อองซาน ซูจีเคยเป็นสัญลักษณ์ของนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน
เธอถูกทหารเมียนมากักบริเวณรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ปี
ชื่อเสียงและการยอมรับของสังคมโลกมาจากการที่เธอลุกขึ้นสู้กับเผด็จการทหารและการละเมิดอำนาจทางการเมือง
วันนี้เธอกลายเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของชนกลุ่มน้อยโรฮีนจาในพม่า
วันนี้เธอกลับต้องมาปกป้องบทบาทและชื่อเสียงของผู้นำทหารที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้จับเธอกักขัง
ครั้งหนึ่งเธอเคยยืนอยู่คนละข้างกับทหาร แต่วันนี้เธอกลายเป็น "ผู้ปกป้อง" ทหารอย่างน่าอัศจรรย์
เห็นภาพที่เธอนำคณะรัฐบาลเมียนมาไปต่อสู้คดีถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการ "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ชาวโรฮีนจาที่กรุงเฮกวันก่อนแล้ว ก็ทำให้คิดถึงความเปลี่ยนแปลงอันเป็นสัจธรรมชั่วนิรันดร์ของการเมือง
คนที่เคยเป็นวีรสตรีของชาวโลก วันนี้กลายเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าร่วมเข่นฆ่าชนกลุ่มน้อยในประเทศของเธอเองได้อย่างไร?
ข้อหาเรื่องนี้มาจากประเทศแกมเบียในแอฟริกา ทำหน้าที่เป็นตัวแทนขององค์การความร่วมมืออิสลามหรือ OIC ที่มีสมาชิก 57 ชาติ ฟ้องรัฐบาลเมียนมาในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ International Court of Justice (ICJ) ว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
คำฟ้องขอให้สหประชาชาติจัดการหามาตรการป้องกันชาวโรฮีนจาจากรัฐยะไข่ของเมียนมา ที่อพยพหนีตายไปอยู่ฝั่งบังกลาเทศเกือบ 1 ล้านคนในช่วงหนึ่งปีก่อนหน้านี้
ทั้งๆ ที่มีข้อตกลงอย่างเป็นทางการระหว่างสองรัฐบาล แต่ถึงวันนี้ชาวโรฮีนจาก็ยังไม่ยอมทยอยกลับมายะไข่เพราะกลัวว่าจะถูกกลั่นแกล้งและรังแก
รัฐบาลเมียนมาไม่เคยยอมรับการดำรงอยู่ของ "โรฮีนจา" ซึ่งแม้แต่อองซาน ซูจีก็ยังเรียกว่าเป็น "ชาวเบงกาลีหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย"
อองซาน ซูจีถูกนักข่าวต่างชาติสัมภาษณ์ถามถึงเรื่องนี้มาตลอด เธอยืนยันว่าไม่มีกรณี "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" หรือ genocide อย่างที่ถูกกล่าวหาแต่ประการใด
เธออ้างว่ามีกลุ่มก่อการร้ายที่แฝงตัวอยู่กับชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ ที่ได้ก่อเหตุรุนแรงและจงใจเผาบ้านช่องของคนกลุ่มนี้เพื่อโยนความผิดให้ทหารเมียนมา
อองซาน ซูจีต้องยอม "กลืนเลือด" ที่ถูกกล่าวหาโดยประชาคมโลก ว่าเธอได้เปลี่ยนท่าทีจากผู้ต่อต้านเผด็จการมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบทหารแล้ว
องค์การระหว่างประเทศหลายแห่งที่เคยมอบรางวัลให้เธอ ในฐานะนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเสมอภาคได้ประกาศยกเลิกเกียรติยศเหล่านั้น
บางแห่งขอเหรียญตราและรางวัลคืนด้วยซ้ำไป
การต้องขึ้นศาลเพื่อปกปักรักษารัฐบาลของเธอนั้น ถูกมองว่าอย่างไรเสียอองซาน ซูจีจะต้องแสดงความเป็น "ผู้รักชาติ" ให้คนเมียนมาได้เห็นว่าเธอยอมเสียสละด้วยการถูกวิพากษ์วิจารณ์เสียๆ หายๆ จากข้างนอกเพราะต้องการจะรักษาความเป็นเมียนมาเอาไว้
คนเมียนมาจำนวนไม่น้อยไม่ยอมรับชาวโรฮีนจาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่นับถือมุสลิม และมองว่าคนกลุ่มนี้เป็นภัยต่อความมั่นคงของตน ขณะที่หลายประเทศในโลกโดยเฉพาะที่เป็นประเทศมุสลิมกลับมองว่าชาวโรฮีนจาของยะไข่ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม และเป็นเหยื่อของการเข่นฆ่าอย่างไร้ความปรานีโดยสิ้นเชิง
แม้แต่นายกรัฐมนตรีมหาธีร์แห่งมาเลเซียก็ยังออกมาประณามอองซาน ซูจีอย่างไม่เกรงใจในประเด็นนี้ แม้จะเป็นเพื่อนสมาชิกอาเซียนด้วยกันก็ตาม
ศาลโลกไม่มีอำนาจลงโทษหรือจัดการกับอองซาน ซูจี หรือผู้นำทหารเมียนมาแม้จะพบว่ามีการกระทำผิด เพราะไม่มีอำนาจทางกฎหมายแต่อย่างใด
แต่ก็อาจมีผลต่อเนื่องที่อาจนำไปสู่การคว่ำบาตรขององค์การระหว่างประเทศอื่น หากศาลโลกมีมติไปในทางที่ไม่เป็นคุณต่อเมียนมาในกรณีนี้
สำหรับอองซาน ซูจีแล้ว เรื่องนี้มีความสำคัญต่อการเมืองภายในประเทศเป็นอย่างยิ่ง เพราะคนเมียนมาจำนวนไม่น้อยมองชาวโรฮีนจาอย่างมีอคติ และไม่ต้องการให้รัฐบาลให้ความช่วยเหลือแต่อย่างใด
ยิ่งการเลือกตั้งใหญ่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีหน้าด้วยแล้ว ประเด็นนี้ก็ยิ่งกลายเป็นเรื่องร้อน เพราะหากอองซาน ซูจีต้องการจะให้พรรค NLD ของตนยังครองใจประชาชนคนเมียนมาต่อไป ก็จำเป็นจะต้องยึดเอานโยบาย "ไม่เอาโรฮีนจา" ต่อไปอีก
สรุปว่าเธอเลือกแล้วที่จะเดินตามนโยบายที่ตรงกับความรู้สึกของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในเมียนมา มากกว่าจะแก้ปัญหาชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้แม้จะเป็นเรื่องเกรียวกราวในเวทีระหว่างประเทศเพียงใดก็ตาม!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |