นิตยสารไทม์เพิ่งประกาศให้เธอเป็น "บุคคลแห่งปี" ...เป็นวันเดียวกับที่ผมเห็นหนังสือเล่มจิ๋วแต่แจ๋วนี้เพิ่งออกวางตลาด จึงต้องรีบคว้ามาอ่าน
เพราะเห็นด้วยว่า "ไม่มีใครตัวเล็กเกินไปที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้"
No one is too small to make a difference.
เพราะ Greta Thunberg หนูน้อยวัย 16 จากสวีเดนคนนี้ประกาศตัวเป็นนักเคลื่อนไหว เพื่อให้ผู้ใหญ่ทั้งโลกต้องตระหนักในความรับผิดชอบในอันที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมและต่อสู้กับภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง
หาไม่แล้วคนรุ่นต่อไปที่ต้องรับช่วงโลกใบนี้ต่อไปจะไม่ให้อภัยต่อความมักง่ายและเห็นแก่ตัวของคนรุ่นนี้
เธอไม่เรียกมันว่าภาวะ "โลกร้อน" หรือ Climate Change อีกต่อไป แต่ใช้คำว่า "วิกฤติสภาวะอากาศ" หรือ Climate Crisis แล้ว
เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ในวัย 15 เกรตาเริ่มรณรงค์ต่อต้านภาวะโลกร้อนด้วยการเดินออกจากห้องเรียนทุกวันศุกร์ (Fridays for Future) ยืนหน้ารัฐสภาสวีเดนเพื่อเรียกร้องให้นักการเมืองและผู้นำประเทศเอาจริงเอาจังกับการต่อต้านภาวะโลกร้อน
เธอชักชวนเพื่อนๆ ถือป้าย School Strike for the Climate หรือการหยุดเรียนเพื่อสภาวะอากาศ
ไม่ช้าไม่นานนักเรียนจากชุมชนอื่นๆ ในหลายๆ ประเทศก็ทำกิจกรรมทำนองนี้เช่นกัน
เกรตากลายเป็นที่รู้จักทั่วโลกเมื่อเธอได้รับเชิญให้ไปกล่าวคำปราศรัย ที่การประชุมว่าด้วยสภาวะอากาศของสหประชาชาติเมื่อปีที่แล้ว
ปีนี้ด้วยแรงกระตุ้นของเธอ เยาวชนจากหลายๆ ประเทศทั่วโลกประสานเสียงกว่าล้านคน ร่วมกันหยุดเรียนเพื่อรวมตัวกันประท้วงประเด็นเรื่องภาวะอากาศ
เกรตาบอกว่าการต่อต้านวิกฤติแห่งภาวะอากาศนั้นต้องเริ่มที่บ้าน เธอจึงน้าวโน้มให้พ่อแม่เลิกกิจกรรมหลายอย่างที่มีส่วนทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ
เช่นหยุดเดินทางโดยเครื่องบิน และเลิกกินเนื้อสัตว์
ล่าสุดเธอเดินทางจากรัฐเวอร์จิเนียของสหรัฐฯ ไปเมืองลิสบอนของโปรตุเกสทางเรือ (เพื่อไม่ต้องใช้เครื่องบินที่ปล่อยคาร์บอนออกมาทำลายอากาศ) ใช้เวลาสองสัปดาห์เศษๆ
เกรตาไปร่วมประชุมการประชุมสุดยอดว่าด้วยวิกฤติภาวะอากาศ COP25 ที่มาดริดของสเปน
เธอประกาศว่าผู้ใหญ่ทั่วโลกไม่ควรจะประเมิน "ความโกรธแค้น" ของเยาวชนที่มีต่อความล้มเหลวของผู้ใหญ่และผู้รับผิดชอบทั้งหลาย ในการแก้ปัญหาสภาพอากาศที่ยังคุกคามสุขภาพและอนาคตของโลก
ประเด็นใหญ่ของเวที COP25 หนีไม่พ้นว่าจะต้องมีการถกแถลงกันอย่างกว้างขวาง ว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้ข้อตกลง Paris Agreement ที่ลงนามในปี 2015 เกิดผลทางปฏิบัติอย่างจริงจัง
เป้าหมายหลักของข้อตกลงปารีสคือ ประเทศทั้งหลายจะช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มสูงเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม
หรือหากเป็นไปได้ก็ควรจะไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
ทุกวันนี้หากเป็นไปตามงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์โลกร้อนขึ้นเฉลี่ย 1.1 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงเริ่มการปฏิวัติอุตสาหกรรม
แต่หากไม่ช่วยกันอย่างจริงจัง อัตราโลกร้อนจะขยับขึ้นเรื่อยๆ อย่างไร้ขีดจำกัด
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศย่อมมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต รวมทั้งมนุษย์
เป็นที่ชัดเจนว่าสัตว์หลายชนิดเสี่ยงจะสูญพันธุ์และไร้ที่อยู่อาศัย เพราะคลื่นความร้อนและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก
องค์กรการกุศลเพื่อผู้ยากไร้ Oxfam บอกในรายงานล่าสุดว่า วิกฤติสภาพอากาศแปรปรวนที่เกิดขึ้นทั่วโลกเป็นสาเหตุหลักสำคัญที่ส่งผลให้ประชาชนทั่วโลกต้องอพยพทิ้งถิ่นฐานไม่น้อยกว่า 20 ล้านคนต่อปี
นั่นเท่ากับเฉลี่ย 1 คนในทุก 2 วินาที
และเป็นอย่างนี้มา 10 ปีแล้ว
เกรตาพูดในหลายเวทีระหว่างประเทศ ใช้ภาษาที่ค่อนข้างดุดันสำหรับเด็กวัย 16
แต่เธอบอกว่าจำเป็นต้องกระตุกต่อมสำนึกของคนรุ่นนี้ที่กำลังทำลายอนาคตของโลก
"เพราะหากคนรุ่นนี้ยังทำอะไรเหมือนเดิม ปล่อยให้วิกฤติแห่งสภาพอากาศเสื่อมทรุดลงต่อไป คนรุ่นหนูก็ไร้อนาคตโดยสิ้นเชิง".
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |