อดีตรอง ผบ.ตร.เผย "สมคิด" เป็นโรคจิตเภท เคยบอกมีความสุขทุกครั้งที่ได้บีบคอเหยื่อ "สมศักดิ์" สั่งสำรวจจำนวนนักโทษคดีร้ายแรงทั่วประเทศ ก่อนนัดประชุมพุธหน้าวางกรอบใช้กฎหมายพิเศษควบคุม ราชทัณฑ์เล็งต้องโทษ 25 ปีขึ้นไปไม่มีสิทธิ์ได้ลดหย่อน
พล.ต.อ.วินัย ทองสอง อดีตรอง ผบ.ตร. ให้สัมภาษณ์เมื่อวันพุธ ในฐานะอดีตหัวหน้าชุดคลี่คลายคดีนายสมคิด พุ่มพวง หรือคิด เดอะ ริปเปอร์ ฆาตกรฆ่าต่อเนื่อง 6 ศพ ว่า เมื่อปี 2548 ในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองปราบปราม ได้มี พ.ต.อ.ปรีชา เจริญทรัพย์ ยศในขณะนั้น ผกก.สภ.เมืองบุรีรัมย์ โทรศัพท์มารายงานว่ามีเหตุฆาตกรรมในพื้นที่ ซึ่งคล้ายกับเหตุที่เกิดในพื้นที่ภาคอีสานอีก 1-2 ราย อยากให้กองปราบฯ เข้าไปช่วยคลี่คลายคดี ซึ่งการสืบสวนจับกุมใช้หลักการพื้นฐาน กล้องวงจรปิด การติดต่อสื่อสาร และหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ โดยขณะนั้นสืบทราบว่านายสมคิดมีภรรยาอยู่ที่ จ.ชัยภูมิ จึงตามไปจับกุมตัวได้ที่บ้านภรรยา
"นายสมคิดเป็นคนฉลาดและมีความรู้ พฤติกรรมเดิมเคยให้การเป็นพยานเท็จในคดีผู้พันตึ๋ง สมคิดโทรศัพท์ไปบอกช่องข่าวว่าทราบตัวคนร้าย เป็นลักษณะสร้างความสำคัญ จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่กองปราบฯ จับกุมในข้อหาให้การเท็จ ในขณะที่ติดคุกอยู่ก็ยังไปเขียนจดหมายส่งไปถึงภรรยาของญาติผู้ที่ถูกยิงตายในบ่อบำบัดน้ำเสียราชาเทวะ เพราะฉะนั้นสมคิดจะมีความคิดที่ต่างจากบุคคลธรรมดา แต่สมคิดไม่ได้บ้าหรือวิกลจริต แต่เขาเป็นโรคจิตเภท ถ้าได้ไปกระทำต่อเหยื่อมันทำให้เกิดความสุข ซึ่งเป็นจิตเภทอย่างหนึ่งที่เรียกว่าฆาตกรรมต่อเนื่อง" พล.ต.อ.วินัยกล่าว
พล.ต.อ.วินัยกล่าวว่า การก่อเหตุของนายสมคิดไม่ได้ถึงกับมีการวางแผนซับซ้อนแต่อย่างใด แต่พบว่ามีอาการเป็นโรคจิตเภท ไม่ได้มีอาการวิกลจริต จึงสามารถดำเนินคดีได้ เพราะทุกครั้งที่ก่อเหตุมีสติเหมือนคนปกติ โดยล่าสุดเมื่อนายสมคิดถูกจับกุมแล้ว ก็ไม่ควรปล่อยให้ออกมาอยู่ในสังคมภายนอก เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาก่อเหตุกับคนอื่นอีก เพราะเท่าที่เคยสอบถามกับผู้เชี่ยวชาญทราบว่าโรคจิตเภทที่นายสมคิดป่วยนั้นไม่สามารถรักษาได้ ตอนที่ถูกจับกุมเมื่อปี 2548 เขาเคยพูดกับชุดจับกุมว่ามีความสุขทุกครั้งที่ได้บีบคอเหยื่อ
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ได้มีคำสั่งเร่งด่วนไปถึงกรมราชทัณฑ์ให้ตรวจสอบ พิจารณาบุคคลที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายการกระทำความผิดในลักษณะไม่ปกติเช่นเดียวกับนายสมคิด ที่รับโทษในเรือนจำทั่วประเทศ โดยให้สรุปมาเป็นตัวเลขว่ามีทั้งหมดกี่ราย เพื่อจัดให้อยู่กลุ่มนักโทษที่ไม่สามารถใช้กฎหมายปกติมาพิจารณาได้ กำหนดให้กรมราชทัณฑ์สำรวจข้อมูลให้เรียบร้อยภายใน 7 วัน เพื่อนำมาสรุปเป็นแนวทางในการจัดการกับนักโทษกลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษอีกครั้งในวันที่ 25 ธ.ค.นี้
“กรณีของนายสมคิด แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่สามารถใช้กฎหมาย หรือข้อบังคับ ควบคุมนักโทษแบบเดียวกันทั้งหมด จำเป็นต้องจัดกลุ่มผู้ต้องขังไม่ปกติขึ้นมา เพื่อใช้มาตรการพิเศษควบคุมดูแล พร้อมยอมรับและเห็นด้วยกับคำตำหนิที่เกิดขึ้นในสังคมถึงการทำงานของกรมราชทัณฑ์ เจ้าหน้าที่ต้องเพิ่มความรอบคอบในการทำงานมากขึ้น ที่ผ่านมาก็อาจจะทำงานตามอำนาจหน้าที่ของกฎหมายที่เคยมีมาแต่ในอดีต โดยที่อาจจะไม่ได้ใช้ความครีเอทีฟเข้าไปเพิ่มเติมในการทำงาน แนวทางหลังจากนี้คงจะต้องมีการเพิ่มการใช้กำไลติดตามตัว หรืออีเอ็ม สำหรับคนกลุ่มพิเศษหลังออกจากเรือนจำ” รมว.ยุติธรรมกล่าว
ด้าน พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงมาตรการป้องกันไม่ให้อดีตนักโทษคดีอุกฉกรรจ์กลับมาก่อเหตุซ้ำ หลังจากพ้นโทษถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำ ว่า ขณะนี้ได้มีกำหนดประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาพักการลงโทษ โดยประเด็นสำคัญที่จะนำมาหารือคือ การกำหนดมาตรการคุมเข้มให้มากกว่าเดิม โดยเฉพาะการกลั่นกรองให้เข้มงวดมากขึ้นก่อนจะปล่อยตัว ว่าเคยก่อเหตุคดีร้ายแรงอะไรมาบ้าง และเข้าข่ายที่จะได้รับการลดโทษ ลดวันต้องโทษหรือไม่ หรือรายใดบ้างที่ควรได้รับการปล่อยตัวไปเลย หรือไม่ปล่อยตัวเลย โดยจะนำพฤติการณ์ในคดีมาประกอบการพิจารณา เช่น คดีอุกฉกรรจ์ร้ายแรงต้องโทษตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป ไม่เข้าเกณฑ์ลดโทษ หรือลดในสัดส่วนที่น้อยมาก ซึ่งต่อไปต้องมีการออกแบบกฎกติกาการปล่อยตัวผู้ต้องขังในแต่ละครั้งให้ชัดเจน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |