ขบวนรถบุปผชาติ อัญเชิญพระบรมเกศาธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุ ที่ตกแต่งด้วยดอกไม้สด หนึ่งแสนดอก
นับเป็นเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ ที่ประเทศไทยได้อัญเชิญ “พระบรมเกศาธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุ” จากประเทศศรีลังกามาประดิษฐาน ณ พระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร ทั้งนี้ มูลนิธิโดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหารในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร มูลนิธิธรรมดี และองค์กรภาคี เป็นเจ้าภาพ ในการอัญเชิญ และพิธีมีขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 15ธันวาคม 2562 ที่ผ่านนี้ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นมงคลแก่ตนเองรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง
นอกจากนี้ การอัญเชิญ พระบรมเกศาธาตุจากประเทศศรีลังกา ยังเป็นการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์เถรวาทไทย-ลังกา ที่ดำเนินสืบเนื่องมากว่า 700 ปี นับตั้งแต่การรับนับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์ในสมัยสุโขทัย อีกทั้งปี พ.ศ. 2562 ยังเป็นวาระครบรอบ 266 ปี แห่งการประดิษฐานพระพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์ในศรีลังกา ซึ่งเป็นนิกายที่ได้รับการอุปสมบทจากคณะพระธรรมทูตนำโดยพระอุบาลีมหาเถระ จากวัดธรรมารามแห่งกรุงศรีอยุธยาในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งเป็นการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในศรีลังกาขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากเสื่อมถอยไปด้วยอิทธิพลของชาวต่างชาติและผู้ปกครองที่นับถือศาสนาอื่น นิกายสยามวงศ์จึงเป็นส่วนสำคัญในการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างไทย–ศรีลังกา มาจนถึงปัจจุบัน
พระบรมเกศาธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุ ที่ประดิษฐาน ตำหนักเพชร วัดบวรฯแล้ว
โดยในพิธีอัญเชิญได้จัดริ้วขบวนและรถบุปผชาติอัญเชิญพระบรมเกศาธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งสมาคมปากคลองตลาด ร่วมกับ อุทยานไม้ดอกเพลาเพลิน สร้างสรรค์ วิจิตรางานศิลป์ ร่วมจัดดอกไม้ถวายนับแสนดอก ทั้งกล้วยไม้ กุหลาบ งานไทยประดิษฐ์ ช่ออุบะมะลัย พร้อมทั้งเครื่องสูงบุษบก ผอบเพื่อบรรจุพระบรมเกศาธาตุ ทั้งนี้ยังประดับตกแต่งด้วยประติมากรรมช้างเผือก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของประเทศศรีลังกา แกะสลักเสมือนจริง ตระหง่านอยู่บนหัวรถ มีความสูงกว่า 4 เมตร โดยงานทุกชิ้นและดอกไม้ทั้งหมด ถูกรังสรคค์ให้เหมือนคลื่น มีความหมายและความเป็นมาของเรื่องราวและความสัมพันธ์ที่ดีของประเทศไทย และศรีลังกา ในพิธีอันมหามงคลและศักสิทธิ์ เพื่อออกสู่สายตาของชาวโลกต่อไป
ส่วนตัวรถประดับตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจงและประณีตงดงาม ออกแบบอย่างมีเอกลักษณ์ด้วยศิลปะความเป็นไทย เช่น มณฑปต่างๆ ที่มีความเก่าแก่ การจัดแต่งดอกไม้รอบตัวรถออกแบบให้เป็นเหมือนลายคลื่นน้ำ เปรียบเสมือนพระบรมเกศาธาตุ ที่ได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงประเทศไทย
