10 ธ.ค.62- ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันที่ 11 ธ.ค. คาดว่า จะมีวาระการพิจารณาคดีกู้เงิน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จำนวน 191 ล้านบาท ที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยยื่นคำร้อง
มีรายงานว่า กกต.ได้ตั้งประเด็นตามคำร้อง 2 ประเด็น คือ 1. การกู้เงินดังกล่าว ถือเป็นการบริจาคของบุคคลเกินกว่า 10 ล้านบาท ต่อปีตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ 2. การกู้เงินดังกล่าว ถือว่าเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และเข้าข่ายเป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่ เพราะเมื่อพิจารณาข้อกฎหมาย มาตรา 62 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งไม่เปิดโอกาสให้พรรค การเมืองกู้ยืมเงิน มาดำเนินกิจการพรรคการเมืองได้ เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ปี 50 ที่จะกำหนดให้พรรคสามารถมีรายได้อื่น และพรรคการเมืองในขณะนั้น ก็มีการกู้เงิน และนำมาลงบัญชีในหมวดรายได้อื่น หากบอกว่าเงินดังกล่าว เป็นเงินบริจาค ซึ่งกฎหมายกำหนดให้บริจาคได้เพียง 10 ล้านบาท หากจะบอกว่าที่เหลือเป็นการบริจาคเกินคงไม่ได้
เมื่อพิจารณาจากเอกสารหลักฐานชี้แจงที่พรรคอนาคตใหม่ส่งมาส่วนหนึ่งนั้น ระบุว่าสัญญาเงินกู้ฉบับแรก เมื่อวันที่ 2 ม.ค.2562 ที่พรรคอนาคตใหม่ทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายธนาธรจำนวน 161,200,000 บาท และตามสัญญาระบุว่าพรรคจะมีการชำระเงินภายใน 3 ปี โดยในปีแรกจะชำระเงินกู้จำนวน 80 ล้านบาท ปีที่สอง 40 ล้านบาท และปีที่สาม 41 ล้านบาท ซึ่งพรรคฯ ได้มีการรายงานมาว่าปัจจุบันเงินกู้ดังกล่าว มีการชำระแล้ว 26.8 ล้านบาท แบ่งเป็น 5 งวด แต่ละงวดชำระห่างกัน 10 วัน ชำระเป็นเงินสดทั้งหมด ยังมีข้อน่าสงสัยว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินของใคร เบิกถอนมาจากไหน เอาเข้าบัญชีใคร ถ้านำเงินที่เป็นรายได้ของพรรคตามกฎหมายพรรคการเมืองมาตรา 62 มาชำระยิ่งจะถือว่าผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายมาตราดังกล่าวกำหนดเรื่องที่มารายได้ของพรรคไว้ 7 ประการ และไม่ให้นำรายได้เหล่านี้ไปใช้เพื่อการอื่น
นอกจากการดำเนินกิจการของพรรคฯ หากนำรายได้ของพรรคไปจ่ายหนี้เงินกู้จะมีความผิดตามกฎหมายอาญา กรรมการบริหารพรรคต้องติดคุก ขณะเดียวกันจะต้องพิจารณาถึงรายรับรายจ่ายของพรรคว่ามีการลงบัญชีเงินจำนวนนี้ไว้ในหมวดใด การรับบริจาคที่หากนำเงินบริจาคไปชำระคืนกระทบต่อยอดเงินบริจาคหรือไม่ และความสามารถของพรรคในการชำระหนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้ เพราะจากรายงานงบการเงินของพรรคอนาคตใหม่ในรอบปี 2561 ที่มีการรายงานต่อ กกต.เมื่อ เม.ย.2562
ดังนั้น การให้พรรคฯ กู้เงินจึงอาจเข้าข่ายการเป็นนิติกรรมอำพราง เป็นการได้เงินมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ ซึ่งจะเข้าข่ายตามมาตรา 72 พ.ร.บ.ประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่ห้ามไม่ให้พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะมีความผิดตามมาตรา 92 (3) เป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคได้ เป็นที่น่าจับตาว่า การประชุมครั้งนี้ กกต.จะมีมติชี้ขาดเลยหรือไม่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |