วิจัยพบนวดแผนไทยรักษาโรคซึมเศร้าได้ผล โดยเฉพาะในผู้ป่วยระดับยังไม่รุนแรงสามารถทำให้หายขาด เตรียมจัดทำหลักสูตรสู่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลครอบคลุมทั่วประเทศ กรมสุขภาพจิตเผย ขณะนี้ไทยมีผู้ป่วยราว 1.5 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทองและผู้สูงอายุ
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยม รพ.พระศรีมหาโพธิ์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นศูนย์เชี่ยวชาญด้านโรคซึมเศร้า ว่า ขณะนี้กรมสุขภาพจิตได้ขยายเครือข่ายการรักษาโรคซึมเศร้าไปที่โรงพยาบาลทุกระดับในเขตสุขภาพทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลดีขึ้นเรื่อยๆ จากร้อยละ 54.37 ในปี 2560 เพิ่มเป็นร้อยละ 55.98 ในปี 2561 หรือจำนวน 800,798 คน จากผู้ป่วยที่คาดว่าทั่วประเทศจะมีประมาณ 1.5 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทองและผู้สูงอายุ โดยจังหวัดอ่างทองเข้าถึงบริการสูงที่สุดในประเทศร้อยละ 99.72 แต่บางแห่งยังอยู่ในอัตราต่ำ เช่น กรุงเทพฯ เข้าถึงบริการร้อยละ 32 จะต้องเร่งดำเนินการให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาให้มากขึ้น
อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า กรมได้เร่งพัฒนาประสิทธิภาพการรักษาโรคซึมเศร้า โดยดึงภูมิปัญญาไทย โดยเฉพาะการนวดไทยมาใช้รักษาโรคนี้ เนื่องจากการนวดจะเพิ่มการไหลเวียนของเลือดดีขึ้น กระตุ้นร่างกายหลั่งสารแห่งความสุข ได้ให้ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ทำการศึกษาวิจัยในปี 2560 ขณะนี้สำเร็จแล้ว และมีข่าวดีพบว่าการนวดไทยทำให้อาการซึมเศร้าของผู้ป่วยลดลงได้ร้อยละ 100 ผู้ป่วยหายทุเลาได้สูงถึงร้อยละ 83.3 การนวดด้วยแพทย์แผนไทยนี้จึงเป็นทางเลือกในการตัดวงจรการป่วยโรคซึมเศร้าในระดับที่ยังไม่รุนแรงให้หายหรือทุเลาตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะทำให้สามารถลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ได้เป็นอันมาก โดยกรมสุขภาพจิตจะเร่งขยายผลใช้ในชุมชนทั่วประเทศ
“คุณภาพการรักษาโรคซึมเศร้าของไทยขณะนี้เมื่อเทียบกับทั่วโลก พบว่าไทยมีอัตราเสียชีวิตจากโรคนี้ต่ำมากๆ เพียงร้อยละ 0.0015 ขณะที่ต่างประเทศมีร้อยละ 10.41 ส่วนอัตราหาย/ทุเลาของไทยมีร้อยละ 44.43 ยังต่ำกว่าทั่วโลกที่อยู่ที่ร้อยละ 70.6 ซึ่งอาจเกิดมาจากพื้นฐานความเชื่อผิดๆ เนื่องจากโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ จึงทำให้คนไทยเข้าใจว่าอาการของใจที่หดหู่เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่อาการป่วย และเชื่อว่าจะค่อยๆ หายไปเองจึงไม่ไปพบแพทย์ ทำให้อาการรุนแรงขึ้น การรักษาจึงมีความยุ่งยากขึ้น ทำให้อัตราหายทุเลาน้อยลง” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
ด้าน นพ.ประภาส อุครานันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กล่าวว่า การวิจัยการนวดแผนไทยเพื่อรักษาโรคซึมเศร้านี้ ดำเนินการในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้าในระดับไม่รุนแรง-ปานกลาง เช่น อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ไม่ร่าเริง ท้อแท้ชีวิต แต่ยังไม่ถึงขึ้นมีอาการทางจิต เช่น หลงผิด ประสาทหลอน หูแว่ว รวม 26 คน โดยใช้ท่านวดที่ รพ.ได้คิดค้นตามหลักวิชาการเรียกว่า พระศรีนวดแผนไทย (Prasri Massage Therapy) มีทั้งหมด 7 ขั้นตอน คือ 1.นวดพื้นฐานที่บ่า หลัง หัวไหล่ 2.นวดพื้นฐานที่โค้งส่วนคอ นวดศีรษะด้านหลัง และที่จุดจอมประสาท 3.นวดที่ศีรษะด้านหน้า ร่องริมฝีปากบน 4.นวดศีรษะ 5.นวดขาและเปิดประตูลมโดยใช้น้ำมัน 6.การนวดหลังโดยใช้น้ำมัน และ 7.นวดพื้นฐานที่แขนทั้งด้านในและด้านนอก และนวดมือโดยใช้น้ำมัน นวดครั้งละ 60 นาที นวดทุก 2-4 วัน ติดต่อกัน 5 ครั้ง
นพ.ประภาสกล่าวว่า เมื่อนวดครบขั้นตอนดังกล่าว พบว่าได้ผลเป็นที่พอใจมาก ผู้ป่วยรู้สึกสดชื่นขึ้น กระปรี้กระเปร่า จิตใจเบิกบาน ผ่อนคลาย ตัวที่เคยรู้สึกหนักอึ้งจะโล่งเบา กินข้าวได้มากขึ้น นอนหลับดีขึ้น ความรู้สึกไม่ดีกับตนเองลดลง ไม่มีผลข้างเคียงใดๆ โดย รพ.พระศรีมหาโพธิ์มีแผนจัดทำหลักสูตรอบรมพระศรีนวดแผนไทยเพื่อการบำบัดรักษาโรคซึมเศร้าสำหรับแพทย์แผนไทยที่อยู่ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล และทำเป็นยูทูบ (YouTube) สาธิตการนวด มุ่งหวังว่าจะทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในพื้นที่ต่างๆ ที่มีอาการระดับเล็กน้อยหาย ทุเลา ไม่ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มมากขึ้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |