อัยการ “ธนกฤต” ชี้สำนวนไต่สวนยุบอนาคตใหม่ ไม่แจ้งข้อกล่าวหา ขัดระเบียบ กกต.


เพิ่มเพื่อน    

 

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด อาจารย์ผู้บรรยายวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความและพยานหลักฐาน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รามคำแหง นิด้า และแม่ฟ้าหลวง ได้ให้ความเห็นข้อกฎหมายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว กรณี กกต.มีมติยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา มีข้อสังเกตต่อความชอบด้วยกฎหมายของกระบวนการไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาดของ กกต. ระบุว่า


ตามที่เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562  กกต. มีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 93 จากกรณีที่พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นเงินจำนวน 191,200,000 บาท ซึ่ง กกต. ถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืน มาตรา 72 โดยยังไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่พรรคอนาคตใหม่ และต่อมานายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. แถลงว่า เหตุที่ กกต. มีมติในเรื่องนี้โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาเนื่องจากเป็นการใช้อำนาจของ กกต.ตาม พรป. พรรคการเมือง ฯ  มาตรา 93 ที่ให้นายทะเบียนพรรคการเมือง (เลขาธิการ กกต.) มีอำนาจทำความเห็นพร้อมรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเสนอต่อ กกต. เพื่อพิจารณาและวินิจฉัยได้เลยโดยไม่ต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหาก่อน นั้น


ผมขอให้ข้อสังเกตที่เป็นความเห็นทางวิชาการต่อประเด็นความชอบด้วยระเบียบและกฎหมายของการไม่แจ้งข้อกล่าวหานี้  โดยเป็นการให้ความเห็นทางวิชาการในประเด็นข้อกฎหมายเป็นการส่วนตัวในฐานะที่เป็นอาจารย์ผู้บรรยายกฎหมายวิธีพิจารณาความในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน โดยไม่มีวัตถุประสงค์และเจตนาสนับสนุนพรรคการเมืองหรือฝ่ายการเมืองใดทั้งสิ้น และไม่มีเจตนาก้าวล่วงคำวินิจฉัยของ กกต.และของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด


1.พรป. พรรคการเมือง ฯ มาตรา 93 ให้อำนาจในการงดการแจ้งข้อกล่าวหาหรือไม่เพียงใด

ตาม พรป. พรรคการเมือง ฯ  มาตรา 93 วรรคหนึ่ง กำหนดหลักการไว้ว่า เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งก็คือเลขาธิการ กกต. ว่า พรรคการเมืองใดกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 72 ให้นายทะเบียน มีอำนาจในการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อ กกต. เพื่อพิจารณา


ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กกต.กำหนด โดยมาตรา 93 ไม่ได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งให้มีอำนาจในการงดแจ้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด แต่มาตรา 93 กำหนดไว้แต่เพียงว่า การรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน และการเสนอความเห็นต่อ กกต. เพื่อพิจารณา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กกต. กำหนด ซึ่งก็คือเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ข้อ 55 หมวด 7 การยุบพรรคการเมือง ซึ่งกำหนดให้นำระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 มาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อปรากฏว่าพรรคการเมืองใดกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 72  ซึ่งระเบียบ กกต. ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด จะกำหนดรายละเอียดของกระบวนการและขั้นตอนของการตรวจมูลกรณี การสืบสวน การไต่สวน การแจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และการพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดของ กกต. เป็นต้น


2.ขั้นตอนและกระบวนการไต่สวนตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด เมื่อไต่สวนเสร็จแล้วมีพยานหลักฐานฟังได้ ให้แจ้งข้อกล่าวหาและให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงข้อกล่าวหา


เมื่อคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนซึ่งเป็นเจ้าของสำนวนได้ดำเนินการไต่สวนเสร็จแล้ว มีพยานหลักฐานสนับสนุนฟังได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 72 ให้แจ้งข้อกล่าวหาแก่พรรคการเมืองนั้นตามแบบ สตว. 6 รวมทั้ง กกต. อาจจะพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหาแก่หัวหน้าพรรคการเมืองหรือคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่มีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลย ตามระเบียบ กกต. ฯ ข้อ 54 และ 55 ได้ด้วย โดยบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาจะระบุข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานโดยสรุป และกำหนดวันเวลา สถานที่ที่ให้ผู้ถูกกล่าวหาไปชี้แจงข้อกล่าวหา ทั้งนี้ ตามระเบียบ กกต. ข้อ 54 ซึ่งเรื่องยุบพรรคอนาคตใหม่ตามที่ กกต. กล่าวหาว่ากระทำการฝ่าฝืนมาตรา 72 นี้ กลับปรากฏจากคำแถลงของนายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต.ว่า มติของกกต. ดังกล่าว ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ อันสอดคล้องกับที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่แถลงว่า ได้มีการดำเนินกระบวนการไต่สวนไปแล้ว โดยประธานคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนได้เชิญพรรคอนาคตใหม่ไปชี้แจงแล้ว 3 ครั้ง และให้ส่งเอกสาร โดยยังไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาและให้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแต่อย่างใด


3.จะอ้างอำนาจในการสั่งงดการไต่สวนพยานหลักฐาน ตามระเบียบ กกต. ข้อ 57 วรรคท้าย ในการงดแจ้งข้อกล่าวหาได้หรือไม่เพียงใด ถึงแม้คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนจะมีอำนาจตามระเบียบ กกต. ข้อ 57 วรรคท้าย ที่จะงดการไต่สวนพยานหลักฐานได้ก็ตาม แต่จะตีความเลยไปถึงขนาดเป็นอำนาจในการงดแจ้งข้อกล่าวหาหาไม่ได้ เพราะอำนาจในการงดการไต่สวนพยานหลักฐานเป็นคนละเรื่องกันกับอำนาจในการแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ


โดยระเบียบ กกต. ฯ ได้กำหนดเรื่องการไต่สวนและการแจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ไว้คนละส่วนกัน โดยกำหนดเรื่องการไต่สวนไว้ในส่วนที่ 3 และกำหนดเรื่องการแจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาไว้ในส่วนที่ 4 การที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนมีอำนาจงดการไต่สวนพยานหลักฐานจึงไม่อาจตีความขยายความรวมไปถึงอำนาจในการงดแจ้งข้อกล่าวหาและอำนาจในการตัดสิทธิผู้ถูกกล่าวหาในการชี้แจ้งแก้ข้อกล่าวหาได้


นอกจากนี้ อำนาจในการงดการไต่สวนพยานหลักฐานดังกล่าว ก็เป็นเพียงอำนาจงดการไต่สวนเฉพาะพยานที่ทำให้การไต่สวนล่าช้าโดยไม่จำเป็นหรือพยานหลักฐานที่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่านั้น ซึ่งจะต้องพิจารณาพยานหลักฐานแต่ละชิ้นเป็นรายกรณีไป ว่าพยานหลักฐานชิ้นใดไม่สำคัญ ทำให้ล่าช้า คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนจึงไม่มีอำนาจสั่งงดการไต่สวนพยานหลักฐานทั้งหมดได้


4.สิทธิในการรับทราบข้อกล่าวหาและสิทธิในการชี้แจ้งแก้ข้อกล่าวหาเป็นสิทธิตามหลักฟังความสองฝ่ายหรือหลักโต้แย้งคัดค้านต่อสู้คดี (The Principal of Bilateral Hearings หรือ Le Principe de la Contradiction) ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักสำคัญ 2 หลักของหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติ (Natural Justice) และเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เป็นผลจากการที่รัฐต้องเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ (Human Dignity) โดยประชาชนไม่ได้เป็นเพียงวัตถุอย่างหนึ่งของคำตัดสิน แต่ยังมีฐานะเป็นผู้ทรงสิทธิของกระบวนพิจารณาที่ตนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาจะต้องมีสิทธิได้รับทราบข้อกล่าวหาและพยานหลักฐานของฝ่ายที่กล่าวหาตนและมีสิทธิที่จะยื่นคำแก้ข้อกล่าวหาและนำพยานหลักฐานมาหักล้างต่อสู้ข้อกล่าวหาและพยานหลักฐานของอีกฝ่ายหนึ่งได้ ซึ่งหลักฟังความสองฝ่ายหรือหลักโต้แย้งคัดค้านต่อสู้คดีนี้เป็นหลักกฎหมายสากลที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยได้มีการบัญญัติรับรองหลักนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญของหลายประเทศ และในอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนก็ได้บัญญัติรับรองหลักนี้ไว้ในมาตรา 6 สำหรับรัฐธรรมนูญของไทยฉบับปี 2550 ก็เคยบัญญัติรับรองหลักนี้ไว้ในมาตรา 40 (2)


การไม่แจ้งข้อกล่าวหาและไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจ้งแก้ข้อกล่าวหานอกจากจะไม่เป็นไปตามระเบียบ กกต. ฯ ดังที่กล่าวมาแล้ว ยังขัดกับหลักฟังความสองฝ่ายหรือหลักโต้แย้งคัดค้านต่อสู้คดีซึ่งเป็นหลักกฎหมายสากลและเป็นหนึ่งในหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติอีกด้วยเมื่อไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาและไม่ได้ให้โอกาสฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบ กกต. ฯ ดังกล่าว จึงน่าจะถือว่าสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนไม่สมบูรณ์และไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อ กกต. ได้รับสำนวนการไต่สวนนี้มาเพื่อพิจารณาและวินิจฉัย แล้วมีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ จึงน่าพิจารณาว่ามติของ กกต. ซึ่งพิจารณาและวินิจฉัยจากสำนวนการไต่สวนที่น่าจะไม่ชอบด้วยระเบียบและกฎหมายนี้ เป็นมติที่ได้มีการปฏิบัติอย่างถูกต้องและเป็นไปตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยพรรคการเมือง ฯ ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด ฯ และ พรป. พรรคการเมือง ฯ มาตรา 93 ดังที่กล่าวไปแล้ว หรือไม่


5.หากเปรียบเทียบกับสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนในการดำเนินคดีอาญาทั่วไปในศาลยุติธรรม หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยในความผิดที่อัยการฟ้องจำเลยนั้นต่อศาล ย่อมถือว่าไม่มีการสอบสวนในความผิดฐานนั้น และอัยการย่อมไม่มีอำนาจฟ้องในข้อหานั้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา120 โดยหากอัยการยื่นฟ้องความผิดนั้นต่อศาล ศาลก็จะมีคำพิพากษายกฟ้อง (คำพิพากษาฎีกาที่ 1250/2521)


สำหรับกรณีที่ กกต. จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่นั้น เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาว่าจะรับคำร้องนั้นไว้พิจารณาหรือไม่ และหากรับคำร้องไว้พิจารณาแล้วจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"