เป็นธรรมเนียมประจำปีที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจะต้องเปิดผลการวิจัยธุรกิจดาวรุ่งและดาวร่วงในปี 2563 โดยนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ระบุว่า จากการพิจารณาจากยอดขาย ต้นทุน ส่วนต่างยอดขายต่อต้นทุน (กำไร) ผลประกอบการปัจจัยเสี่ยงและภาวะการแข่งขัน สามารถจัดอันดับ 10 อันดับธุรกิจรุ่ง-ร่วงปีหน้า
โดยในส่วนของธุรกิจดาวร่วง ประกอบด้วย 1.ธุรกิจเช่าหนังสือ 2.ธุรกิจผลิตโทรศัพท์พื้นฐานและเครื่องโทรสาร 3.ธุรกิจร้านให้บริการอินเทอร์เน็ต 4.ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์และวารสาร 5.ธุรกิจหัตถกรรมและเฟอร์นิเจอร์ไม้ 6.ธุรกิจการค้าแบบดั้งเดิม 7.ธุรกิจคนกลาง 8.ธุรกิจอินเทอร์เน็ตประเภทฮาร์ดดิสไดร์ฟ 9.ธุรกิจดั้งเดิมไม่มีการดีไซน์และใช้แรงงานมาก เช่น เฟอร์นิเจอร์ ของเล่น และ 10.ธุรกิจร้านถ่ายรูป โดยธุรกิจร่วงเหล่านี้ผู้ดำเนินธุรกิจอยู่แล้วต้องเร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน
สำหรับ 10 ธุรกิจดาวรุ่ง ประกอบด้วย 1.ธุรกิจแพลตฟอร์ม 2.ธุรกิจเทคโนโลยีและเทคโนโลยีสารสนเทศและอุปกรณ์ รวมทั้งผู้ให้บริการด้านโครงข่าย 3.ธุรกิจเกม 4.ธุรกิจด้านขนส่งโลจิสติกส์ รวมถึงธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต 5.ธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงาม รวมถึงธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 6.ธุรกิจฟาสต์ฟู้ด 7.ธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุ 8.ธุรกิจด้านพลังงาน 9.ธุรกิจก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน และ 10.ธุรกิจเครื่องสำอางและบำรุงผิว เป็นต้น
เห็นได้ชัดว่า ธุรกิจดาวรุ่งจะมีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีไอทีและการสื่อสาร รวมถึงแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน ซึ่งเกินครึ่งล้วนเป็นธุรกิจแนวใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน ภายใต้ยุคดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่น ซึ่งในอนาคตเป็นที่ชัดเจนว่า โลกของเด็กยุคใหม่จะมีความแตกต่างจากโลกในยุคพ่อแม่อย่างสิ้นเชิง
เราไม่มีทางรู้เลยว่าภายใต้การพัฒนาที่รวดเร็วของเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ทั้งทางเศรษฐกิจ, สังคม อย่างไรบ้าง จะมีอาชีพแบบใหม่เกิดขึ้นบ้าง ดังนั้นประเด็นนี้มองในแง่พ่อแม่ผู้ปกครอง อาจจะต้องมีการปรับตัวและเรียนรู้ไปพร้อมกับลูกหลาน เพราะอาชีพที่คุ้นเคยกำลังจะหายไป และมีอาชีพทำเงินใหม่ๆ เกิดมาแทน
จุดดีของคนรุ่นใหม่คือ พร้อมเรียนรู้และมีความเข้าใจกับการใช้เครื่องมือได้รวดเร็ว และกล้าที่จะลองผิดลองถูกมากกว่า ซึ่งการส่งเสริมทางการศึกษาจะต้องเปิดกว้าง และพ่อแม่ผู้ปกครองยุคใหม่ต้องเป็นนักส่งเสริมและให้โอกาสในคนเดียวกัน ให้ลูกหลานได้ทดลองทำในสิ่งที่มีประโยชน์ ขณะที่พ่อแม่เองห้ามเอากรอบความคิดในโลกยุคอนาล็อกมาเป็นกรอบวัดเป็นอันขาด เพราะมันคือโลกคนละใบ
แต่ภายใต้การให้โอกาสก็จะมีต้องมีการควบคุมด้วย เพราะในโลกยุคใหม่ ในบางมุมเทคโนโลยีก็ส่งผลกระทบต่อตัวเด็กๆ เช่นกัน เพราะก็มีการกลั่นแกล้งกันทางอินเทอร์เน็ต หรือการเอาชีวิตไปผูกกับโลกเสมือนมากเกินไป ซึ่งพ่อแม่จะต้องมีความใส่ใจในเรื่องนี้ด้วย
ทั้งนี้ นอกจากตัวผู้ปกครองเอง เรื่องของบทบาทคุณครู-โรงเรียน และการศึกษา ก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนด้วยเช่นกัน เพราะโลกแห่งการเรียนรู้ ต่อจากนี้ไม่ได้อยู่แค่เฉพาะโรงเรียน แต่เป็นยุคที่สามารถหาความรู้ได้ตลอดเวลา ดังนั้นบทบาทของครูและโรงเรียนจะไม่ใช่ผู้ที่ผูกขาดวิชาความรู้อีกต่อไป ทั้ง 2 อย่างต้องปรับตัวเอง เป็นเหมือนสนามกีฬา ครูต้องเปรียบเหมือนโค้ชที่ทำหน้าที่แนะแนว ส่วนโรงเรียนคือสถานที่ฝึกซ้อมและพัฒนา ซึ่งเด็กๆ ผู้เรียน เปรียบเสมือนนักกีฬาที่จะต้องมีการพัฒนาตัวเองไปแข่งขันกับคู่แข่งในโลกภายนอกได้
โลกในอีก 5-10 ปีข้างหน้า จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล และคนที่ไม่เรียนรู้และพัฒนาทักษะตัวเอง จะกลายเป็นคนที่ตกยุค และจะไม่สามารถที่จะทำมาหากินในโลกธุรกิจยุคใหม่ได้ ดังนั้นประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนจะต้องมีการปรับตัว นับตั้งแต่เด็กนักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครอง ภาคธุรกิจ
ยังไม่มีใครรู้ว่า อาชีพไหนกำลังจะหายไป อาชีพไหนจะเกิดใหม่ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเรียนรู้ และจับกระแสให้ถูก ใครที่มองเห็นโอกาสย่อมได้ประโยชน์อย่างมหาศาล.
ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |