และภาพป่าไม้ 837 ภาพ และได้ประกาศผลรางวัลเกียรติยศประเภทสัตว์ป่า ได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ ภาพ “จ้อง” ของนายฑีฆายุ วีระวุฒิ และรางวัลเกียรติยศประเภทป่าไม้ ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้แก่ ภาพ “ป่าพรุครวนเคร็ง” โดยนายปุลิน เวชโช และนอกจากนี้ยังมีรางวัลยอดเยี่ยมอื่นๆ อีกมากกว่า 20 รางวัล
นายฑีฆายุ วีระวุฒิ เจ้าของภาพ"จ้อง"ที่คว้ารางวัลเกียรติยศประเภทป่าไม้
|
นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กิจกรรมการประกวดภาพถ่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ “สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ” เป็นหนึ่งในหลายกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความสามารถด้านการถ่ายภาพได้ถ่ายทอดความงดงามของธรรมชาติและสัตว์ป่า ส่งต่อถึงประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรเหล่านี้ไว้
ด้าน ดร.นริศ ธรรมเกื้อกูล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล เครือเจริญโภคภัณฑ์ ประธานผู้บริหาร บริษัท ซีพี บีแอนด์เอฟ (ไทยแลนด์) จำกัด และรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด กล่าวว่า การประกวดภาพถ่ายครั้งนี้ ก็เพื่อปลูกจิตสำนึกและสร้างความตระหนักรู้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสัตว์ป่าและป่าไม้ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายที่ยั่งยืนของเครือซีพีและของโลก เพื่ออนุรักษ์ไว้ให้เป็นมรดกแก่คนรุ่นต่อไป
“การประกวดในปีนี้นอกเหนือจากเรื่องป่าไม้ ในส่วนของภาพสัตว์ เราเน้นเรื่องพฤติกรรมของสัตว์ ซึ่งหมายถึงการดำรงชีวิตของเขา ผมเองก็ชอบดูรายการที่เกี่ยวกับสัตว์ ผมพบว่ามนุษย์เราเลียนแบบสัตว์เยอะมาก เช่น เรือดำน้ำ ก็เลียนแบบปลาวาฬ เครื่องบินก็เลียนแบบนก แม้กระทั่งกลยุทธ์ในการทำธุรกิจก็ยังเลียนแบบหมาป่า เช่น องค์กรหนึ่งค่านิยมขององค์กร เขาเปรียบเทียบพนักงานในองค์กรเป็นหมาป่า ภารกิจของหมาป่าก็คือการล่า ฉะนั้นผมคิดว่านอกจากภาพถ่ายสื่อสารสร้างจิตสำนึกแล้ว สัตว์ป่าก็ยังมีค่าในการเป็นครูให้เราได้ศึกษาในด้านต่างๆ อีกด้วย” ดร.นริศ กล่าว
สำหรับภาพถ่ายที่ได้รับรางวัลเกียรติยศประเภทสัตว์ป่า ภาพ “จ้อง” ของ นายฑีฆายุ วีระวุฒิ เป็นภาพของเสือดาว ที่ถ่ายได้จากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเจ้าของภาพได้ถ่ายไว้เมื่อช่วงต้นปี 2561 เขาบรรยายภาพถ่ายเอาไว้ว่า “ภาพเสือดาวหนุ่มเดินด้วยท่าทางสุขุม แต่แฝงไว้ด้วยแววตาที่ดุดัน ขณะกำลังเข้ากินเหยื่อ”
นายฑีฆายุ วีระวุฒิ เจ้าของภาพ"จ้อง"ที่คว้ารางวัลเกียรติยศประเภทป่าไม้
|
ฑีฆายุ เล่าว่า นับเป็นครั้งแรกที่ส่งภาพเข้ามาประกวดแล้วได้รางวัลใหญ่ ตัวเขาเองไม่ใช่ช่างภาพมืออาชีพ ประกอบธุรกิจส่วนตัว แต่ชอบที่เข้าป่าชมธรรมชาติและสัตว์ป่ามาตั้งแต่เด็ก และชอบที่จะบันทึกภาพธรรมชาติเอาไว้เพราะเข้าป่าไปแล้ว เราได้พบกับพืชพรรณและสัตว์นานาชนิดจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้เลยทำให้ตามถ่ายภาพสัตว์มาเป็นเวลากว่า 11 ปี โดยสถานที่ที่ไปก็เขาใหญ่บ้าง แก่งกระจานบ้าง และอีกหลากหลายที่ สัตว์ที่ถ่ายได้ก็มี เสือโคร่ง เก้ง กวาง กระทิง และสัตว์อื่นๆ ที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่สำหรับเสือดาวที่ส่งประกวดครั้งนี้ เพิ่งถ่ายได้ครั้งแรกในชีวิต และกว่าจะพบก็ใช้เวลาไปเกือบ 11 ชั่วโมงในหนึ่งวัน ตอนนั้นน่าจะกำลังกินซากกวางอยู่ จะเห็นพฤติกรรมของมันผ่านภาพถ่ายซึ่งมีแววตาดุดัน วันนั้นถ่ายได้เพียงตัวเดียว เพราะสัตว์ป่ามีสัญชาตญาณในการระวังภัยสูงมาก ไม่เหมือนที่เราดูสารคดีในแอฟริกาที่สัตว์จะคุ้นเคยกับรถกับคน
ขณะที่ภาพถ่ายที่ได้รับรางวัลเกียรติยศประเภทป่าไม้ ภาพ “ป่าพรุครวนเคร็ง” ของนายปุลิน เวชโช เป็นภาพที่ถ่ายป่าพรุ อำเภอชะอวด จ.นครศรีธรรมราช หลังจากเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ภาพ"ป่าครุครวนเคร็ง"
นายปุลิน เล่าว่า พรุควนเคร็ง เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ตอนกลาง มีเนื้อที่ ประมาณ 223,320 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่คาบเกี่ยวของ 3 จังหวัด ตั้งแต่ลุ่มน้ำปากพนังในเขตอำเภอเฉลิมพระเกียรติ เชียรใหญ่ หัวไทร ชะอวด ร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ติดต่อกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ไปจนถึงพื้นที่ตอนบนของทะเลสาบสงขลา จังหวัดสงขลา พรุควนเคร็งเป็นแหล่งน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศ เป็นแหล่งทรัพยากรสัตว์น้ำ ทรัพยากรอาหาร และแหล่งทำมาหากินของคนใต้ ตอนกลาง เปรียบเสมือน 'คลังอาหารธรรมชาติ' ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นแหล่งหล่อเลี้ยงชีวิตคนเท่านั้น พรุควนเคร็งยังคงเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของ สัตว์ป่า สัตว์บก และสัตว์น้ำอีกหลากหลายชนิด และเนื่องจากเป็นคนพื้นที่ นครศรีธรรมราช ได้เห็นผลกระทบจากไฟไหม้ป่าก็รู้สึกเศร้า จึงอยากจะสื่อสารภาพของป่าแห่งนี้ออกไปให้ผู้คนได้เห็นความสำคัญของป่าไม้
ปุลิน เวชโช เจ้าของภาพที่ถ่ายป่าพรุ อำเภอชะอวด จ.นครศรีธรรมราช
เจ้าของภาพเล่าต่อว่า ตอนที่ถ่ายภาพนี้ เป็นช่วงหลังเกิดไฟไหม้ โดยพานักข่าวเข้าไปทำข่าว เพราะเข้าไปแล้วจะหาทางออกยาก พาไปดูตรงหอชมวิวจะเห็นภาพป่าไม้จากมุมสูงชัดเจน เลยถ่ายภาพมาเป็นอย่างที่เห็นคือ ในภาพมีสีของใบไม้สองสี คือฝั่งหนึ่งเป็นสีเขียว อีกฝั่งสีน้ำตาลที่โดนไฟไหม้ ต้นไม้ที่ถ่ายคือเป็นต้นเสม็ดขาวไหม้หมด บางต้นล้มตาย ขณะที่หลายต้นโชคดีที่ยังยืนต้นสามารถคืนชีวิตกลับมาใหม่ได้ ตอนนี้เริ่มกลับมาสีเขียวบ้างหลังจากได้รับน้ำฝน
“ผมทำอาชีพอัดขยายภาพ แต่ก็ชื่นชอบถ่ายภาพ มาตั้งแต่เด็ก ภาพส่วนใหญ่ก็จะเป็นแนววิถีชีวิต ทิวทัศน์ทั่วไป ตามจริงไม่ค่อยได้นำภาพไปประกวดที่ไหน ก็รู้สึกไม่คาดคิดที่ภาพนี้ได้รับรางวัล ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะว่าตอนนี้มีเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ไหนจะป่าอเมซอน ที่เราเห็นภาพสัตว์ในป่าต้องหนีตาย ฉะนั้นผมก็อยากฝากคนรุ่นใหม่ให้รักธรรมชาติให้มาก ไม่จำเป็นต้องไปปลูกป่า ปลูกต้นไม้ซะทีเดียว แต่ขอให้ไม่ทำลายป่าไม้ ไม่ทิ้งขยะทำลายสิ่งแวดล้อมก็พอ” นายปุลิน กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายริศ ธรรมเกื้อกูล ยังกล่าวอีกว่า ตามภาพประกวดในโครงการจะนำไปตกแต่งร้านกาแฟ Jungle Cafe สานต่อแนวคิด "DRINK MORE FOR FOREST" ทั้งในประเทศไทยและต่างปะเทศ อาทิ ลาว และกัมพูชา โดยมุ่งเน้นที่จะขยายการรับรู้ด้วยการคัดเลือกภาพถ่ายจากที่ส่งเข้ามาประกวด มาใช้ตกแต่งร้าน ของที่ระลึกและสื่อต่างๆ ภายในร้าน ซึ่งในแต่ละภาพจะมีจุดให้ความรู้ผ่านรูปแบบคิวอาร์โค้ด โดยมีข้อมูลรายละเอียดของภาพระบุชัดเจน นอกจากนี้ยังมีช่องทางออนไลน์ทั้งเฟซบุ๊ค อินสตาแกรม ในชื่อ Jungle Cafe เพื่อถ่ายทอดความงดงามเหล่านี้สู่คนรุ่นใหม่ และยังเตรียมที่จะนำภาพถ่ายจัดทำเป็นหนังสือพร้อมรายละเอียด ชื่อ "สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ" ประจำปี 2562 มาเผยแพร่อีกด้วย
ทั้งนี้ สามารถชมภาพถ่ายรางวัลเกียรติยศยอดเยี่ยม ดีเด่น และภาพถ่ายโดดเด่นในโครงการได้ที่นิทรรศการบริเวณชั้น 3 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันนี้ ถึง 15 ธันวาคมนี้
-----------------------
1-2.บรรยากาศนิทรรศการ
3.ฑีฆายุ วีระวุฒิ เจ้าของภาพ"จ้อง"
4.ภาพ"จ้อง" คว้ารางวัลเกียรติยศประเภทสัตว์ป่า
5.ภาพ"ป่าพรุครวนเคร็ง" รางวัลเกรียติยศประเภท ป่าไม้
...
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |