ศาลปากีสถานมีคำพิพากษาเมื่อวันอังคารให้ประหารชีวิตพลเอกเปอร์เวซ มูชาร์รัฟ อดีตผู้นำที่ขึ้นครองอำนาจด้วยการก่อรัฐประหาร ในความผิดฐานกบฏจากการล้มล้างรัฐธรรมนูญและประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อปี 2550 แต่ขณะนี้เจ้าตัวใช้ชีวิตลี้ภัยอยู่ที่ดูไบ
แฟ้มภาพวันที่ 20 เมษายน 2556 พลเอกเปอร์เวซ มูชาร์รัฟ ขณะมาขึ้นศาลต่อต้านการก่อการร้ายในกรุงอิสลามาบัด / AFP
รายงานเอเอฟพีเมื่อวันอังคารที่ 17 ธันวาคม 2562 กล่าวว่า คำพิพากษาประหารชีวิตอดีตผู้นำทหาร โดยคณะผู้พิพากษา 3 ท่านที่ตัดสินด้วยเสียงส่วนใหญ่ 2 ใน 3 เป็นคำตัดสินที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในปากีสถานที่กองทัพยังกุมอำนาจอย่างเหนียวแน่นและเคยปกครองประเทศนี้มาเกือบครึ่งหนึ่งของประวัติศาสตร์ 72 ปี
มูชาร์รัฟเกิดที่กรุงนิวเดลีของอินเดียเมื่อปี 2486 ก่อนที่ครอบครัวของเขาจะย้ายมาปากีสถานภายหลังการแยกประเทศ เขาก้าวขึ้นสู่อำนาจจากการก่อรัฐประหารแบบไม่เสียเลือดเนื้อ โค่นอำนาจนายกฯ นาวาซ ชาริฟ เมื่อปี 2542 และต่อมาก็ขึ้นเป็นประธานาธิบดี กระทั่งถูกประท้วงต่อต้านจนต้องลาออกจากตำแหน่งในเดือนสิงหาคม 2551
อดีตผู้นำทหารวัย 76 ปี ใช้ชีวิตลี้ภัยในต่างแดนนับแต่ปี 2559 หลังจากปากีสถานยกเลิกข้อห้ามเขาเดินทางออกนอกประเทศ ช่วงที่ผ่านมาเขาใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่นครดูไบและกรุงลอนดอน
อัคตาร์ ชาห์ ทนายความของเขา กล่าวว่า อดีตนายพลผู้นี้กำลังป่วย และขณะนี้พักอยู่ที่นครดูไบ พวกเขายังไม่ตัดสินใจว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่
เขาเผยด้วยว่า ศูนย์กลางของการพิจารณาคดีนี้ ซึ่งเริ่มต้นเมื่อปี 2556 และเป็นหนึ่งในหลายคดีของมูชาร์รัฟ เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจระงับการบังคับใช้รัฐธรรมนูญและประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อปี 2550
ทาลัต มาซูด อดีตนายพลเกษียณ ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคง กล่าวถึงคำพิพากษาของศาลครั้งนี้ว่า "ไม่ธรรมดา" การที่ศาลตัดสินอย่างกล้าหาญเช่นนี้แสดงให้เห็นว่ากำลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในปากีสถาน
พลเอกมูชาร์รัฟผู้ชื่นชอบการสูบซิการ์และดื่มวิสกี้ ครองอำนาจนาน 9 ปี ระหว่างนั้นเขาเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายภายหลังวินาศกรรม 11 กันยายน 2544 เขาเคยรอดชีวิตจากความพยายามลอบสังหารของอัลกออิดะห์อย่างน้อย 3 ครั้ง อำนาจของเขาเริ่มถูกท้าทายเมื่อเขาพยายามปลดประธานศาลฎีกาเมื่อเดือนมีนาคม 2550 ทำให้เกิดการประท้วงทั่วประเทศและความโกลาหลยาวนานหลายเดือนจนทำให้เขาประกาศภาวะฉุกเฉิน
ภายหลังการลอบสังหารอดีตนายกฯ เบนาซีร์ บุตโต ในเดือนธันวาคมปีเดียวกันนั้น สถานการณ์ในปากีสถานตึงเครียดมากขึ้น และการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2551 พรรคพันธมิตรของมูชาร์รัฟพ่ายแพ้อย่างยับเยิน สุดท้ายรัฐบาลผสมชุดใหม่เดินหน้ากระบวนการถอดถอนเขา ทำให้อดีตนายพลผู้นี้ต้องลาออกในเดือนสิงหาคมแล้วหนีไปลี้ภัยในต่างแดน
เขากลับปากีสถานเมื่อปี 2556 หวังจะลงชิงชัยในการเลือกตั้ง แต่ก็ถูกสั่งห้ามลงสมัครและห้ามออกนอกประเทศ ระหว่างรอการพิจารณาคดีหลายคดีที่เขาถูกกล่าวหา
คำตัดสินเมื่อวันอังคารเป็นคดีล่าสุดของมูชาร์รัฟที่ศาลพิพากษาในช่วงที่เขาลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ เมื่อปี 2560 ศาลปากีสถานเคยประกาศว่าเขาเป็นผู้ร้ายหนีคดี ในคดีที่เขาถูกกล่าวหาว่าพัวพันการสังหารนางบุตโต ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรงของประเทศมุสลิม
ศาลต่อต้านการก่อการร้ายก็เคยระบุว่า เขาเป็นผู้หลบหนีการพิจารณาคดีและสั่งให้ยึดทรัพย์สินของเขา
มูชาร์รัฟถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในแผนสมคบคิดลอบสังหารนางบุตโตก่อนการเลือกตั้ง แต่เขาปฏิเสธคำกล่าวหาทั้งหมด ภายหลังคำพิพากษาเมื่อวันอังคาร บิลาวัล บุตโต ซาร์ดารี ลูกชายของนางบุตโตทวีตว่า "ประชาธิปไตยคือการแก้แค้นที่ดีที่สุด".
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |