สอบทุจริตเงินคนจน ลุ้นเอาผิดตัวการใหญ่


เพิ่มเพื่อน    

เอาผิดโกงเงินคนจน

          เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ยังคงเดินหน้าตรวจสอบการทุจริตเงินอุดหนุนผู้ยากไร้ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ป.ป.ท.ออกมาเปิดเผยว่า พบทุจริตงบคนจนและผู้ติดเชื้อเอดส์แล้ว 44 จังหวัด จากทั้งหมด 76 จังหวัด รวมเป็นเงินเกือบ 97 ล้านบาท

            โกงเงินคนจน กลายเป็นเรื่องที่ประชาชนทั้งประเทศยอมรับไม่ได้ ทุกภาคส่วนประสานเสียงต้องการให้รัฐบาลและ ป.ป.ท. รวมถึง พม.เอาจริงเอาจังกับการสอบสวนเอาตัวคนทำผิดมาลงโทษให้ได้

คำยืนยันจาก พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการ ป.ป.ท. ย้ำว่า ป.ป.ท.จะเดินหน้าตรวจสอบจนถึงที่สุด ไม่ดำเนินการแบบครึ่งๆ กลางๆ หากพบว่าใครผิดก็ต้องดำเนินการจนถึงที่สุด และเรื่องนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าชื่นชมที่คนทั้งประเทศต่างพร้อมใจกันให้ข้อมูลกับ ป.ป.ท.ในการตรวจสอบการทุจริตครั้งนี้

“ขอให้ผมใช้เวลาอีกสักหน่อย ผมก็จะบอกได้ แต่ตอนนี้ผมเห็นบอดี้ แล้ว ขอให้ผมเห็นคิ้วเขา ดูตา ดูจมูก แล้วจะบอกได้ว่าเขาเป็นใคร เราต้องการกระชากออกมา ไอ้ mastermind ตัวจริง มันมีไหม แล้วมันเป็นใคร เราได้เค้าลาง ภายใน 31 พ.ค. เราต้องบอกสังคม บอกคนทั้งประเทศให้รู้ว่าใครอยู่เบื้องหลัง และมีหรือไม่ ต้องบอก หากเราตรวจไม่เจอ เราก็ต้องบอกว่าเราตรวจไม่เจอ ป.ป.ท.ก็ต้องทำความจริงให้ปรากฏให้ได้ หากไม่เจอ เราก็ต้องบอกว่าเราไม่เจอ แต่หากเจอ เราก็ต้องบอกว่าเจอ” เลขาธิการ ป.ป.ท.กล่าวย้ำ

พ.ท.กรทิพย์ กล่าวว่า การตรวจสอบของ ป.ป.ท.ในเรื่องดังกล่าว หากมองปริมาณจังหวัดที่เข้าไปตรวจสอบแล้ว ป.ป.ท.พบ 44 จังหวัด ถ้าจะบอกเกือบครึ่งประเทศ ใช่หรือไม่ ก็ใช่ แต่หากพิจารณาว่าปัจจุบันเราเปิดโปงกลไกการทุจริตได้ขนาดนี้เชียวหรือ หากดูจากกลไกของรัฐที่ออกมาร่วมมือร่วมใจกัน กลไกของประชาชน อย่าลืมว่า สำนักงาน ป.ป.ท.มีเจ้าหน้าที่เพียง 605 คน ทำงานตรวจสอบเรื่องนี้ทั่วประเทศ หาก ป.ป.ท.ไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนที่ออกมาพิทักษ์รักษาสิทธิของเขา เขามาเล่าให้ฟัง ว่า “ป้าไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ” ยายไม่ได้รับ หรือ ลายเซ็นไม่ใช่ของยาย

...การที่ประชาชนทุกคนต่างออกมามีส่วนร่วมกัน เป็นมิติในด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตจากประชาชนที่สูงขึ้น สอดคล้องกับผลสำรวจของหอการค้าไทย ที่บอกว่าคนไทยมีความอดทนต่อการทุจริตคอร์รัปชันลดน้อยลงในระดับ 2 ซึ่งประเทศที่เขาประสบความสำเร็จในด้านนี้ ดัชนีจะอยู่ที่ระดับที่ 1 ของไทยเราตอนนี้อยู่ที่ระดับ 2 พอ ป.ป.ท.เข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้ ผมได้รู้เลยว่าตอนนี้คนไทย Just say no  ไม่เอาแล้ว

การที่ไปตรวจสอบแล้วพบว่าจังหวัดต่างๆ มีการทุจริต เป็นผลดีที่ทำให้เรารู้แพทเทิร์นการกระทำความผิดมันมีเกิดขึ้นมานานแล้ว เราสามารถเปิดเผยการกระทำความผิด จนบอกกันว่า “โกงเก่าต้องหมดไป โกงใหม่ต้องไม่เกิดขึ้น” ที่ก็คือการเอาคนผิดมาลงโทษลงทัณฑ์ เอามาลงโทษทางวินัย ดำเนินคดี แล้วก็ต้องไม่เปิดโอกาสให้โกง

