จับตา กกต.ถกปมเงินกู้ "อนาคตใหม่" 11 ธ.ค.นี้ สงสัยนิติกรรมอำพราง ชี้พิรุธจ่ายคืนแล้ว 5 งวด 26.8 ล้าน ห่างกันงวดละ 10 วัน เป็นเงินของใคร เบิกถอนจากไหน ชี้หากเป็นรายได้นำไปใช้หนี้เงินกู้ก็มีความผิด กก.บห.มีสิทธิ์ติดคุก เสนอศาล รธน.ยุบพรรคได้ "ศรีสุวรรณ" เปิดเอกสารลับเลขาฯ กกต.ระบุเงินกู้ 161 ล้านเป็นเงินบริจาคผิด พ.ร.ป.พรรคการเมืองห้ามบริจาคเกิน 10 ล้านต่อปี ชงฟันอาญาเพิกถอนสิทธิ์ "ธนาธร"-กก.บห.5 ปี "ช่อ" โวยเอกสารหลุดมีใบสั่งยุบ อนค.
เมื่อวันจันทร์ แหล่งข่าวเปิดเผยว่าจากกรณีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะพิจารณาเรื่องที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ให้เงินกู้แก่พรรคอนาคตใหม่ ในวันที่ 11 ธ.ค.นี้ หลังจากคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน กกต.ได้รับพยานหลักฐานบางส่วนจากพรรคอนาคตใหม่ ในคดีกู้เงินนายธนาธรจำนวน 191 ล้านบาทนั้น กรณีดังกล่าวเป็นที่น่าจับตาว่าในการประชุมครั้งนี้ กกต.จะมีมติชี้ขาดเลยหรือไม่
โดยมีรายงานว่า กกต.ได้ตั้งประเด็นตามคำร้องรวม 2 ประเด็น คือ 1.การกู้เงินดังกล่าวถือเป็นการบริจาคของบุคคลเกินกว่า 10 ล้านบาทต่อปีตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ 2.การกู้เงินดังกล่าวถือว่าเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และเข้าข่ายเป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่ เพราะเมื่อพิจารณาข้อกฎหมาย มาตรา 62 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ไม่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองกู้ยืมเงินมาดำเนินกิจการพรรคการเมืองได้ เช่นเดียวกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ปี 2550 ที่จะกำหนดให้พรรคสามารถมีรายได้อื่น และพรรคการเมืองในขณะนั้นก็มีการกู้เงินและนำมาลงบัญชีในหมวดรายได้อื่น
ขณะที่ในส่วนข้อเท็จจริงหากบอกว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินบริจาค ซึ่งกฎหมายกำหนดให้บริจาคได้เพียง 10 ล้านบาท หากจะบอกว่าที่เหลือเป็นการบริจาคเกินก็คงไม่ได้ และเมื่อพิจารณาจากเอกสารหลักฐานชี้แจงที่พรรคอนาคตใหม่ส่งมาส่วนหนึ่งนั้น ระบุว่าสัญญาเงินกู้ฉบับแรกเมื่อวันที่ 2 ม.ค.62 ที่พรรคอนาคตใหม่ทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายธนาธร จำนวน 161,200,000 บาท และตามสัญญาระบุว่าพรรคจะมีการชำระเงินภายใน 3 ปี โดยในปีแรกจะชำระเงินกู้จำนวน 80 ล้านบาท ปีที่สอง 40 ล้าน และปีที่สาม 41 ล้านบาท ซึ่งพรรคได้งานมาว่าปัจจุบันเงินกู้ดังกล่าวได้ชำระแล้ว 26.8 ล้านบาท แบ่งเป็น 5 งวด ห่างกันครั้งละ 10 วัน และชำระเป็นเงินสดทั้งหมด ก็ยังมีข้อน่าสงสัยว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินของใคร เบิกถอนมาจากไหน และเอาเข้าบัญชีใคร หรือถ้านำเงินที่เป็นรายได้ของพรรคตามกฎหมายพรรคการเมืองมาตรา 62 มาชำระ ก็ยิ่งจะถือว่าผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายมาตราดังกล่าวกำหนดเรื่องที่มารายได้ของพรรคไว้ 7 ประการ และไม่ให้นำรายได้เหล่านี้ไปใช้เพื่อการอื่นนอกจากการดำเนินกิจการของพรรค ซึ่งหากมีการนำรายได้ของพรรคไปจ่ายหนี้เงินกู้ก็จะมีความผิดตามกฎหมายอาญา กรรมการบริหารพรรคต้องติดคุก
ขณะเดียวกันก็จะต้องพิจารณาถึงรายรับรายจ่ายของพรรค ว่ามีการลงบัญชีเงินจำนวนนี้ไว้ในหมวดใด การรับบริจาคที่หากนำเงินบริจาคไปชำระคืนกระทบต่อยอดเงินบริจาคหรือไม่ และความสามารถของพรรคในการชำระหนี้ เพราะจากรายงานงบการเงินของพรรคอนาคตใหม่ในรอบปี 2561 ที่มีการรายงานต่อ กกต.เมื่อ เม.ย.62 ก็ยังมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้
สงสัยนิติกรรมอำพราง
ดังนั้นการให้พรรคอนาคตใหม่กู้เงินจึงอาจจะเข้าข่ายของการเป็นนิติกรรมอำพราง เป็นการได้เงินมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งก็จะเข้าข่ายตามมาตรา 72 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ห้ามไม่ให้พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะมีความผิดตามมาตรา 92 (3) เป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคได้
"เรื่องการกู้ยืมเงินเป็นกฎหมายเอกชน ยืมเงินมาต้องใช้ แต่คุณจะเอาเงินที่ไหนมาใช้ในเมื่อกฎหมายห้ามไม่ให้เอาเงินรายได้ของพรรคไปใช้อย่างอื่น นอกเหนือจากเพื่อการดำเนินกิจการทางการเมืองของพรรค ซึ่งเงินกู้ไม่ถือเป็นกิจการทางการเมืองของพรรค เราจึงสงสัยว่าจะเป็นนิติกรรมอำพราง กฎหมายตอนปี 50 เปิดช่องให้พรรคมีรายได้อื่นๆ พรรคจึงมีการกู้เงินจากคนที่เป็นนายทุน บุคคลนอกพรรค แล้วก็เกิดปัญหาการครอบงำโดยบุคคลคนเดียว กฎหมายปี 60 จึงมีการแก้ไข ตัดไม่ให้มีเรื่องของรายได้อื่นๆ ออก ให้พรรคไม่ใช้เงินเกินตัว โดยกำหนดไว้ว่าให้ใช้เงินจากทุนประเดิม ค่าสมาชิกพรรค เพื่อไม่ต้องการให้เกิดการครอบงำจากบุคคลคนเดียวแล้วทำให้การเมืองผิดเพี้ยน เราก็อุตส่าห์ตัดระบบนี้ แต่เขาก็ยังมาทำแบบนี้อีก" แหล่งข่าวระบุ
ทั้งนี้หากในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว กกต.เห็นว่าเข้าข่ายมีความผิด ตามกฎหมายมีช่องทางที่ กกต.จะดำเนินการได้ 3 ช่องทาง คือ 1.กรณีเป็นความปรากฏต่อ กกต. ซึ่งหาก กกต.เห็นว่าเป็นความผิดยุบพรรคก็สามารถเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้เลย เช่นเดียวกับกรณียื่นให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ และให้วินิจฉัยสถานภาพ ส.ส.ของนายธนาธร ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยยืนยันว่า การใช้อำนาจในการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่เป็นความปรากฏอยู่ในอำนาจที่ กกต.ดำเนินการได้
2.ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นแล้วเสนอต่อ กกต.เพื่อพิจารณาอีกครั้ง และ 3.มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหานายธนาธรและพรรคอนาคตใหม่เพื่อให้มาชี้แจงข้อกล่าวหา เช่นเดียวกับที่ กกต.เคยทำในกรณีมีมติให้นายธนาธรมาชี้แจงกรณีถูกร้องเรื่องถือครองหุ้นสื่อ เพื่อดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 151 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.
ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้โพสต์ข้อความว่า "ยุบ หรือ ไม่ยุบ ไม่ใช่หน้าที่ผมแล้วครับบบบ" พร้อมโพสต์เอกสารซึ่งเป็นความเห็นของ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. มีเนื้อหาดังนี้ "ความเป็นเลขาธิการ กกต.สำนวนนี้ นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้ร้องที่ 1 นายสุวัชร สังขฤกษ์ ผู้ร้องที่ 2 ได้ร้องคัดค้านว่านายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ถูกร้องที่ 1 กระทำโดยไม่ชอบด้วยมาตรา 66 ประกอบมาตรา 124 และมาตรา 125 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 กล่าวคือการบริจาคเงินกว่า 10 ล้านบาท ให้แก่พรรคอนาคตใหม่ ผู้ถูกร้องที่ 2 เกินกว่า 10 ล้านบาทต่อปี
ชงยุบ อนค.ตัดสิทธิ์ กก.บห. 5 ปี
พิจารณาจากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานตามรายงานการไต่สวนแล้วเห็นว่า สัญญากู้เงินสัญญากู้ยืมเงินระหว่างผู้ถูกร้องที่ 1 และที่ 2 จำนวน 161,200,000 บาท ฉบับลงวันที่ 2 มกราคม 2562 (เอกสารหน้า 125) นั้น นายนิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ เหรัญญิกพรรคอนาคตใหม่ ปฏิบัติหน้าที่แทนหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นผู้ลงนามในสัญญากู้อ้างว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 กู้เงินโดยจ่ายเป็นสำเนาเช็คเงินผู้จำนวน 1 ฉบับ โดยมีหลักฐานสำเนาเช็คหลักฐานการชำระหนี้คืนบางส่วน และรายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค ที่ลงมติให้กู้เงินจากผู้ถูกร้องที่ 1 ซึ่งจะส่งมาประกอบภายในวันที่ 20 สิงหาคม 2562 แต่ก็ไม่ยอมส่งมาประกอบการพิจารณา จึงเป็นข้อพิรุธประกอบกับการกู้ยืมเงินมิได้เป็นรายได้ของพรรคการเมืองตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 62 (1)-(7) ซึ่งจะนำไปใช้ในการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง
ดังนั้นจึงน่าเชื่อว่าเงินจำนวน 161,200,000 บาทดังกล่าว เป็นเงินบริจาค ซึ่งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 66 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า 'บุคคลใดจะบริจาคเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองมีมูลค่าเกินกว่า 10 ล้านบาทต่อพรรคการเมืองต่อปีได้...' และวรรคสองบัญญัติว่า 'พรรคการเมืองจะรับบริจาคเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ซึ่งมีมูลค่าเกินวรรคหนึ่งมิได้' และมาตรา 124 วรรค 1 บัญญัติว่า 'ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 66 วรรคหนึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 5 ปี'
และมาตรา 125 บัญญัติว่า พรรคการเมืองใดรับบริจาคเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดมูลค่าเกินที่กำหนดไว้ในมาตรา 66 วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคมีกำหนด 5 ปี และให้เงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ส่วนที่เกินมูลค่าที่กำหนดไว้ตามมาตรา 66 ตกเป็นของกองทุน จึงเห็นควรดำเนินการดังนี้
1.ดำเนินคดีอาญาแก่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ถูกร้องที่ 1 ในความผิดตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 124 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 และขอให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งมีกำหนด 5 ปี 2.ดำเนินคดีอาญาแก่พรรคอนาคตใหม่ผู้ถูกร้องที่ 2 ในความผิดตามมาตรา 66 วรรคสองประกอบมาตรา 125 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 และขอให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่มีกำหนด 5 ปี และขอให้เงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดส่วนที่เกินมูลค่าที่กำหนดไว้ในมาตรา 66 ตกเป็นของกองทุน
