วงการศาลสะเทือนอีกรอบ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ข้องใจผลเลือกตั้ง ก.บ.ศ.ชั้นอุทธรณ์ ร่อนสารถึง “ไสลเกษ” วอนเช็กระบบไอโหวต งงทำไมรวมคะแนนล่าช้าถึง 2 ชั่วโมง ที่สำคัญผลไม่ตรงตามพยานบุคคลที่แจ้ง ก.ต.เตรียมนำเรื่องเข้าที่ประชุม 24 ธ.ค.นี้ “สราวุธ” ลั่นระบบโปร่งใสตรวจสอบได้
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. มีความเคลื่อนไหวจากกรณีเมื่อช่วงต้นเดือน ธ.ค. นายบุญเขตร์ พุ่มทิพย์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ลงสมัครรับเลือกเป็นกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ชั้นอุทธรณ์ (เลือกซ่อม 1 ตำแหน่ง) ได้ยื่นหนังสือถึงนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา, คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) และ ก.บ.ศ.ตรวจสอบระบบประมวลผลการลงคะแนนเลือก ก.บ.ศ. ชั้นอุทธรณ์ 1 คน เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562 ซึ่งเปลี่ยนวิธีลงคะแนนด้วยบัตรกระดาษ มาใช้วิธีการลงผลคะแนนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่ลงคะแนนผ่านมือถือในแอปพลิเคชัน i-Vote และเก็บข้อมูลการลงคะแนนด้วยระบบบล็อกเชน โดยนายบุญเขตร์มีข้อสงสัยในการประมวลผลนับคะแนนว่าจะผิดปกติ ทำให้ผลการเลือกตั้งไม่ตรงตามความจริงหรือไม่
ทั้งนี้ หนังสือร้องเรียนของนายบุญเขตร์มีเนื้อหาสรุปว่า ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมจัดให้เลือกตั้ง ก.ต. และ ก.บ.ศ. เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ลงคะแนนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และเก็บข้อมูลในระบบบล็อกเชน ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถลงคะแนนจากโทรศัพท์มือถือตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. และทราบผลในทันทีเมื่อสิ้นสุดเวลาดำเนินการเลือกตั้ง ขณะที่ในวันดังกล่าวเมื่อทราบผลการลงคะแนนเลือกตั้ง ก.ต. ที่สำนักงานศาลยุติธรรมประกาศในเวลาประมาณ 16.26 น.แล้ว ในเวลา 16.34 น. ซึ่งเป็นเวลาหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาเลือกตั้ง 34 นาที ได้รับแจ้งทางแอปพลิเคชันไลน์จากเจ้าหน้าที่ของสำนักงานศาลยุติธรรม สรุปได้ว่าทราบผลการลงคะแนนเลือกตั้ง ก.บ.ศ.แล้ว กระทั่งเวลา 18.00 น.เศษ หลังสิ้นสุดการเลือกตั้ง 2 ชั่วโมงเศษ สำนักงานศาลยุติธรรมประกาศผลการลงคะแนนเลือกตั้ง ก.บ.ศ. ซึ่งแตกต่างจากผลการลงคะแนนเลือกตั้งที่ได้รับทราบจากพยานบุคคลดังกล่าว
“ปกติการประมวลผลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์หลักและสำรองหลายเครื่อง เพื่อช่วยประมวลผล และเพื่อป้องกันระบบล่มในกรณีฉุกเฉิน จึงทำให้การประมวลผลรวดเร็ว แต่การประกาศผลการลงคะแนนที่ล่าช้าถึง 2 ชั่วโมงเศษ ย่อมไม่ใช่การประกาศผลการลงคะแนนในทันที และเมื่อพิจารณาประกอบกับผลการเลือกตั้งที่แตกต่างจากที่ได้รับแจ้งจากพยานบุคคล ทำให้มีเหตุให้สงสัยว่าอาจมีความผิดปกติเกิดขึ้นในการประมวลผลการลงคะแนนเลือกตั้ง อันอาจมีผลถึงความถูกต้องของผลการเลือกตั้ง”
หนังสือระบุด้วยว่า หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นจริงในการประมวลผลการลงคะแนนเลือกตั้งดังกล่าว ไม่ว่าอาจเกิดจากระบบประมวลผลอิเล็กทรอนิกส์ หรืออาจเกิดจากการกระทำของบุคคล ย่อมทำให้ผลการเลือกตั้งไม่ตรงตามความเป็นจริง ซึ่งนอกจากทำให้ผู้มีสิทธิได้รับเลือกตั้งเสียสิทธิที่อาจได้รับการเลือกตั้งตามความเป็นจริงแล้ว ยังทำให้ผลการเลือกตั้งไม่ตรงกับเจตนาผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง และอาจทำให้ผลการเลือกตั้งเป็นโมฆะ ซึ่งที่สำคัญที่สุดคือกระทบถึงความน่าเชื่อถือของสถาบันตุลาการศาลยุติธรรม จึงขอเสนอให้ตรวจสอบเพื่อให้ทราบว่าผลการเลือกตั้งที่แท้จริงเป็นอย่างไร เพราะหลักฐานการลงคะแนนต้องเก็บไว้ 90 วันนับแต่วันประกาศผล จึงจำเป็นต้องตรวจสอบด้วยความรวดเร็ว
สำหรับการเลือก ก.บ.ศ.ดังกล่าว ตามผลที่ได้ประกาศโดยสำนักงานศาลยุติธรรม มีผู้พิพากษาใช้สิทธิลงคะแนน 2,878 คน คิดเป็น 62.28% จากจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนน 4,621 คน โดยผู้ที่ได้รับเลือก ก.บ.ศ.ชั้นอุทธรณ์ 1 คน ได้คะแนนสูงสุด 1,465 คะแนน ส่วนที่ 2 ได้ 602 คะแนน และนายบุญเขตร์ ได้คะแนนลำดับที่สาม 231 คะแนน
รายงานแจ้งว่า ในส่วนของการร้องเรียนนั้นไม่ได้โต้แย้งในคุณสมบัติผู้ลงสมัครคนอื่นๆ แต่ต้องการให้มีการตรวจสอบระบบนับคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือเป็นขอตรวจสอบระบบครั้งแรกจากที่สำนักงานศาลยุติธรรมได้เริ่มนำระบบ i-Vote มาใช้กับการเลือกคณะกรรมการชุดต่างๆ ตั้งแต่เดือน พ.ค.2562
นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีการขอตรวจสอบระบบว่า ระบบลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์นี้ จะมีเอาต์ซอร์สเอกชนภายนอกดูแลระบบบล็อกเชน สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมดที่ทำด้วยความโปร่งใส ซึ่งในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินการคัดเลือก ก.ต./ก.บ.ศ./ก.ศ.นั้น ก็ได้มีหนังสือแจ้งไปยังเอาต์ซอร์สให้ตรวจสอบระบบ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเทคนิคแล้ว ในการประชุม ก.ต. วันที่ 24 ธ.ค.นี้ หากสอบถามในรายละเอียดก็มีข้อมูลพร้อมนำเสนอทั้งหมดที่ตรวจสอบมาแล้ว
“ที่เรานำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ลงคะแนนและประมวลคะแนนนั้น สร้างความสะดวกจากที่ต้องส่งบัตรคะแนนทางไปรษณีย์จากทั่วประเทศมานับยังสำนักงานศาลยุติธรรมนี้ ซึ่งช่วยลดแรงงานคนนับบัตร และลดเวลาที่ปกติใช้เวลานานเป็นวันๆ โดยตามการประเมินผลระบบพบว่า จากการเลือกคณะกรรมการทั้ง 3 ก.ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ใช้คนลดลง 279 คน และเวลาทำงานลดลง 47 วัน ประหยัดค่าใช้จ่ายลง 347,420.17 บาท”
นายสราวุธยืนยันว่า การลงคะแนนระบบอิเล็กทรอนิกส์ของผู้พิพากษาแต่ละคนผ่านมือถือก็ต้องมีรหัส OTP เฉพาะไม่เหมือนกัน หากจะมองว่าเป็นการทุจริตจึงเป็นไปได้ยาก โดยขอย้ำว่าการนำระบบมาใช้นั้นเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ได้มีประโยชน์กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือเพื่อประโยชน์ของใคร ขณะที่ไม่ว่าจะระบบใดก็พร้อมตรวจสอบได้ตรงไปตรงมา ไม่มีเรื่องการช่วยเหลือใคร.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |