9ธ.ค.62- ในแต่ละปี มีผู้เสียชีวิตที่อยู่ในเกณฑ์บริจาคอวัยวะได้เกือบ 1,000 คน แต่ในความเป็นจริงยังมีข้อจำกัดในการนำอวัยวะบริจาคจากผู้เสียชีวิตมาใช้รักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะเรื่องของการขนส่ง และความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ สายการบินไทยสไมล์ จึงร่วมกับศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย จัดโครงการ“ไทยสมายล์ให้รอยยิ้มช่วยชีวิต Smile for Life ปีที่ 3” เพื่อเติมเต็มโอกาสให้แก่ผู้ที่รอคอยการรับบริจาคอวัยวะ ทั้งการช่วยรณรงค์ สร้างสรรค์ภาพยนตร์โฆษณา เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณชนเรื่องการบริจาคอวัยวะให้ดียิ่งขึ้น รวมถึง ยังรับหน้าที่เป็นสายการบินที่สนับสนุนและขนส่งอวัยวะไปยังผู้ที่รอรับบริจาค
ชาริตา ลีลายุทธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทยสมายล์ฯ
นางชาริตา ลีลายุทธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด เล่าว่า ไทยสมายล์มีความตั้งใจและสานต่อพันธกิจในการส่งมอบรอยยิ้มให้กับทุกการเดินทาง การส่งมอบอวัยวะที่รอการบริจาคถือเป็นการส่งมอบและการให้ที่ยิ่งใหญ่ ที่สุดเท่าที่เราทำได้และได้ทำตลอดระยะเวลา 2 ปี ของโครงการไทยสมายล์ให้รอยยิ้มช่วยชีวิต Smile for Life ได้มีส่วนช่วยเหลือผู้ป่วยที่รอการปลูกถ่ายอวัยวะมาแล้วจำนวนมาก โครงการในปีที่ 3 นี้ ยังได้สานต่อพันธกิจในการขนส่งอวัยวะของผู้บริจาคทั่วประเทศแก่ผู้ป่วยที่รอคอยการรับบริจาคอวัยวะที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยการสนับสนุนบัตรโดยสารสำหรับแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 100 ที่นั่ง ตลอดจนรับหน้าที่ในการขนส่งพัสดุพิเศษ ให้แก่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ทุกเที่ยวบินภายในประเทศ
ส่วนภาพยนตร์โฆษณาออนไลน์ ชุด Mind Hero” บอกเล่าเรื่องราวของความสัมพันธ์ของน้องสาวที่มีพี่ชายที่เปรียบเสมือนเป็นฮีโร่ของเธอเสมอมา จนวันหนึ่งเธอต้องพบกับเหตุการณ์ไม่คาดคิด ที่เธอต้องทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ คือการตัดสินใจส่งต่ออวัยวะของพี่ชายเพื่อช่วยคืนลมหายใจให้อีกหลายชีวิต ท่ามกลางการตัดสินใจทำให้เธอได้เรียนรู้การเป็นฮีโร่ที่แท้จริงนั้นต้องเป็นด้วยหัวใจ เธอจึงภูมิใจและยินดีที่จะส่งพี่ชายของเธอไปเป็นฮีโร่ให้กับผู้อื่นต่อไป โดยภาพยนตร์ปีนี้พิเศษกว่าทุกปี เพราะได้ลิขสิทธิ์เพลงฮิตอย่าง แก้มน้องนางนั้นแดงกว่าใคร มาปรับทำนองและเนื้อร้องใหม่ให้เข้ากับเนื้อเรื่องมากยิ่งขึ้น
