จากสภาพการเมืองแบบเปิดหลัง 14 ตุลาคม 2516 ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองสูงจนกล่าวได้ว่ามีการประท้วงรายวัน ความวุ่นวาย สับสน อันเกิดจากการปะทะกันของกลุ่มพลังทางสังคมเป็นช่องทางให้คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินอ้างว่ารัฐบาลไม่สามารถรักษาสถานการณ์บ้านเมืองด้วยวิถีทางรัฐธรรมนูญได้
จึงต้องก่อการรัฐประหาร ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 การจบชีวิตทางการเมืองของรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยไม่ได้หมายความว่าเป็นความล้มเหลวของสังคมไทยในอันที่จะเข้าถึงความเป็นประชาธิปไตย หากน่าจะเป็นความล้มเหลวของสังคมไทยในอันที่จะกํากับประคับประคองสถานการณ์ตามวิถีรัฐธรรมนูญให้ราบรื่น
แต่ในภายหลังยังมีผู้วิจารณ์ว่ารัฐธรรมนูญ 2517 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับ "เพ้อฝัน" มีความเป็นประชาธิปไตยมากเกินไป หรือให้เสรีภาพมากสุดขีด ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญ 2517 ไม่รับรองสิทธิเสรีภาพในการนับถือลัทธิแถมยังให้มีสภาที่มาจากการแต่งตั้ง
การหมดสภาพบังคับของรัฐธรรมนูญ 2517 ส่งผ่านมรดกของการรัฐประหาร 6 ตุลาคมในรูปของวิวัฒนาการทางจารีตของการล้มรัฐธรรมนูญ เนื่องจากในระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2517 เสนอให้มีบทบัญญัติห้ามการนิรโทษกรรมแก่บุคคลที่ล้มล้างรัฐธรรมนูญไว้ด้วย และมีข้อตกลงยอมรับข้อเสนอนี้ ผู้ที่มีบทบาทสําคัญในการสนับสนุนบทบัญญัตินี้รวมไปถึงนายธานินทร์ กรัยวิเชียร
ธานินทร์ กรัยวิเชียร
เมื่อมีการรัฐประหารเดือนตุลาคม 2519 คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้เชิญนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีและเกรงว่าหากมีการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมก็อาจจะมีผู้หยิบยกเอาบทบัญญัตินั้นมาใช้และจะส่งผลให้พระราชบัญญัติไม่เป็นผล ดังนั้นในการร่าง "ธรรมนูญการปกครองชั่วคราว" จึงได้ใช้คําว่า "รัฐธรรมนูญ" เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์และลบล้างบทบัญญัติที่ห้ามการนิรโทษกรรมในรัฐธรรมนูญฉบับ 2517 และกลายเป็นแบบแผนในการยึดอํานาจครั้งต่อๆ มา
รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2517 สิ้นสุดลงเนื่องจากการรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 รวม ระยะเวลาประกาศใช้สองปีความล้มเหลวในการจัดสัมพันธภาพทางอํานาจภายใต้โครงสร้างของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2517 และความระส่ำระสายของสังคมไทยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 นําไปสู่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 นับเป็นจุดจบของรัฐธรรมนูญที่มี "ความเป็นประชาธิปไตย" ฉบับหนึ่ง
ภาพสะท้อนความไร้เสถียรภาพทางการเมืองประการหนึ่งก็คือ การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและมีช่วงระยะเวลาดํารงตําแหน่งสั้น ดังจะเห็นได้จากภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2518 รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งเข้าดํารงตําแหน่งเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2518 แต่ก็ต้องพ้นจากตําแหน่งเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2518 เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรลงมติให้ความไว้วางใจน้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ด้วยคะแนน 152 ต่อ 111 เสียง รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์จึงพ้นวาระตามความในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 มาตรา 187 (2)
จากนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับความไว้วางใจให้ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยบริหารประเทศระหว่างวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2518 - 12 มกราคม พ.ศ.2519 รัฐบาลถูกสภาผู้แทนราษฎรกดดันจนต้องประกาศยุบสภา
ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2519 ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้เป็นแกนนําในการจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งและได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2519 แต่ต้องประสบกับวิกฤตการณ์อีกครั้งจนต้องประกาศลาออกจากตําแหน่งในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ในประเทศได้
อย่างไรก็ดี ม.ร.ว.เสนีย์ยังคงได้รับความไว้วางใจให้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ และเข้ารับตําแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2519 จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
คณะรัฐประหารซึ่งเรียกตัวเองว่าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นําโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ได้ยึดอํานาจการปกครองแผ่นดิน คณะปฏิรูปอ้างเหตุผลในการแถลงการณ์ว่า
"...ได้มีกลุ่มบุคคลซึ่งประกอบด้วย นิสิตนักศึกษาบางกลุ่มได้กระทําการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อันเป็นการเหยียบย่ำจิตใจของคนไทยทั้งชาติ โดยเจตจํานงทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการคอมมิวนิสต์ที่จะเข้ายึดครองประเทศไทย เมื่อเจ้าหน้าที่ตํารวจเข้าจับกุมก็ได้ต่อสู้ด้วยอาวุธอันร้ายแรงที่ใช้ในราชการสงครามโดยร่วมมือกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ชาวเวียดนามต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตํารวจด้วย ประชาชนและเจ้าหน้าที่ตํารวจได้เสียชีวิตและบาดเจ็บจํานวนมาก
สถานการณ์โดยทั่วไปก็เริ่มเลวลงเป็นลําดับ จนเกิดความระส่ำระส่ายขึ้นโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปรากฏชัดแจ้งว่ารัฐมนตรีบางนาย และนักการเมืองบางกลุ่ม ตลอดจนสื่อสารมวลชนหลายแห่งมีส่วนสนับสนุนอยู่อย่างแข็งขันและออกนอกหน้า
เหตุการณ์เลวร้ายดังกล่าวมานี้ย่อมจะทําให้รัฐบาลไม่สามารถรักษาสถานการณ์บ้านเมืองตามวิถีทางรัฐธรรมนูญไว้ได้
หากปล่อยไว้เช่นนี้ก็นับวันที่ประเทศชาติและประชาชนจะต้องประสบกับความวิบัติยิ่งขึ้นเป็นลําดับ จนยากที่จะแก้ไข คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินจึงมีความจําเป็นต้องเข้ายึดอํานาจการปกครองเพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้โดยเฉียบขาดและเฉียบพลัน
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
ทั้งนี้เพื่อความอยู่รอดของชาติ และมิให้ประเทศไทยต้องตกไปเป็นเหยื่อของจักรวรรดินิยมคอมมิวนิสต์
อนึ่งถึงแม้ว่าในขณะนี้จะยังมีรัฐสภาอยู่ แต่ก็เป็นที่แจ้งประจักษ์แก่ประชาชนแล้วว่านักการเมืองที่อยู่ในพรรคเดียวกันก็แตกแยกกัน ไม่ยึดถืออุดมคติพรรค และไม่ได้ปฏิบัติตามอาณัติที่ประชาชนได้มอบไว้ให้ ซึ่งเป็นการพ้นวิสัยที่ระบอบประชาธิปไตยจะดําเนินไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญได้..."
แม้ว่าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินจะแถลงว่าเป็นการยึดอํานาจโดยไม่มีการเตรียมการมาก่อน แต่เป็นที่ทราบกันภายหลังว่าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินชุดนี้ได้มีการเตรียมการกันมาก่อนหน้านี้นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2519 โดยฝ่ายทหารได้ปรึกษากับนายธานินทร์เป็นระยะก่อนจะตัดสินใจช่วงชิงก่อรัฐประหารก่อนหน้าคณะทหารอีกกลุ่มหนึ่ง
หรือระหว่างวิกฤตรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ เมื่อกันยายน 2519 มีรายงานว่า พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ทาบทามให้จอมพลถนอมร่วมยึดอํานาจแต่ถนอมปฏิเสธ แต่ก็ไม่ปรากฏชัดว่าคณะใดเป็นผู้นํากําลังพลมาก่อความรุนแรงในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519
ในบรรดาความเคลื่อนไหวที่สําคัญ ยังรวมถึงการเคลื่อนไหวของคณะทหารที่เรียกตัวเองว่าทหารหนุ่ม ซึ่ง พล.อ.วัลลภ โรจนวิสุทธิ์ กล่าวว่าเป็นคณะบุคคลที่ทําให้เกิดการปฏิรูปเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งยังมีบทบาทต่อเนื่องจนถึงการปฏิวัติในวันที่ 20 ตุลาคม 2520
ทั้งนี้ในด้านหนึ่งเห็นว่า การกระทําดังกล่าวมิใช่เพียงแค่อุบัติเหตุทางการเมือง หากถือได้ว่าเป็นจุดสูงสุดของการใช้กําลังเพื่อจัดการความขัดแย้ง และเป็นรอยด่างของสังคมไทยมาจนทุกวันนี้
ในทางตรงกันข้าม ตัวละครสําคัญอย่างพลตรีประมาณ อดิเรกสาร กลับมองว่า 6 ต.ค.2519 เป็นอุบัติเหตุทางการเมือง.
-------------------
ที่มา : ชีวประวัติธรรมนูญการปกครองและรัฐธรรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2475 - 2520 ดร. บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |