เมื่อวันอังคาร ศาลโลกในกรุงเฮกเริ่มการไต่สวนคดีที่แกมเบียในฐานะตัวแทนองค์การความร่วมมืออิสลาม ยื่นฟ้องเมียนมาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮีนจา รัฐมนตรียุติธรรมแกมเบียเบิกโรงเรียกร้องเมียนมาหยุดฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประชาชนของตนเอง ขณะนางอองซาน ซูจี เตรียมต่อสู้ข้อกล่าวหาวันพุธ
นางอองซาน ซูจี ยืนเบื้องหน้าคณะตุลาการศาลยุติธรรมระหว่างประเทศแห่งองค์การสหประชาชาติ ที่กรุงเฮกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2562 / AFP
นางอองซาน ซูจี มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศของเมียนมา เรียกเสียงวิจารณ์อย่างมากจากกลุ่มสิทธิ เมื่อนางประกาศในเดือนที่แล้วว่าจะเป็นตัวแทนของเมียนมาต่อสู้ข้อกล่าวหานี้ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) หรือที่เรียกกันว่าศาลโลก การไต่สวนกำหนดใช้เวลา 3 วัน ตั้งแต่วันอังคารที่ 10 ธันวาคม โดยนางซูจีจะแถลงต่อศาลในวันพุธ
รายงานเอเอฟพีกล่าวว่า เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพมาถึงศาลในกรุงเฮกของเนเธอร์แลนด์โดยมีรถตำรวจอารักขา นางไม่ได้กล่าวถ้อยคำใดๆ ก่อนเข้าห้องพิจารณาคดีและระหว่างการไต่สวน โดยอาบูบาการ์ ทัมบาดู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ทำหน้าที่ตัวแทนของแกมเบีย ยื่นฟ้องต่อไอซีเจเมื่อเดือนพฤศจิกายน ในฐานะตัวแทนขององค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) ที่มีสมาชิก 57 ชาติ กล่าวหาเมียนมาว่าละเมิดอนุสัญญาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ปี 2491
รัฐมนตรีของประเทศแอฟริกาตะวันตกแห่งนี้ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม กล่าวต่อคณะตุลาการ 17 ท่านของไอซีเจซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2489 เพื่อแก้ไขข้อพิพาทระหว่างชาติสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ว่าคดีนี้เป็นข้อพิพาทระหว่างแกมเบียกับเมียนมา
"ทั้งหลายทั้งปวงที่แกมเบียร้องขอคือ ขอให้ท่านบอกให้เมียนมาหยุดการฆ่าแบบไร้สติเหล่านี้, หยุดการกระทำโหดร้ายป่าเถื่อนที่ยังคงสร้างความตกใจต่อมโนธรรมที่พวกเรามีร่วมกัน, หยุดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประชาชนของเมียนมาเอง" ทัมบาดู ซึ่งเคยเป็นอัยการในคณะตุลาการไต่สวนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่รวันดาปี 2537 กล่าวต่อศาลโลก และว่า ปฏิบัติการของกองทัพเมียนมานั้นเกี่ยวข้องกับ "การสังหารหมู่, ข่มขืนหมู่ และทรมานหมู่ เด็กๆ โดนเผาทั้งเป็นในบ้านของพวกเขาและในสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา"
แกมเบียเรียกร้องให้ศาลมีมาตรการฉุกเฉินเพื่อป้องกันการทำร้ายชาวโรฮีนจาเพิ่มอีกระหว่างรอการพิจารณาคดีนี้ของไอซีเจที่อาจต้องใช้เวลาหลายปี
ปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มติดอาวุธโรฮีนจาในรัฐยะไข่เมื่อปี 2560 เพื่อตอบโต้ที่กลุ่มโรฮีนจาโจมตีที่มั่นของกองกำลังฝ่ายความมั่นคงเมียนมาหลายแห่ง สังหารเจ้าหน้าที่ 13 นาย ผลักดันให้ชาวโรฮีนจาหลบหนีข้ามชายแดนเข้าบังกลาเทศราว 740,000 คน พร้อมกับคำบอกเล่าความโหดร้ายป่าเถื่อน สังหาร ข่มขืนและเผาบ้านเรือนชาวโรฮีนจา ซึ่งกรรมการสอบสวนของยูเอ็นกล่าวว่า เทียบเท่ากับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
นางซูจี ซึ่งเสื่อมเสียความน่าเชื่อถือเพราะไม่กล่าวปกป้องชาวโรฮีนจา ทั้งยังรับหน้าที่ตัวแทนต่อสู้ข้อกล่าวหานี้อีก นั่งนิ่งเฉยรับฟังคำกล่าวของทนายความตัวแทนเหยื่อชาวโรฮีนจา ซึ่งรวมถึงหญิงคนหนึ่งที่บอกว่าลูกชายวัย 1 ขวบโดนตีจนตาย และหญิงท้อง 8 เดือนที่โดนกระทืบและข่มขืน
ที่ด้านนอกศาล มีผู้ประท้วงราว 50 คนชุมนุมพร้อมถือป้ายข้อความสนับสนุนโรฮีนจาและเรียกร้องให้หยุดการโจมตีของกองทัพเมียนมา แต่อีกด้านก็มีผู้สนับสนุนนางซูจีกลุ่มเล็กๆ มาชุมนุมให้กำลังใจนางเช่นกัน ส่วนที่เมียนมา ประชาชนหลายพันคนออกมาชุมนุมแสดงความสนับสนุนผู้นำหญิงวัย 74 ปีรายนี้ตลอดหลายวัน
วันพุธ นางซูจีมีกำหนดแถลงต่อสู้ข้อกล่าวหา โดยคาดว่านางจะโต้แย้งว่าเมียนมาเปิดปฏิบัติการปราบปรามนักรบโรฮีนจาโดยชอบด้วยกฎหมาย และไอซีเจไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้
ที่ผ่านมาไอซีเจเคยตัดสินเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพียงคดีเดียว คือการสังหารหมู่ที่เซเบรนิกาในบอสเนียเมื่อปี 2538.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |