ทุกสัญญาณชี้ไปที่หน้า ปีแห่งปัญหาหนักหน่วง!


เพิ่มเพื่อน    

    การคาดการณ์เกี่ยวกับเศรษฐกิจปีใหม่ที่กำลังเป็นข่าวในช่วงนี้ล้วนแล้วแต่เป็นไปในทางลบเสียเป็นส่วนใหญ่
    ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาต่ำสุดใน 67 เดือน...ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 
    นั่นคือการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่บอกว่า แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพิ่มขึ้น แต่ผู้บริโภคก็ยังกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมือง และไม่มั่นใจในเศรษฐกิจโลกและไทย ปัจจัยที่ทำให้ความมั่นใจของผู้บริโภคแย่ลงอย่างอื่นก็คือเงินบาที่แข็งค่าต่อเนื่อง และกำลังซื้อของชาวบ้านยังไม่ฟื้นตัว
    หลายสำนักวิจัยของไทยเองมองว่าปีหน้าค่าเงินบาทอาจจะหลุด 30 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ
    และอัตราโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP อาจจะโตได้เพียง 2.7% 
    นักวิเคราะห์ที่ไม่ได้มองเฉพาะประเด็นระยะสั้นก็เห็น “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ที่เพิ่มแรงกดดันต่อประเทศไทยอย่างน่าเป็นห่วง
    ที่ควรแก่การนำมาพิเคราะห์เพื่อหาทางแก้ไขอย่างจริงจังก็คือ การที่ไทยกำลังจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในระยะกลางและระยะยาว
    ภาพรวมปีหน้ายังเห็นสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐเดินหน้าต่อไป เพราะแม้จะมีการออกข่าวทางบวกจากทั้งสองฝั่งบ้าง แต่หากมองให้ลึกแล้วก็จะเห็นว่าทั้งสองยักษ์กำลังพันตูกันอย่างเข้มข้นในทุกมิติ เพราะด้านหนึ่งอเมริกาต้องการรักษาสภานภาพความเป็นเบอร์ 1 ของโลก
    ขณะที่จีนกำลังผงาดขึ้น เร่งฝีเท้าเพื่อให้เป็นมหาอำนาจที่แซงหน้าสหรัฐในหลายๆ ด้านใน 5 ปีข้างหน้า แม้ทั้ง 2 ชาติจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า แต่ดูเหมือนว่าทั้งวอชิงตันและปักกิ่งพร้อมจะ “กลืนเลือด” ระยะสั้นเพื่อสร้างอำนาจต่อรองในระยะกลางและระยะยาว
    ทำให้ประเทศอื่นๆ รวมทั้งไทยเราต้องเจอกับความผันผวนปรวนแปรที่ค่อนข้างหนักหนาสากรรจ์
    ภาพรวมจึงจะเห็นเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลให้กลุ่มประเทศพัฒนาอื่นนั้นชะลอตัวตาม 
    แต่ก็มีการคาดกันว่าประเทศในเอเชียน่าจะฟื้นตัวได้ระดับหนึ่ง
    สาเหตุสำคัญก็เป็นเพราะภาครัฐมีการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง เช่น ญี่ปุ่น เริ่มมองว่านโยบายการเงินไปไม่ไหว 
    ชาติอื่นๆ ยังลดอัตราดอกเบี้ย หรือใช้เครื่องมืออื่นๆ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้นักลงทุนสนใจลงทุนในเอเชีย
    เศรษฐกิจไทยในสายตาของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นว่าปีหน้าคาดว่าการส่งออกของไทยจะยังไม่ฟื้นตัว และอาจจะติดลบ 2% เหตุเพราะสงครามการค้าเป็นหลัก
    แม้ว่าจะมีการย้ายฐานการผลิตมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ส่งผลอย่างเป็นรูปธรรมนัก
    สิ่งที่พอจะมีความหวังบ้างในปีหน้าคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านเม็ดเงินการลงทุนจากภาครัฐ คาดว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะโตอยู่ที่ 2.7%
    ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งจะยังหลอกหลอนเศรษฐกิจไทยและผู้ส่งออกต่อไปในปีหน้า
    มองกันว่าสาเหตุของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนั้นมาจากปัจจัยภายในไม่น้อย เช่น เมื่อนำตัวเลขการนำเข้าหักลบการส่งออกก็ยังได้ดุลการค้าเป็นบวก
    ในปีที่ผ่านมาตัวเลขการนำเข้าสินค้าน้อยลงกว่าเดิมมากๆ อีกด้วย ทำให้ดุลการค้าที่เป็นบวกสูงขึ้นกระตุ้นให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะประกาศมาตรการบางประการแล้ว แต่ก็ไม่ได้ผลเชิงประจักษ์มากนัก
    อีกทั้งแรงเสริมจากนักท่องเที่ยวจีนมีผลทำให้ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่ม 
    ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดสูงสุดอันดับ 3 ของเอเชีย
    อีกด้านหนึ่ง เม็ดเงินอีกส่วนไหลเข้ามาลงทุนมาจากผลพวงของสงครามการค้าที่ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิต 
    การลงทุนในหุ้นไทย โดยเฉพาะในปีนี้ที่มี IPO ตัวใหญ่ๆ เข้าตลาดในปีที่ผ่านมาก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเช่นกัน ที่ไม่ควรมองข้ามคือ ตราสารหนี้ช่วงที่ผ่านมาที่ต้นทุนการถือครองพันธบัตรของไทยดีกว่าในประเทศอื่นๆ ในเอเชีย พันธบัตร 10 ปีของไทยให้ผลตอบแทนหักลบต้นทุนแล้วอยู่ที่ 8.3% ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกมาตรการจำกัดนักลงทุนที่พักเงินตราสารหนี้ระยะสั้น รวมไปถึงออกมาตรการผ่อนคลายอื่นๆ ที่จะทำให้เม็ดเงินไหลออก เพื่อค่าเงินบาทจะได้อ่อนค่า แต่กลายเป็นว่าบาทกลับแข็งค่า เพราะว่าดุลบัญชีเดินสะพัดเรายังเป็นบวกอยู่ดี
    หน่วยวิเคราะห์ของบางธนาคารพาณิชย์ทำนายว่า ในปลายปีหน้าค่าเงินบาทของไทยจะอยู่ที่ประมาณ 29.25 บาทต่อดอลลาร์ และผู้ประกอบการควรที่จะทำประกันความเสี่ยงค่าเงินบาทด้วย ถ้าค่าเงินบาทเริ่มหลุดกรอบ 30 บาท
    ที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่องหนึ่งคือ การที่ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นเช่นกับเวียดนาม การส่งออกของไทยแม้ว่าปีนี้เราจะส่งออกไปสหรัฐได้มากขึ้น แต่สัดส่วนเทียบกับประเทศอื่นๆ ไทยมีการส่งออกไปทั่วโลกคิดเป็น 1.38% จากเดิม 1.48% 
    ข้อด้อยของไทยคือ การขาดการปฏิรูปอย่างจริงจังในเรื่องการศึกษา ระบบภาษี หรือแม้แต่การอำนวยความสะดวกสำหรับนักลงทุน และการตั้งรับสังคมคนสูงวัย
    หรือการปรับทัศนคติต่อการเปิดรับคนต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางเพื่อที่จะสอดคล้องกับโครงสร้างประชากรในอนาคต 
    สิงคโปร์เปิดกว้างสำหรับคนต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อหาอสังหาริมทรัพย์หรือการทำงานในตำแหน่งหน้าที่งาน การที่คนท้องถิ่นยังขาดทักษะในระดับสากล
    พรุ่งนี้จะพูดถึงวิธีการบริหารประเทศเพื่อเผชิญกับ “วิกฤติเศรษฐกิจโลก” ของไทย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"