“ในทุกปีจะมีการจัดทำภาพยนตร์โฆษณาออนไลน์เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบและตระหนักถึงความสำคัญของการเป็นผู้บริจาคอวัยวะ ซึ่งอวัยวะเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญกับคนที่รอคอยอย่างมาก ภาพยนตร์โฆษณาออนไลน์ปีนี้ ชุด Mind Hero สื่อสารการบริจาคอวัยวะไม่มีที่สิ้นสุด เพียงแจ้งความจำนงบริจาค รวมถึงครอบครัวของผู้บริจาคเข้าใจในเจตจำนงนั้นๆ ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ส่งต่อความตั้งใจของผู้ให้ ให้สามารถเดินทางไปถึงจุดหมาย โดยเนื้อเรื่องเป็นหนังประกอบเพลง ขับร้องโดย คุณนภ พรชำนิ และ คุณพิม ฐิติยากร มาร่วมถ่ายทอดเรื่องราว ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีพลังมากขึ้น เริ่มเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ของสายการบินไทยสมายล์ทุกช่องทาง ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา ดิฉันหวังว่าภาพยนตร์ชิ้นนี้ จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนอยากเป็นส่วนหนึ่งของการให้ที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้” นางชาริตา กล่าว
คุณหมอวิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย
นพ.วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย เล่าว่า สถานการณ์การบริจาคอวัยวะในปัจจุบัน พบว่ามีผู้แสดงความจำนงอยากบริจาคอวัยวะประมาณ 1 ล้านคน แต่ละปีคาดว่าอาจจะมีผู้เสียชีวิตที่อยู่ในเกณฑ์บริจาคอวัยวะได้ 1,000 คน ซึ่งในความเป็นจริงจะมีผู้บริจาคได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น โดยยอดผู้บริจาคที่เสียชีวิตและสามารถนำอวัยวะไปใช้ได้เมื่อเปรียบเทียบจากปี 2561 มีจำนวน 261 ราย โดยในปี 2562 มีผู้บริจาคจำนวน 246 ราย (นับจากสิ้นเดือนตุลาคม) และมีผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ 577 คน และจนกว่าจะถึงสิ้นปี 2562 ทางศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย คาดว่าจะได้ตามเป้าที่วางไว้ 300 คน ต่อปี
ผอ.ศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ กล่าวอีกว่า ปัจจัยสำคัญในการรักษา คือการให้ได้มาซึ่งอวัยวะบริจาคจากผู้เสียชีวิตในประเทศไทย แต่ขณะนี้มีข้อจำกัดในการนำอวัยวะบริจาคจากผู้เสียชีวิตมาใช้รักษาผู้ป่วยหลายประการ ทั้งการขาดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะภายหลังที่เสียชีวิตแล้ว รวมถึงการขนส่ง เพราะอวัยวะที่สามารถรับบริจาคได้ จาก 1 คน ช่วยได้ 8 ชีวิต หรือมีส่งต่อได้ 8 อวัยวะ มีระยะเวลาในการจัดเก็บและดำเนินการทุกอย่างต้องแข่งกับเวลา นั่นคือ หัวใจ จะมีระยะเวลาขาดเลือดสั้นสุด ตั้งแต่จัดเก็บและดำเนินการทุกอย่าง จนปลูกถ่าย ให้หัวใจเต้นอีกครั้งภายใน 4 ชั่วโมง, ตับอยู่ได้ 8 ชั่วโมง, ปอด อยู่ได้ 8 ชั่วโมง, ตับอ่อนอยู่ได้ 10 ชั่วโมง และที่เก็บได้นานที่สุดคือ ไต อยู่ได้ 24 ชั่วโมง ซึ่งการที่ทางไทยสมายล์เข้ามาช่วยในเรื่องของการขนส่งอวัยวะจากผู้บริจาคในแต่ละพื้นที่ ทำให้การจัดเก็บและดำเนินการขนส่งอวัยวะต่างๆ ได้ดีขึ้น ทำให้ผู้รับบริจาคได้อวัยวะที่สมบูรณ์ ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่รอคอยอวัยวะจำนวนมาก โดยเฉพาะ “ไต” เป็นอวัยวะที่ขาดแคลนมากที่สุด มีผู้ป่วยที่รอคอยการปลูกถ่ายอวัยวะในปี 2562 จำนวน 5,898 คน โดย 95% ในจำนวนนี้เป็นผู้รอ ไต รองลงมาคือรอ ตับ ที่เหลือคือรอ หัวใจ ปอด ตับอ่อน ตามลำดับ
“เพื่อความสะดวกในการแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ อยู่ที่ไหนก็สามารถบริจาคได้ทันที ทางศูนย์ได้เพิ่มช่องทางการบริจาคผ่านการบริจาคอวัยวะออนไลน์ในเว็บไซต์ www.organdonate.in.th และบริจาคอวัยวะผ่าน Mobile Application “บริจาคอวัยวะ” เพราะตอนนี้ทุกคนมีสมาร์ทโฟนใช้ เป็นการแสดงความจำนงบริจาคโดยการกรอกข้อมูลตามขั้นตอนอย่างครบถ้วน หลังจากนั้นระบบจะส่ง SMS และe-mail แจ้งผู้แสดงความจำนงและญาติผู้บริจาคอวัยวะต่อไป ดังนั้น อยากขอบคุณและขอแสดงความดีใจกับผู้บริจาคอวัยวะ รวมถึงญาติของผู้บริจาค เพราะการบริจาคอวัยวะถือเป็นบุญกุศลของการให้ ทั้งตัวผู้บริจาคเอง และญาติของผู้บริจาค ตั้งแต่ได้เซ็นชื่อยินยอมและดำเนินการบริจาคอวัยวะ” นพ.วิศิษฏ์ กล่าว
ธารวิมล สังขทิน ภรรยาผู้บริจาคอวัยวะของสามี ซึ่งเมื่อครั้งมีชีวิต มีเจตนารมณ์ต้องการบริจาคอวัยวะ
น.ส.ธารวิมล สังขทิน ญาติผู้บริจาคอวัยวะ ตัวแทนของผู้ให้ เล่าว่า การบริจาคอวัยวะที่เกิดขึ้นเป็นความต้องการของผู้บริจาคเอง สามีทำงานอยู่ในโรงพยาบาลและเห็นการรอคอยของคนไข้ที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ สามีพูดเสมอว่าถ้าตนเองเป็นอะไรไปอยากให้บริจาคอวัยวะ เพื่อต่อชีวิตให้กับผู้อื่น ไม่อยากให้สูญเปล่า เมื่อเขาประสบอุบัติเหตุตอนอายุ 24 ปี และเสียชีวิตลง จึงได้มีการพูดคุยกับทางญาติของผู้เสียชีวิต แจ้งพ่อแม่ว่าเขาอยากบริจาคอวัยวะ ซึ่งตอนแรกพ่อของสามีไม่ยอม เพราะมองว่าอยากให้ลูกจากไปด้วยร่างกายปกติ ไม่อยากให้ขาดอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งไป แต่เราก็พยายามทำความเข้าใจ เล่าถึงเจตจำนงของสามี จนคุณพ่อยินยอม และได้ไปทำเรื่องกับโรงพยาบาลต่อไป เพื่อบริจาคอวัยวะตามความต้องการของสามี
“การให้ครั้งนี้ รู้สึกดีใจและภูมิใจแทนเขามาก เพราะทั้งเราและเขาก็ทำงานในโรงพยาบาล ได้เห็นว่าการรอคอยความหวังจากคนไข้เป็นอย่างไร ถ้าอวัยวะของเรามีประโยชน์ต่อผู้อื่นก็เป็นการดีที่จะได้ต่อลมหายใจ ต่อชีวิตของผู้อื่นต่อไป อีกทั้งการให้ของเขายังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้ทุกคนที่อยู่ในโรงพยาบาลเกิดความตื่นตัว ภูมิใจแทนเขาและเข้าใจ อยากร่วมบริจาคอวัยวะให้แก่ผู้อื่นได้มากขึ้น ทุกคนรับรู้และอยากเป็นส่วนหนึ่งของการให้ที่ยิ่งใหญ่ การบริจาคอวัยวะเป็นเรื่องราวดีๆ ในชีวิตของคนๆ หนึ่ง ครอบครัวหนึ่งที่ได้มีโอกาสช่วยอีกหลายชีวิต” น.ส.ธารวิมล กล่าว
ผู้รับการบริจา่คอวัยวะ"หัวใจ"เล่าประสบการณ์ การได้ชีวิตใหม่
ผู้ให้สุขใจ ผู้รับเสมือนได้ชีวิตใหม่ นายสุพล บุญธรรม ผู้ได้รับการปลูกถ่ายหัวใจ เล่าว่า ตนเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ซึ่งถ้ากล้ามเนื้อหัวใจทำงานได้ปกติสามารถส่งเลือดไปเลี้ยงหัวใจและส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ดี ได้นาทีละ 5 ลิตร แต่ด้วยความเสื่อมของกล้ามเนื้อทำให้ไม่สามารถบีบเลือดไปเลี้ยงหัวใจได้ โดยตอนนั้นมีประสิทธิภาพในการทำงานของหัวใจอยู่ที่ 11 % มีเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ไม่ถึงลิตร ช่วงแรกได้ไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แต่อาการเลยจุดที่จะรักษาโดยการบายพาสหัวใจ จึงได้กลับไปอยู่กับลูกชายซึ่งเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และเข้ารับการรักษา จนวันหนึ่งทางโรงพยาบาลสงขลานครินทร์แจ้งกลับมาว่าให้ไปปลูกถ่ายอวัยวะที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และขอรับบริจาคอวัยวะจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ซึ่งรออยู่ประมาณ 9 เดือนก็ได้รับการปลูกถ่ายหัวใจ
“5 ปีตั้งแต่วันที่ต้องอยู่กับโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ถึงตอนนี้ผมหายเป็นปกติ ก่อนหน้านี้ผมเป็นคนไม่ตรวจสุขภาพประจำปี ใช้ชีวิตเหมือนปกติ ไม่ระมัดระวังในการดูแลสุขภาพ จนเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจ ในชั่วโมงที่ไม่สามารถรักษาได้ตามขั้นตอนอื่นๆ ตอนนั้นเวลาใช้ชีวิตลำบาก ทรมานมาก ทำอะไรก็เหนื่อย ทั้งการนอน หายใจ ทานอาหาร น้ำหนักลดลงไป 30 กิโลกรัม ผอมแห้งและซูบมาก เมื่อทางโรงพยาบาลแห่งแรกรักษาไม่ได้แล้ว เราก็มองว่าคงต้องไปตายที่บ้าน จนกระทั่งวันที่รู้ว่าเราสามารถปลูกถ่ายอวัยวะหัวใจได้ เหมือนเราเกิดใหม่ มีชีวิตใหม่ ทำให้เรารู้ว่าตอนนี้ชีวิตที่ 2 ของเราต้องทำอะไรเพื่อผู้อื่นบ้าง เมื่อก่อนเราอาจจะไม่สนใจคนรอบข้าง แต่ตอนนี้มีมุมมองชีวิตเปลี่ยนไป เรามองว่าชีวิตที่ 2 นี้เราจะใช้ชีวิตใหม่เพื่อตนเองและเพื่อหัวใจของผู้บริจาคที่ได้รับมา จึงใช้โอกาสครั้งหนึ่งในชีวิต ทำอะไรเพื่อผู้อื่นและสังคมมากขึ้น ” นายสุพล กล่าว
นายสุพล กล่าวทิ้งท้ายว่า การที่มีโอกาสได้รับการบริจาคอวัยวะ ถึงจะไม่รู้ว่าคนบริจาคคือใคร แต่เมื่อเราได้รับบริจาคมาแล้ว เขาเหล่านี้ได้ทำกุศลยิ่งใหญ่ ได้มอบชีวิตใหม่แก่ตนเอง ผู้รับบริจาคต้องคิดถึงห้วงเวลาที่เหลืออยู่ เราต้องพึงระลึกว่าเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เราตายไปแล้ว ปัจจุบันคือชีวิตใหม่ของเรา อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อสังคม ต้องทำ และอยากฝากไปยังผู้บริจาคอวัยวะทุกคน ทุกอวัยวะของพวกคุณสามารถช่วยชุบชีวิตใหม่ได้อักหลายชีวิต อยากให้ทุกคนร่วมบริจาคอวัยวะกันครับ
ผู้สนใจที่ต้องการมีส่วนร่วมกับโครงการสามารถร่วมบริจาคอวัยวะ และบริจาคเงินให้แก่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ผ่าน Mobile Application:บริจาคอวัยวะ และเว็บไซต์ www.organdonate.in.th รวมถึงรับชมภาพยนตร์โฆษณาออนไลน์ ชุด Mind Hero ได้ที่ www.facebook.com/THAISmileAirways และผ่าน THAI Smile Airways Official YouTube Channel
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |