โพลตอกอนาคตใหม่ คนเบื่อม็อบ-ไม่มีกิน


เพิ่มเพื่อน    

    โพลตอกหน้า "อนาคตใหม่" กิจกรรมวิ่งไล่ลุง ปลุกม็อบ ทำเพื่อตัวเองล้วนๆ หวั่นบ้านเมืองวุ่นวาย เศรษฐกิจจะตกต่ำลงไปอีก แล้วใครจะรับผิดชอบ คนนอกโซเชียลต้องการความสงบ
    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง กลัวที่ความวุ่นวายบานปลาย กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ผ่าน “เสียงประชาชนในโลกโซเชียล” (Social Media Voice) ด้วยระบบ Net Super Poll จำนวน 11,703 ตัวอย่าง ที่เกาะติดความเคลื่อนไหวของนักการเมือง และ “เสียงประชาชนในสังคมดั้งเดิม” (Traditional Voice) จำนวน 1,195 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 12-14 ธันวาคม พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา
    พบว่า    ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.9 ระบุไม่เคยได้ประโยชน์จากการเคลื่อนไหวของนักการเมือง อาทิ การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร การไม่ถวายสัตย์ฯ การวิ่งไล่ลุง และอื่นๆ เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 14.1 ระบุเคยได้รับประโยชน์ ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.5 ระบุความเคลื่อนไหวต่างๆ เช่น การนัดวิ่ง การชวนนัดคนให้ชุมนุมประท้วง และการโน้มน้าวต่างๆ ทำไปเพื่อความอยู่รอด ผลประโยชน์ล้วนๆ ของนักการเมือง ในขณะที่ร้อยละ 29.5 ระบุทำเพื่อประโยชน์แท้จริงของประเทศชาติและประชาชน
    ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.7 ระบุตอนนี้กลัวที่ความวุ่นวายบานปลาย เศรษฐกิจตกต่ำลงไปอีก ต้องการบ้านเมืองสงบสุขประเทศชาติมั่นคง ในขณะที่ร้อยละ 17.3 ไม่กลัว
    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดลกล่าวด้วยว่า ผลการสำรวจ “เสียงประชาชนในโลกโซเชียล” (Social Media Voice) ผ่านระบบ Net Super Poll พบว่า กลุ่มเคลื่อนไหวของนักการเมืองกำลังเข้าถึงคนในโลกโซเชียลทั้งหมด 8,549,358 คน หรือกว่า 8 ล้านคน แต่มีคนที่สนใจพูดถึงกลุ่มเคลื่อนไหวของนักการเมืองนี้ในโลกโซเชียลจำนวน 101,711 คน หรือกว่า 1 แสนคน อย่างไรก็ตาม คนในโลกโซเชียลร้อยละ 53.8 ไม่ได้ตอบรับ Like การเคลื่อนไหวดังกล่าว แต่ร้อยละ 46.2 ให้เสียงตอบรับ Like
    ผศ.ดร.นพดลกล่าวต่อว่า ผลสำรวจที่ค้นพบครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่กลัวที่ความวุ่นวายบานปลาย ซึ่งคนบางกลุ่มในโลกโซเชียลไม่กลัว เพราะมีกินมีใช้ อยู่ในช่วงความวุ่นวายของบ้านเมืองได้อย่างสบาย แต่คนยากจนข้นแค้นไม่มีจะกิน ถ้าวุ่นวาย วันหนึ่งกระทบต่อการทำมาหากินของพวกเขาใครจะรับผิดชอบเยียวยารายได้ น่าสงสารพวกเขาขนาดไหน ดังนั้น เสียงของคนในโลกโซเชียลที่มาจากคนไทยและต่างชาติจึงมีจำนวนมากที่กลับ Like การเคลื่อนไหวของนักการเมืองเหล่านั้น ที่จะนัดชุมนุมกัน จึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายน่าจะช่วยกันคิดถึงผลกระทบที่จะสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติ และซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนหรือไม่
    “คนนอกโลกโซเชียลส่วนใหญ่ไม่ต้องการความวุ่นวาย ต้องการความสงบ ความรักความสามัคคีของคนในชาติ ส่วนเรื่องความเดือดร้อนของประชาชน ปัญหาปากท้องนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในทุกรัฐบาลบ่นกัน
    ทุกรัฐบาลไปตรวจสอบย้อนหลังความรู้สึกของประชาชนช่วงรัฐบาลต่างๆ ในอดีตดูได้ ตอนนี้กระแสสร้างความเกลียดชังเริ่มต้นในโลกโซเชียลที่แรงและเร็ว จึงจำเป็นที่ประชาชนทุกคนต้องรู้จักยับยั้งชั่งใจ ช่วยกันรักษาความสงบสุขของบ้านเมืองให้ได้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็เพิ่งเริ่มทำงานแก้ความเดือดร้อนของประชาชนทั้งประเทศได้ประมาณ 6 เดือน ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาจะเน้นที่ความมั่นคงของชาติมากกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เมื่อประเทศมั่นคงแล้วก็จะทำประโยชน์ทางเศรษฐกิจควบคู่ไปพร้อมกัน เพราะถ้าบ้านรวย แต่ไม่มั่นคง ความร่ำรวยก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน ประชาชนส่วนใหญ่คิดได้และกลัวในสิ่งที่ควรจะกลัว คือกลัวที่ความวุ่นวายบานปลาย #กลัวที่ความวุ่นวายบานปลาย #กลัวที่ไหน” ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"