จึงขอเสนอความเห็นพร้อมสำเนามาเพื่อประกอบการพิจารณาอันหนึ่งเนื่องจากเป็นกรณีเรื่องเร่งด่วนให้เสนอสำนวนต่อที่ประชุมกรรมการการเลือกตั้งพิจารณา" เอกสารระบุ
'ช่อ' โวยใบสั่งการเมือง
ด้าน น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ แถลงว่า กรณีเอกสารที่หลุดออกมานั้นทำให้เกิดความน่าสงสัยว่า การดำเนินการของ กกต.เป็นไปโดยมีธงทางการเมืองและใบสั่งทางการเมืองหรือไม่ เพราะรายละเอียดในเอกสารนี้ได้ชี้นำคดีไว้เรียบร้อยแล้ว ว่าจะให้นายธนาธรและกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่มีความผิดในคดีอาญา ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ต้องอย่าลืมว่าใบสั่งทางการเมืองสามารถมีได้มากกว่าหนึ่งใบเสมอ พรรคได้รับรายงานมาจากแหล่งข่าวเช่นกันว่า กำลังมีความพยายามที่จะทำให้คดีนี้นำไปสู่การวินิจฉัยโดยศาลรัฐธรรมนูญและนำไปสู่การยุบพรรคอนาคตใหม่ ทั้งๆ ที่คดีนี้ฐานความผิดไม่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคเลยแม้แต่น้อย ไม่สามารถนำไปสู่การยุบพรรคได้ตามตัวบทกฎหมาย สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้พรรคมีข้อสังเกตว่า ในขณะนี้อาจมีใบสั่งทางการเมืองไม่ใช่แค่ใบเดียว แต่มีสองใบหรือไม่ คือทั้งจะดำเนินคดีอาญาตัดสิทธิ์ทางการเมืองนายธนาธรและกรรมการบริหารพรรค 5 ปี พร้อมกับนำเรื่องขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การยุบพรรคให้ได้ด้วย จึงขอให้ประชาชนได้ช่วยกันจับตามองในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
น.ส.พรรณิการ์กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าจะพอทำให้เห็นได้ว่าเรื่องของธงหรือใบสั่งทางการเมืองอาจจะเป็นเรื่องจริง คือกรณีที่ กกต.ไม่รอให้คณะอนุกรรมการสอบสวนคดี บ.วี-ลัค มีเดีย สอบสวนให้แล้วเสร็จก่อน แต่กลับส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญไป โดยที่ยังเรียกพยานในคดีดังกล่าวไปสอบอยู่ พรรคอนาคตใหม่ได้ยื่นฟ้อง กกต.ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบไปแล้ว แต่ปรากฏว่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กกต.กลับยังคงไม่ยอมรับ และออกมายืนยันว่าปฏิบัติหน้าที่โดยชอบแล้ว โดยอ้างว่าที่ กกต.เรียกตัวพยานมาสอบนั้นเป็นเรื่องคดีอาญา ทางพรรคขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เนื่องจากเอกสารเรียกพยานมาสอบทุกฉบับ ไม่มีฉบับใดที่ระบุว่าเป็นการสอบในคดีอาญาดังที่ กกต.กล่าวอ้าง
"ในทางกลับกัน เอกสารทุกฉบับระบุว่าเป็นการสอบในความผิดฐานมีลักษณะต้องห้ามการเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) กกต.พูดแบบนี้ต่อสังคมหมายความว่าอย่างไร นี่เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีความเป็นไปได้ว่า กกต.มีธงทางการเมือง อนุฯ ยังสอบไม่เสร็จกลับส่งเรื่องสู่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ทั้งๆ ที่อนุฯ สอบประเด็นเดียวกันไม่ใช่คดีอาญา ขอให้ กกต.ตอบเรื่องนี้ด้วยเพื่อความกระจ่างต่อสังคม ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.เป็นไปโดยชอบ ไม่มีธงทางการเมืองแบบที่สังคมกำลังสงสัย" น.ส.พรรณิการ์กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |