วธ.ประกาศ 45 วรรณกรรมยอดเยี่ยมในสมัย "ร.9" ตามศาสตร์พระราชา ยกย่องนิยาย "เขาชื่อกานต์-ไผ่แดง" เรื่องสั้น "ขุนทองเจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง" ส่วนสารคดี "คู่มือมนุษย์" พุทธทาส ประเภทเยาวชนเตรียมประสาน ศธ.จัดทำเป็นหนังสือนอกเวลา
ที่ห้องประชุมใหญ่ สำนักหอสมุดแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ประกาศผลการพิจารณาคัดเลือกวรรณกรรมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่มีแนวคิดตามศาสตร์พระราชา และเปิดตัวหนังสือ "วรรณกรรมยอดเยี่ยมในสมัยรัชกาลที่ 9 ตามแนวคิดศาสตร์พระราชา"
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมตระหนักในความสำคัญของแนวพระราชดำริ และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีต่องานด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ประกอบกับทรงเป็นองค์อัครศิลปิน จึงมอบหมายให้กรมศิลปากรดำเนินโครงการพิจารณาคัดเลือกวรรณกรรมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่มีแนวคิดตามศาสตร์พระราชา โดยเชิญศิลปินแห่งชาติ นักประพันธ์ นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษาและวรรณกรรม ร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกและประกาศยกย่องวรรณกรรมในสมัยรัชกาลที่ 9 ที่มีแนวคิดตามศาสตร์พระราชา 5 ประเภท ได้แก่ นวนิยาย เรื่องสั้นกวีนิพนธ์ สารคดี และวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน ที่มีแนวคิดตามศาสตร์พระราชา
สำหรับผลคัดเลือกวรรณกรรมยอดเยี่ยม 5 ประเภท ประเภทละ 70 เรื่อง ดังนี้ 1.ประเภทนวนิยายวรรณกรรมยอดเยี่ยม จำนวน 9 เรื่อง ได้แก่ เขาชื่อกานต์ ผู้แต่ง สุวรรณี สุคนธา, ทุ่งมหาราช ผู้แต่ง มาลัย ชูพินิจ, บางกะโพ้ง ผู้แต่ง วินทร์ เลียววาริณ, บุษบกใบไม้ ผู้แต่ง กฤษณา อโศกสิน, ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด ผู้แต่งโบตั๋น, ผู้ใหญ่ลีกับนางมา ผู้แต่ง กาญจนา นาคนันท์, แผ่นดินนี้ยังรื่นรมย์ ผู้แต่ง ศรีฟ้า ลดาวัลย์, ไผ่แดง ผู้แต่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ปราโมช และลูกอีสาน ผู้แต่ง คำพูน บุญทวี และวรรณกรรมดีเด่นจำนวน 61 เรื่อง
2.ประเภทเรื่องสั้นวรรณกรรมยอดเยี่ยม 9 เรื่อง ได้แก่ ขุนทองเจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง ผู้แต่ง อัศศิริ ธรรมโชติ, แจ่มรัศมีจันทร์ และรวมเรื่องสั้นเกือบทั้งชีวิตของเสนีย์ เสาวพงศ์ ผู้แต่ง เสนีย์ เสาวพงศ์, แผ่นดินอื่น ผู้แต่ง กนกพงศ์ สงสมพันธุ์, ฟ้าบ่กั้น ผู้แต่ง ลาวคำหอม, รวมเรื่องสั้นคึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้แต่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ปราโมช, รวมเรื่องสั้นรับใช้ชีวิตของศรีบูรพา ผู้แต่ง ศรีบูรพา, เรื่องสั้นนอกเหมืองแร่ ผู้แต่ง อาจินต์ ปัญจพรรค์, สวนสัตว์ ผู้แต่ง สุวรรณี สุคนธา และสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน ผู้แต่ง วินทร์ เลียววาริณ และวรรณกรรมดีเด่น 60 เรื่อง
3.ประเภทกวีนิพนธ์วรรณกรรมยอดเยี่ยม 9 เรื่อง ได้แก่ ขอบฟ้าขลิบทอง ผู้แต่ง อุชเชนี, บทกวีของฉัน : จ่างแซ่ตั้ง ผู้แต่ง จ่างแซ่ตั้ง, ปณิธานกวี ผู้แต่ง อังคาร กัลยาณพงศ์, พุทธทาสธรรมคำสอนเส้นทางสู่ความสุขเย็น ผู้แต่ง พุทธทาสภิกขุ, เพียงความเคลื่อนไหว ผู้แต่ง เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, ม้าก้านกล้วย ผู้แต่ง ไพวรินทร์ ขาวงาม, รวมบทกวีและงานวิจารณ์ศิลปวรรณคดีของกวีการเมือง ผู้แต่ง กวีการเมือง, เราชะนะแล้ว แม่จ๋า ผู้แต่ง นายผี และศึกษาภาษิตและร้อยกรอง ผู้แต่ง ฐะปะนีย์ นาครทรรพ และวรรณกรรมดีเด่น 61 เรื่อง
4.ประเภทสารคดีวรรณกรรมยอดเยี่ยมจำนวน 9 เรื่อง ได้แก่ กาเลหม่านไต ผู้แต่ง บรรจบ พันธุเมธา, ขบวนการแก้จน ผู้แต่ง ประยูร จรรยาวงษ์, ความเป็นมาของคำสยามไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ผู้แต่ง จิตร ภูมิศักดิ์, คู่มือมนุษย์ ผู้แต่ง พุทธทาสภิกขุ, ชีวิตที่เลือกไม่ได้ : อัตชีวประวัติของผู้ที่เกิดในแผ่นดินไทยคนหนึ่ง ผู้แต่ง กรุณา กุศลาสัย, น้ำบ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมไทย ผู้แต่ง สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา, พุทธธรรม ผู้แต่ง พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), เพลงนอกศตวรรษ ผู้แต่ง เอนก นาวิกมูล และฟื้นความหลัง ผู้แต่ง เสฐียรโกเศศ
5.ประเภทวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชนวรรณกรรมยอดเยี่ยม 9 เรื่อง ได้แก่ เกาะที่มีความสุขที่สุดในโลก ผู้แต่ง ลินดา โกมลารชุน, ขวัญสงฆ์ ผู้แต่ง ชมัยภร แสงกระจ่าง, ต้นเอ๋ยต้นไม้ ผู้แต่งและภาพประกอบ จารุพงษ์ จันทรเพชร, บึงหญ้าป่าใหญ่ ผู้แต่ง เทพศิริ สุขโสภา, ผีเสื้อและดอกไม้ ผู้แต่ง นิพพานฯ, ภาพประวัติศาสตร์ (กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น) ผู้แต่ง เปลื้อง ณ นคร ภาพประกอบ เหม เวชกร, เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก (เล่ม 1-4) ผู้แต่งทิพย์ วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ภาพประกอบ ปีนัง, แม่โพสพ ผู้แต่ง ม.ล.เติบ ชุมสาย ภาพประกอบอุดมลักษณ์ ทรงสุวรรณ และ "เรือใบใจกล้า" ในหนังสือชุดสำหรับเยาวชน : หนังสือสื่อประสมเฉลิมพระเกียรติ ผู้แต่งและภาพประกอบ วิภาวี ฉกาจทรงศักดิ์ และคณะ และวรรณกรรมดีเด่น 61 เรื่อง
พร้อมทั้งได้จัดพิมพ์หนังสือ "วรรณกรรมยอดเยี่ยมในสมัยรัชกาลที่ 9 ตามแนวคิดศาสตร์พระราชา" เพื่อเผยแพร่วรรณกรรมอันทรงคุณค่าแห่งรัชสมัย ซึ่งสะท้อนแนวคิดศาสตร์พระราชาที่รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานไว้เป็นหลักชัยในการดำเนินชีวิตของชาวไทย เป็นแนวทางในการพัฒนาชาติและยังเป็นองค์ความรู้ที่ทั่วโลกสามารถนำไปใช้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนเชิดชูเกียรติศิลปินนักประพันธ์วรรณกรรมไว้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ รวมถึงเตรียมประสานกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาวรรณกรรมยอดเยี่ยมสำหรับเด็กและเยาวชนเพื่อจัดเข้ารายการหนังสืออ่านนอกเวลาส่งเสริมให้เด็กไทยอ่านและซึมซับแนวคิดศาสตร์พระราชา
นอกจากนี้ กรมศิลปากรได้เพิ่มช่องทางในการเข้าถึงองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม โดยพัฒนาระบบการจำหน่ายหนังสือออนไลน์ขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการสั่งซื้อหนังสือที่กรมศิลปากรจัดพิมพ์ผ่านทาง h ttp://bookshop.finearts.go.th โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง
ด้าน ศ.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ประธานอนุกรรมการพิจารณาคัดเลือกวรรณกรรมประเภทนวนิยาย กล่าวว่า งานวรรณกรรมทั้ง 5 ประเภทถือว่าสำคัญและมีสาระน่าสนใจ ผลการพิจารณาครั้งนี้ครอบคลุมทุกประเภทวรรณกรรมทั้ง 70 เรื่อง ล้วนสร้างสรรค์ตลอด 70 ปีครองราชย์?ในหลวงรัชกาลที่ 9 การรวบรวมผลงานได้พิจารณาจากผลงานรางวัลและเพิ่มเติมผลงานที่ไม่เคยได้รับรางวัลใดๆ ก่อนพิจารณาร่วมกัน มีการอภิปรายและถกเถียงอย่างกว้างขวาง สำหรับเกณฑ์ตัดสินมี 2 แนวทางหลัก คือ เป็นเรื่องที่แสดงแนวคิดศาสตร์พระราชา ไม่ว่าจะแต่งขึ้นก่อนหรือหลังมีแนวคิด “ศาสตร์พระราชา” โดยไม่ใช่การชี้นำ และอยากได้วรรณกรรมที่ตกผลึกแล้ว และต้องเป็นงานวรรณกรรมมีคุณค่าทางวรรณศิลป์ มีกลวิธีนำเสนอมีวรรณศิลป์ และส่งผลกระทบต่อสังคม
“ภาพรวมหนังสือ 350 เรื่องที่คัดเลือกมา ได้น้อมนำศาสตร์พระราชามานำเสนออย่างมีวรรณศิลป์ ถ่ายทอดเรื่องความเพียร ความมีสติ การเกื้อกูล การปฏิบัติหน้าที่ของตน การรักธรรมชาติ รักแผ่นดิน รักศิลปวัฒนธรรม และมีความเข้าใจรากเหง้าวิถีไทย การรักษาวิถีดั้งเดิมปรับให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ รวมถึงการกินอยู่อย่างพอมีพอกิน นอกจากนี้ ยังเสนอเรื่องความฉ้อฉลการไม่ย่อท้อและจำนนต่อชะตากรรม ไม่ท้อแท้แม้เผชิญอุปสรรคบากบั่น วิริยะอดทน ปลูกจิตสำนึกความเป็นธรรมในสังคม“ ศ.รื่นฤทัยระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |