“กฤษณา อโศกสิน” ผู้เดินทางไกล 7 ทศวรรษ จากน้ำหมึกสู่ปากกาไฟฟ้า


เพิ่มเพื่อน    

อานันท์ ปันยารชุน ประธานพิธีมอบเงินรางวัล 1,000,000 บาท พร้อมโล่รางวัลให้กับ

นางสุกัญญา ชลศึกษ์

 

        หลังจากคว้ารางวัล “นักเขียนหญิงอมตะ”คนแรก ประจำปี 2562 มีการจัดงานมอบรางวัล “นักเขียนอมตะ” ให้กับนางสุกัญญา ชลศึกษ์ เจ้าของนามปากกา “กฤษณา อโศกสิน” ในค่ำวันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม ที่ผ่านมา ณ สวนดาดฟ้าโบราณ อาคารกรมดิษฐ์ โดยมีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบเงินรางวัล 1,000,000 บาท พร้อมโล่รางวัล

      สุกัญญา ชลศึกษ์ ปัจจุบันอยู่ในวัย 88 ปี เป็นนักเขียนที่ทำงานไม่หยุดมาตลอด 70 ปี จากผลงานการประพันธ์มากกว่า 200 ชิ้น มีนวนิยายที่ได้รับความนิยม อาทิ จำหลักไว้ในแผ่นดิน, เวียงแว่นฟ้า, หนึ่งฟ้าดินเดียว, ขุนหอคำ, ไฟทะเล, น้ำเล่นไฟ, ข้ามสีทันดร, ถ่านเก่าไฟใหม่, พญาไร้ใบ, ตะเกียงแก้ว, ลายแทงในถ้ำแก้ว, กาฬปักษี, น้ำเซาะทราย ฯลฯ ผลงานจำนวนมากถูกนำไปผลิตเป็นบทละครโทรทัศน์ ติดอันดับละครยอดนิยม คนชอบดู กฤษณา อโศกสิน จึงเป็นต้นแบบและเป็นนักเขียนชั้นครูให้กับนักเขียนรุ่นต่อมาอย่างต่อเนื่อง

 

สุกัญญา ชลศึกษ์ นามปากกา “กฤษณา อโศกสิน”

 

      อานันท์ ปันยารชุน กล่าวสดุดี “นักเขียนอมตะ” ครั้งที่ 8 ว่า เรากำลังอยู่ในทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม หลายสิ่งที่เคยมีล้มหายตายจากไป หลายสิ่งที่กำเนิดใหม่มีคุณและโทษต่อมนุษย์ เหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สับสนอลหม่าน คือ เทคโนโลยี จนไม่มีเวลาคิดพินิจคุณค่าชีวิต ทำให้สูญเสียสมาธิและเวลา จะยังมีใครอยากอ่านหนังสืออีกหรือไม่ อ่านอย่างแท้จริง อ่านอย่างพินิจพิจารณา ที่เรียกว่า อ่านเพื่อความงอกงามของชีวิต เพราะชีวิตจะสมบูรณ์ได้ด้วยการอ่าน

      “ มีสถิติคนไทยอ่านหนังสือน้อยลง สิ่งที่ปรากฏ บรรดาสำนักพิมพ์บอกหนังสือขายยาก จำนวนพิมพ์น้อยลง เมื่อเทียบกับยุคที่ไม่มีโซเชียลมีเดีย ส่งผลกระทบต่อนักเขียนโดยตรง ทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี การอ่าน ส่งผลกระทบต่อนักเขียนจะแก้ปัญหาอย่างไร หลายคนบอกเป็นหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม และพ่อแม่ผู้ปกครอง แต่ผมเห็นว่า มูลนิธิอมตะ โดยวิกรม กรมดิษฐ์ คัดสรรนักเขียนอมตะเป็นเพชรน้ำงามประดับมกุฎไทย การเผยแพร่รางวัลนี้ทำให้คนอ่านมีแรงบันดาลใจ นักเขียนเองได้เห็นว่ามีคนเห็นคุณค่าของนักเขียนที่สร้างสรรค์ผลงานที่มีประโยชน์ต่อสังคมไทย และขอแสดงความยินดีกับ สุกัญญา ชลศึกษ์ ผู้สร้างสรรค์งานเขียนมาชั่วชีวิต ผลงานหลายร้อยเรื่องล้วนจับใจคนอ่าน ชีวิตและงานเขียนของท่านเป็นเพชรน้ำงามประดับมงกุฎของสังคมไทยมาช้านาน และจะตลอดไป ที่ประทับใจส่วนตัว บุคคลผู้นี้มีชื่อเสียงและผลงานมากมาย ยังรักษาความถ่อมตัวและความเป็นมนุษย์ธรรมดา” นายอานันท์ กล่าว

      ภายในงานยังมีนิทรรศการรางวัลนักเขียนอมตะ ครั้งที่ 8 สื่อปรัชญาชีวิต “กฤษณา อโศกสิน” และเวทีเสวนาหัวข้อ “ รางวัลนักเขียนอมตะ ครั้งที่ 8 ” โดยมี อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ ประธานกรรมการพิจารณาผลงาน, วิกรม กรมดิษฐ์ และขาดไม่ได้นางเอกของงาน สุกัญญา ชลศึกษ์ ศิลปินแห่งชาติ สตรีผู้คว้ารางวัลนักเขียนอมตะปีนี้ร่วมพูดคุย ซึ่งเธอมีปรัชญา 5 ข้อที่ยึดไว้ในการใช้ชีวิตและรังสรรค์งานวรรณกรรม คือ ระเบียบวินัยที่มีต่องานสังคมและครอบครัว ความซื่อสัตย์สุจริตต่อตนเองและผู้อื่น ความสุขและความทุกข์ที่ต้องบริหารให้เหมาะแก่เวลา การปฏิบัติตนต่อบุคคลและสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้อง และข้อสุดท้ายสำคัญไม่แพ้กัน รับผิดชอบต่อทุกสิ่งที่ได้ลงมือกระทำ เพื่อให้ผ่านพ้นด้วยดี

 

นิทรรศการรางวัลนักเขียนอมตะ ครั้งที่ 8 สื่อปรัชญาชีวิต “กฤษณา อโศกสิน”

 

      สุกัญญา ชลศึกษ์ กล่าวว่า ปลาบปลื้มใจมากได้รับรางวัลที่มีเกียรติจากมูลนิธิอมตะ การเดินทางไกลในแวดวงวรรณกรรม รู้สึกอบอุ่น ไม่คิดฝันเป็นนักเขียน แต่ชอบเขียนโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เริ่มต้นเขียนเรื่องสั้นให้เพื่อนในชั้นอ่านก็ขำกัน จนอายุ 15 ปีได้ส่งเรื่องสั้นเรื่องแรก “ของขวัญวันใหม่” ให้หนังสือ “ไทยใหม่วันจันทร์” ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ทันที ตั้งแต่อายุ 15 ปีเป็นต้นมาไม่มีบรรณาธิการคนไหนปฏิเสธงานเขียน จนวันนี้อายุ 88 ปีก็ยังมีความสุขกับการเขียน

      ย้อนไปวัยเด็กชีวิตไม่ราบรื่น มีอุปสรรค คุณแม่เสียตั้งแต่อายุ 13 ปี คุณพ่อเล่นการเมือง เป็นลูกศิษย์อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เมื่อมีรัฐประหาร ถูกจับ ลูกๆ 6 คนก็แย่ ตนได้เงินวันละ 2 บาทไปเรียนคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง กินข้าว 1 บาท ที่เหลือเป็นค่ารถราง ชีวิตแร้นแค้น แต่ก็ไม่นำมาเกี่ยวข้องกับงานเขียนแต่อย่างใด

      “ งานเขียนทุกเรื่องต้องมีข้อมูล แต่ห้ามปลื้มกับข้อมูลจนเผลอตัวใส่เข้าไปทั้งหมดจนกลายเป็นสารคดี ทำให้รูปร่างนวนิยายบิดเบี้ยว เวลาที่เขียนเรื่องเบื้องลึกเกี่ยวกับจิตใจมนุษย์ต้องอ่านหนังสือจิตวิทยาประกอบ จะทราบทำไมมีพฤติกรรมแบบนี้” กฤษณา อโศกสิน กล่าว

      นักเขียนอาชีพบอกด้วยประสบการณ์ ทั้งการอ่าน การเขียน และการที่เรามีประสบการณ์ชีวิต รู้จักชีวิต ก็เอาสามสิ่งนี้เข้ามาปรุงผสมกัน ส่วนการปิดเรื่องนวนิยายก็ไม่ได้กำหนดเอาไว้ตายตัว จะมีโครงร่างว่าจะขึ้นต้นลงท้ายอย่างไรก็แล้วแต่ตัวละครจะพาไป ไม่ได้คิดแทนตัวละครไว้ล่วงหน้า ถ้าตัวละครจบไม่ได้ เราจะรู้สึกฝืด ก็จะรื้อทำใหม่

      “ อย่างข้ามสีทันดรเป็นเรื่องเศร้ามาก แล้วจุดมุ่งหมายเขียนเพื่อหาทางออกให้คนเสพยา ถ้าเราไปทำให้ทางออกเขาตันเท่ากับสูญเปล่าทั้งเรื่อง ก็หาทางออกให้แบบแฮปปี้เอนดิ้ง แต่จะขนาดไหนตัวละครถึงจะทราบ ตัวละครจะแสดงบทบาทของเขาไปจนสุดสายปลายทาง แล้วเราจะทราบคำตอบสุดท้าย จะไม่นิยมการยืดไปเรื่อยๆ มันจะจืด ถึงตอนนั้นจะต้องไว้เป็นความลับ เหมือนทำขนมต้องเก็บกะทิไว้ราดหน้า ต้องไม่ให้คนอ่านรู้เลยว่าจะจบอย่างไร ทุกเรื่องที่เขียนมาจบสมใจทุกเรื่อง” กฤษณา อโศกสิน กล่าว

 

เปิดเวทีเสวนาการสร้างสรรค์วรรณกรรม โดย กฤษณา อโศกสิน ร่วมพูดคุย

 

      เธอบอกด้วยว่า เพราะนักอ่านมีหลากหลาย จำแนกหลายระดับตามรสนิยม จึงแยกนามปากกา สำหรับนามปากกา “กัญญ์ชลา” จะเป็นเรื่องเบา เรื่องบ้านๆ ส่วน “กฤษณา อโศกสิน” เขียนเกี่ยวกับปัญหาชีวิตหนักหนาสาหัส ส่วนนามปากกา “สไบเมือง” สำหรับเรื่องหรรษาและอื่นๆ

      เจ้าของนามปากกา “กฤษณา อโศกสิน” ยังบอกอีกว่า  ชอบทั้งกลอน เพราะเริ่มต้นด้วยกลอน ต่อมาเขียนเรื่องสั้นนาน 3 ปี มีผลงานกว่า 100 เรื่อง แล้วขยับไปเขียนนวนิยาย แต่การเขียนนวนิยายใช้เวลาเตรียมการมาก กว่าจะได้เรื่อง หาเป้าหมาย และหาเนื้อหา ในเนื้อหาก็มีความหลากหลาย เพราะเป็นเรื่องยาว ตัวละครหลายตัว ต้องอ่านให้แตกว่าใช่หรือเปล่า เวลาที่ผิดก็อายเขา เพราะหนังสือกระดาษผิดแก้ยาก แต่ออนไลน์แก้ง่ายกว่า แม้ไม่สันทัดออนไลน์ แต่ก็ต้องปรับตัวทำงานออนไลน์ ใช้ปากกาไฟฟ้าเขียนด้วยลายมือลงบนไอแพดส่งไปเว็บไซต์เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้อ่าน

      “ ฝึกใช้ปากกาไฟฟ้าเขียนอยู่หนึ่งปีจนเข้าที่ คุ้นเคยกับการทำเครื่องหมายบนเอกสาร ความรู้สึกต่างจากการเขียนด้วยดินสอ แต่ความคิดก็แล่น ไม่ช้า แต่ปลายปากกาไฟฟ้าไม่เหมือนปากกาทั่วไป จะโย้เย้บอกไม่ถูก เหมือนกระดานชนวนลื่นๆ” นักเขียนชั้นครูผู้เท่าทันยุคสมัยบอกด้วยรอยยิ้ม

      ด้าน อ.เนาวรัตน์ ศิลปินแห่งชาติกล่าวว่า รางวัลนักเขียนอมตะ ครั้งที่ 8 เสนอชื่อนักเขียนมา 3 คน แต่คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ กฤษณา อโศกสิน เหมาะสมที่สุด ผลงานเป็นอมตะ ทำงานต่อเนื่อง ทุกงานมีคุณค่า คนอ่านที่เป็นแฟนกฤษณา อโศกสิน มีความต่อเนื่อง ไม่ลดลง นักเขียนผู้นี้เป็นคนทันยุคทันสมัยและขยัน เป็นนักเขียนที่ยืนหยัดและมีพัฒนาการการเขียน ที่ชื่นชอบผลงานที่เป็นความเคลื่อนไหวของสังคม นักเขียนผู้นี้ไม่เคยตกกระแส หลายครั้งที่เป็นผู้นำสังคม

วิกรม กรมดิษฐ์ ประธานมูลนิธิอมตะ ยืนยันเจตนารมณ์ส่งเสริมนักเขียนและวงการวรรณกรรมไทย 

 

      นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานมูลนิธิอมตะ กล่าวว่า มูลนิธิอมตะจัดงานมอบรางวัลนักเขียนอมตะเป็นปีที่ 8 แล้ว เพื่อให้รางวัลนี้เป็นกำลังใจให้กับนักเขียนซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์วรรณกรรมให้ผลิตผลงานอย่างต่อเนื่องและตระหนักถึงความสำคัญของวรรณกรรมที่ถือว่าเป็นงานศิลปะทรงคุณค่า และสะท้อนเรื่องราวทางศิลปวัฒนธรรมของประเทศได้เป็นอย่างดี

      “ การส่งเสริมให้เกิดงานเขียนที่หลากหลายนับเป็นเรื่องที่มูลนิธิให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ เพราะถือเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่า และยังกระตุ้นให้คนไทยรักการอ่าน องค์ความรู้ต่างๆ ที่ผ่านการอ่านจะช่วยยกระดับให้เกิดการพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคงมากขึ้น โดยมูลนิธิอมตะจะเดินหน้ามอบรางวัลอย่างต่อเนื่อง” นายวิกรมกล่าว

      ทั้งนี้ นักเขียนที่ได้รับรางวัล “นักเขียนอมตะ” ที่ผ่านมาประกอบด้วย นายศักดิชัย บำรุงพงศ์ หรือนามปากกา "เสนีย์ เสาวพงศ์" (ถึงแก่กรรม 2557), นายโรจ งามแม้น หรือนามปากกา "เปลว สีเงิน", นายโกวิท เอนกชัย หรือนามปากกา "เขมานันทะ" (ถึงแก่กรรม 2562), นายสมบัติ พลายน้อย หรือนามปากกา "ส.พลายน้อย", พระไพศาลวิ     สาโล, นายคำสิงห์ ศรีนอก หรือนามปากกา "ลาวคำหอม", นายฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ หรือนามปากกา "พนมเทียน" และนายอาจินต์ ปัญจพรรค์ (ถึงแก่กรรม 2561)

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"