หลังจาก ป.ป.ท.เราตรวจสอบทำเรื่องนี้แล้ว เราจะเสนอมาตรการว่า ต่อไปหากจะมีโครงการแบบนี้ทำขึ้นมา มันจะต้องไม่มีเรื่องนี้เกิดขึ้น ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และ ป.ป.ท.ก็ร่วมกันดำเนินการ ทางสำนักงาน ป.ป.ท.ตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อหามาตรการในการป้องกันทุจริตในโครงการเหล่านี้ เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา ทาง พม.ก็เชิญทาง ป.ป.ท.ไปพูดคุยเรื่อง “การบริหารจัดการความเสี่ยง” ในเรื่องนี้ เช่น เรื่องการอนุมัติ การจ่ายเงิน จะทำอย่างไร

          ...ภายใน 31 พ.ค.2561 ที่ ป.ป.ท.จะปิดงานตรวจสอบเรื่องนี้ เราก็จะเสนอมาตรการในการป้องกันเรื่องนี้ กรณีที่เกิดขึ้นแม้จะเยอะในเชิงปริมาณ แต่ผลที่เกิดขึ้นมันส่งผลดีต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในระยะต่อไป ทำให้คนเห็นว่า ความเอาจริงเอาจังของหน่วยงานรัฐ ความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนได้เกิดขึ้น อันนี้คือสิ่งที่ต้องทำให้ประชาชนเห็นว่า เพราะความร่วมมือกันของประชาชน เพราะความกล้าของคนสองคน นำมาสู่การดำเนินการได้ขนาดนี้ นี่คือการปกป้องประโยชน์ของรัฐ เป็นการนำโครงการที่ดีอยู่แล้ว ให้เงินไปถึงประชาชนอย่างแท้จริง

เลขาธิการ ป.ป.ท. พูดถึงรูปแบบการทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่ง-เงินคนจน ที่ ป.ป.ท.ตรวจสอบพบในหลายจังหวัดว่า รูปแบบไม่ต่างกัน คล้ายคลึงกัน คือนำสำเนาเอกสารบัตรประชาชนไปเบิก แต่อาจต่างกัน ก็เป็นเรื่องกรรมวิธีในการนำเอกสารมาใช้ บางแห่ง ก็ใช้วิธีจัดฝึกอบรม แล้วขอเอกสารประชาชนที่มาร่วมฝึกอบรม บางแห่งก็ไปหาเอกสารมา แต่วิธีการนำเอกสารมาแล้วนำมาเบิกเงิน การลงไปสำรวจพื้นที่ว่าประชาชนคนไหนจะได้รับการสงเคราะห์อย่างไร

การจัดทำข้อมูลคนที่ได้รับการสงเคราะห์ทำโดยค่อนข้างหละหลวม สิ่งที่เราตรวจพบ ก็จะต้องหามาตรการมาแก้ไขต่อไป เช่น ไปสำรวจว่า มีป้าคนหนึ่ง จบ ป.4 พักอยู่ในบ้านสังกะสี 1 ชั้น พอเราลงไปตรวจในพื้นที่จริงๆ กลับพบว่า ป้าคนดังกล่าวอยู่บ้าน 2 ชั้น และมีฐานะพอสมควร แบบนี้เป็นต้น คือมีการจัดเก็บข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง

            ที่เขาทำข้อมูลออกมาแบบนี้ ก็เพื่อจะทำให้เห็นว่า คนคนนั้นควรจะได้รับการสงเคราะห์ แต่ความเป็นจริง เขาไม่น่าจะได้รับการสงเคราะห์ ข้อมูลที่พบแบบนี้ ก็จะทำให้สามารถนำมาแก้ไขในเชิงระบบได้ว่าการสำรวจดังกล่าวจะต้องเป็นจริง

          สำหรับเรื่องการจ่ายเงินสงเคราะห์ หากใช้ระบบเทคโนโลยีในการจ่ายเงิน ก็อาจจบปัญหา เราก็มาคิด ว่าคนจนหรือคนที่ไม่มีโอกาสจะได้รับเงินผ่านระบบธนาคารระบบอิเล็กทรอนิกส์ เขาอาจเข้าถึงยาก ก็เป็นไปได้ แต่ก็สามารถทำให้ง่ายขึ้นมาได้ หากจ่ายผ่านระบบนี้ได้ จะทำให้การทุจริตน้อยลงหรือไม่ ตรงนี้ก็กำลังคิดกันอยู่ เพื่อหามาตราการป้องกัน

เมื่อถามว่า ในการตรวจสอบพบการทุจริตดังกล่าว รูปแบบการทำความผิดของแต่ละจังหวัด แต่ละภาค ลักษณะการทำความผิดมีความแตกต่างกันหรือไม่ เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวว่า จะมีลักษณะเหมือนกัน ก็มี 2-3 รูปแบบ แต่จริงๆ ก็แบบเดียว คือปลอมเอกสาร ปลอมลายเซ็นแล้วไปเบิกเงิน มีคนไปเบิกเงินแล้วได้รับก็มี บางคนก็ไม่เคยได้รับเงินเลย บางคนก็ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

ถามถึงกรณีการตรวจสอบพบทุจริตการเบิกจ่ายเงินที่จังหวัดนครพนม ที่มี ผอ.โรงเรียนเกี่ยวข้อง รายละเอียดทางการตรวจสอบของ ป.ป.ท.พบอะไรบ้าง พ.ท.กรทิพย์ ให้ข้อมูลว่า กรณีดังกล่าวที่จังหวัดนครพนม เรื่องการจ่ายเงินจบไปแล้ว และต่อมามีความพยายามจะทำหลักฐานขึ้นมาใหม่ว่า คนในหมู่บ้านได้รับเงินเรียบร้อยทำถูกต้อง โดยมีการจะทำหลักฐานเกี่ยวกับเอกสารการรับเงินขึ้นมาใหม่ ให้มาเซ็นชื่อใหม่ เพื่อปกป้องตัวเองว่าทำถูก แล้วหากมีเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.มาตรวจสอบ ก็ให้คนในหมู่บ้านบอกกับเจ้าหน้าที่ว่า ได้รับเงินครบแล้ว แล้วมาทำหลักฐานให้สอดคล้อง โดยให้เซ็นชื่อทำใหม่ เพื่อให้คนที่เกี่ยวข้องพ้นผิด

ไปบอกกับประชาชน ไปขอร้องประชาชนให้รวมตัวกัน แล้วให้เงินค่าเสียเวลา 100 บาท 50 บาท พอทำแล้วประชาชนทนไม่ได้ เขาเลยทำการถ่ายคลิปเอาไว้ ก็ทำตรงไปตรงมา คนที่ทำเขากล้าหาญ เพราะคนที่พูดเป็นน่าเชื่อถือในหมู่บ้าน เป็นระดับครูบาอาจารย์ แล้วขณะเดียวกัน คนที่ถ่ายคลิปเขาก็กลัว เขาก็มีชั้นเชิงในการถ่าย คนหนึ่งยืนถ่าย อีกคนคอยถ่ายเป็นภาพ อีกคนอัดมาเป็นเสียง เป็นการร่วมมือกันของประชาชน ป.ป.ท.ไม่ได้เก่งเลยในการได้คลิป ประชาชนเป็นคนถ่ายแล้วมาบอก ป.ป.ท. เลขาธิการ ป.ป.ท.เล่าที่มาที่ไปเรื่องนี้ให้รู้อย่างละเอียด

เลขาธิการ ป.ป.ท. ย้ำว่า ในการเปิดเผยข้อมูลผลการตรวจสอบและบทสรุปการตรวจสอบการทุจริตการเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าว ที่จะสรุปผลในวันที่ 31 พ.ค. ป.ป.ท.จะบอกว่า ใน 76 จังหวัดที่ ป.ป.ท.เข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้ ผลการตรวจสอบเป็นอย่างไร พบกี่จังหวัด ไม่พบกี่จังหวัด ดำเนินคดีกี่จังหวัด แล้ว ป.ป.ท.จะบอกว่า มาตราการในการป้องกัน หากโครงการดังกล่าวจะดำเนินต่อไป จะต้องทำอย่างไร

-เป็นไปได้หรือไม่ ที่การตรวจสอบอาจพบการทุจริตมากกว่า 44 จังหวัดในตอนนี้?

ก็มีสิทธิ์เป็นไปได้ เพราะรูปแบบต่างๆ ก็อาจจะขยายออกไป แต่ก็อาจจะมีบางแห่ง ที่ต้องมีคนดีอยู่บ้าง อาจไม่พบหมดทุกจังหวัด ตอนนี้ ป.ป.ท.ตรวจเฉพาะที่มีการเบิกจ่ายในปี 2560 ก่อน ส่วนปีอื่นๆ ก่อนหน้านั้น ป.ป.ท.จะตรวจสอบหรือไม่ ก็ต้องดู เพราะดูแล้วคงไม่ได้ทำเฉพาะแค่ในปี 2560 พฤติการณ์แบบนี้น่าจะมีมาก่อนหน้านั้น ทำกันมาจนชิน เลียนแบบกันมา หากตรวจสอบพบว่ามีการทำกันมาแล้วหลายปี ก็จะมีการดำเนินคดีในส่วนของแต่ละปีไป ก็เพิ่มกระทงไป ไม่ใช่ว่าถูกลงโทษ ไม่ใช่ว่าถูกลงโทษในการทำผิดปี 2560 แล้วปีอื่นจะพ้น ไม่ใช่ หากตรวจเจอว่ามีปีอื่นด้วย ก็บวกเพิ่มไป การตรวจสอบย้อนหลัง ป.ป.ท.สามารถตรวจสอบได้ ตราบใดที่ยังไม่หมดอายุความ

พ.ท.กรทิพย์ มองว่า การตรวจสอบพบการทุจริตการเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า ภูมิต้านทานการกระทำทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐมีน้อย ถ้าเขามีภูมิต้านทานที่ดี เขาไม่ทำ สิ่งที่เราค้นพบ เราค้นพบในเชิงวิชาการว่า หากเขามีคุณธรรม จริยธรรม มีภูมิต้านทานที่ดี การทุจริตจะไม่เกิดขึ้น เราจึงต้องสร้างภูมิต้านทานตรงนี้ขึ้นมา แต่จะไม่ใช่สร้างเฉพาะบุคคล ไม่ใช่สร้างเฉพาะปัจเจก เราต้องสร้างระบบด้วย

ระบบต้องไม่เกื้อหนุนให้เกิดการทุจริตได้ง่ายๆ เช่น ระบบการจ่ายเงินก็อาจจ่ายเข้าธนาคาร น่าเห็นใจเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะบางทีภูมิต้านทานไม่มี เห็นได้มาง่ายๆ ก็ตัดสินใจไป ไม่มีการละอายต่อบาป ไปทำทันที ผมมองว่าภูมิต้านทานบกพร่อง

-สังคมไทยรับไม่ได้ โกงเงินคนจน เท่าที่อยู่ ป.ป.ท.มาหลายปี เคยมีเคสการทุจริตเลวร้ายแบบนี้หรือไม่?

ยังไม่เคยพบลักษณะแบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ประชาชนทั่วประเทศเขาเห็นว่าไม่ถูกต้อง คนทั้งประเทศเขาถึงลุกขึ้นมาให้ข้อมูลให้ข้อเท็จจริง พิทักษ์รักษาสิทธิกัน เพราะเขาเห็นว่า คนเขาเดือดร้อน แล้วยังมีคนมาทำกันแบบนี้ คนป่วยแล้วยังมาทำกับเขาอีก มันก็เลยสวิง คือสวิงหันมาร่วมมือร่วมใจกันที่จะต่อต้าน ทำให้แนวร่วมเพิ่มขึ้น

-คนสงสัยกันมากว่าสุดท้ายแล้ว เรื่องนี้เจ้าหน้าที่รัฐในส่วนกลาง ในระดับกรมหรือกระทรวง ป.ป.ท.สามารถสอบไปถึงได้หรือไม่ สอบว่าเกี่ยวข้องหรือไม่?

ตั้งแต่เกิดเหตุใหม่ เราก็พยายามตรวจสอบจากเบาะแส ผลการตรวจสอบก็มีเค้าลาง บุคคลนอกศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งคือคนในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เราพบแล้วว่าเขาเป็นผู้กระทำความผิด ในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 47 ศูนย์ แต่เราพบเค้าลาง มีคนนอกศูนย์เข้าไปอีก คนนอกศูนย์ก็จะเป็นทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ คนที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง ตอนนี้เราได้เค้าลาง

-หมายถึงคนในส่วนกลาง?

ก็ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ขอให้ผมใช้เวลาอีกสักหน่อย ผมก็จะบอกได้ แต่ตอนนี้ผมเห็นบอดี้แล้ว ขอให้ผมเห็นคิ้วเขา ดูตา ดูจมูก แล้วจะบอกได้ว่าเขาเป็นใคร เราต้องการกระชากออกมา ไอ้ mastermind ตัวจริง มันมีไหม แล้วมันเป็นใคร เราได้เค้าลาง ภายใน 31 พ.ค. เราต้องบอกสังคม บอกคนทั้งประเทศให้รู้ว่าใครอยู่เบื้องหลัง และมีหรือไม่ ต้องบอก หากเราตรวจไม่เจอ เราก็ต้องบอกว่าเราตรวจไม่เจอ ป.ป.ท.ก็ต้องทำความจริงให้ปรากฏให้ได้ หากไม่เจอ เราก็ต้องบอกว่าเราไม่เจอ แต่หากเจอ เราก็ต้องบอกว่าเจอ

ถามย้ำไปว่า ยืนยันได้ว่าหาก ปปท.ตรวจสอบแล้วพบคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะใหญ่ขนาดไหนในกระทรวง พม. หากตรวจสอบพบเกี่ยวข้องก็จะดำเนินการ พ.ท.กรทิพย์ ตอบหนักแน่นว่า ใช่ครับ เราจะดำเนินการทั้งหมด ป.ป.ท.จะไม่ดำเนินการแบบครึ่งๆ กลางๆ แต่หากแม้ว่าเราพบ แล้วเป็นบุคคลที่อยู่นอกเหนืออำนาจของ ป.ป.ท. เราก็ส่งต่อไปยัง ป.ป.ช. ตอนนี้ประธาน ป.ป.ช.ก็ให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า พร้อมรับไม้จาก ป.ป.ท.หากพบบุคคลที่เกี่ยวข้องอยู่นอกเหนืออำนาจของ ป.ป.ท.

เรื่องนี้ทุกองคาพยพต่างพร้อมใจกัน อย่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กับทาง ป.ป.ท.เราก็ดำเนินการตรวจสอบร่วมกัน เช่น เรื่องเส้นทางการเงิน จนตอนนี้ได้เค้าลาง แต่ขอเวลา ก็อีกไม่นาน ขณะเดียวกันก็มีการประสานขอข้อมูลจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเช่นกัน และต่อไปก็อาจจะลงพื้นที่เพื่อลงไปตรวจสอบร่วมกันทุกองคาพยพ คือทั้ง ป.ป.ท.-สตง.-ปปง. ต่างก็อยู่ในกลไกของศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริต (ศอ.ตช.) ทำให้การประสานงานง่ายขึ้นและต่างก็มีเป้าหมายเดียวกัน

วันที่ 31 พ.ค. เป็นวันดีเดย์ จะประกาศผลการตรวจสอบ และจะบอกว่าหากจะทำโครงการต่อไป ควรจะมีมาตรการในการป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตได้อย่างไร เราก็จะเสนอต่อรัฐบาลว่าเราตรวจพบแบบนี้ แล้วการแก้ไขคืออะไร ไม่ใช่ตรวจพบอย่างเดียว แต่การแก้ไขจะทำอย่างไร ป.ป.ท.ต้องบอกกับรัฐบาลด้วย

ตอนนั้นทุกคนจะได้เห็นความจริงกัน จะได้เห็นว่า ป.ป.ท.มีฝีมือกันขนาดไหน บอกสังคมได้หรือไม่ ก็ต้องบอกให้ได้ ก็เป็นการวัดกึ๋น ป.ป.ท.เหมือนกัน หากได้ปลาซิวปลาสร้อย แล้วปลาฉลาม ปลาโลมาได้ไหม เราต้องดูต่อไป เรื่องนี้บอร์ด ป.ป.ท.ก็บอกว่าต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายและเร่งรัดให้เร็วขึ้น

โดยขั้นตอนก็คือ เมื่อการตรวจสอบแต่ละจังหวัดเสร็จสิ้น ก็รายงานให้คณะกรรมการ ป.ป.ท.รับทราบ แล้วก็มีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนแต่ละจังหวัดขึ้นมา โดยมีเวลาการทำงาน 6 เดือน เมื่อ 6 เดือนครบ หากคดีมีมูล มีการดำเนินคดีอาญา เช่น ชี้มูลว่ามีการทุจริต หรือยักยอกเงินหลวง ก็ส่งเรื่องไปให้อัยการ เพื่อให้อัยการสั่งฟ้องและยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตในแต่ละพื้นที่ หากพบความผิดทางวินัย ป.ป.ท.ก็ส่งเรื่องไปยังต้นสังกัดเพื่อให้ลงโทษทางวินัย ตอนนี้มีการดำเนินการคู่ขนาน คือ ป.ป.ท.ก็ทำเรื่องอาญาไป ขณะเดียวกันหน่วยงานต้นสังกัดคือกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ตอนนี้เขาก็ดำเนินการทางวินัยไปด้วย มีการประสานข้อมูลระหว่างกันอยู่.

                                                                        โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

 .............................................................................

ล้อมกรอบหน้า 4-5

จากกรมพระธรรมนูญ-DSI

สู่มือปราบทุจริต เส้นทางเลขาฯ ปปท.

            พ.ท.กรทิพย์ เลขาธิการ ป.ป.ท. ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้ไม่นาน เล่าเส้นทางการเติบโตในชีวิตราชการก่อนจะขึ้นมาเป็นแม่ทัพใหญ่ใน ป.ป.ท.ให้ฟังว่า หลังจบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ต่อมาได้เข้ารับราชการที่กรมพระธรรมนูญ ทำหน้าที่ทั้งนายทหารพระธรรมนูญ, ที่ปรึกษากฎหมาย, อัยการทหาร, ตุลาการศาลทหาร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2525-2547 จากนั้นก็โอนไปรับราชการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษตั้งแต่ยุคก่อตั้ง  โดยอยู่ดีเอสไอตั้งแต่ปี 2547-2551 ต่อมาก็โอนมาทำงานที่สำนักงาน ป.ป.ท.ตั้งแต่ยุคก่อตั้งปี 2551 ก็อยู่มาถึงปัจจุบัน โดยลักษณะงานก็จะเหมือนกับดีเอสไอ เป็นเรื่องการสอบสวนดำเนินคดีอาญา การบังคับใช้กฎหมาย เพียงแต่ที่ ป.ป.ท.จะทำเฉพาะเรื่องคดีทุจริตอย่างเดียว

          ...ก่อนหน้านี้ก็ทำมาหลายเรื่อง เช่นคดีจำนำข้าวในส่วนของ ป.ป.ท. หรือการตรวจสอบเรื่องการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายและอุปกรณ์สันทนาการ ตอนนั้นผมเป็น ผอ.สำนักปราบปราม 3 เราเป็นคนเปิดประเด็นไปตรวจสอบว่าการจัดซื้อมันราคาสูง ลงไปตรวจสอบในพื้นที่เช่นนครปฐม โดยอุปกรณ์บางโรงเรียนเช่นที่อำเภอบางเลน ซื้อมาเก้า 9 หมื่นกว่าบาท แต่ส่วนกลางกลับซื้อในราคา 9 แสนบาท โดยการทำงานของผมยึดหลักความตรงไปตรงมา ยึดหลักกฎหมาย การทำงานยึดหลักเอาจริงเอาจัง ทำแล้วต้องทำจริง

          เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวถึงกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในยุค คสช.ไว้ด้วยว่า  ปัจจุบันมีกลไกการป้องกันและปราบปรามการทุจริตด้วยกัน 3 ระดับ ที่พบว่ามีประสิทธิภาพและเห็นผลงานชัดเจนหลายเรื่อง อย่างล่าสุดก็คือกรณีศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ ที่ให้กรมควบคุมมลพิษชดใช้ค่าเสียหายในโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ จำนวนกว่า 9 พันล้านบาท ทำให้รัฐอาจไม่ต้องจ่ายเงินให้บริษัทเอกชน และอื่นๆ อีกหลายเรื่อง เช่นการผลักดันให้มีการจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตฯ ขึ้นเป็นครั้งแรกในยุค คสช. ซึ่งโครงสร้างดังกล่าวประกอบด้วย

1.คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.)

ที่มีหัวหน้า คสช. นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็นกลไกในการวางนโยบาย ที่ท่านได้วางนโยบาย  4 แนวทาง เรียกว่า 4 ป. คือ 1.ปลูกฝัง เช่น ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมในการต่อต้านการทุจริต ที่แม้ใช้เวลานานแต่ทำแล้วจะมีความยั่งยืน 2.ป้องกัน ลดโอกาสการทุจริตลง ทำหลายอย่างเช่น การมีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ปรับทั้งกลไกและวิธีการทำงาน เพื่อลดโอกาสในการทุจริต 3.ปราบปรามให้เร็วขึ้น ลงโทษคนทำผิดได้เร็วขึ้น โดยมีมาตรการคู่ขนาน เดิมใช้มิติกระบวนการยุติธรรมอย่างเดียว แต่กระบวนการดังกล่าวอาจใช้เวลานาน ต่อไปก็มีการบอกกันว่าต้องใช้มาตรการทางวินัย ทางปกครองมาทำคู่ขนานกัน กับการปราบปรามทางกระบวนการอาญา ซึ่งจริงๆ ผู้บังคับบัญชามีอำนาจในการดูแลปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่แล้ว เมื่อพบอะไรไม่ถูกต้องก็ตั้งกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง มีเบาะแสหรือไม่ หากใช่ก็ลงทัณฑ์ทางวินัยได้เลย อย่าลืมว่ามาตรการทางวินัย คนกลัวเพราะหากผิดก็ให้ออกจากราชการได้ ไล่ออก ปลดออก ที่เหมือนประหารชีวิตเลย ไม่มีบำนาญ แล้วก็ใช้มาตรการทางปกครองได้ด้วย เช่นจับโยกย้าย หากเห็นว่าอยู่ต่อไปมีปัญหาก็ย้ายไปส่วนอื่น ไม่ให้เกี่ยวข้องกับงานเดิม 4.ประชาสัมพันธ์ให้คนได้รับรู้ว่า การทุจริตมีการต่อต้านอย่างไร ให้ประชาชนร่วมมือกัน หน่วยงานไหนมีธรรมาภิบาลก็ประกาศประชาสัมพันธ์ให้คนได้รับทราบ

2.ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอ.ตช.)

เป็นกลไกที่จะประสานงานกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่จะมี รมว.ยุติธรรมเป็นประธาน มีทั้งหน่วยงานภาครัฐ เช่นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และเอกชนอยู่ด้วยเพื่อประสานงาน บูรณาการร่วมกันในการป้องกันและปราบปรามทุจริตให้เกิดผล อันเป็นกลไกที่ได้ผล เห็นได้จากผลงานหลายเรื่อง เช่นการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายและนันทนาการในราคาแพงกว่าความเป็นจริง, โครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลในสถานศึกษา, การจัดซื้อจัดจ้างระบบส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ หรือเสาไฟโซลาร์เซลล์ หรือการเสนอให้มีศาลอาญาคดีทุจริตฯ ก็เกิดจาก ศอ.ตช.ที่เสนอเรื่องดังกล่าว หรือผลงานเรื่องการอุทธรณ์คดีคลองด่านที่ ศอ.ตช.ให้มีการตั้งคณะทำงานศึกษาวิเคราะห์ประเด็นข้อต่อสู้ทางคดีใหม่ จนนำไปสู่การยื่นต่ออัยการ จนอัยการยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่อีกครั้ง จนเมื่อวันที่  6 มีนาคมที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางตัดสินให้รัฐไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยให้บริษัทเอกชน (ศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ ที่ให้กรมควบคุมมลพิษชดใช้ค่าเสียหายในโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ จำนวนกว่า 9 พันล้านบาทให้แก่ 6 บริษัทร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี) เรื่องนี้ก็เริ่มจาก ศอ.ตช.

เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวต่อไปว่าสำหรับกลไกที่ 3 เป็นกลไกระดับกระทรวง, ส่วนราชการ ที่มีศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริตภายในกระทรวงที่กำกับดูแลแต่ละกระทรวง

จะเห็นว่าทั้ง 3 กลไกทำให้การต่อสู้การทุจริตคอร์รัปชันเป็นไปในแนวทางเดียวกัน มุ่งให้เกิดผลกระทบแบบมีนัยสำคัญ จากเดิมแต่ก่อนต่างคนต่างทำ ไม่มีทิศทางที่แน่นอน นอกจาก 4 ป.แล้วก็ยังมียุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระยะที่สามที่ ป.ป.ช.จัดทำและเสนอต่อ ครม.ให้เห็นชอบจนมียุทธศาสตร์ออกมา ซึ่งมีแนวทางที่ชัดเจนว่าต้องทำอย่างไร

