รู้ๆ กันว่าปีหน้าไทยจะต้องเจอกับปัญหาเศรษฐกิจที่หนักไม่น้อย เหตุอันเกิดจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และเพราะปัจจัยภายในมากมายหลายเรื่อง
คำถามก็คือว่า รัฐบาล เอกชน และประชาชน จะตั้งรับอย่างไรจึงจะสามารถเอาตัวรอดโดยไม่บาดเจ็บจนล้มหมอนนอนเสื่อ?
หากมองไปรอบด้าน หรือติดตามข่าวสารในสื่อทั้งกระแสหลักและในโซเชียลมีเดีย ก็จะมองไม่เห็นว่าเรามีการตระเตรียมอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน พอจะทำให้มีความหวังว่าแม้พายุจะหนักหน่วงรุนแรง เราก็มีมาตรการพอที่จะผ่อนหนักเป็นเบาและรอดพ้นจากความหายนะได้
เพราะความสนใจของคนหลายๆ ฝ่ายอยู่กับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เอาตัวรอดไปวันๆ มากกว่าการแสวงหายุทธศาสตร์ที่เป็นรูปธรรม เพื่อฟันฝ่าสึนามิแห่งความเปลี่ยนแปลงและคลื่นลมเศรษฐกิจที่รุนแรงที่เห็นเค้าลางอยู่ข้างหน้า
มีเพียงข่าวว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อุตตม สาวนายน บอกว่า "มีแนวคิด" ที่จะตั้งคณะกรรมการ 2 ชุดเพื่อมาดูแลภาวะเศรษฐกิจให้รอบด้านมากขึ้น
ท่านบอกว่าจะมีคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับมหภาคหนึ่งชุด และคณะกรรมการกำหนดแนวทางตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศอีกหนึ่งชุด โดยที่คณะกรรมการทั้งสองชุดนี้จะทำงานสอดประสานกันเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้
คุณอุตตมยอมรับว่าปีหน้ายังคาดเดาไม่ได้ว่าเศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร และเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นมากน้อยเพียงใด
"แต่สิ่งที่ต้องทำคือการเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นต้องมาคุยกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขหากเกิดอะไรขึ้น เราจะไม่อยู่นิ่ง" รัฐมนตรีการคลังบอกนักข่าว
รองนายกฯ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ บอกว่าเศรษฐกิจของไทยไม่ได้แย่ "แค่ชะลอตัวเท่านั้น" ท่านขอให้ภาคเอกชนร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในภาวะชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก ปีนี้ไอเอ็มเอฟได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกมาแล้วถึง 4 ครั้ง อยู่ที่ร้อยละ 3
รองนายกฯ บอกว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.4 ซึ่งถือว่าดี ไม่ได้ถึงขั้นติดลบ เพราะการส่งออกได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ทำให้โรงงาน แรงงานได้รับผลกระทบจากสายการผลิตหยุด คนตกงานและว่างงาน 300,000-400,000 คน ดังนั้นภาคธุรกิจต้องมีการปรับตัวเอง
คุณสมคิดบอกด้วยว่าสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เศรษฐกิจของไทยเดินต่อได้ก็คือ การช่วยกันสร้างความเชื่อมั่นให้ต่างประเทศ แต่ทั้งนี้ที่ผ่านมาสถานการณ์การเมืองไทยมีความขัดแย้งสูง จะเห็นได้จากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ล่มมาแล้ว 2 ครั้ง
จึงอยากให้นักการเมืองแยกแยะ อยากให้ทุกฝ่ายมีความสามัคคี ก้าวข้ามความขัดแย้งทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน
คุณสมคิดบอกว่า "รัฐบาลเปลี่ยนได้ แต่นโยบายต้องไม่เปลี่ยน" เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้า
หากรัฐบาลยอมรับว่าเรากำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงจริง ไม่พยายามปลอบใจตัวเองว่า "ยังไม่ติดลบ" เราก็จะเห็นความกระตือรือร้นที่จะแก้ปัญหาแบบ "ภาวะฉุกเฉินทางเศรษฐกิจ" แทนที่จะบริหารจัดการด้วยแนวคิด "เคยทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น" อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า Business as usual เพราะสถานการณ์วันนี้ไม่ใช่ "สถานการณ์ปกติ" และยังมีปัจจัยที่คาดไม่ถึงในทางลบได้อีกมากมาย
รัฐบาลต้องตระหนักว่านี่เป็น "สถานการณ์สู้รบทางเศรษฐกิจ" และจะต้องตั้งรับกับปัญหาอีกแบบหนึ่ง
การบริหารนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่มีเอกภาพ ขาดการบูรณาการอย่างที่เห็นอยู่ขณะนี้ ไม่อาจจะป้องกันปัญหาที่กำลังถาโถมเข้ามาอย่างแน่นอน
การที่นโยบายเศรษฐกิจกระจายอยู่กับสามพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล แต่ต่างพรรคต่างมี "วาระทางการเมือง" ของตนโดยยึดเอา "ฐานเสียง" ของตนเองเป็นหลักนั้นไม่อาจนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงเป้าอย่างแน่นอน
รัฐบาลจะต้องตั้ง "วอร์รูม" ที่ระดมสรรพกำลังจากทุกฝ่ายโดยเฉพาะภาคเอกชนที่อยู่ตรงกลางสนามรบเศรษฐกิจในเวทีระหว่างประเทศ และกล้าที่จะปรับนโยบายให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างเฉียบพลัน และสลับซับซ้อนกว่าอดีตที่ผ่านมาอย่างทันท่วงที
ทุกฝ่ายต้องพับเก็บการเมืองไว้ก่อน ระดมคนเก่งและมีประสบการณ์จากทุกฝ่าย เพราะหากเราไม่สามารถฟันฝ่าพายุเศรษฐกิจร้ายครั้งนี้ได้ รัฐบาลและพรรคการเมืองก็อย่าได้หวังว่าจะอยู่รอดเลย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |