เมื่อเราเห็นเหวอยู่ข้างหน้าเพราะความขัดแย้งและการเผชิญหน้าด้วยวาทกรรมร้อนแรง คนที่มีประสบการณ์ก็ย่อมทำนายได้ไม่ยากว่าอะไรจะเกิดขึ้น
อดีตบอกเราว่าความขัดแย้งที่กำลังก่อเค้าลางครั้งใหม่นี้ ก็คงจะหนีไม่พ้นการที่ฝ่ายเห็นต่างต้องใช้กลยุทธ์ทุกด้านเพื่อเอาชนะคะคานกัน
เป็นวิธีคิดแบบเดิมที่ว่า "ถ้าฉันอยู่ แกต้องไม่อยู่"
มันคือการวิ่งเข้ามุมอับ เป็นสถานการณ์ของ zero-sum game อันหมายความว่าคนชนะกินรวบ คนแพ้ตายเรียบ
และนั่นย่อมหมายถึงความรุนแรง และต่างฝ่ายต่างใช้กลเม็ดทุกรูปแบบเพื่อไม่ให้ฝ่ายตนต้องเสียเปรียบ
ภาวะเช่นนี้คือจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้าสู่ความเป็น "รัฐล้มเหลว" หรือ failed state อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทางออกของบ้านเมืองวันนี้คืออะไร?
ประวัติศาสตร์อีกเช่นกันที่สอนเราว่า ประเทศใดที่จะหลีกเลี่ยงความหายนะได้ต้องถอยออกมาจากขอบเหว ตั้งสติใหม่ ทบทวนความล้มเหลวของสังคม และยอมรับความจริงว่าไม่มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจหรือความชอบธรรมเบ็ดเสร็จที่จะนำพาประเทศชาติไปข้างหน้าได้
คำถามใหญ่ที่สุดสำหรับทุกภาคส่วนขณะนี้คือ
ประเทศไทยเราจะใช้ระบบการเมืองและเศรษฐกิจอะไรเพื่อให้รอดพ้นภัยแห่งความร้าวฉานภายในประเทศ และที่จะตั้งรับปัจจัยภายนอกได้ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า?
โลกกำลังเข้าสู่ภาวะของความปั่นป่วนและสับสน เพราะสูตรการบริหารกำลังถูกท้าทายในทุกๆ ด้าน
เรายังเชื่อหรือเปล่าว่า ระบอบเสรีประชาธิปไตยแบบตะวันตกคือคำตอบสำหรับทุกประเทศ ทุกสถานการณ์ และทุกสังคม
เรายังเชื่อหรือเปล่าว่า ระบอบคอมมิวนิสต์ หรือระบอบรวมศูนย์อำนาจย่อมนำไปสู่ความล่มสลายอย่างที่เราเห็นในสหภาพโซเวียต
มีสูตรไหนในโลกวันนี้ที่ประเทศไทยควรจะถือเป็นแบบอย่างเพื่อนำความผาสุกมาสู่ประชาชนส่วนใหญ่
คำตอบคือไม่มีใครรู้ และไม่มีใครมีคำตอบตายตัว
ทุกสังคมต้องแสวงหาสูตรสำหรับตัวเอง และกระบวนการค้นหาระบอบที่เหมาะสมสำหรับแต่ละประเทศนี่แหละที่เป็นเรื่องยากที่สุด
แน่นอนว่าความรักเสรีภาพและการเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นค่านิยมสากลที่มนุษย์ทุกคนพึงเรียกร้องต้องการ
แต่โลกแห่งความเป็นจริงวันนี้ก็คือว่า ระบอบเสรีประชาธิปไตยและสังคมนิยมต่างก็ถูกท้าทายด้วยปัญหาของยุคสมัยทั้งสิ้น
มองไปรอบด้านจะเห็นการเติบใหญ่ของ "ประชานิยม" สุดขั้วทั้งด้านขวาและด้านซ้าย
นักการเมืองใช้วิธีการหาเสียงและบริหารประเทศด้วยการเอาใจฐานเสียงของตัวเองในทุกรูปแบบ เพียงเพื่อจะรักษาคะแนนนิยมของตนเพื่อการดำรงอยู่ในอำนาจ และเพื่อชนะการหย่อนบัตรในครั้งต่อไปเท่านั้น
สิ่งที่เรียกว่าจริยธรรม ธรรมาภิบาล และการเคารพสิทธิมนุษยชน หรือการยอมรับในความเห็นต่างของเสียงข้างน้อยได้ถูกทำลายโดยความเหลิงอยู่ในอำนาจของผู้นำหลายประเทศ
ถ้าเราเคยเชื่อมั่นในระบอบของสหรัฐฯ วันนี้เราต้องถามตัวเองว่าคนอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ด้วยการสามารถสร้างฐานเสียงจากคนอเมริกันชนชั้นกลางผิวขาว ที่พร้อมจะเลือกคนที่ไร้หลักจริยธรรมและมีพฤติกรรมที่น่าสงสัยคลางแคลงเช่นนี้ เป็นมาตรฐานที่เราสามารถเลื่อมใสศรัทธาต่อไปอีกหรือ
เราหันไปดูอังกฤษที่เป็นแม่แบบของประชาธิปไตยในระบอบรัฐสภา ความวุ่นวายสับสนที่โยงกับ Brexit นั้นสะท้อนความเสื่อมทรามของความเชื่อถือในระบอบนั้นอย่างรุนแรงเพียงใด
อันเป็นที่มาของแนวคิดว่าระบบเสรีประชาธิปไตยกำลัง "ล่มสลาย" หรือไม่
หันไปอีกด้านหนึ่ง ประเทศจีนกำลังถูกกล่าวขวัญว่าสามารถแก้ปัญหาความยากจนอย่างเป็นรูปธรรม แม้แต่ธนาคารโลกยังยอมรับว่าเป็นผลงานที่น้อยประเทศจะบรรลุได้
จีนมีอัตราโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นกว่าประเทศใหญ่ๆ หลายประเทศ และมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่กำลังจะแซงหน้าสหรัฐฯ ในหลายๆ ด้านด้วยซ้ำไป
เวียดนามก็เป็นที่กล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวางว่าสามารถสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งอย่างรวดเร็ว สามารถแย่งการลงทุนต่างชาติจากไทยไม่น้อย อีกทั้งมาตรฐานการศึกษาของเขาก็ทำให้ประเทศอื่นๆ ในแถบนี้ต้องตะลึงงันเช่นกัน
แต่จีนและเวียดนามใช้วิธีการปกครองแบบสังคมนิยมที่มีพรรคคอมมิวนิสต์พรรคเดียวเป็นผู้บงการทุกชีวิตในประเทศ
ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ การแสดงออกใดๆ ที่เห็นแย้งหรือต่อต้านผู้มีอำนาจจะถูกปราบปรามอย่างเข้มข้น
จังหวะเวลานี้คือจุดที่คนไทยต้องนั่งลงถกแถลงและวิเคราะห์เนื้อหาแห่งความเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อหาคำตอบให้ได้ว่า
คำถามที่เราอาจจะพยายามหลบเลี่ยงมาตลอดคือ : ประเทศเราจะเดินไปทางไหน?
บางครั้งเราก็ได้ยินวลี "ประชาธิปไตยแบบไทย" หรือ "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ"
แต่เอาเข้าจริงๆ เราแน่ใจหรือว่ามันมีอยู่จริง?
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |