สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปจากนี้ก็คือ กระบวนการสู้คดีระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับฝ่ายกฎหมายพรรคอนาคตใหม่ ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ คดีเงินกู้ 191 ล้านบาท จนนำไปสู่การยื่นคำร้องให้ยุบพรรคอนาคตใหม่
คำร้องดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการประชุมของ กกต.เมื่อวันพุธที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา ในการพิจารณาสำนวนคดีพรรคอนาคตใหม่กู้เงิน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคตัวเอง โดยสุดท้ายที่ประชุม กกต. มีมติว่าหลังจากได้พิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมืองในสำนวนคดีดังกล่าวแล้ว กกต.เห็นว่าการที่พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจาก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จำนวน 191,200,000 บาท กกต.เห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่ชอบตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง
"เห็นว่าเป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 จึงมีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมาก ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 93 แห่ง พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2560"
เมื่อดูจากรูปสำนวนคดีสรุปความได้ว่า พฤติการณ์ที่นำไปสู่การเอาผิดกรรมการบริหารพรรคและพรรคอนาคตใหม่ในครั้งนี้ ก็คือ กกต.เห็นว่า การที่พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจากธนาธรเพื่อใช้ในการเลือกตั้ง ไม่สามารถกระทำได้ เพราะเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72 ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการฝ่าฝืนตาม 75 ที่บัญญัติว่า "บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลตามมาตรา 74 จะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองหรือสมาชิกเพื่อดําเนินกิจการของพรรคการเมืองหรือเพื่อดําเนินกิจกรรมทางการเมืองมิได้"
เมื่อแนวทางการสอบสวนของ กกต.มาทางนี้ จนเห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าวไม่ชอบ จึงเข้าองค์ประกอบตามมาตรา 92 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่ให้อำนาจ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาล รธน.ให้ยุบพรรคได้
มติการเอาผิดพรรคอนาคตใหม่ดังกล่าวคงไม่ทำให้ ส.ส. และกรรมการบริหารพรรคอยู่ในสภาพ ช็อกการเมือง แต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องที่พวกเขาต่างก็รับทราบข่าวรู้ล่วงหน้ามาโดยตลอด
จนกระทั่งมีข่าวว่าหลายคนเริ่มเตรียมตัวหา พรรคใหม่-บ้านหลังใหม่ กันแล้ว ขณะที่ก่อนหน้านี้ ก็มีกระแสข่าวว่าแกนนำพรรคได้เตรียมการตั้งรับไว้ก่อนแล้ว ด้วยการเชื่อมคอนเนกชันกับคนบางกลุ่มในการเตรียม พรรคสำรอง ไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อโยกย้ายคนของพรรคเข้าไปอยู่ โดยได้ไปแจ้งจดชื่อไว้กับ กกต. เพราะระดับแกนนำพรรคก็ประเมินทิศทางเรื่องนี้ออกมาในโทนเดียวกันว่า ไม่รอด จึงต้องมีแผนสำรองรองรับไว้ โดยเคยมีข่าวก่อนหน้านี้พวกแกนนำพรรค ระดับครีมๆ ที่มีบทบาทในพรรคมาตลอด แต่ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค ก็คุยกันว่าหากพรรคโดนยุบก็คงไปอยู่บ้านหลังใหม่พร้อมกันหมด แต่ในส่วนของพวก ส.ส.ที่ชอบแหกมติพรรคอย่าง พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา และ จารึก ศรีอ่อน 2 ส.ส.จันทบุรี คงไม่เกาะกลุ่มไปด้วยและย้ายไปอยู่กับพรรคขั้วรัฐบาลค่อนข้างแน่
ทั้งนี้ กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ปัจจุบันมีด้วยกัน 15 คน ประกอบด้วย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล, พล.ท.พงศกร รอดชมภู, ชำนาญ จันทร์เรือง, กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ, พรรณิการ์ วานิช, ไกลก้อง ไวทยการ, นิรามาน สุไลมาน, สุรชัย ศรีสารคาม, เจนวิทย์ ไกรสินธุ์, จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ และเยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์
ขณะที่กรรมการบริหารพรรคบางคนไม่ได้เป็น ส.ส.มี รณวิต หล่อเลิศสุนทร, นิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์, สุนทร บุญยอด และชัน ภักดีศรี
จึงเท่ากับรายชื่อกรรมการบริหารพรรค 15 คน มีที่เป็น ส.ส.ตอนนี้ 11 คน โดยเป็นปาร์ตี้ลิสต์ทั้งหมด ไม่นับรวมธนาธรที่พ้นจาก ส.ส.ไปแล้ว แต่มีการเลื่อน มานพ คีรีภูวดล ขึ้นมาแทน
ขณะที่บางคนซึ่งมีบทบาทในพรรคและในสภาสูง หลายคนก็ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค โดยส่วนใหญ่เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เช่น พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่มีบทบาทโดดเด่นในการอภิปรายในห้องประชุมสภาหลายครั้ง และมีกระแสข่าวว่าจะได้เป็น หัวหน้าพรรคสำรองที่จะเกิดขึ้นหลังพรรคอนาคตใหม่ ถูกยุบ, ศิริกัญญา ตันสกุล มืออภิปรายเรื่องนโยบายเศรษฐกิจของอนาคตใหม่ เป็นต้น
หากสุดท้ายอนาคตใหม่ถูกยุบพรรค ถูกตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค คำถามก็คือแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับ ส.ส.พรรคที่ยอดล่าสุดอยู่ที่ 80 คน หลังก่อนหน้านี้มี 81 คน แต่แพ้เลือกตั้งซ่อมที่นครปฐมจึงเหลือ 80 คน
โดยเฉพาะที่ยังมีปัญหาข้อกฎหมายกันอยู่ก็คือ หากอนาคตใหม่โดนยุบพรรค แล้ว ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคที่ได้มาจำนวน 50 ที่นั่งจากระบบการคำนวณ ส.ส.พึงมีในระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม จะทำอย่างไร?
เพราะในจำนวน 50 คนปาร์ตี้ลิสต์ของอนาคตใหม่ หากคนที่เป็นกรรมการบริหารพรรค 12 คนโดนตัดสิทธิ์ห้าปี แล้วผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อนาคตใหม่ลำดับถัดๆ ไปจะได้เลื่อนขึ้นมาแทน 11 คน (ไม่นับรวมธนาธร) ที่โดนตัดสิทธิ์หรือไม่ หากไม่สามารถเลื่อนได้เพราะถือว่าพรรคโดนยุบไปแล้ว
“เท่ากับจะมี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อนาคตใหม่ มีสิทธิ์ย้ายไปอยู่พรรคใหม่ได้เพียง 39 คนเท่านั้น เท่ากับ ส.ส.ของอนาคตใหม่และฝ่ายค้านหายไป 11 คน"
หากเป็นแบบนี้รับรองสนุกแน่ เพราะจะเกิดสิ่งที่ตามมาว่าแล้วจะต้องคำนวณจำนวน ส.ส.พึงมีกันใหม่หมดทุกพรรคเลยหรือไม่อย่างไร เพื่อให้มาแทน 11 เสียงในสภาที่หายไป เพราะถือว่าอนาคตใหม่โดนยุบไปแล้ว หรือจะปล่อยเว้นไว้ เท่ากับสภาจะขาด ส.ส.ในห้องประชุมไป 11 คนทันทีหากอนาคตใหม่ไม่รอดโดนยุบพรรค
อย่างไรก็ตาม ข้อถกเถียงดังกล่าวก็มีข่าวว่าในระดับฝ่ายกฎหมายของ กกต.เคยคุยกันในเรื่องนี้ว่า หากศาล รธน.ให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ภายใน 1 ปี นับจากวันเลือกตั้ง 24 มี.ค.62
“จะทำให้ ส.ส.ระบบเขตและ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของอนาคตใหม่ในจำนวนที่เหลือ สามารถย้ายไปหาพรรคใหม่สังกัดภายใน 60 วันนับจากวันที่ศาล รธน.มีคำสั่ง
โดย กกต.จะไม่มีการคิดคำนวณใหม่ทั้งกระดานเพื่อหาจำนวน ส.ส.พึงมีกันใหม่ เพราะถือว่าเป็นการยุบพรรคจึงไม่เข้าองค์ประกอบ เพราะการคำนวณ ส.ส.พึงมีรอบใหม่ต้องเกิดจากการเลือกตั้งซ่อมจากการทุจริต”
แต่ถ้าศาล รธน.วินิจฉัยคดีเสร็จสิ้นหลัง 24 มี.ค.63 ก็ต้องดูว่าแล้วกระบวนการ ข้อกฎหมายจะเป็นอย่างไร เพราะดูแล้วผลพวงหากอนาคตใหม่โดนยุบพรรคสะเทือนแรงแน่
และฝ่ายที่จะได้ประโยชน์มากสุดคงไม่พ้นพรรคขั้วรัฐบาล เพราะอาจกินสองเด้ง คือเสียงส.ส.ฝ่ายค้านหายไป กับรัฐบาลได้เสียงเพิ่มจาก ส.ส.อนาคตใหม่ที่ย้ายมาอยู่พรรครัฐบาล.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |