9 ธ.ค.62 - นายอภินันท์ จันทร์อุปละ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า จากกรณีที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 7 จ.ขอนแก่น ได้ประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.เขต 7 แทนตำแหน่งที่ว่างครบทั้ง 4 คนที่ยื่นสมัครไปเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. ปรากฏว่าในวันที่ 6 ธ.ค. ได้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งยื่นคัดค้านประกาศของผู้อำนวยการเขตเลือกตั้งที่ 7 โดยเห็นว่านายธนิก มาสีพิทักษ์ ผู้สมัครหมายเลข 1 พรรคเพื่อไทย มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครเนื่องจากมีชื่อเป็นผู้สมัครในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ทางสำนักงานกกต.ประจำจังหวัดขอนแก่น จึงได้รวบรวมข้อมูลหลักฐานต่างๆ ส่งไปยังสำนักงานกกต.กลางเพื่อให้เสนอเรื่องให้กกต.กลางพิจารณา ซึ่งคาดว่า กกต.มีการวินิจฉัยชี้ขาดภายในสัปดาห์นี้
ทั้งนี้กรณีดังกล่าว ก่อนการเปิดรับสมัครเมื่อวันที่ 28 พ.ย. พรรคเพื่อไทยได้มีหนังสือขอหารือมายังกกต.เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ว่า ผู้มีชื่อเป็นผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 62 ที่มีการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งไปแล้ว จะสามารถไปลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.ระบบเขตเลือกตั้งในการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างได้หรือไม่ แต่กกต.ก็ไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจน ระบุเพียงว่า เป็นหน้าที่ของพรรคเมืองที่ต้องพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งให้ถูกต้องครบถ้วน ซึ่งในการยื่นสมัครของนายธนิกต่อผอ.กกต.ประจำเขตเลือกตั้งที้ 7 จ.ขอนแก่นในวันที่ 28 พ.ย.นั้นก็มีรายงานว่า นอกจากนายธนิก จะยื่นใบสมัครพร้อมหลักฐานต่าง ๆที่กฎหมายกำหนดแล้ว นายธนิก ยังยื่นหนังสือขอถอนชื่อจากการเป็นผู้สมัครส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อด้วย
อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า ในการพิจารณาของที่ประชุมกกต.ขณะนั้น มีความเห็นเป็น 2 ทาง โดย ทางหนึ่งเห็นว่า ไม่สามารถลงสมัครได้ เนื่องจากตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.มาตรา 43 ได้เขียนล็อกไว้ให้ผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขต ที่พรรคส่งสมัครนอกจากจะลงสมัครรับเลือกตั้งเกินหนึ่งเขตมิได้ ยังต้องไม่เป็นบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ
ขณะเดียวกันผู้ที่มีชื่อเป็นผู้สมัครในบัญชีรายชื่อมีโอกาสได้รับการเลื่อนลำดับเป็นส.ส.อยู่ตลอด จะอ้างว่าผลการเลือกตั้งระบบเขตของพรรคเพื่อไทยโอเวอร์แฮงค์ ไม่มีโอกาสที่ส.ส.ระบบบัญชีแล้วผู้สมัครจึงสามารถไปลงในระบบเขตได้คงไม่ถูกต้อง เพราะคะแนนเสียงในระบบบัญชีรายชื่อของทุกพรรคการเมืองนั้นจะยังมีโอกาสขยับได้หากมีการเลือกตั้งจากเหตุทุจริตภายใน 1 ปี ซึ่งขณะนี้ยังไม่พ้นระยะเวลาดังกล่าว
ขณะที่อีกทางหนึ่งเห็นว่า เมื่อการประกาศผลการเลือกตั้งแล้วก็ถือว่าการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. ได้จบสิ้นไป ผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อก็น่าจะสามารถไปลงสมัครส.ส.ในระบบเขตเลือกตั้งที่มีการเลือกตั้งซ่อมได้ ซึ่งคาดในการประชุมกกต.วันที่ 11 ธ.ค.นี้ ที่ประชุมจะมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว เนื่องจะเป็นการประชุมเดียวของสัปดาห์นี้ โดยมาตรา 51 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. กำหนดว่า กรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือผู้สมัครผู้ใดเห็นว่าผู้มีชื่อในประกาศรายชื่อที่ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตได้ประกาศให้เป็นผู้สมัคร ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อกกต.ภายใน 7 วันนับแต่วันประกาศรายชื่อ ในกรณีที่กกต.มีคำวินิจฉัยให้ถอนการรับสมัครของผู้ใดให้ผู้นั้นมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยกกต.ต่อศาลฎีกาได้ภายใน 3 วันนับแต่วันที่ถูกถอนการรับสมัครและในกรณีที่ศาลฎีกายังไม่ได้มีคำวินิจฉัยเป็นประการใดก่อนวันเลือกตั้ง ให้การพิจารณาเป็นอันยุติ และให้ดำเนินการเลือกตั้งไปตามคำสั่งของกกต.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |