กลุ่ม 30 สนช.ยันยื่นตีความร่าง พ.ร.ป.ที่มา ส.ว.ไม่มีเจตนายื้อโรดแมป คาดศาล รธน.ใช้เวลาวินิจฉัยแค่ 1-2 เดือนเท่านั้น ขณะที่ "สมชาย" ชวนพรรคการเมือง หากจะให้ยื่นตีความร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ด้วย ก็ให้ร่วมลงสัตยาบันยอมให้เลื่อนเลือกตั้งออกไปอีก 3 เดือน "มาร์ค" ชี้ปัญหาเกิดจากที่แม่น้ำ 5 สายขัดแย้งกันเอง ทั้งที่อำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ในมือ "ปริญญา" ชี้อนาคตการเมืองยังเป็น 2 ขั้ว คือกลุ่มเชียร์ คสช.กับไม่เอา คสช.
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2561 นายกิตติ วะสีนนท์ 1 ใน 30 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เข้าชื่อยื่นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ กล่าวถึงเหตุผลในการเข้าชื่อว่า เป็นผู้งดออกเสียงร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่ามีเนื้อหาบางประเด็นที่อาจไม่สอดคล้องต่อรัฐธรรมนูญ เกรงว่าอาจเกิดปัญหาถ้ามีผู้ไปยื่นตีความภายหลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ทำให้โรดแมปสะดุดได้
เขาบอกว่า จึงคุยกับเพื่อนๆ สนช.ว่าควรเคลียร์ข้อสงสัยให้ชัดเจนดีกว่า แม้ สนช.จะลงมติให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อคนระดับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่เป็นปรมาจารย์ด้านกฎหมายของประเทศทักท้วงมา ยิ่งเน้นให้เห็นถึงข้อห่วงใยในอนาคต ถ้ามีผู้ไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จึงได้รวบรวมรายชื่อ สนช.ส่งตีความให้เกิดความชัดเจน
"ไม่มีเจตนายื้อโรดแมปเลือกตั้ง เพราะดูแล้วศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1-2 เดือน ทันโรดแมปแน่นอน"
เขากล่าวว่า ประเด็นที่จะส่งให้ตีความมี 3 เรื่องคือ 1.การลดกลุ่มอาชีพผู้สมัคร ส.ว.จาก 20 กลุ่มเหลือ 10 กลุ่ม 2.การเปลี่ยนวิธีเลือกไขว้ ส.ว.เป็นการเลือกตรงจากกลุ่มอาชีพเดียวกัน 3.การแบ่ง ส.ว.เป็น 2 ประเภทคือ สมัครอิสระ และตัวแทนองค์กร ว่าประเด็นเหล่านี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
นายกิตติกล่าวว่า ส่วนที่นายมีชัยต้องการให้ สนช.ส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ด้วยนั้น สนช.เห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องยื่น เพราะประเด็นที่ กรธ.ทักท้วงไม่ใช่สาระสำคัญของกฎหมาย เป็นแค่เรื่องการตัดสิทธิทางการเมืองของผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่มีเหตุผล
และเรื่องการช่วยเหลือผู้พิการในการลงคะแนน เรื่องเหล่านี้ หากมีผู้ไปยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญภายหลัง และมีการตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญจะไม่มีผลกระทบให้กฎหมายต้องตกไปทั้งฉบับ เพียงแก้ไขประเด็นที่มีปัญหาให้ถูกต้องเท่านั้น ไม่มีผลอะไรมากมาย แต่เบื้องต้น สนช.และ กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายเห็นว่าไม่น่าจะขัดรัฐธรรมนูญ
ท้าลงสัตยาบัน
ด้านนายสมชาย แสวงการ วิป สนช. ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำเอกสารก่อนส่งศาล และตรวจสอบรายชื่อ สนช.ที่ลงชื่อแล้วไม่มีปัญหา หากเรียบร้อยคาดจะส่งในวันจันทร์สัปดาห์หน้า
เขายืนยันว่า ส่งแค่ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. เชื่อว่าศาลจะใช้พิจารณาไม่นานไปกว่าร่างฯ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และร่าง พ.ร.ป.ป.ป.ช. ที่ใช้เวลาวินิจฉัยแค่เดือนเศษ และในกรณีนี้ก็เป็นเรื่องกฎหมายที่ไม่น่าจะยุ่งยาก
"ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ส่งศาล แต่หากกฎหมายบังคับใช้แล้ว จะมีคนอื่นหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แม้จะห่วงเรื่องการตัดสิทธิ์ผู้ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง หรือการใช้สิทธิ์ของผู้พิการ"
นายสมชายระบุว่า การส่งศาลรัฐธรรมนูญไม่ทำให้โรดแมปเลือกตั้งเลื่อนออกไป และไม่น่าทำให้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ตกไปทั้งฉบับ เพราะเรื่องที่ส่งตีความอยู่ในบทเฉพาะกาล หากขัดก็นำมาปรับแก้เท่านั้น
"หากหลายฝ่ายยังคงเป็นห่วงการไม่ยื่นตีความร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.อยู่นั้น ขอให้พรรคการเมืองทุกพรรคทำเป็นสัตยาบันร่วมกันมาเลยว่ายินยอมให้เลื่อนโรดแมปเลือกตั้งออกไป 3 เดือน สนช.จะดำเนินการส่งร่างกฎหมายลูกให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความทันที"
นายสมชายยืนยันว่าไม่ได้อยู่ในรายชื่อ 30 สนช. เพราะเป็นเลขาฯ วิป สนช.ที่ต้องชี้แจงศาล พร้อมยืนยันการยื่นศาลไม่ได้มาจากทฤษฎีสมคบคิด
นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า กรธ.คงไปบีบบังคับให้ สนช.ทำตามข้อห่วงกังวลของ กรธ.ทั้งหมดไม่ได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญถือเป็นอำนาจของสมาชิก สนช.แต่ละคนที่จะต้องตัดสินใจเข้าชื่อกันเอง ส่วนเหตุผลของ สนช.ที่ไม่ยื่นร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เพราะกังวลว่าโรดแมปจะเลื่อนออกไปอีกนั้น คิดว่าก็มีเหตุผล เพราะเมื่อเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญก็คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง กว่าร่างกฎหมายจะถึงมือนายกฯ เพื่อดำเนินตามขั้นตอนจะล่าช้าออกไป และจะกระทบต่อทั้งวันประกาศใช้และวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ทั้งหมดจึงเป็นเหตุผลที่แต่ละฝ่ายไม่มีใครกล้าเสี่ยง เพราะขณะนี้เริ่มมีคนต่อว่ารัฐบาลแล้วในเรื่องการยื้อวันเลือกตั้ง สนช.จึงยกให้เป็นเรื่องของประชาชนหลังวันที่กฎหมายประกาศใช้
ไม่ส่งให้นายกฯ ยื่นแล้ว
นายอุดมกล่าวต่อว่า ประเด็นเรื่องการตัดสิทธิเป็นข้าราชการการเมืองหากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คงไม่หนักเท่าไหร่ เพราะไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งโดยตรง แต่เรื่องที่อาจมีผลกระทบต่อการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการนับคะแนน ก็คือการให้มีผู้ช่วยเหลือผู้พิการขณะเข้าคูหาเลือกตั้ง ซึ่งได้มีหยิบยกขึ้นมาคุยกันหลายหน ตั้งแต่ในชั้น กมธ.วิสามัญ จนถึง กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย แต่ในเมื่อเสียงข้างมากยืนยัน และที่ประชุม สนช.ก็ลงมติเห็นด้วย เพราะเห็นถึงเหตุความจำเป็น กรธ.ก็ต้องเคารพ ส่วนเนื้อหาจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรธ.ตีความเองไม่ได้ จึงต้องอยู่ที่ สนช.จะต้องพิจารณา หากไม่มีการส่งตีความ เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับ ประชาชนก็มีสิทธิ หากใครคิดว่าตนเองมีส่วนได้เสีย ก็สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความได้
ส่วน กรธ.จะเสนอให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่นั้น คิดว่าคงไม่ทำแล้ว ถือว่าเราได้แจ้งต่อสาธารณชนแล้ว โดยข้อห่วงกังวลดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่แต่ละฝ่ายที่มีหน้าที่รับผิดชอบต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ เช่นเดียวกับ กรธ. ถ้าร่างกฎหมายอะไรพลาด เราก็ต้องพร้อมที่จะเอาหน้าไปรับสิ่งที่เกิดจากความผิดพลาดของเราเหมือนกัน
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Srisutthiyakorn Somchai ระบุถึงมติของ สนช.ในวาระ 3 ที่ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ส.ว. เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 เห็นด้วย 202 เสียงว่า ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 13 เสียง รวม 216 เสียง จากจำนวน สนช. 248 คน ขาดประชุม 32 คน ว่าการลงชื่อของ สนช. เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างดังกล่าว มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามจากข่าวมี สนช.30 คนที่ร่วมลงชื่อ โดยมองว่าใน 30 คนนี้อาจประกอบด้วย สนช.หลายแบบ
แบบที่ 1 ถ้าเป็น 1 เสียงที่ลงมติไม่เห็นด้วย ต้องขอคารวะ เนื่องจากท่านเป็น สนช.ที่มีจุดยืนชัดเจน มั่นคง กล้าที่จะโหวตไม่เห็นด้วย และกล้าที่ยืนหยัดความเห็นอย่างถึงที่สุด สมควรได้รับการยกย่องในด้านจุดยืนการทำงาน
แบบที่ 2 ถ้าเป็น 1 ใน 13 เสียงที่งดออกเสียง แสดงว่าท่านเองในวันลงมติลึกๆ อาจไม่เห็นด้วย แต่ไม่กล้าแสดงออกอย่างชัดเจนในการลงมติ ด้วยเหตุผลที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ แต่เมื่อมีโอกาสในการลงชื่อเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญ จึงใช้โอกาสในการแสดงถึงจุดยืนที่ลึกๆ
แบบที่ 3 ถ้าเป็น 1 ใน 202 เสียงที่ลงมติเห็นด้วยแล้วกลับมาร่วมลงชื่อถึงศาลเพื่อขอให้วินิจฉัย แปลว่ามีปัญหาในกระบวนการคิดที่กลับไปกลับมา หรือมีปัญหาในกระบวนการตัดสินใจที่ไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบครบถ้วน พร้อมเปลี่ยนใจใหม่เมื่อมีข้อมูลใหม่ หรือเมื่อมีคนมีขอร้องหรือสั่งการเป็นอาการที่น่าเป็นห่วงสำหรับคนที่มีหน้าที่ออกกฎหมายสำคัญของบ้านเมืองแต่ไม่นิ่ง
เหน็บ "สมชาย"
และแบบที่ 4 ถ้าเป็น 1 ใน 32 คนที่ขาดประชุม แต่กลับมาใช้สิทธิในการลงชื่อถึงศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นกลุ่มที่สังคมควรตรวจสอบอย่างยิ่ง ว่าในการลงมติที่เป็นกฎหมายสำคัญของบ้านเมือง มีเหตุความจำเป็นประการใดในการขาดประชุม หากตรวจสอบแล้วพบว่าขาดประชุมเป็นนิตย์ ลากิจเป็นนิสัย ขนาดการประชุมนัดใหญ่ยังไม่เข้าร่วม แต่มาแสดงความห่วงใยบ้านเมืองด้วยการลงชื่อ ควรใช้สิทธิในการลาออก ดีกว่าการใช้สิทธิเข้าชื่อถึงศาลรัฐธรรมนูญ แต่หากมีเหตุผลจำเป็นที่สำคัญมาก และจำเป็นจริงๆ ในการขาดประชุม ก็สมควรยกย่อง ที่แม้ผลการประชุมมีมติเห็นด้วยกับพ.ร.ป.ส.ว.แล้วยังใช้สิทธิเพื่อทำให้กฎหมายออกมาดีที่สุดตามที่โอกาสอำนวย
นายสมชัยบอกให้สื่อมวลชนช่วยลงข่าวเกี่ยวกับชื่อ สนช.ที่ร่วมลงนามและจำแนกประเภทให้หน่อย แต่สำหรับตนอยากรู้ชื่อเดียวว่านายสมชาย แสวงการ สนช.สายสื่อ อยู่ในกลุ่มไหน หวังว่าคงอยู่เป็น 1 ใน 30 ชื่อที่ยื่น โดยหากไม่เป็นแบบ 1 ก็แบบ 2 ที่ตนชื่นชม และหวังว่าคงไม่เป็นแบบที่ 5 คือยุให้คนอื่นยื่น แต่ตัวเองหลบอยู่ในมุม
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์กรณีที่เกิดขึ้นนี้ว่า เชื่อว่ากระบวนการพิจารณาจะไม่กระทบต่อโรดแมปการเลือกตั้ง แต่ทั้งนี้อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่ามีปัญหาในกี่มาตรา ซึ่งหลังจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของ คสช. ในการเร่งรัดไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หากส่วนหลักสามารถใช้ได้ ก็ตัดส่วนที่มีปัญหาออกไป โดยตนเองไม่สามารถก้าวล่วงการพิจารณาของศาลได้
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ไม่อยากวิจารณ์ว่าเป็นปัญหาของ สนช.หรือไม่ แต่เท่าที่ผ่านมา เห็นว่า สนช.ทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างแล้ว เช่น เรื่องที่ไม่สามารถสรรหา กกต.ชุดใหม่ได้ และตนก็ไม่ทราบว่าใครจะเป็นคนรับผิดชอบต่อปัญหาของกฎหมายที่เกิดขึ้น
นายอภิสิทธิ์ยังมองว่า ร่าง พ.ร.ป.ส.ส.ที่ยังไม่ส่งในขณะนี้ เป็นอีกหนึ่งข้อกังวลที่อาจจะเกิดปัญหาขึ้นในระหว่างขั้นตอนที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย แล้วมีคนมาโต้แย้งทีหลังได้ ซึ่งเป็นความไม่รอบคอบของ สนช. ทั้งนี้ การที่ยังไม่ส่งร่างกฎหมายลูก ส.ส.ในขณะนี้ อาจจะเป็นเพราะ สนช.กลัวว่าเป็นการพยายามยื้อการเลือกตั้งออกไปอีก
"ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เกิดจากที่แม่น้ำทั้ง 5 สาย แต่ก็ทำอะไรที่ขัดแย้งกันเอง แม้ว่าจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จในมืออยู่แล้ว เพราะเป็นกลุ่มเดียวกันทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม มองว่าวันนี้ทุกอย่างขึ้นอยู่กับหัวหน้า คสช." อดีตนายกฯ กล่าว
นักการเมืองเห็นด้วย
นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ปัญหาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ตนมีข้อกังวลตั้งแต่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แล้ว เนื่องจากเป็นเรื่องของรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับ สนช.โดยตรงโดยที่ไม่เกี่ยวกับพรรคการเมือง ทั้งนี้ ตนเห็นด้วยในการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างดังกล่าว เพราะถือเป็นสิ่งที่ดีที่ควรจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในขณะนี้ อีกทั้งยังถือว่าอยู่ในระยะกรอบเวลาที่กำหนดไว้
"หากไม่ทำในขณะนี้ ผมหวั่นว่าจะเกิดปัญหาในอนาคตได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีความเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งจะต้องเกิดในช่วงเดือนธันวาคมปี 61 หรือช้าสุดเดือนกุมภาพันธ์ ปี 62 ผมไม่มีความกังวล เพราะปัญหาเป็นเรื่องของข้อกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถชี้ขาดได้ และจะทำให้ชัดเจน แต่จะมีพิษในวันข้างหน้าถ้าไม่ยื่นในช่วงนี้ เพราะจะกระทบกับระบบรัฐสภาได้" นายนิกรกล่าว
นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย และอดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าว ว่า เป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้เกิดความชัดเจนว่าร่างกฎหมายดังกล่าวขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ และคงไม่กระทบโรดแมปเลือกตั้ง เพราะยังมีช่วงเวลารอการบังคับใช้ร่างกฎหมายลูกเลือกตั้ง ส.ส.ไว้ 90 วันอยู่แล้ว เพียงแต่สงสัยว่าในกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายที่พิจารณากฎหมายดังกล่าวนั้น ทำไมไม่ดูให้รอบคอบในตอนนั้น เหมือนเป็นการวางระเบิดเวลาไว้ให้เป็นปัญหาต้องแก้กันอีก
เมื่อถามว่า การยื่นตีความเพียงกฎหมายลูก ส.ว.เพียงฉบับเดียว ทั้งที่กฎหมายลูก ส.ส.ก็มีการตั้งข้อสังเกตไว้ จะเป็นปัญหาหรือไม่ นายสามารถตอบว่า ประเด็นช่วยคนพิการลงคะแนนไม่น่าจะขัดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีหน้าที่ต้องไปใช้สิทธิ รัฐมีหน้าที่ต้องอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้สิทธิ ฉะนั้นผู้พิการอาจมีข้อจำกัดในเรื่องสภาพร่างกาย จึงน่ามีส่วนได้รับการช่วยเหลือได้ จึงไม่น่ามีปัญหา
ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ว่า การมีพรรคการเมืองใหม่จำนวนมาก ย่อมเป็นเรื่องดีที่คนสนใจมาใช้เวทีในระบอบรัฐสภาเพื่อแก้ปัญหาประเทศ แม้ว่าพรรคการเมืองบางพรรคจะประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยังถือว่าไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอะไร เพราะประชาชนจะเป็นคนตัดสินใจ
ยินดีต้อนรับสู่เวทีเลือกตั้ง
สำหรับพรรคการเมืองใหม่ที่ต้องการผลักดันให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย และพัฒนาก้าวหน้า ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับประชาชน ส่วนพรรคการเมืองด้วยกันก็ต้องแข่งขันและร่วมมือกันแล้ว แต่จะมีนโยบายสอดคล้องกันหรือไม่ ส่วนการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองรุ่นใหม่จะทำให้พรรคเพื่อไทยเกิดความหวั่นไหวในเรื่องคะแนนเสียงหรือไม่นั้น ตนมองว่าจะทำให้ดึงการสนับสนุนจากประชาชนมาสู่ฝ่ายประชาธิปไตยได้มากขึ้น ถือเป็นเรื่องที่ดี ส่วนการที่ต้องแข่งขันกัน คิดว่าพรรคการเมืองทุกพรรคก็ต้องคิดในแง่ที่จะพัฒนาปรับปรุงตนเองให้สามารถแข่งขันได้ดีขึ้น
นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีกระแสข่าว พล.อ.ประยุทธ์จะเปิดตัวเป็นประธานที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐ ว่าเป็นเรื่องดีที่พล.อ.ประยุทธ์จะเปิดตัวเข้าร่วมพรรคการเมือง ทางที่ดีควรเป็นหัวหน้าพรรคไปเลย จะได้เกิดความชัดเจนกับประชาชนว่าเลือกพรรคนี้แล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะได้เป็นนายกฯ อีกครั้ง ดีกว่ารอเป็นนายกฯ คนนอกแบบนั้นไม่สง่างาม
"เราพร้อมต้อนรับทุกคนเข้าสู่เวทีเลือกตั้งที่ประชาชนมีสิทธิในการตัดสินใจเลือกตัวแทนของตัวเอง และพรรคเพื่อไทยพร้อมต่อสู้อาสาเป็นตัวแทนประชาชนในสนามเลือกตั้ง ผลการเลือกตั้งเป็นอย่างไร พร้อมยอมรับ ถึงเวลานั้นประเทศจะได้เดินหน้าตามกระบวนการประชาธิปไตยอย่างเต็มที่" อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยระบุ
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การที่มีพรรคใหม่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ความแตกต่างคือผู้ที่มาตั้งเป็นคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่นักการเมืองเก่า และมีเป็นจำนวนมากยิ่งกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัว ทำให้ประชาชนมีตัวเลือกมากขึ้น แม้ว่าตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะมีกติกาในการเลือกตั้งกับการตั้งพรรคทำให้พรรคเล็กมีโอกาสได้ยากกว่าเดิมมากก็ตาม
"เป็นสัญญาณเตือนพรรคการเมืองเก่า ถ้าไม่ปรับตัวจะมีปัญหามาก เพราะว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้วที่ไม่โมฆะเกิดขึ้นในปี 2554 ดังนั้นในระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมาจะมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่เป็นคนรุ่นใหม่มากขึ้น ถ้าพรรคเก่ายังคงวนเวียนอยู่ในการเมือง?แบบเก่าเมื่อ 20 ปีที่แล้วถ้าเรามีรัฐธรรมนูญ 2540 หรือเมื่อวนเวียนเหมือน 20 ปีที่แล้ว คนก็หันไปเลือกพรรคใหม่มากขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่าในอนาคตจะมีคนเปิดตัวพรรคใหม่มากกว่านี้"
เขาบอกว่า ไม่ได้หมายความว่าคนที่ชอบพรรคการเมืองเก่าจะไม่เลือกพรรคเดิม แต่ตัวแปรของคะแนนเสียงนั้นจะอยู่กับคนที่มีแนวคิดแบบกลาง ที่ไม่ได้ชื่นชอบพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ที่ผ่านมาที่การแก้ไขปัญหาในรัฐสภา สามารถทำได้ ปัญหาการเมืองไทยก็จะไม่มาถึงจุดนี้ ดังนั้นด้วยเหตุนี้เองพรรคการเมืองเก่าจึงต้องมีการปรับตัว
สู่สภาพ 2 ขั้ว
ในอนาคตอาจจะเกิดขึ้นใน 2 แบบคือ 1.คนหันไปเลือกพรรคใหม่มากยิ่งขึ้น 2.มีพรรคใหม่ที่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และถ้าตอบรับขึ้นมา เมืองไทยจะเข้าสู่สภาพ 2 ขั้วอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนที่เชียร์ คสช.กับกลุ่มที่ไม่เอา คสช.
เมื่อถามว่า พรรคเก่ามีการเปลี่ยนตัวกรรมการพรรค โดยมีการเอาลูกหลานอดีตหัวหน้าพรรคขึ้นมา จะสามารถเป็นภาพลักษณ์ของพรรคได้หรือไม่ นายปริญญาเชื่อว่า เป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งถ้าเป็นนักการเมืองเก่า ก็จะมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับสื่อเพื่อช่วยในเรื่องภาพลักษณ์ต่อคะแนนนิยม แต่ในโลกยุคใหม่มีโซเชียลมีเดีย ที่ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ ด้วย 1 เมนต์ 1 แชร์ ดังนั้นการเมืองจึงจะต้องเปลี่ยนแปลงในรูปแบบใหม่ที่คนรุ่นใหม่ได้คาดหวัง
"ผมว่าสำหรับสังคมไทยรุ่นใหม่แล้ว เขาโตมากับการเมืองที่มีมาตรา 44 รวมถึงปัญหาการเมืองต่างๆ ที่เกิดขึ้น ดังนั้นพรรคการเมืองก็ต้องปรับตัวว่าทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก"
ถามว่า พรรคการเมืองใหม่จะเป็นไม้ประดับในสนามการเมืองหรือไม่ เพราะสังคมไทยยังคงยึดติดในระบบหัวคะแนน นักวิชาการผู้นี้ตอบว่า ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่เอื้ออำนวยต่อพรรคเล็กเท่ากับรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยที่ผ่านมาเคยมีพรรคเล็กถึง 6 พรรคที่ได้คะแนนเสียงแบบบัญชีรายชื่อโดยที่ไม่มีผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเลย เพราะระบบการเลือกตั้งแบบเก่า พรรคการเมืองสามารถส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้ และสามารถขอคะแนนได้จากทุกเขตเลือกตั้ง
แต่ระบบการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่มีการเลือกแบบบัญชีรายชื่อแล้ว โดยคะแนนจะมาจาก คะแนนของผู้สมัครแบบเขตนำมารวมกัน แล้วคิดเป็นคะแนนแบบบัญชีรายชื่อ นั่นหมายความว่า ถ้าต้องการคะแนนของ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ก็จะต้องส่งผู้สมัคร แบบแบ่งเขตให้มากที่สุด ถ้าขาดเขตไหน เขตนั้นจะไม่ได้คะแนน ดังนั้นเคสของพรรครักประเทศไทย ของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ที่ได้คะแนนไปกว่า 9 แสนคะแนน จึงได้ 4 ที่นั่งในรัฐสภา
รองอธิการบดี มธ.ระบุว่า พรรคเล็กจะมีโอกาส เมื่อส่งผู้สมัครให้มากเขตมากที่สุด แต่ก็จะมีอุปสรรคอีกว่า ถ้าเงินทุนในการส่งผู้สมัครไม่ถึง ปัญหาที่จะเกิดขึ้นแน่นอน แต่ก็ไม่ใช่ว่าปัญหาก็จะไม่มี เพราะว่าเราเอาคะแนนแบบแบ่งเขตมาคำนวณหารที่นั่ง ส.ส.ทั้ง 500 คน ซึ่งคำนวณคร่าวๆ ว่ามีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 50 ล้านคน และตีไปว่ามีผู้ใช้สิทธิ์ประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ เหมือนการเลือกตั้งในปี 2554 หมายความว่าคะแนนในการเลือกตั้งจะมีอย่างน้อย 35 ล้านคะแนน เมื่อไปหารกับ 500 ที่นั่ง ก็จะได้ 75, 000 คะแนนต่อที่นั่ง ดังนั้นพรรคเล็กจึงต้องทำคะแนนให้ได้เท่านี้ เพื่อส่ง ส.ส.ลงในรัฐสภา
แนวคิดสุดโต่ง
ทั้งนี้ ปัญหาใหญ่ที่ตามมาอีกเรื่องคือ ปกติเมื่อก่อน การส่งผู้สมัครเขตจะหวังเอาชนะในเขตนั้น แต่คราวนี้จะมีการส่งผู้สมัครแบบไม่หวังชนะ แต่เพื่อเอาคะแนนไปคำนวณใน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ นั่นหมายความว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมีผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว บัตรเลือกตั้งก็จะยาวขึ้นกว่าเดิม การหาเสียงและความยุ่งยากจะเกิดขึ้นมากมาย
ซักว่าพรรคการเมืองใหม่จะต้องระมัดระวังในการเสนอนโยบายแบบสุดโต่งหรือไม่ นายปริญญาตอบว่า เป็นที่รู้กันว่าคนจะเลือกตามนโยบาย ถ้ามีนโยบายที่สุดตรงก็จะมีแต่คนที่มีแนวคิดที่สุดโต่งมากเท่านั้น ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติทางการเมือง
ถามว่า ด้วยปัจจัยทางกฎหมายต่างๆ ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อพรรคเล็ก จะเป็นเวลาที่เหมาะสมหรือไม่ที่จะเปิดตัวพรรคใหม่ นายปริญญาเชื่อว่ามีอยู่ การเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ 2560 โดยตัวหารในการหาจำนวนที่นั่งแบบบัญชีรายชื่อคือ 500 แปลว่าจะเป็นสัดส่วนคะแนนต่อ 1 ที่นั่งจึงน้อยลง แต่อยู่ที่ว่าพรรคการเมืองใหม่จะมีทุนทรัพย์ส่งผู้สมัครหรือไม่
เมื่อถามว่า การที่ สนช.จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ว. จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของ สนช.หรือไม่ นายปริญญากล่าวว่า ถ้า สนช. 1 ใน 10 เข้ายื่นชื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก็ทำได้ ประเด็นสำคัญว่าจะมีการกระทบโรดแมปเลื่อนเลือกตั้งออกไปหรือไม่นั้น ถ้ามีการส่งให้ศาลตีความจริง ทางนายกรัฐมนตรีจะต้องระวังการขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย รอให้มีการพิจารณาเสร็จสิ้น หรือยกคำร้อง ดังนั้นถ้าคำวินิจฉัยของศาลระบุว่าสาระสำคัญของกฎหมายลูกฉบับนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญ นี่ก็จะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะต้องมาร่างใหม่หมด
แต่ถ้าศาลชี้ว่าขัดกันแค่บางประเด็น เนื่องจาก พ.ร.ป.ว่าด้วย ส.ส ไม่มีการกำหนดวันเพื่อให้มีผลบังคับใช้เหมือน พ.ร.ป.ส.ส. ถ้าศาลพิจารณาเสร็จก่อนที่กฎหมายว่าด้วย ส.ส.จะมีผลใช้บังคับ ก็จะไม่กระทบวันเลือกตั้ง แต่ถ้าพิจารณาเกิน 90 วัน มีผลกระทบแน่นอน
ส่วนภาพลักษณ์ของ สนช.มีปัญหาแน่ เพราะถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น ก็ควรที่จะคุยใกล้แล้วเสร็จในขั้นตอนคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ซึ่ง สนช.มาจากการแต่งตั้งโดย คสช.ด้วย จึงเป็นปกติที่จะได้รับผลกระทบไปด้วย นอกจากนี้ ยิ่งการเลือกตั้งเลื่อนออกไปเท่าไหร่ สนช.ไม่ได้ทำงานฟรี มีค่าตอบแทนเป็นแสนต่อเดือน อาจทำให้มองว่าเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนได้ จึงเป็นเรื่องที่หมิ่นเหม่ของการทำหน้าที่ของ สนช.
ไพร่หมื่นล้านแก้ตัว
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้จัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความเรื่อง "ต่อประเด็นศาสนาของผม" ผ่านเฟซบุ๊กว่า "ความเห็นของผมเรื่องศาสนาที่ได้รับการพูดถึงอยู่ตอนนี้ ผมขอชี้แจงว่าสิ่งที่ผมแสดงความคิดเห็นไว้ถูกตัดออกมาจากบริบทของมัน การแสดงความคิดเห็นของผมในเรื่องนี้ กระทำไว้นานแล้ว และก่อนการเกิดขึ้นของพรรคเสียอีก ดังนั้นมันจึงเป็นการแสดงความคิดเห็นในฐานะส่วนตัว ไม่ใช่เพิ่งแสดงความคิดเห็นเร็วๆ นี้ ซึ่งอาจทำให้เข้าใจว่าเป็นนโยบายพรรคได้
1.อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวผมเห็นว่า สังคมไทยควรเป็นสังคมที่ไม่นำเรื่องศาสนาซึ่งเป็นสิทธิและความเชื่อส่วนบุคคล มาสร้างความเกลียดชังซึ่งกันและกัน ผมเข้าใจความคับข้องใจของทั้งชาวพุทธและชาวมุสลิมที่ต่างตกเป็นเหยื่อของความขัดแยัง
2.ดังนั้น จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดในกรณีปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ กระบวนการพูดคุยสันติภาพที่มีความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมทุกภาคส่วน เพื่อยุติความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง
3.การกระจายอำนาจให้ประชาชนมีสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองมากขึ้นในทุกภูมิภาค ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง จะเป็นกุญแจสำคัญในการลดปัญหาความขัดแย้ง และเพิ่มศักยภาพของสังคมไทย เพื่อสร้างประเทศไทยที่มีอนาคต
4.หลังจากนี้ ทันทีที่กฎหมายเปิดโอกาส เราจะลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับผู้ได้รับผลกระทบจริง และจะรับฟังว่าพวกเขามีความเห็นในการจัดการความขัดแย้งอย่างไร
5.อันดับสุดท้าย ผมขอโทษแทนสมาชิกพรรคของเราบางท่านที่ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอบางประการเกี่ยวกับการแก้ปัญหานี้ ซึ่งหลายท่านไม่เห็นด้วย เราน้อมรับข้อวิจารณ์ทั้งหมด และจะทำงานอย่างหนักในประเด็นนี้ต่อไป"
นายโรม รังสิมันต์ แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Rangsiman Rome ว่า "นั่งดูโปสเตอร์การเมืองย้อนหลังก็ได้แต่ละเหี่ยใจ ผ่านมา 42 ปีนับจากโปสเตอร์นี้ วันนี้ดูเหมือนการเมืองไทยถอยหลังไปมากกว่าเดิม เพราะนอกจากเราจะมีรัฐประหารแล้ว เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะมีเลือกตั้งเมื่อไหร่ ถามว่าเมื่อไหร่อาจจะผิดด้วยซ้ำ เพราะจะมีรึเปล่าก็ไม่รู้
การเมืองไทยวันนี้มันจึงถอยหลังลงคลอง นอกจากมีผู้นำบ้า สติแตก ซึ่งไม่รู้จะนำพาประเทศไปทิศทางไหนแล้ว ให้อำนาจกับคนบ้าแบบนี้ ประเทศนี้คงยากที่จะมีอนาคต"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สังคมออนไลน์มีการแชร์เอกสารราชการ ซึ่งเป็นหนังสือเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จังหวัดขอนแก่น เป็นผู้ออกหนังสือ เลขที่ ขก.0023.1/7063 เรื่อง ขอเชิญประชุมเพื่อเตรียมการต้อนรับนายกรัฐมนตรี ลงนามโดย นายสุชัย บุตรสาระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ออกเมื่อวันที่ 9 มี.ค.2561 โดยเนื้อหาในหนังสือดังกล่าวระบุว่า
ด้วยนายกรัฐมนตรีมีกำหนดการจะเดินทางการประชุมสัญจร และลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อเป็นการเตรียมการต้อนรับนายกรัฐมนตรี ในการนี้ จังหวัดขอนแก่นได้รับมอบหมายภารกิจให้สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่น ศึกษาธิการจังหวัด เขตพื้นที่การศึกษา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ร่วมกันดำเนินการในภารกิจ “ทำอย่างไรให้ประชาชนหายโง่”
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินภารกิจบรรลุวัตถุประสงค์ และได้ข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาของเด็กที่อยู่ในความรับผิดชอบ รวมถึงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัด จึงขอเชิญท่านร่วมประชุมในวันอังคารที่ 13 มี.ค.2561 เวลา 10.00 น. ห้องประชุมศรีบริรักษ์ ชั้น 5 สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่น ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น
ต่อมาได้มีหนังสืออีกฉบับหนึ่ง โดยผู้ลงนามคนเดียวกันคือ นายสุชัย บุตรสาระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น โดยเป็นหนังสือที่อ้างถึงหนังสือเลขที่ 0023.1/7063 ออกเมื่อวันที่ 12 มี.ค.2561
เนื้อหาหนังสือฉบับนี้ระบุว่า ตามที่จังหวัดขอนแก่น ได้แจ้งเชิญประชุมเตรียมการต้อนรับนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 มี.ค.2561 ณ ห้องประชุมศรีบริรักษ์ ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น โดยจังหวัดขอนแก่น ศึกษาธิการจังหวัด เขตพื้นที่การศึกษา และสำนักงานสาธารณสุข ร่วมกันดำเนินการในภารกิจด้านการศึกษานั้น
เนื่องจากหนังสือดังกล่าว มีถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมทำให้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในสาระสำคัญ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ จึงขอเชิญท่าน หรือผู้ท่านร่วมประชุมเพื่อร่วมหารือแนวทางในการดำเนินการในภารกิจ “ทำอย่างไรให้ประชาชนมีความรู้ความเท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลง” ตามวัน เวลา และสถานที่ดังกล่าวข้างต้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |