ผมเอาหน้าหนึ่งของนิวยอร์กไทมส์วันที่ 19 ธันวาคม 2019 เทียบให้ดูกับหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 1998
ให้เห็นว่าสองคนนี้เผชิญชะตากรรมเดียวกัน ห่างกัน 21 ปี
ส่วนชะตากรรมของโดนัลด์ ทรัมป์จะจบเหมือนบิล คลินตัน (คือรอดตายเพราะเสียงในวุฒิสภาไม่พอจะปลดเขาออกจากตำแหน่ง) หรือไม่ อีกไม่นานก็รู้
ส่วนอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกคนหนึ่งที่โดนกระบวนการไต่สวนเพื่อถอดถอนหรือ impeachment เหมือนกัน คือ แอนดรูว์ ยอห์นสัน ซึ่งก็จบลงด้วยการสามารถเอาตัวรอดจากการถูกปลดเหมือนกับคลินตัน
กรณีของยอห์นสันเกิดในปี 1868 หรือ 151 ปีก่อนหน้านี้
ทรัมป์กลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 3 ในประวัติศาสตร์การเมืองกว่า 230 ปี ที่โดนสภาผู้แทนราษฎรมีมติเสียงส่วนใหญ่ให้ตั้งข้อกล่าวหาที่นำไปสู่การไต่สวนเพื่อถอดถอนในวุฒิสภา
ริชาร์ด นิกสันลาออกปี 1974 หรือ 45 ปีก่อน...ก่อนที่กระบวนการ impeachment จะเริ่ม เพราะเขาเชื่อว่าอาจจะไม่รอดหากตัดสินใจอยู่ต่อสู้ทางการเมือง
เมื่อวันพฤหัสฯ เวลาบ้านเรา สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ลงมติ 230-197 สำหรับมาตราที่ 1 ที่กล่าวหาทรัมป์ว่าใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่อย่างผิดกฎหมาย และ 229-198 สำหรับมาตราที่ 2 ที่กล่าวหาว่าทรัมป์พยายามจะขัดขวางกระบวนการสอบสวนของสภาคองเกรส
เสียงเกินครึ่งของสภาล่างอยู่ที่ 216 เท่านั้น
ตามกติกาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ในกระบวน impeachment นั้น สภาล่างทำหน้าที่เป็นอัยการ และสภาสูงทำหน้าที่เป็นศาล
วุฒิสมาชิก 100 คนทำหน้าที่เป็นคณะลูกขุน
จากนี้ไปประธานสภาผู้แทนราษฎรคือ แนนซี เพโรซี จะแต่งตั้งคณะอัยการจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีกี่คนกฎหมายไม่ได้บอกไว้ สมัยที่ Clinton เป็นผู้ถูกกล่าวหานั้นฝ่ายอัยการมี 13 คน
ทรัมป์ก็คงจะตั้งทีมทนายสู้คดี ทั้งฝ่ายอัยการและฝ่ายทนายของผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิ์ซักค้านพยานของทั้ง 2 ด้าน
ที่น่าสนใจคือ ประธานศาลสูงซึ่งขณะนี้คือ ยอห์น โรเบิร์ตส์นั่งบัลลังก์เป็นประธานการไต่สวน
จึงจะเห็นได้ว่า กระบวนการนี้ถูกออกแบบมาโดยให้ฝ่ายบริหารต้องถูกตรวจสอบทั้งโดยจากรัฐสภา และศาล และยังให้ทั้ง 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาคานอำนาจกันเองอีกด้วย
ถามว่าสุดท้ายแล้ว ทรัมป์จะโดนถอดถอนไหม
คำตอบคือยาก แต่แค่ "อัยการสั่งฟ้อง" เท่านั้นก็บาดเจ็บสาหัสแล้ว เพราะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองว่าเป็นประธานาธิบดีคนที่ 3 ที่โดนตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการ
ที่ว่าปลดทรัมป์ยากเป็นเพราะในวุฒิสภาวันนี้มี Republican 53 คน Democrats 45 คน และ วุฒิสมาชิกอิสระ 2 คน
แต่หากเกิดเหตุไม่คาดฝันและวุฒิสภามีมติถอดถอน จะเป็นไปตามบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญ (Amendment) ที่ 25th รองประธานาธิบดี Mike Pence ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทน โดยจะแต่งตั้งบุคคลขึ้นมาเป็นรองประธานาธิบดี หลังจากได้รับการรับรองจากทั้ง 2 สภา
นอกจากถอดถอนแล้ว วุฒิสภายังอาจมีมติต่อจากนั้นไม่ให้สิทธิ์ Trump ลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีกด้วย
ทรัมป์จะถูกปลดได้ก็ด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 (67 เสียง) ของวุฒิสมาชิก
นั่นแปลว่าจะต้องมีสมาชิกวุฒิสภาพรรค Republican ถึง 20 คน แปลงร่างเป็น "งูเห่า" มายกมือข้างเดียวกับ Democrats ซึ่งเกือบจะเป็นไปไม่ได้
ดูจากการโหวตในสภาล่าง ส.ส.รีพับลิกันเหนียวแน่น ไม่มีใครแตกแถวเลย ยกมือให้ทรัมป์หมด
มีแต่ ส.ส.เดโมแครต 2 คนที่แหกโผไม่ยกมือสนับสนุนการ impeach ทรัมป์ด้วยซ้ำไป
แต่แม้ท้ายที่สุดทรัมป์จะไม่ถูกถอดถอน แต่การที่สภาล่างผ่านญัตตินี้อย่างสบายๆ ก็ทำให้เห็นว่าเขาอยู่ในฐานะที่ง่อนแง่น และอาจมีผลต่อการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า
ทรัมป์ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ได้รับเลือกตั้งสมัยที่สอง เพราะหากแพ้อาจจะโดนข้อหามากมายตามมา
ทรัมป์โวยลั่นว่าพรรคเดโมแครตเล่นเกมสกปรก ทำอย่างนี้เหมือนเป็น "รัฐประหาร" ฉีกรัฐธรรมนูญ
สำหรับ ส.ส.และ ส.ว.เดโมแครตนั้น แม้จะรู้ว่าไม่สามารถปลดทรัมป์ในวุฒิภาได้ แต่ก็ต้องเดินเรื่องนี้ หาไม่แล้วผู้สนับสนุนเดโมแครตจะไม่ให้อภัยนักการเมืองในค่ายนี้ ความเสี่ยงที่นักการเมืองพรรคนี้จะแพ้เลือกตั้งจึงมีสูงหากไม่แสดงท่าทีเล่นงานทรัมป์อย่างจริงจัง
ละครการเมืองเรื่อง impeachment ยังจะมีดรามาอีกหลายฉาก อย่าได้กะพริบตาเป็นอันขาด!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |