11 ธ.ค. 62 – นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ “10 ข้อคิดเนื่องในวันรัฐธรรมนูญ” ว่า “1.ความคิดเรื่อง "รัฐธรรมนูญ" กำเนิดขึ้นในโลกตะวันตก เริ่มต้นจากการต่อสู้กับผู้ปกครอง เพื่อยืนยันความแน่นอนชัดเจนในการจำกัดอำนาจของผู้ปกครองและประกันสิทธิแก่บุคคล ดังปรากฏให้เห็นได้จากรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับแรกๆ ของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา ในปี 1787 หรือ ฝรั่งเศสในปี 1789 ต่างก็กำเนิดจากการต่อสู้กับผู้ปกครอง เพื่อจำกัดอำนาจผู้ปกครองทั้งสิ้น แต่เมื่อความคิดเรื่อง "รัฐธรรมนูญ" เดินทางมายังโลกตะวันออก เริ่มต้นจากการถูกนำเข้าโดยผู้ปกครอง เพื่อใช้เป็นเครื่องแสดงออกถึงความอารยะและยืนยันอำนาจสูงสุดเด็ดขาดของผู้ปกครอง มิได้เป็นผลผลิตจากการต่อสู้เพื่อจำกัดอำนาจของผู้ปกครอง เหมือนในโลกตะวันตก ดังเช่น รัฐธรรมนูญเมจิของญี่ปุ่น เป็นต้น
2.รัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย คือ ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม 27 มิถุนายน 2475 ที่คณะราษฎรยกร่างขึ้นให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยยอมรับเป็นประมุขของรัฐอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญนี้ถูกทำให้กลายเป็นของ "ชั่วคราว" เพราะพระปกเกล้าฯ มีพระบรมราชวินิจฉัยว่าทำกันด้วยความเร่งรีบ จึงทรงเติมคำว่า "ชั่วคราว" ลงไป
3.รัฐธรรมนูญสองฉบับแรกของประเทศไทย ต่างก็มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม 27 มิถุนายน 2475 คือ "ปฐมรัฐธรรมนูญ" ของระบอบใหม่ที่ยืนยันว่า "อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย" รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 10 ธันวาคม 2475 คือ ผลผลิตของการประนีประนอมกันระหว่างคณะราษฎรกับพระมหากษัตริย์ จนออกมาในรูปของระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ
4.ปัจจุบันประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญจากฉบับหนึ่งไปอีกฉบับหนึ่ง กระทำโดยสองวิธีการ หนึ่ง เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญแบบอารยชน ใช้วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่แทนที่ มีเพียงสองครั้งเท่านั้น คือ รัฐธรรมนูญ 2475 ไปรัฐธรรมนูญ 2489 และรัฐธรรมนูญ 2534 ไปรัฐธรรมนูญ 2540 สอง เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญแบบอนารยชน ใช้กำลังบังคับ ก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง ฉีกรัฐธรรมนูญ ซึ่งการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญที่เหลือล้วนแล้วแต่ใช้วิธีนี้ทั้งสิ้น
5.เมื่อพูดถึง "รัฐธรรมนูญ" ก็ต้องพูดถึง "อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ" อำนาจชนิดนี้ คือ อำนาจในการตัดสินใจเพื่อกำหนดรูปแบบการปกครอง ผ่านการกำหนดลงไปในเอกสารที่ชื่อว่า "รัฐธรรมนูญ" ในประชาธิปไตย มีแต่เพียง "ประชาชน" เท่านั้นที่เป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ประชาชนคนธรรมดา คือ ผู้ที่ตัดสินใจร่วมกันว่าจะอยู่อาศัยในรูปแบบการปกครองอย่างไร "ประชาชน" คือ ผู้ทรงอำนาจสูงสุดในการก่อตั้งสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้น โดยกำหนดให้มีสถาบันการเมืองต่างๆ มีที่มาของอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และมีได้เท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด
6.คำว่า constituion สัมพันธ์กับกริยา “constituer” ในภาษาฝรั่งเศส หรือ “to constitute” ในภาษาอังกฤษ มาจากคำในภาษาละติน constitūere ซึ่งเป็นคำที่ผสมกันระหว่างคำอุปสรรค (prefix) con- และคำกริยา stitūere คำอุปสรรค (prefix) con- นี้มีหลายความหมาย ที่ใช้กันบ่อยและสำคัญที่สุด คือ การใช้ในความหมายว่า “ด้วยกันกับ” (with) หรือ “ไปด้วยกัน” (together) ส่วนคำกริยา stitūere มีรากศัพท์มาจาก stătūo ซึ่งหมายความว่า “ทำให้ยืนขึ้น” “ตั้ง” “ก่อสร้าง” “สถาปนา” “สร้างสรรค์”
ดังนั้น คำว่า “constitūere” จึงหมายถึง การก่อตั้งด้วยกัน ร่วมกันสร้าง หรือสถาปนา ดังนั้น หากใครต้องการ “ก่อตั้ง” (institute) รัฐธรรมนูญ เขาก็ต้อง “ก่อตั้งร่วม” (co-institute ---> constitute) กับผู้อื่น รัฐธรรมนูญจึงเป็นผลผลิตจากการก่อตั้งร่วมกันของคนทั้งหลาย constitution จึงแสดงให้เห็นนัยของการก่อตั้งสถาปนาร่วมกันของคนในสังคมทั้งหมด ดังนั้น “ประชาชน” ผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ จะแสดงออกซึ่งเจตจำนงของตนในการสถาปนารัฐธรรมนูญได้ ก็ต้องอาศัยกระบวนการสถาปนารัฐธรรมนูญที่รวมคนทั้งหลายเข้ามาทั้งหมด อีกนัยหนึ่ง อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนสัมพันธ์กับความชอบธรรมทางประชาธิปไตยนั่นเอง
7.ในประเทศไทย ปัญหาสำคัญของยุคสมัย ไม่ใช่เรื่องของ "การปฏิรูปการเมือง" ไม่ใช่เรื่องของการ "ปรองดอง" ไม่ใช่เรื่องของการปราบคอร์รัปชันเท่านั้น แต่มันคือปัญหาที่ว่า อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญในแผ่นดินนี้เป็นของใคร?
8.หลักรัฐธรรมนูญนิยม ไม่ได้เรียกร้องแต่เพียงว่าแต่ละประเทศต้องมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดเท่านั้น แต่เรียกร้องไปถึงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญด้วยว่า รัฐธรรมนูญต้องยืนยันถึงอำนาจของประชาชนเป็นใหญ่ ก่อตั้งสถาบันการเมืองที่มีการแบ่งแยกอำนาจอย่างมีดุลยภาพ และประกันสิทธิขั้นพื้นฐาน ดังนั้น หากพิจารณาความหมายในทางเนื้อหาของรัฐธรรมนูญแล้ว ตราบใดที่รัฐธรรมนูญ 2560 ยังมี ส.ว.จากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช. และมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ตราบใดที่ยังมีมาตรา 279 ที่รับรองให้ประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. การใช้อำนาจตามมาตรา 44 และการกระทำที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมดอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ เราคงกล่าวไม่ได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า รัฐธรรมนูญ 2560 เป็น "รัฐธรรมนูญ"
9.รัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ทั้งในแง่ที่มา กระบวนการ และเนื้อหา รัฐธรรมนูญ 2560 คือ ผลพวงของรัฐประหาร 2557 รัฐธรรมนูญ 2560 คือ กลไกทำให้ระบอบรัฐประหารฝังตัวเข้าไปในรัฐธรรมนูญ (Constitutionlization of Coup d'état) เป็นเครื่องมือของการสืบอดอำนาจของ คสช. รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ใช่การปฏิรูปการเมือง แต่คือการทำให้การเมืองไทยถอยหลังลงคลอง ย้อนกลับไปเหมือนปี 2521 รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้สร้างการปรองดองสมานฉันท์ แต่มุ่งหมายกำจัดศัตรูทางการเมือง และมันคือ "ระเบิดเวลา" ที่รอวันปะทุ
รัฐธรรมนูญ 2560 คือ การบังคับขืนใจคน เริ่มจากใช้กำลังทางทหารก่อรัฐประหาร 2557 ฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วก็ตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ปกครองประเทศ "ชงกันเอง กินกันเอง" จนออกมาเป็นรัฐธรรมนูญ 2560 เสร็จแล้ว เมื่อมีคนต้องการแก้ไข ก็กำหนดวิธีการแก้ไขไว้ยากมากจนแทบเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ ต่อให้เปลี่ยนคนจากรุ่นสู่รุ่น ต่อให้คนร่างรัฐธรรมนูญและผู้ก่อการรัฐประหารจะล้มหายตายจากไป คนรุ่นต่อไปก็หาทางวิธีแก้ไขได้ยากยิ่ง เสมือนกับ การบังคับคนทั้งประเทศ คนรุ่นถัดๆไปให้ทนอยู่กับรัฐธรรมนูญที่เกิดจาก "มือที่ตายไปแล้ว" (death hand) มันจึงเป็นรัฐธรรมนูญที่โกงเวลา โกงโอกาส โกงอนาคต
10.รัฐธรรมนูญที่ดี คือ รัฐธรรมนูญที่ก่อตั้งสถาปนาโดยประชาชน ออกแบบระบบการเมืองที่สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจประชาชนเป็นใหญ่ แบ่งแยกอำนาจอย่างมีดุลยภาพ ประกันเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อให้คนได้ตัดสินใจในเรื่องสาธารณะร่วมกัน และเปิดโอกาสให้เปลี่ยนแปลงการตัดสินใจใหม่ให้ก้าวหน้าขึ้นได้เสมอ รัฐธรรมนูญที่ดี คือ รัฐธรรมนูญที่สามารถจัดการปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้ตามระบบปกติ ประกันศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค สนับสนุนให้ประชาชนได้ใช้สิทธิและเสรีภาพ และอยู่อาศัยร่วมกันฉันมิตร มีแต่รัฐธรรมนูญแบบนี้เท่านั้น ที่จะพาประเทศไทยเดินหน้าได้ แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีคุณสมบัติเหล่านี้ ดังนั้น เราต้องออกจากรัฐธรรมนูญ 2560 แสวงหาฉันทามติใหม่ของสังคมไทย ทวงคืนอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ก่อตั้งรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นของประชาชน”.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |