“เทศกาลกินตาลโตนด” “ชุมแสง-นครสวรรค์” ท่องเที่ยวชุมชน สัมผัสวิถีคนกับตาล


เพิ่มเพื่อน    

 จากนโยบายรัฐบาล ที่ประกาศให้ปี 2561 เป็นปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงมีนโยบายที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรองและการท่องเที่ยวในชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เช่นเดียวกับในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์  ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะเป็นที่รู้จักจากงานเทศกาลตรุษจีนที่มีการแห่มังกรที่ยิ่งใหญ่เท่านั้น

    ล่าสุด พื้นที่ชุมชนเกยไชย และชุมชนท่าไม้ อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับการส่งเสริมให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวชุมชนแห่งใหม่ เนื่องจากมีความโดดเด่นด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิตท้องถิ่น โดยเฉพาะผลผลิตจากตาลโตนด ที่ควรค่าแก่การเดินทางไปเปิดประสบการณ์เรียนรู้ผ่านการท่องเที่ยว
    นายวิสูตร บัวชุม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครสวรรค์ รับผิดชอบพื้นที่นครสวรรค์และพิจิตร กล่าวว่า ททท.ได้ร่วมกับอำเภอชุมแสง และหมู่บ้านในตำบลเกยไชย หมู่บ้านในตำบลท่าไม้ เปิดฤดูกาล “ท่องเที่ยวชุมชนวิถีการกินตาลโตนดและการท่องเที่ยวชุมชน” ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมเป็นต้นไปจนถึงเดือนกรกฎาคม เพื่อประชาสัมพันธ์เทศกาลกินตาลโตนด สินค้าด้านการท่องเที่ยว วิถีชีวิตชุมชน และแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนเกยไชย-บ้านท่าไม้ ในอำเภอชุมแสง ให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น 
      ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานนครสวรรค์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พื้นที่ 2 ตำบลนี้เป็นชุมชนเก่าแก่ มีอายุกว่า 100 ปี ที่ผ่านมาชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่ทำนา กับเก็บตาลโตนดที่เกิดเองตามธรรมชาติกลางท้องนามาขาย ทำให้เกิดอาชีพต่างๆ เป็นวงจร เช่น อาชีพคนปีนเก็บผลตาลสดมาใส่เรือส่งขายกรุงเทพฯ เกิดการพัฒนาและแปรรูปน้ำตาลสด น้ำตาลก้อน ลูกตาล จาวตาลเชื่อม เป็นสินค้าที่วางขายริมทางบ้านเกยไชยเหนือ เรียงรายกันหลายครัวเรือน และยังได้รับการส่งเสริมให้เป็นแหล่งผลิตภัณฑ์สินค้าโอท็อปสำคัญของท้องถิ่น 
    “จึงเหมาะอย่างยิ่งที่ ททท.จะส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวประเภทวิถีชุมชน เพื่อเป็นทางเลือกให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสอาชีพคนปีนตาล ที่ปัจจุบันมีอยู่ร่วม 100 คน พร้อมชมการสาธิตเฉาะลอนตาลสด การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าในแต่ละวัน ที่บริเวณชุมชน ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถมีส่วนร่วมและจับจ่ายสินค้าเพื่อกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น” ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานนครสวรรค์ กล่าว
    สำหรับตาลโตนด (Palmyra Palm) มีประโยชน์มากมาย ทั้งต้นตาล ใบตาล ผลอ่อนหรือลูกตาลอ่อน ผลอ่อนตาลที่เก็บหลังจากออกจั่น 2-3 เดือน นำมาเฉาะเอาเนื้อด้านใน ที่เรียกว่า “จาวตาล” ตาล 1 ลูก จะมีลอนตาลประมาณ 3 ลอน นำมารับประทานเป็นผลไม้ มีรสนุ่มหอมหวาน ลูกตาลที่แก่จัดจะมีจาวตาลเหนียว แข็ง ใช้ทำจาวตาลเชื่อม และนำมาคั้นน้ำและเอาเส้นใยออก จะได้น้ำสีเหลือง มีกลิ่นหอม ใช้ต้มดื่มหรือทำอาหารคาวหวาน เช่น แกงหัวตาล ขนมตาล ช่อดอก และน้ำตาล ช่อตาลหรืองวงตาล รวมทั้งยังนำมาทำ “น้ำตาลสด หรือน้ำตาลโตนด” ใช้รับประทานสดๆ และหากนำมาเคี่ยว ก็ทำน้ำตาลปึก น้ำตาลปี๊บ ทำน้ำผึ้งตังเม และยังนำมาหมักทำเป็นน้ำส้มสายชู กะแช่ หรือกลั่นเหล้าน้ำตาล ฯลฯ 
ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานนครสวรรค์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ในช่วงวันที่ 30-31 มีนาคม ทางวัดเกยไชยเหนือจะจัดเทศกาลงานประจำปี ปิดทองไหว้พระ-ห่มผ้าพระบรมธาตุ และจัดงานเทศกาลกินตาลวัดเกยไชยเหนือ มีการแข่งขันเฉาะลูกตาล ชิมอาหารถิ่นที่ทำจากตาลโตนด เช่น ก๋วยเตี๋ยวยอดตาล น้ำพริกเผาหัวตาลลูกเต๋า กุ้งผัดยอดตาล ต้มปลาร้าหัวตาล ขนมตาล ลอนตาลลอยแก้ว และไอศกรีมน้ำตาล เป็นต้น พร้อมสักการะ “พระบรมธาตุเจดีย์ทรงลังกา” วัดเกยไชยเหนือ  ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ตรงจุดที่แม่น้ำยมกับแม่น้ำน่านไหลมาบรรจบกัน มีล้อมรอบด้วยภูมิทัศน์ดงตาลกลางทุ่งนาที่สวยงาม   
       นอกจากนี้ ในอำเภอชุมแสงยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ที่ห้ามพลาด คือ การไปสักการะ “พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสิน” ตั้งอยู่บริเวณเขื่อนกั้นแม่น้ำน่าน ฝั่งตลาดชุมแสง เป็นถนนริมเขื่อนสำหรับชมทัศนียภาพบ้านเรือนและบรรยากาศริมแม่น้ำน่าน สร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติและเผยแพร่พระเกียรติคุณในการกอบกู้เอกราชของชาติไทย และเทิดทูนในพระราชประวัติวีรกรรมที่กล้าหาญในการรวบรวมบ้านเมือง พ.ศ.2311 จนบาดเจ็บที่พระชงฆ์ (แข้ง) ด้วยกระสุนปืนบริเวณริมฝั่งแม่น้ำน่านในเขตอำเภอชุมแสง
ถัดมาคือ “ชุมชนชาวไทยทรงดำบ้านไผ่สิงห์” ในอดีตพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ดอน มีป่าไผ่และสัตว์ป่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ยังมีนายพรานชื่อสิงห์ที่มีความชำนาญในการดำรงชีพในป่าได้มาพักอาศัยอยู่บริเวณป่าแห่งนี้เป็นคนแรก ต่อมาชาวไทยทรงดำชื่อตาพัก-ยายช้อย ที่อพยพจากบ้านโคกคม จังหวัดเพชรบุรี ก็ได้มาสร้างบ้านอยู่ร่วมกับพรานสิงห์พร้อมกับชาวไทยทรงดำรุ่นต่อๆ มา  
 ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันเรียกชื่อหมู่บ้านตามลักษณะพื้นที่บริเวณนั้นและผู้อาศัยคนแรกว่า บ้านไผ่ตาสิงห์ ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น บ้านไผ่สิงห์ จนถึงปัจจุบัน  เนื่องจากชุมชนนี้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ จึงมีเอกลักษณ์ มีความน่าสนใจไปศึกษาเรียนรู้ ทั้งภาษา การแต่งกาย อาหารการกิน รูปแบบที่อยู่อาศัย ขนบธรรมเนียมประเพณี และพิธีกรรมต่างๆ 
     ยังมี "สะพานหิรัญนฤมิตร" หรือสะพานแขวนแห่งอำเภอชุมแสง ถือเป็นไฮไลต์คู่ชุมชนที่น่าสนใจ สะพานแห่งนี้สร้างขึ้นในปี 2552 เพื่อให้ผู้คนจากสองฟากฝั่งแม่น้ำน่านสัญจรข้ามไป-มา โดยห้ามรถยนต์ 4 ล้อวิ่งผ่าน อนุญาตเฉพาะจักรยาน มอเตอร์ไซค์ และเดินเท้าเท่านั้นและบริเวณใกล้กับสะพานยังเป็นที่ตั้งของ "ตลาดชุมแสง" ตลาดโบราณที่เคยรุ่งเรืองเมื่อราวกว่า 100 ปีที่แล้ว ที่สามารถเดินไปชมบ้านเก่ากว่า 100 ปี และวิถีชีวิตคนริมแม่น้ำน่านได้ 
 ขณะที่อาหารการกินในอำเภอชุมแสงก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เนื่องจากมีภูมิประเทศติดกับแม่น้ำ อาหารขึ้นชื่อจึงต้องยกให้เมนูปลาแม่น้ำ โดยร้านที่แนะนำคือ “ร้านเจ๊แกลบ” ข้างสำนักงานเทศบาลเมืองชุมแสง ถือเป็นร้านระดับตำนาน ที่สืบทอดความอร่อยมาจนถึงรุ่นลูก เน้นขายเฉพาะเมนูปลาแม่น้ำที่ซื้อมาแบบสดๆ ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นปลาค้าว ปลาเบี้ยว ปลากราย ปลาช่อน ปลาเนื้ออ่อน โดยมีเมนูเด็ดๆ แซบๆ ให้เลือกชิม อาทิ ต้มยำปลาช่อนไข่ แกงปลาค้าว แกงปลาเบี้ยว ปลาเนื้ออ่อนทอด ทอดมันปลากราย เป็นต้น 
ต่อด้วยอาหารง่ายๆ แต่รสชาติเลิศ คือ “ราดหน้าแป๊ะโก๊ะ” ขายอยู่ที่บ้านไม้เก่าแก่กว่า 30 ปี แต่ฝีมือถือว่าจัดจ้าน แสนอร่อย ทำให้มีลูกค้าเข้าไปอุดหนุนตลอดทั้งวัน เพราะราดหน้าของร้านนี้แปลกและแตกต่างจากร้านอื่น ตรงที่เส้นจะผัดแบบห่อไข่แล้วใส่จานต่างหาก ส่วนน้ำราดจะแยกใส่อีกจานหนึ่งแถมด้วยเกี๊ยวกรอบไว้เพิ่มเติมความอร่อย
ยังมี “ลูกชิ้นเนื้อบ้านตุ๋ย” สถานีรถไฟชุมแสง ร้านเก่าแก่ทำลูกชิ้นกว่า 40 ปี ทางร้านใช้เนื้อส่วนสะโพกวัวมาทำลูกชิ้น ซึ่งทำกันแบบสดใหม่ทุกวัน ร้านนี้ให้เลือกกิน 2 แบบ คือ ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นเนื้อ กับลูกชิ้นเนื้อสด หรือจะสั่งซื้อเฉพาะลูกชิ้นก็ได้ไม่ว่ากัน 
ปิดท้ายด้วย “ไอศกรีมเจ๊มาลัย” ของหวานชื่นใจอำเภอชุมแสง เจ้าของตำนานความอร่อยกว่า 30 ปี สืบเคล็ดลับมาจากรุ่นคุณพ่อ ใช้กะทิสดอย่างดี นำมาปั่นเป็นไอศกรีม รสชาติหอมและหวานมัน โดยมีหน้าให้เลือกอย่าง ลูกชิด มันเชื่อม ข้าวเหนียว ตั้งขายอยู่บริเวณสถานีรถไฟชุมแสง
“เชื่อว่าการมาเยือนชุมชนเล็กๆ สัมผัสวิถีชีวิตของคนปีนต้นตาลและเรื่องราวของหมู่บ้านตาลโตนด และแหล่งท่องเที่ยวในอำเภอชุมแสง ที่เพียบพร้อมไปด้วยประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าเก่าๆ ที่มีมนต์เสน่ห์ชวนหลงใหล จะทำให้ทุกคนได้รับความประทับใจแบบใหม่กลับไป” ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานนครสวรรค์ กล่าว
ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานนครสวรรค์ รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดพิจิตร โทร. 0-5622-1811-2 โทรสาร 0-56 22-1810 E-mail : [email protected]., www.tourismnakhonsawan.org หรือ 1672 เบอร์เดียวเที่ยวทั่วไทย
สรณะ รายงาน

/-/-/-
 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"