ประตูความไว้ใจ 7หมู่บ้าน 3จังหวัดชายแดนใต้


เพิ่มเพื่อน    

     

ม.ร.ว.ดิศนัดดา  ดิศกุล                          

             ในการรายงานการดำเนินงานประจำปี2560 ของมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ  นอกจากจะรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานใน 7พื้นที่ ใน 9จังหวัด   ยังมีการรายงานผลการดำเนินงานพัฒนาในพื้นที่ใหม่ล่าสุดคือ 3จังหวัด ขายแดนภาคใต้  ซึ่งเป็นพื้นที่ความไม่สงบมายาวนานกว่า 10ปี  โดยในช่วงปี2559-2560 ปิดทอง ได้เริ่มเข้าไปทำโครงการพัฒนาสภาพชีวิตความเป็นอยู่ชองประชาชน 7 หมู่บ้าน  ใน 3จังหวัดชายแดนใต้ที่จะเป็น"พื้นที่ต้นแบบ"การพัฒนาตามแนวพระราชดำริ  แบ่งเป็น ปัตตานี 3 หมู่บ้าน ยะลา และนราธิวาส จังหวัดละ 2หมู่บ้าน

 

            ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า การขยายพื้นที่ใหม่ไปยัง 3จังหวัดชายแดนใต้ สืบเนื่องจากข้อมูลพบว่า ชาวบ้านยังยากจน มีหนี้สินอยู่อย่างยากลำบาก  7หมู่บ้านมีหนี้สิน ทั้งสิ้นกว่า 73.6ล้านบาท หรือเฉลี่ยครัวเรือนละ 60,652 บาท มีเงินออมเฉลี่ยครัวเรือนละเพียง1,700 บาทเท่านั้น   ความขัดแย้งในพื้นที่ทำให้การพัฒนาบางด้านหยุดชะงัก จึงเกิดพื้่นที่รกร้างแห้งแล้ง ทิ้งนาไปเนิ่นนาน ไม่มีใครทำนา  ประชาชนไม่ได้ประกอบอาชีพอย่างเต็มศักยภาพ การดำเนินการงาน ปิดทอง ได้ร่วมมือกับส่วนราชการทุกจังหวัด ยะลา ปัตตานี นราธิวาส เข้าไปดำเนินงานพื้นที่ 7 หมู่บ้านที่ประชาชน มีความพร้อม ความต้องการความช่วยเหลือเขา ซึ่งปัญหาหนี้สินของชาวบ้าน 7 หมู่บ้านมีหนี้สินรวมกันกว่า 73.6 ล้านบาท  หรือครอบครัวหนึ่งๆจะมีหนี้เกิน 6หมื่นบาท ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้พวกเขาหลุดจากภาระหนี้สิน  ถ้าไม่มีการร่วมกันพัฒนาอย่างตรงจุด นั่นคือ การรู้ถึงปัญหาความต้องการของเขา  การพัฒนาอาชีพที่ตรงตามความสามารถของชาวบ้าน และการให้เขาผลิตสินค้าตรงตามความต้องการของตลาด 

 

            "ที่สำคัญ ทางการที่เข้าไปไม่เคยถามชาวบ้านว่าความต้องการของเขาคืออะไร ปัญหาของเขาคืออะไร  แต่เป็นการคิดเองและยัดเยียดให้ชาวบ้าน ที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐเข้าไปแนะนำให้ชาวบ้านทำโน่นทำนี่ เสร็จแล้วก็ออกไป  ไม่รับรู้ว่าจะมีตลาดรองรับหรือไม่ และไม่มีการถ่ายทอดความรู้ให้จริงๆจังๆ ดังนั้นคนใน3จังหวัดชายแดนใต้  จึงไม่ไว้ใจคนนอก "ประธานมูลนิธิปิดทองกล่าว

            ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าวอีกว่า ในการเข้าไปดำเนินโครงการในพื้้นที่ไม่ไว้วางใจคนนอก  ทำให้ปิดทองฯให้ทางชุมชนเลือกคนที่สมัครใจ เป็นตัวแทนมาเรียนรู้ ฝึกงานการพัฒนาเวลา   3เดือน โดยส่งไปอบรมพื้นที่โครงการของปิดทองที่ยอดดอย อ.เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน เพื่อให้เขานำความรู้กลับมาที่ชุมชนและบริหารจัดการกันเอง  แต่ด้วยความที่ไม่มีประสบการณ์ ทำให้ตัวแทนชุมชน ใช้เวลาพัฒนา นานกว่าพื้นที่อื่นๆ ส่วนหนึ่งมาจาก ปิดทองฯไม่ได้ส่งคนลงไปประกบ  

 

         "ที่ไม่ส่งคนของเราไปก็เพราะ คนใต้เขาไม่ไว้ใจเรา แม้กะทั่งผมเองเขาก็ไม่ไว้ใจ เราจึงต้องเลือกคนที่เขาเชื่อถือ มาให้ฝึกหัด แล้วก็ให้พวกเขาช่วยกันเอง   และไปขยายความรู้ต่อให้คนในชุมชนของเขา  แตกต่างจากที่อื่นด้วยภูมิสังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิตและความเคยชิน แม้กระทั่งฟ้าฝน ฝน 8แดด 4 ทำให้งานพัฒนางานที่ 3จังหวัดชายแดนใต้กว่าจะเห็นผลช้ากว่าที่อื่น อย่างเช่น ฝาย ที่ปิดทองเคยไปทำในจังหวัดอื้่น ไม่เกิน 84 วันก็เสร็จ แต่ที่ฝายสาโค สุไหงปาดี  นราธิวาสต้องใช้เวลาถึง 8เดือน ผมเองยังต้องปรับตัวให้เข้ากับคนใต้  "

          ปัจจุบันโครงการพัฒนาที่ 7หมู่บ้านใน 3จังหวัดชายแดนใต้ มีความก้าวหน้า    อย่างฝายสากอแล้วเสร็จแล้ว และพร้อมที่จะช่วยเรื่องการเกษตรพี่น้องในพื้นที่ได้  ไม่ต่ำกว่า 2พันไร่  และขั้นต่อไป ปิดทองจะเข้าไปช่วยเหลือเรื่องชนิดของพืชที่เพาะปลูก การหาตลาด และการประมาณการรายได้  ที่ชาวบ้านจะได้รับในอีก 4เดือนข้างหน้า   ที่บ้านจำปูนอ.รามัน  จ.ยะลา เกิดความร่วมมือ จากพื้นที่ จำนวน35 โครงการ ทั้งโครงการปศุสัตว์ การปลูกผัก  และในวันนี้ชุมชนยอมรับการเข้ามา ช่วยเหลือพัฒนาของปิดทองแล้ว

กอเซ็บ สาและ (ที่2จากซ้าย) ผู้นำหมู่บ้านจำปูน และนางสาววสุพิชญนันทน์ จิตนุพงศ์ (ที่2จากขวา) ปลัด อ.รามัน จ.ยะลา

           กอเซ็บ สาและ ผู้นำชุมชน บ้านจำปูน กล่าวว่า หลักการที่ปิดทองฯมอบให้กับบ้านจำปูน ถือว่าสอดคล้องกับศาสนาของเรา   แต่เริ่มแรกที่ปิดทอง  เข้ามาต้องยอมรับว่าไม่ไว้ใจ ม.ร.ว.ดิศนัดดา และคิดว่าเป็นคนใหญ่คนโต ถึงขนาดคิดว่าเวลาที่มาที่หมู่บ้านคงมีชบวนแห่มาด้วย แต่พอถึงเวลาจริงๆคุณชายมาแบบไม่มีขบวนอะไระเลย เป็นคนธรรมดามากๆ  แต่จริงๆแล้วภาคใต้เรา ไม่ใช่ไม่ไว้ใจคน แต่ทางเบื้องบนต้องไว้ใจเรา และเราพร้อมทุกอย่างที่จะไว้ใจเขา และจะทำงานร่วมกันได้ ส่วน ในแง่ศาสตร์ของพระราชา ที่ปิดทองนำมา ถือว่าเป็นหลักที่สอดคล้องกับศาสนามุสลิม เพราะองค์ศาสดาได้สั่งสอนชาวมุสลิมไว้ 4อย่าง 1.พูดจริง ทำจริง 2.บอกต่อ 3.มีความเชื่อถือได้ 4.มีความเก่ง   

           ผู้นำบ้านจำปูน ยอมรับว่าพื้นที่จำปูน เป็นพื้นที่ค่อนข้างเสี่ยงภัย ในช่วง  4ปี ที่ผ่านมา มีหลายหน่วยงานเข้าไปที่หมู่บ้าน ไปแนะนำเรื่องการพัฒนาเรื่องโน้นเรื่องนี้  แต่พอปิดทองเข้าไป ชาวบ้านรู้สึก รู้ซึ้งในความละเอียดอ่อน ในความแตกต่างการทำงานระหว่างปิดทองกับหน่วยงานที่ผ่านๆมา  โดยตัวของม.ร.ว.ดิศนัดดา ได้มาที่หมู่บ้านด้วยตัวเอง และตรงจุดนี้เองที่ทำให้เกิดการพัฒนาร่วมกัน  และชาวบ้านประสบความสำเร็จ และแม้ว่าจะสำเร็จไม่ถึง 100 % แต่ผลอย่างหนึ่งที่เห็นชัดก็คือ การทำให้เด็กวัยรุ่นบางกลุ่มในชุนชน ที่ไม่ได้ทำงานทำการอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน  ได้แต่ขอเงินจากพ่อแม่ไปวันๆ   พูดแบบบ้านๆ ก็เหมือนขยะในหมู่บ้าน แต่ทางชุมชนได้เลือกเด็ก 3 คนนี้ เป็นตัวแทนไปฝึกอบรมการพัฒนากับปิดทองที่ จ.น่าน  ซึ่งพอเด็กกลุ่มนี้กลับมา สังคมก็ให้การยอมรับ  เพราะปัจจุบันเขาสามารถนำชุมชนทำงานในเรื่องของการประกอบอาชีพ ได้อย่างดี  เป็นผลงานที่ดีเกินความคาดหมาย 

           กอเซ็บ เล่าถึงความประทับใจการทำงานของปิดทองอีกว่า  เดิมทีอาชีพหลักของหมู่บ้านคือการทำยางพารา  รองลงมาการทำนา  ปลูกผัก ปลูกแตงโม และมีพื้นที่ชาวบ้านผลิตพืชผลเกษตรร่วมกัน  15ไร่  สมัยก่อน ก็มีหน่วยงานรัฐเข้ามาที่หมู่บ้าน มาแนะนำการทำอาชีพต่างๆ   แต่วิธีการทำงานของเจ้าหน้ารัฐกับปิดทองมีความแตกต่างกัน  ชาวบ้านไม่เคยเห็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานใด ที่เดินเข้าไปแต่ละบ้าน ครบหมดทุกบ้าน และเดินตระเวณไปรอบหมู่บ้าน ไปสำรวจดูแหล่งน้ำ   เป็นการเดินร่วมกับน้องๆทั้งวัน โดยที่ ไม่มีคำว่าเหน็ดเหนื่อย   จุดนี้เป็นความจริงใจที่ชาวบ้านเห็นและเอาชนะใจชาวบ้านได้    นอกจากนี้ ปิดทองยังหาวิธีที่จะเข้าถึงความต้องการของชาวบ้าน  จนเกิดการระเบิดจากข้างใน ด้วยเหตุนี้ ขาวบ้านจึงมองปิดทองฯในแง่บวก และพร้อมที่จะเดินพัฒนาไปด้วยกัน 

           "การเข้ามาของปิดทองฯ แบบไม่มีพิธีรีตอง และจริงใจ จึงทำให้เราส่งเด็กของเราไปอบรมที่น่าน ซึ่งจริงๆแล้ว อย่าว่าแต่ไปเชียงใหม่ หรือน่านเลย แม้แต่นครศรีธรรมราช พวกเราบางคนก็ไม่เคยไป  การได้ไปเห็นเขาหัวโล้น ที่เปลี่ยนมาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ  ตอนแรกผมก็คิดว่าจะทำไปจริงหรือ  แต่เด็กของเราก็ไปเห็นมาแล้ว บอกว่าทำได้จริง  ผมก็เปลี่ยนความคิดแล้ว"

           ความเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้านจำปูนในวันนี้ กอเซ็บ กล่าวว่า จากเดิมที่บางคนในหมู่บ้าน วันๆไม่ค่อยทำอะไร เพราะปลูกอะไรก็ไม่ค่อยได้ผล  ตอนนี้ก็ขยันขันแข็งกันมากขึ้น อยู่ในพื้นที่ไร่นา ไม่ค่อยมีเวลาไปร้านน้ำชา หรือใช้เวลาจับกลุ่มคุยกันเหมือนแต่ก่อน นอกจากนี้ ยังมีผู้ใหญ่ในหมู่บ้านบางคน  ที่ชาวบ้านนับถือ ยังทำไร่ทำนาตามศาสตร์พระราชา  และคอยกระตุ้นให้คนในหมู่บ้านมาดำเนินตามหลักศาสตร์พระราชาด้วย  

          "แต่ก่อนเราพึ่งรายได้จากยางพาราเป็นหลัก แต่ที่รู้ๆตอนนี้ยางราคาไม่ค่อยดี ผักที่ปลูกจึงเป็นรายได้เสริมที่ดี อย่างผักบุ้ง ผักอายุสั้น 18วันก็เก็บได้  จากเดิมที่ชาวบ้านต้องซื้อผักบุ้งมากิน  และขาวบ้านยังต้องซื้อน้ำกินอีกด้วย  แต่ปัจจุบันเกษตรกร อาศัยน้ำที่ทางโครงการได้ขุดเจาะ น้ำบาดาล เพื่อสูบเข้าแปลงเกษตร และยังนำมากรองดื่มได้ เพราะน้ำสะอาดมาก   และแตงโม  ฟักทอง ก็จะขายดี น่าจะขายได้ในช่วงเดือนถือศีลอดพอดี อีกอย่างคือ พริก ที่เคยซื้อกิน ตอนนี้ก็ปลูกเอง มาตากแห้งเอง และอนาคตผมยังหวังอีกอย่าง มูลสัตว์ ผมอยากแปรรูปให้มาเป็นก๊าซหุงต้ม เป็นการลดต้นทุน เป็นการเน้นการประหยัดให้ชาวบ้าน อนาคตเราจะเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนใกล้ ซึ่งตอนนี้ยอมรับว่าเพื่อนบ้านอิจฉาว่าทำไมบ้านจำปูน มีดีอะไร โครงการปิดทองถึงได้ลงมาช่วย และทำไมยังไม่ออกเสียที จะได้ไปหมู่บ้านเขาบ้าง"

           ด้านนางสาวสุพิชญนันทน์ จิตนุพงศ์ ปลัด อ.รามัน จ.ยะลา  ที่ดูแลพื้นที่โครงการปิดทองฯที่หมู่บ้านจำปูนกล่าวว่า  เมื่อแรกๆที่ปิดทอง ติดต่อเข้ามา ว่าจะพัฒนาที่หมู่บ้านจำปูน  ก็คิดว่าจะเหมือนหน่วยงานอื่นๆ และยอมรัว่าไม่รู้จักว่าปิดทองคือหน่วยงานอะไร  และคิดว่าอย่างมาก เข้ามาไม่เกิน 10 วัน ก็คงจะออกไป เหมือนหน่วยงานอื่นๆที่ผ่านมา  แต่ในที่สุดปิดทองฯ ก็ทำให้ชาวหมู่บ้านจำปูนยอมรับ สูตรความสำเร็จ น่าจะอยู่ที่เมื่อลงพื้นที่ ก็ทำอย่างจริงใจ  ทำให้ชาวบ้านเห็นว่าเราทำจริง       

         "ถึงชาวบ้าน จะต้อนรับปิดทองแล้ว แต่ทาง ม.ร.ว.ดิศนัดดา  ก็ยังให้ถามให้มีการถามย้ำก่อนชุมชนจะลงมือเข้าร่วมโครงการกับปิดทองฯจริงๆ ว่าเอาจริงหรือเปล่า ถ้าไม่เอาด้วยปิดทองฯก็จะถอนตัว  พอเราประชุมหมู่บ้าน ปรากฎ 109ครัวเรือน หรือเกิน 70%  สนับสนุนให้ปิดทองทำต่อ ซึ่งตรงจุดนี้ เราเห็นแล้วว่า ชาวบ้านได้ระเบิดจากข้างในแล้ว "

         ปลัดหญิง อ.รามัน กล่าวอีกว่า ส่วนการส่งเสริมของส่วนราชการมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนระดับอำเภอ  นอกจากนี้ ก็มีส่วนราชการอื่นๆ นอกจากมหาดไทยมา ช่วยมีทั้งปศุสัตว์ เกษตร  พัฒนาที่ดิน มาช่วยขับเคลื่อน  และองค์กรปกครองท้องถิ่น ช่วยประสานการดำเนินงาน ส่วนในแง่การปฎิบัติการ ก็จะมีการตั้งคณะทำงานอีกชุด มีปลัดอำเภอ เป็นหัวหน้า ที่จะดำเนินการโครงการให้บรรลุเป้าหมาย  ซึ่งคณะทำงานชุดหลัง มีผู้นำชุมชน อย่างกอเซ็บ ปราชญ์ชุมชน และชาวบ้านเข้าร่วม 

        "ในฐานะปลัดอำเภอ เราต้องบอกชาวบ้านตลอดว่า ทีมที่มามาช่วยชาวบ้าน เข้ามาช่วยนะ  เป็นการนำศาสตร์พระราชาเข้ามา  ต้องยอมรับว่า กว่าจะเริ่มเห็นผล กว่าจะถึงจุดนี้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ก็มีการเปลี่ยนผู้นำ เปลี่ยนนายอำเภอไป 3คน  "นางสาวสุพิชญนันทน์ กล่าว

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"