ป.ป.ท.ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ก็นำแนวทางต่างๆ และยุทธศาสตร์ชาติด้านการป้องกันทุจริตมาเป็นทิศทางในการทำงาน เพราะ ป.ป.ท. เป็นฝ่ายเลขานุการของ คตช.และ ศอ.ตช. รวมถึงเป็นประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนระดับกระทรวง ทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ป.ป.ท.ได้เข้าไปมีส่วนร่วมทั้งสามกลไกที่จัดตั้งขึ้นมา

จับโกงเงินคนจนต้องเร็วและแรง

พ.ท.กรทิพย์ ย้ำว่ากลไกป้องกันและปราบปรามการทุจริตทั้งสามโครงสร้างดังกล่าว มีประสิทธิผลมาก มีการทำงานประสานสอดคล้อง ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ มีการทำงานแบบบูรณาการ ทั้งเรื่องการทำงาน เรื่องงบประมาณ ที่ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์และแนวทางที่วางไว้

อย่างที่เห็นเรื่องการตรวจสอบงบของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ แนวทางที่ ป.ป.ท.ทำคือ ทำให้เร็วและแรง เร็วคือตรวจสอบให้รู้ผลเร็ว แรงคือทุกพื้นที่ให้ตรวจสอบอย่างจริงจัง ไม่ยืดหยุ่น ทำให้จริงจังให้คนเห็น แนวทางดังกล่าวก็คือการสานต่อภารกิจ 4 ป. ขยายแนวคิดนำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งตอนที่ผมได้เข้ารับการคัดเลือกเป็นเลขาธิการ ป.ป.ท. ผมก็นำเสนอเป็นวิสัยทัศน์ต่อบอร์ดไปว่า ผมมีแนวนโยบายแบบนี้คือสานต่อภารกิจ ขยายแนวคิด สู่การปฏิบัติ

พ.ท.กรทิพย์ กล่าวอีกว่า การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ  หากภาครัฐมีการทำงานแบบมีธรรมาภิบาล ทุจริตไม่เกิดแน่นอน ถ้าธรรมาภิบาลเข้มแข็ง ขอเพียงอย่าไปยุ่งเกี่ยวกับการทุจริต ขอเพียงแค่บอกว่าไม่ ทุกอย่างจบ แล้วทำงานแบบโปร่งใส ยึดหลักนิติธรรม ถ้ามีสิ่งนี้การรับสินบนจะไม่เกิด ต้องตัดวงจรตรงนี้ พวกห่วงโซ่ทุจริต ห่วงโซ่ระหว่างผู้ให้กับผู้รับ ตัดความเป็นผู้ให้ออกจากผู้รับ คือทำอย่างไรให้มีธรรมาภิบาล ก็ด้วยการขับเคลื่อน เหมือนกับขับรถคือมีคันเร่ง เร่งทำงาน และคอยเบรก หากเจออะไรไม่ถูกต้อง ชะลอไว้ ถ้าเจออะไรไม่ชอบมาพากล โดยเอาอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเข้าตรวจสอบเรื่องที่ประชาชนร้องเรียน เช่นหากมีประชาชนร้องเรียนว่ามีใครมีพฤติการณ์ไม่เหมาะสมไม่ถูกต้อง ก็นำข้อร้องเรียนดังกล่าวมาพิจารณาแล้วส่งคนไปตรวจสอบ ลงไปดู เมื่อไหร่ที่ ป.ป.ท.เข้าไปตรวจสอบ แม้ยังจะมีการทุจริตอยู่แต่พอเข้าไปตรวจสอบแล้วอย่างน้อยมันจะหยุดชะงักแล้ว เพราะคนที่ทำอาจเริ่มระมัดระวังหรือหยุดไป

สำหรับบทบาทของภาคเอกชนก็มีความสำคัญ เห็นได้จากตอนนี้ภาคเอกชนให้ความสำคัญกับเรื่องระบบธรรมาภิบาล ถือเป็นความก้าวหน้า คือเอกชนเน้นว่าต้องทำให้มีการแข่งขันกันโดยไม่มีการเอาเปรียบกัน ไม่ใช่มาซื้อความสะดวก ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็มีการจัดอันดับบริษัทที่มีธรรมาภิบาล

ยึดแนวปราบโกง ประชารัขจัดทุจริต

พ.ท.กรทิพย์ ระบุว่า จากกลไกข้างต้นจะเห็นได้ว่าห่วงโซ่ทุจริต เมื่อภาครัฐมีธรรมาภิบาล เอกชนก็มีธรรมาภิบาล เมื่อภาครัฐไม่รับ เอกชนไม่ให้ มันก็มีธรรมาภิบาล และที่สำคัญถือเป็นอาวุธเด็ดขาดก็คือ ประชาชนอย่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เปิดโอกาสและให้อำนาจประชาชนมีส่วนร่วมในการต่อสู้เรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมาก ซึ่งประชาชนนี้แหละคืออาวุธเด็ดขาดที่จะขจัดเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันให้หมดสิ้นไปเลย หากประชาชนร่วมมือร่วมใจและช่วยกันเฝ้าระวัง เช่นจับตาคอยมอนิเตอร์ดูว่า หน่วยงานภาครัฐมีการทำงานที่เป็นธรรมาภิบาลจริงหรือไม่ ถ้าไม่จริงต้องสะท้อนออกมาแล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปดู หรือภาคเอกชนหากพบว่ายังไม่ใช่ ยังมีการจ่ายเงินจ่ายทองกันอยู่ แบบนี้ มันคือการเฝ้าระวัง พิทักษ์รักษาสิทธิของประชาชน

ทั้งหมดคือสิ่งที่เรียกว่า ประชารัฐ ขจัดทุจริต เราต้องทำทั้งสามภาคส่วนคือ ภาครัฐ, เอกชน, ประชาชนให้เกิดขึ้น ก็เป็นการสานต่อภารกิจเดิมให้เป็นรูปธรรม ตัดห่วงโซ่ทุจริตออกไปให้ได้ โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด ตัวอย่างง่ายๆ เรื่องการตรวจสอบการใช้งบของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กรณีน้องแบม คนสองคนเท่านั้นแต่สามารถสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นในแผ่นดินไทย ทำให้เกิดการตื่นรู้ ทำให้คนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทุจริตสูงขึ้น เป็นเรื่องน่าชื่นชม

เมื่อถามถึงรูปแบบการทุจริตของหน่วยงานรัฐที่ ป.ป.ท.ได้รับเรื่องร้องเรียนและเข้าไปตรวจสอบ  ส่วนใหญ่เป็นการกระทำในลักษณะใดและหน่วยงานไหนมีเรื่องร้องเรียนมากเป็นอันดับต้นๆ พ.ท.กรทิพย์ เปิดเผยว่าก็มีทุกรูปแบบ ส่วนหน่วยงานที่มีการร้องเรียนมายัง ป.ป.ท.ก็เป็นปกติ ก็คือหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทย เพราะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาก รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อกับความถูกผิดในด้านคดี คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็เป็นธรรมดา แต่ว่าเรื่องที่ร้องมายังสำนักงาน ปปท.ก็ยังไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องที่ผิดทั้งหมด เพราะบางเรื่องที่ตรวจสอบจนยุติเรื่องแล้วก็พบว่าไม่มีมูล

รูปแบบเรื่องที่ร้องมายัง ป.ป.ท.ก็มีเช่น การใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต การใช้จ่ายงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้าง มีทุกรูปแบบ

พ.ท.กรทิพย์ กล่าวว่าสำหรับคดีค้างการพิจารณาของ ป.ป.ท.ที่ยังไม่แล้วเสร็จ ต้องบอกก่อนว่าการดำเนินคดีอาญา สิ่งสำคัญคือพยานหลักฐาน คนทำทุจริตคือเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นคนที่มีความรู้ เขาก็จะมีแนวทางการที่จะปกป้องตัวเอง สร้างบังเกอร์ไม่ให้มาถึงตัวเขาง่ายๆ พยายามตัดตอน ไม่ให้เกี่ยวแล้วยิ่งตอนนี้เนียนขึ้นไปอีก ใช้กลยุทธ์ทางกฎหมายเข้ามาด้วย คือจะดูแค่ใบเสร็จอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูหลายอย่าง แต่ที่ผ่านมาพบว่าคดีของ ป.ป.ท. เมื่อส่งไปอัยการแล้วอัยการส่งฟ้องต่อศาล คดีของเราที่ส่งไปทุกคดีศาลลงโทษหมด ยิ่งปัจจุบันการพิจารณาของศาลยุติธรรมมีกลไกอย่างศาลอาญาคดีทุจริตฯ ก็ทำให้การพิจารณาคดีเร็วขึ้น

...ป.ป.ท.ตั้งเป้ากรอบการทำงานว่าคดีที่ตรวจสอบจะมีแนวทางสองอย่าง คือ เรื่องที่ตรวจสอบเป็นการกระทำผิดทุจริตหรือไม่ และมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ เราจะทำให้ปรากฏผลภายในเก้าสิบวัน พอหลังจากนั้นเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ท. หากที่ประชุมกรรมการ ป.ป.ท.พิจารณาแล้วเห็นว่าเรื่องที่เสนอไปมีมูลหรือไม่ ก็จะมีการตั้งอนุกรรมการไต่สวน โดยกรรมการ ป.ป.ท.ก็มีการวางกรอบไว้ว่าเมื่อมีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนแล้ว ต้องการให้แต่ละเรื่องทำให้แล้วเสร็จภายในไม่เกินหกเดือน

          กรณีที่ ป.ป.ท.เข้าไปตรวจสอบการใช้งบของศูนย์คนไร้ที่พึ่งของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ทางบอร์ด ป.ป.ท.ก็วางกรอบไว้ว่าต้องการให้การตรวจสอบการใช้งบของแต่ละจังหวัดทำให้เสร็จภายใน 6 เดือน บางคดีก็อาจเกินเวลาไป แต่ก็พยายามให้อยู่ในกรอบเวลาดังกล่าว และทำโดยยึดหลักเรื่องความเป็นธรรม การตรวจสอบของ ป.ป.ท.จะเร็วหรือช้าสิ่งที่ขาดไม่ได้คือความเป็นธรรม ให้โอกาสได้ต่อสู้คดีทุกอย่าง เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้.

..............

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"