นอกจากขบวนรถบุปผชาติ ทางอุทยานไม้ดอกเพลาเพลิน บุรีรัมย์ ยังร่วมกับ สมาคมปากคลองตลาด จัดสร้างสรรค์ผลงานด้วยดอกไม้สดตกแต่งประดับบริเวณพิธีการจัดสถานที่ ณ พระตำหนักเพ็ชร วัดบวรณิเวศวิหาร สถานที่ประดิษฐานพระบรมเกศาธาติ และพระบรมสารีริกธาตุอีแกด้วย ใน รูปแบบดอกไม้สด และงานไทยประดิษฐ์
อาจารย์ พิทักษ์ หังสาจะระ ที่ปรึกษาเพลาเพลิน และ นักออกแบบตกแต่งการจัดดอกไม้ระดับประเทศ กล่าวว่า ในฐานะคนไทย คนหนึ่ง รู้สึกยินดีและเป็นมหามงคลของชีวิตอย่างมาก ตอนได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนของเพลาเพลินออกแบบรถบุปผชาติ รู้สึกตื่นเต้น อยากสร้างสรรค์ผลงาน ที่มีทั้งความเป็นศาสนา และความเป็นไทยในงานฝีมือคนไทย ที่ละเอียดอ่อน นำมาผสมผสาน ให้รถขบวนอัญเฃิญมีความปราณ๊ตวิจิตรบรรจง ส่วนชนิดของดอกไม้ที่เลือก ก็เลือกที่สีแสดงความเป็นเอกลักษณ์ทางด้านศาสนา ความเรียบ ความสงบ โดยเฉพาะดอกไม้ไทยที่อยากนำเสนอ
"รูปแบบแนวคิด ต้องบอกว่างานนี้เป็นงานบุญที่ใหญ่มาก การที่เราจะทำงานบุญที่ใหญ่ระดับโลก สิ่งที่เราต้องทำ ต้องเน้นเรื่องของความประณีตจริงๆ ออกแบบด้วยความเป็นไทย ไม่ว่าจะเป็น มณฑปต่างๆที่เก่าแก่ ฉะนั้นการจัดดอกไม้ เลยออกแบบรอบตัวรถให้เป็นเหมือนลายน้ำ ลายคลื่น ที่เปรียบเสมือนพระบรมเกศาธาตุ ได้ข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงบ้านเรา คนไทยทุกคนก็ได้รับบุญ มีวาสนาได้กราบพระเกศาธาตุของจริง ในครั้งนี้เพราะฉะนั้น งานที่ออกมานอกจากจะใช้รับขึ้นขบวนแล้ว เราต้องการโชว์ในคนทั้งโลกเห็นว่า ความเป็นไทยมีความสวยงามแค่ไหน และจะมีเรื่องของรายละเอียดของงานไทย ซึ่งเป็นงานดอกไม้ไทย ประกอบกับการจัดดอกไม้ไทยในตัวรอบขบวน และจะมีองค์ประกอบอื่นๆเยอะ ไม่ว่าจะเป็นช้างเผือก ที่นำเรามาใช้ในการนำขบวน ซึ่งครั้งนี้เราใช้แกะพิเศษสำหรับงานนี้เลย”"อาจารย์พิทักษ์เล่าแนวคิดออกแบบ
ในการทำงานที่ต้องบันทึกในประวัติศาสตร์ครั้งนี้ อาจารย์พิทักษ์ บอกว่า ต้องต่อสู้กับเวลาที่ค่อนข้างจำกัดมาก ซึ่งการทำรถบุปผชาติคันใหญ่แบบนี้ ปกติต้องเตรียมงานอย่างน้อย 6 เดือนหรือ 1 ปี เพื่อจะได้รู้ว่าการวางแผนงานต่างๆเป็นอย่างไรบ้าง เพราะการนำรถ 1 คันใหญ่ๆ มาประดับตกแต่งต้องมีการสร้างโครงสร้างขึ้นมา ซึ่งต้องใช้เวลา รวมถึงการดีไซน์รอบคันรถให้เป็นเหมือนสายน้ำ ทำให้รายละเอียดต่างๆ มาก ตั้งแต่การแกะโครงสร้างออกมาให้เป็นรูปของลายน้ำแบบลายไทย การเซ็ทดอกไม้ให้รับกับน้ำ แม้กระทั่งการตกแต่งพระมณฑปที่ประดิษฐานอยู่บนรถด้วย รวมถึงตัวช้างเอง ต้องสั่งแกะในเวลาที่น้อยมาก กว่าจะได้ช้างเผือกที่แกะออกมาแล้วเหมือนจริงมากๆ และมีความสวยงามในเรื่องรายละเอียดต่างๆ
แบบร่างโครงสร้างรถบุปผชาติ อัญเชิญ พระบรมเกศาธาตุ พระบรมสารีริกธาตุ
"ระหว่างทำงาน เรื่องดอกไม้เราก็มีความเป็นห่วงมาก แต่เจ้าของปากคลองตลาดก็เป็นผู้ Support ให้ ส่วนเพลาเพลินก็ดูแลในเรื่องของ Design ดูแลในเรื่องของทีมงานทั้งหมด คนที่เป็นช่างสัก ช่างฝีมือ แรงงาน ทุกอย่างต้องทำงานพร้อมกันหมดในเวลาอันสั้น ซึ่งความยากอยู่ตรงเรื่องของเวลา เพราะเป็นรถบุปผชาติ ไม่ใช่การจัดดอกไม้ที่อยู่กับที่เฉยๆ รถมีการเคลื่อนไหว หากจัดไม่แข็งแรงหรือแน่นหนา โอกาสการหลุดจะเยอะมาก โชคดีที่เพลาเพลิน เคยทำรถบุปผชาติมาแล้ว เรามีบทเรียนและประสบการณ์ในการทำงานมาแล้ว เพียงแต่เราห่วงเรื่องเวลามากๆ แค่นั้นเอง ”
การแสดงของคณะจากศรีลังกา
การอัญเชิญพระบรมเกศาธาตุ นอกจากทางฝ่ายไทย จะทำพิธีและชบวนอัญเชิญที่สวยงามวิจิตรบรรจงแล้ว ทางศรีลังกายังได้มีการแสดงทางวัฒนธรรมด้วยขบวนกลอง และคณะนาฏศิลป์ เพื่อสรรเสริญพระพุทธเจ้านำขบวนรถบุปผชาติ รวมถึงรอบพิเศษในการถวายเครื่องบูชาสักการะในพระตำหนักเพ็ชรทุกวันด้วย
เดิมพระบรมเกศาธาตุ เก็บรักษาอยู่ที่วัดโบราณแห่งหนึ่งในเมืองแคนดี้ ประเทศ ศรีลังกา และเป็นที่เคารพบูชาอย่างสูงสุดมากว่า 700 ปี จนกระทั่งเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่ Nelligala International Buddhist Center เพื่อให้พุทธศาสนิกชนเดินทางมาสักการะได้สะดวกขึ้น และการอัญเชิญมายังประเทศไทยในครั้งนี้ เป็นดําริของพระสังฆนายกแห่งวัดมัลละวัตตะมหาวิหาร หรือวัดบุปผาราม และพระสังฆนายกแห่งวัดอัสคิริยามหาวิหาร ประเทศศรีลังกา โดยวัดมัลละวัตตะ เป็นวัดที่พระอุบาลีเถระ และคณะสมณทูตจากกรุงศรีอยุธยา มาทําการบรรพชาอุปสมบทให้ชาวศรีลังกา ส่วนวัดอัสคิริยา เป็นสถานที่ถวายเพลิงสรีระสังขารพระอุบาลีเถระ ทั้ง 2 วัดนี้ยังที่ทำหน้าที่สำคัญในการดูแลวัดพระเขี้ยวแก้วอีกด้วย พระบรมเกศาธาตุนี้เป็นองค์ที่ไม่เคยอัญเชิญมาในประเทศไทยมาก่อน จึงเป็นครั้งแรกในรอบ 700 ปี ที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยจะได้มีโอกาสเข้ากราบสักการะพระบรมเกศาธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาพร้อมกันในครั้งนี้ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
เหล่าพระสงฆ์นั่งเรียงราย ทีพระตำหนักเพชร เพื่อทำพิธีอัญเชิญพระบรมเกศาธาติ ประดิษฐาน
วัดบวรนิเวศวิหารเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกที่มีความเกี่ยวเนื่องกับพระบรมราชจักรีวงศ์มายาวนาน โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเป็นเจ้าอาวาสพระองค์แรก วัดนี้ยังที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลที่ 10 ขณะทรงผนวช อีกทั้งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชถึง 4 พระองค์ สะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยและพระพุทธศาสนามาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของ พระตำหนักเพ็ชร สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เพื่อถวายแด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระราชอุปัธยาจารย์ ทรงใช้ประกอบศาสนกิจ เคยใช้เป็นสถานที่ประชุมกรรมการมหาเถรสมาคม รวมถึงเป็นที่ประดิษฐานต้นแบบพระบรมรูปหล่อรัชกาลที่ 4 ขนาดเท่าพระองค์จริง พระบรมฉายาลักษณ์ ตลอดจนเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระสังฆราชองค์ก่อน ๆ
พระสงฆ์จากศรีลังกา กราบสักการะพระบรมเกศาธาตุ ที่ประดิษฐานแล้ว
พุทธศาสนิกชนสามารถเข้ากราบสักการะพระบรมเกศาธาตุและพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระตำหนักเพ็ชรวัดบวรนิเวศวิหาร ได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 10.00 - 20.00 น. ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 15 มกราคม 2563 รวมถึงสามารถจองรอบเวลาเป็นเจ้าภาพถวายเครื่องสักการะบูชาตามธรรมเนียมศรีลังกาได้ที่ฝ่ายเลขานุการโครงการฯ โทร. 02-610 2366 , 063 526 5359
การแสดงของคณะจากศรีลังกา