เป้าหมายจีนปีหน้า ความยากจนสุดๆ ต้องหมดสิ้น


เพิ่มเพื่อน    

 

          จีนกำลังจะพิสูจน์ว่า ปี 2020 หรือปีหน้านี้จะสามารถทำให้ความยากจนหายไปจากประเทศได้จริงหรือไม่ ตัวเลขทางการของปักกิ่งบอกว่า ใน 40 ปีที่ผ่านมา ทางการสามารถช่วยให้คน 874 ล้านคน หลุดจาก “ความยากจนสุดๆ”

                คำนิยามของ “ความยากจนสุดๆ” หรือ absolute poverty ในความหมายสากลคือ รายได้วันละต่ำกว่า $1.9 เหรียญฯ หรือประมาณ 57 บาทต่อวัน หรือเดือนละ 1,700 บาทโดยเฉลี่ย

                หากตัวเลขนี้เป็นจริงก็หมายความว่า ประเทศจีนประเทศเดียวสามารถช่วยให้คนพ้นความยากจนระดับรากหญ้าได้ถึง 74.5% ของทั้งโลกทีเดียว

                เพราะตัวเลขของธนาคารโลกระบุว่า คนจนระดับต่ำสุดทั่วโลกในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา มีทั้งหมด 1,173 ล้านคน

                ข่าวบอกว่าท่านนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา สนใจจะส่งทีมงานรัฐบาลไปศึกษาวิธีการแก้ไขปัญหาความยากจนของจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

                แต่สิ่งที่รัฐบาลควรจะเข้าใจก่อนก็คือ ระบอบการปกครองของจีนกับไทยเป็นคนละรูปแบบ

                และความแตกต่างด้านความ “มุ่งมั่น” กับ “ความกล้าหาญทางการเมือง” หรือ political will นั้นมีความห่างกันไม่น้อย

                ไม่มีอะไรยืนยันว่าระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์กับเสรีประชาธิปไตยแบบตะวันตกใดมีประสิทธิภาพกว่ากันในการแก้ปัญหาความแร้นแค้นของประชาชนระดับฐานราก

                แต่ที่น่าจะเป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จในการแก้ปัญหาของประชาชนนั้นอยู่ที่ความสำนึกและความรับผิดชอบของผู้นำของประเทศ

                ระบอบสังคมนิยมประกาศตนเป็นตัวแทนของ “ชนชั้นกรรมาชีพ” และ “ชาวไร่ชาวนา”

                ระบอบประชาธิปไตยตะวันตกก็นิยามระบบของตนว่า “ของประชาชน, โดยประชาชน, เพื่อประชาชน”

                แต่เอาเข้าจริงๆ ทั้งสองระบบก็มีนักการเมืองที่มีคุณภาพและที่ไร้คุณภาพ

                ทั้งสองระบบก็มีเรื่องทุจริตประพฤติมิชอบและใช้อำนาจหน้าที่ของตนเพื่อผลประโยชน์แห่งตนและพรรคพวกเหนือผลประโยชน์ส่วนรวม

                วิธีการแก้ปัญหาความยากจนของจีนเรียกชื่อเป็น “วิธีแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งไปที่เป้าหมาย”

                เป้าที่ว่านี้มี 6 ประการ ที่เน้นไปที่กลุ่มคนเป้าหมาย, โครงการเป้าหมาย, การใช้งบประมาณตรงเป้าหมาย, มาตรการเฉพาะเป้าหมายของแต่ละครัวเรือน, ทีมงานท้องถิ่นเพื่อการแก้ปัญหาความยากจนในชนบทและเป้าหมายที่วัดจากผลงานของโครงการนั้นๆ

                พูดง่ายๆ คือการจะแก้ปัญหาความยากไร้ในระดับรากหญ้าต้องเจาะลงตรงเป้า

                เจาะถึงระดับครัวเรือนกันเลยทีเดียว

                และต้องมี

                เป้าหมาย  

                โครงการ

                งบประมาณ

                มาตรการเฉพาะครัวเรือน

                บุคลากรแก้ความยากจนระดับหมู่บ้าน

                และที่สำคัญที่สุดคือ จะต้องวัดผลของโครงการแต่ละโครงการได้อย่างต่อเนื่อง

                พอลงรายละเอียด โครงการแก้ไขปัญหาความแร้นแค้นก็จะเจาะลงไปที่ 5 กลุ่มกิจกรรมนั่นคือ

                การพัฒนาการผลิต

                การย้ายจุดที่ตั้งของครัวหรือหมู่บ้านหากจำเป็น

                การชดเชยต่อความเสียหายที่อาจจะเกิดกับสิ่งแวดล้อม

                การศึกษา

                และสวัสดิการสังคม

                จีนบอกว่ายุทธศาสตร์การแก้ความยากจนที่ได้ผลนั้นจะต้องมีนวัตกรรมทั้งในมิติของทฤษฎีและภาคปฏิบัติที่ต้องสอดคล้องกับต้นตอของปัญหาในแต่ละจุด

                แปลว่าเขาจะไม่ใช้วิธี “ตัดเสื้อโหล” อย่างที่เราได้ยินเสียงบ่นในชนบทหลายแห่งเมื่อรัฐบาลกลางสั่งการลงมาให้ทุกหน่วยงานใช้มาตรการเดียวกันสำหรับทุกกรณี เพราะนั่นเป็นวิธีคิดและวิธีทำงานของระบบข้าราชการมาช้านาน

                แต่นั่นไม่ได้แปลว่าในการทำงานที่ท้าทายเช่นนี้จะไม่มีปัญหา

                นักวิชาการจีนที่วิจัยเรื่องนี้ยอมรับว่า ยังมีเรื่องราวที่ยังต้องแก้ไขกันอีกหลายด้าน

                เช่นทุกวันนี้ยังมีคนจีนที่อยู่ในสภาพยากจนอย่างมากในดินแดนไกลปืนเที่ยงไม่น้อยกว่า 16.6 ล้านคน และสาเหตุของสภาพความยากจนสุดขั้วเหล่านั้นมีความสลับซับซ้อนหลายข้อที่ยังต้องหากุญแจไขให้ทะลุให้ได้

                อีกประการหนึ่ง บางหมู่บ้านที่โดยทฤษฎีอาจจะ “พ้นขีดความยากจนสุดขีด” แล้วระยะหนึ่งอาจจะขาดความยั่งยืน ไม่ช้าไม่นานก็กลับไปสู่สภาวะยากจนอีก

                ดังนั้นหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาให้สำเร็จอย่างยั่งยืนก็คือการสร้าง “การพึ่งพาตนเอง” ให้มีประสิทธิภาพอย่างจริงจัง

                ก่อนที่ไทยเราจะเรียนรู้จากประสบการณ์ของจีนในเรื่องนี้ต้องสรุปบทเรียนของตัวเองก่อนว่าที่ผ่านมาปัญหาอยู่ตรงไหน

                ที่สำคัญคือต้องพร้อมจะรับความจริงว่าความล้มเหลวนั้นมาจากอะไร และใครต้องรับผิดชอบ?. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"