การเมืองไทยปีใหม่คงจะมีความผันผวนสับสนมากขึ้น เพราะเริ่มจะมีกิจกรรมเผชิญหน้าระหว่างผู้มีอำนาจ กับกลุ่มการเมืองที่เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงจากกติกาปัจจุบัน
ความขัดแย้งกำลังจะแปรสภาพจากเดิมที่เป็นเรื่องสี มาเป็นเรื่อง "ผู้กุมอำนาจ" กับ "ผู้ท้าทายอำนาจ"
สำหรับคนที่ติดตามการเมืองไทยมานานพอสมควร ก็เริ่มจะเห็นการวนกลับไปสู่วงจรเก่าอีกครั้งหนึ่ง
ยังมองไม่เห็นทางที่จะก้าวข้ามความขัดแย้งเดิมๆ
สคริปต์เหมือนเก่า เปลี่ยนเพียงตัวละครเท่านั้น
หากเข้าวงจรเดิม ความหวังที่เราจะหลุดออกจาก "กับดัก" ความขัดแย้งแบบเดิมก็ริบหรี่เต็มทน
ปัญหาก็ยากอยู่แล้ว ยิ่งมีปัจจัย "ความป่วน" อันเกิดจากเทคโนโลยีที่กำลังเขย่า (disrupt) ทุกวงการรวมถึงแวดวงการเมืองด้วย ก็ยิ่งมองไม่เห็นทางออก หากเรายังเล่นกันอยู่ในเกมเก่าๆ ที่จะต้องหักล้างอีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่เห็นพ้องกับตน ทางออกของบ้านเมืองจะเป็นเช่นไร
วงจรเดิมคือ การเลือกตั้ง>รัฐประหาร>ฉีกรัฐธรรมนูญ>ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ (ที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า)>กลับสู่การเลือกตั้ง>การเมืองเก่าแบบไร้คุณภาพกลับมา ตามมาด้วยความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์และการช่วงชิงประชาชนให้มาอยู่ข้างตนเอง>ทหารมีข้ออ้างก่อรัฐประหาร>ทหารทนแรงกดดันจากสังคมภายในและภายนอกไม่ได้ก็ยอมให้มีการเลือกตั้ง>เลือกตั้งเสร็จ>การเมืองก็กลับมาสู่โหมดความขัดแย้งเดิม
เพราะคุณภาพการเมืองของเราไม่พัฒนา ไม่อาจจะยกระดับให้พ้นปัญหาเก่าๆ ได้
เราจึงกลับมาตั้งต้นกันใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า
คำถามสำคัญที่สุดสำหรับคนที่มีบทบาททางการเมืองและสังคมวันนี้สำหรับสังคมไทยก็คือว่า จะแก้ปัญหาพื้นฐานของประเทศอย่างไร...หากท่านมีอำนาจ ท่านจะแก้ปัญหาหลักๆ เหล่านี้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง
ความเหลื่อมล้ำ
การศึกษา
คอร์รัปชัน
ความสามารถในการแข่งขัน
การปฏิรูประบบภาษีเพื่อความเท่าเทียม
การสร้างคนรุ่นใหม่ที่สามารถตั้งรับความเปลี่ยนแปลง
ปัญหาปากท้อง, ราคาผลผลิตสินค้าเกษตร
การปรับตัวให้ทันกับความป่วนอันเกิดจากเทคโนโลยี
เราไม่เห็นพรรคการเมืองหรือกลุ่มบุคคลที่อาสามาบริหารประเทศมีคำตอบที่ชัดเจน หรือมีข้อเสนอทางแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม
และเมื่อมีการเลือกตั้ง ได้กลุ่มการเมืองมาบริหารประเทศ ก็ไม่อาจจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เพราะไม่มีความกล้าหาญทางการเมืองพอที่จะลงมือรื้อระบบเก่าๆ
พรรคการเมืองกลายเป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่ม มิใช่เป็นตัวแทนของประชาชนทุกภาคส่วน
กลุ่มทหารที่ก่อรัฐประหารโดยอ้างว่านักการเมืองโกงกิน ไร้ความรับผิดชอบ พอเข้ามามีอำนาจก็ไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะแก้ปัญหาพื้นฐานของประเทศ
หนึ่งในเหตุผลที่ผู้ก่อรัฐประหารมักจะอ้างคือ ความฉ้อฉลของนักการเมืองที่โกงกินประชาชน แต่เมื่อทหารเข้ามากุมอำนาจเบ็ดเสร็จ คอร์รัปชันก็ไม่ได้หายไปไหน ตรงกันข้ามในหลายกรณี การโกงกินกลับเพิ่มดีกรีมากขึ้น เพราะกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจในสังคมถูกทำลายไปสิ้น
เพราะเมื่อมีอำนาจเบ็ดเสร็จ คอร์รัปชันก็ยิ่งทำได้ง่ายและสะดวกขึ้น กลายเป็นคอร์รัปชันสำเร็จรูปด้วยซ้ำไป
Power corrupts. Absolute power corrupts absolutely.
มิหนำซ้ำเมื่อได้อำนาจเบ็ดเสร็จไปแล้ว แทนที่จะใช้อำนาจนั้นแก้ปัญหาเงื่อนปมที่ฝังลึกอยู่ในสังคมไทย อ้างว่าเพราะนักการเมืองมีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่กล้ารื้อระบบที่เน่าเฟะเอง แต่ผู้นำทหารที่เข้ามาก็หาได้มีความกล้าหาญทางการเมืองหรือมาตรฐานจริยธรรมสูงกว่านักการเมืองแต่ประการใด
คอร์รัปชันก่อนหน้า คสช. คอร์รัปชันช่วง คสช. และคอร์รัปชันวันนี้ก็มิได้มีความแตกต่างกัน
ที่ต่างกันก็คือ คนที่เข้ามาฉกฉวยผลประโยชน์นั้นเปลี่ยนหน้าไปเพราะผู้กุมอำนาจเปลี่ยนไปเท่านั้นเอง
ยิ่งเมื่อผู้มีอำนาจสามารถตีความกฎหมายที่เอื้อต่อประโยชน์ของตน หลักการที่ว่า "ทุกคนเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย" ก็อันตรธานไปต่อหน้าต่อตา
เมื่อเป้าหมายของผู้มีอำนาจคือการกุมอำนาจนั้นไว้นานที่สุด ไม่ว่าจะด้วยเล่ห์ด้วยกล และตีความกฎหมายบิดเบี้ยวตามความต้องการของตน ความชอบธรรมก็ย่อมจะเหือดหายไป
จึงไม่ต้องแปลกใจที่คนที่รู้สึกอึดอัดคับข้องใจจะแสดงออกด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจนั้นๆ
ไม่ว่าจะปรากฏในรูปของการเทคะแนนเสียงให้พรรคการเมืองที่เสนอตัวมาสร้างความเปลี่ยนแปลง หรือผ่านการแสดงความเห็นทางโซเชียลมีเดียหรือการแสดงออกในที่สาธารณะ
ผู้มีอำนาจก็ตอบโต้ด้วยการอ้างกฎหมายและ "ความสงบเรียบร้อย" และพยายามสกัดกั้นด้วยวิธีการที่เข้าสู่ภาวะเผชิญหน้าอีกครั้งหนึ่ง
นี่คือทางออกของประเทศไทยหรือไม่? คำตอบคือไม่
พรุ่งนี้คุยกันต่อครับว่า ทางออกประเทศไทยมีอะไรบ้าง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |