ปีใหม่ที่ใกล้เข้ามาเชื่อว่า คนส่วนใหญ่คิดจะหาของขวัญให้กับตัวเอง ครอบครัว และคนที่รัก รวมถึงตั้งเป้าหมายใหม่ๆ ช่วยให้มีความสุขมากขึ้น แต่วิธีสร้างชีวิตดีๆ คนมักหลงลืมไปก็ คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพช่วยลดปัจจัยเสี่ยงก่อโรค ซึ่งเป็นของขวัญล้ำค่าดั่งพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า“อโรคยา ปรมาลาภา การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ"
เหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับธนาคารจิตอาสาและความสุขประเทศไทยจัดงาน“ ปีใหม่เป็นคนใหม่ปรับใจให้กายดี” ขึ้นที่ศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เมื่อวันก่อน ภายในงานได้เผยแพร่รายงานการวิจัยโมเดลเชิงสาเหตุของสุขภาวะทางปัญญา ศาสนาและจิตวิญญาณ และดัชนีชี้วัดสุขภาพ โดยมีปัจจัยทางด้านจิตวิทยาด้านความคิด อารมณ์ และสังคมเป็นตัวแปรส่งผ่านโดยอาจารย์ ดร.สมบุญ จารุเกษมทวี และผศ.ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. และธนาคารจิตอาสาถือเป็นวิจัยชิ้นแรกประเทศไทยที่ค้นพบความเชื่อมโยงของสุขภาวะทางปัญญากับปัจจัยทางจิตวิทยาเป็นตัวแปรให้คนลดพฤติกรรมเนือยนิ่งและเพิ่มกิจกรรมทางกาย
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า หนึ่งในยุทธศาสตร์หลัก สสส. คือการพัฒนาองค์ความรู้เป็นรากฐานขับเคลื่อนงานสู่การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์และนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เห็นงานวิจัยนี้ยืนยัน และทำให้เห็นว่าสุขภาวะทางปัญญาคือรากฐานสำคัญพัฒนาสุขภาวะในด้านอื่นๆ ผลวิจัยจะมีประโยชน์มาก ถ้ามีการต่อยอดงานวิจัยนำไปใช้เคลื่อนงานให้เกิดการดูแลสุขภาวะให้ครบทุกมิติได้และพิสูจน์ให้เห็นหลักฐานเชิงประจักษ์ ทีมวิจัยจากการศึกษาครั้งนี้ร่วมไขข้อสงสัยสุขภาพที่ดีมาจากใจ พร้อมจุดประกายปีใหม่ ปีชวดนี้ ลุกขึ้นมาดูแลตัวเอง สำรวจ ทบทวนและค้นหาความหมายชีวิตที่แท้จริง
ดร.สมบุญ จารุเกษมทวี คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลวิจัยนี้ตอบคำถามว่าใจทำให้เกิดพฤติกรรมการออกกำลังกายที่ต่อเนื่องและยั่งยืนไม่ล้มเลิกง่ายๆ โดยให้คำนิยามเรื่องใจใน2 มิติคือในด้านสุขภาวะทางปัญญาและด้านความผาสุกทางจิตใจ ยกตัวอย่างเราคิดจะลุกขึ้นมาวิ่งดูแลตัวเอง รองเท้าและอุปกรณ์ช่วยให้วิ่งปลอดภัย แต่อาจลืมไปว่า ใจช่วยให้เราออกมาสิ่งได้สำเร็จ รวมถึงสำรวจตัวเองทำไมอยากวิ่ง เพราะอยากได้สุขภาพดีอยากมีจิตใจปลอดโปร่งจะได้มีไอเดียทำงาน หรือวิ่งแก้เครียด ถ้าเราเจอคำตอบจะทำให้เรารู้สึกอยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง การมีสติและรู้ตัวทำให้สามารถตั้งเป้าหมายได้ งานวิจัยนี้ยืนยันใจเป็นเรื่องสำคัญช่วยให้สุขภาพดีขึ้นจริงๆ
การต่อยอดงานวิจัยนี้ ดร.สมบุญกล่าวว่า งานวิจัยนี้กลุ่มตัวอย่างเป็นคนปกติ ไม่ได้เป็นผู้ป่วย หากรัฐบาลและสสส. จะส่งเสริมปัจจัยทางสุขภาวะทางปัญญา โดยสื่อสารกับสังคมให้รู้ทำไมควรดูแลรักษาสุขภาพ เช่น จะทำให้ลดโรคภัยไข้เจ็บ จะได้ไม่เป็นภาระลูกหรือคนอื่น หรือจะได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนรักสุขภาพคนในสังคมจะได้เข้าใจความหมายมากขึ้นเพิ่มแรงจูงใจว่า ตนเองสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพได้
“ ไม่อยากให้งานวิจัยขึ้นหิ้ง หากจะส่งเสริมสุขภาวะสามารถรณรงค์ผ่านสื่อต่างๆ จัดกิจกรรมการภาวนาแทนที่จะสวดมนต์ข้ามปีอย่างเดียวมีกิจกรรมส่งเสริมสติและทำกิจกรรมสัมผัสธรรมชาติการทำจิตอาสา รวมถึงการแผยแพร่ข้อมูลโดยผู้นำทางศาสนา เพราะร่างกายเป็นของขวัญที่ดีที่สุด เรามีหน้าที่ดูแลของขวัญนี้ปีใหม่ นอกจากให้ของขวัญคนอื่นต้องดูแลสุขภาพเป็นของขวัญให้ตัวเอง” นักวิจัยรั้วจุฬาฯ กล่าว
งานนี้เปิดเวทีแบ่งปันประสบการณ์และสร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตให้คนทุกเพศทุกวัยโดย โอ-อนุชิต สพันธ์ุพงษ์ นักแสดงมากฝีมือและนักวิ่งมาราธอนไอดอลของคนรุ่นใหม่ บอกว่าจากประสบการณ์ชีวิตบ่อยครั้งที่เราใช้เงินฟุ่มเฟือยซื้อของขวัญให้ตัวเองโดยอ้างว่าเป็นรางวัลชีวิต นึกถึงสิ่งของหรือการนอนตื่นสายแต่ลืมไปว่าพฤติกรรมนี้ส่งผลเสียต่อตนเองจนตั้งคำถามเรารักตัวเองหรือเปล่า ทำให้เรามีเป้าหมายรักตัวเองให้มากตามใจตัวเองให้น้อยลงดื้อกับตัวเองมากขึ้น ตนตื่นตีห้าลุกออกมาวิ่งเมื่อทำได้ก็สะใจชนะใจตัวเอง
“ โอสนุกกับการวิ่ง จากแค่วิ่งเพื่อออกกำลังกายผ่อนคลายจนสามารถวิ่งมาราธอนเป็นโลกใบใหม่หลักของโอคือมีสติอยู่กับการวิ่งวิ่งไปเรื่อยๆจะได้่ไม่เหนื่อย ปีใหม่นี้อยากให้ทุกคนสำรวจตัวเองรู้ตัวเองทุกคนมีเป้าหมายต้องหาให้เจอถ้ามีทุกข์หาเหตุแห่งทุกข์ให้เจอเมื่อรู้คำตอบแล้วจะรู้สึกเย็นลงเคยถูกว่าเป็นคนโลกสวยแต่ก็คิดว่าเขาอาจจะไม่ได้อยู่ในโลกสวยๆเหมือนโอ” โอ- อนุชิตกล่าว
\
หญิงแกร่งอีกคนที่ร่วมพูดคุย ออย-ยุวดี พันธ์นิคม แม้ต้องตัดปอดและขาไป1ข้าง แต่ใช้พลังใจข้ามผ่านขีดจำกัดพิชิต 10 กิโลเมตรแรกของชีวิตได้สำเร็จทุกวันนี้เป็นคนต้นแบบจากโครงการวิ่งสู่ชีวิตใหม่ (Run for New Life Story)
ออย-ยุวดี วัย34 ปี กล่าวว่า ได้วิ่งออกกำลังกายอีกครั้ง เมื่อเจอโครงการวิ่งสู่ชีวิตใหม่ เพราะอยากมีชีวิตจที่เดินเคียงข้างไปกับเพื่อนๆลูกและสามีก็มีเป้าหมายแต่ด้วยต้นทุนเราไม่เท่าคนอื่นต้องใช้ความพยายามมากขึ้น เคยท้อและบาดเจ็บหลังฝึกซ้อมเดินวิ่งได้5 กิโลเมตรคิดว่าเรามาทำอะไรตรงนี้ แต่เมื่อได้แลกเปลี่ยนจากคนต้นแบบในโครงการก็เรียกสติตัวเองกลับมาได้ และเริ่มต้นใหม่ จนสามารถวิ่งได้ระยะทาง 10 กิโลเมตรสำเร็จ
“ ฝากถึงผู้พิการ ถ้าคนปกติลุกขึ้นมาหาของขวัญให้ตัวเองง่าย คนพิการก็สามารถออกกำลังกาย ทำเท่าที่ได้ ทำไหวได้ผลดีต่อสุขภาพกายและใจ จริงๆออยพิสูจน์แล้วว่า ถ้าใจมาทุกอย่างมันก็ได้ ถ้าเรามีความมุ่งมั่นตั้งใจ ไม่เกินความสามารถแน่นอน” ออย-ยุวดี กล่าวด้วยรอยยิ้ม ปลุกพลังผู้ร่วมงาน
ภายในงานยังมีกิจกรรมพิเศษ"การ์ดสำรวจความสุข" โดยรวมพลInfuencer คนดังในโลกออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นภานุมาศ ทองธนากุลนักเขียนนามปากกาใบพัด เจ้าของงานเขียน'การลาออกครั้งสุดท้าย,โค้ชเป้ง-สาธิก ธนะทักษ์ นักวิทยาศาสตร์การกีฬา หนึ่งในคณะวิ่งโครงการ"ก้าวคนละก้าว" เจ้าของเพจ Ez2fit,สโรชา กิตติสิพันธุ์ นักเขียนพิการทางสายตาเจ้าของผลงาน' จนกว่าเด็กปิดตาจะโต' ,ชยพัทธ์ วิสาสะ นักเขียนและบล็อกเกอร์เพจTHINK เดียวก็เปลี่ยนได้ทิพย์เกษร สิริโพธิวงศ์ และนครินทร์ดีจิตกาศ จากเพจ'เกลานิสัยอันตราย” บุคคลเหล่านี้ถือเป็นชุมชนคนรุ่นใหม่ที่รักการพัฒนานิสัย และอยากขับเคลื่อนสังคมไปพร้อมกันพร้อมจะสื่อสารสู่สังคมเพื่อส่งเสริมปัจจัยทางสุขภาวะทางปัญญา ปีใหม่นี้มาปรับแนวคิดเป็นคนใหม่ เพื่อตัวเองและครอบครัวกัน